การเลี้ยงดูลูกให้เติบโตอย่างเเข็งแรง ร่าเริงแจ่มใสและมีความฉลาดล้ำเป็นเลิศ คือสิ่งที่คุณแม่ทุกคนปรารถนา และโดยเฉพาะเรื่องความฉลาดของลูก หากคุณแม่เข้าใจการทำงานของสมองเด็ก จะพบว่าความสามารถในการเรียนรู้ของลูกนั้นสร้างได้ตั้งแต่แรกเกิด และมีข้อมูลที่น่าสนใจจาก รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงทิพวรรณ หรรษคุณาชัย กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการเด็ก ท่านได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของสมองเด็กไว้ว่า “เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับหนึ่งแสนล้านเซลล์สมอง ซึ่งทั้งหมดเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายวงจรและสามารถเพิ่มจำนวนมากขึ้นเมื่อถูกกระตุ้น ทั้งนี้การเชื่อมต่อสามารถเกิดได้สูงถึง 1,000 ล้านล้านครั้งในระยะเวลาแรกเกิดถึงห้าปีแรกของลูก ช่วงวัยนี้จึงเป็นระยะเวลาที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้ และเมื่อพ้นช่วงวัยนี้ไปแล้ว จะไม่มีการเพิ่มเซลล์สมอง แต่เป็นการพัฒนาโครงข่าย ส่วนเซลล์สมองที่ไม่ได้รับการกระตุ้นก็จะเสื่อมสลายไป ดังนั้นการสร้างทุกนาทีให้เป็นการเรียนรู้ของลูก (Non-Stop Learning) จึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยกันส่งเสริมในโอกาสทองนี้”
และสิ่งที่น่าสนใจ 7 เรื่องเกี่ยวกับสมองถัดไปนี้ จะช่วยให้คุณแม่เข้าใจแนวทางในการส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อสร้างความเป็นอัจฉริยภาพของลูกน้อย
1.การสัมผัสและการหัวเราะช่วยพัฒนาสมอง
ช่วงแรกเกิดเป็นช่วงที่เส้นใยประสาทของลูกกำลังก่อตัว การกอด การสัมผัส สบตา รวมถึงพูดคุยกับลูก ให้เค้ามีความสุข ได้หัวเราะ จะช่วยเพิ่มสารอ๊อกซิโตซินและเอนดอร์ฟินในสมอง ทำให้เป็นเด็กที่มีสุขภาพจิตดี สมองทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ในการตรงกันข้าม มีผลสำรวจที่ค่อนข้างน่าตกใจว่า เด็กที่ไม่ค่อยได้เล่น ไม่ได้รับการสัมผัสจากพ่อแม่ จะมีสมองขนาดเล็กกว่าเด็กปกติ 20-30%
2.สมองเรียนรู้จากการเลียนแบบ
ในสมองของเด็กจะมีเซลล์ชนิดหนึ่ง ชื่อว่า “เซลล์สมองกระจกเงา” (Mirror Neuron) ซึ่งเป็นเซลล์ที่สามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ผ่านการเรียนรู้ การสังเกต และเลียนแบบผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณแม่เป็นคนใฝ่รู้ ชอบอ่านหนังสือ ภาพเหล่านี้ก็สะท้อนเข้าไปในสมองของลูก ส่งผลให้เค้าเป็นเด็กที่ชอบเรียนรู้ เช่นกัน เพราะสำหรับลูกน้อยแล้ว กระจกเงาการเรียนรู้ที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือคุณแม่นั่นเอง
3.อารมณ์ส่งผลต่อศักยภาพในการเรียนรู้
ร่างกายของลูกช่างน่าอัศจรรย์ หากเค้ามีความสุข ร่างกายจะหลั่งสารเคมีในสมองที่ช่วยกระตุ้นให้เรียนรู้และจดจำได้ดี ในทางกลับกัน หากคุณแม่เป็นคนหงุดหงิดง่าย เลี้ยงลูกด้วยอารมณ์ ทำให้เด็กมีความเครียดหรือซึมเศร้า อารมณ์เชิงลบทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลให้ความสามารถในการเรียนรู้ของสมองลดลง
4.การเล่นช่วยพัฒนาความเป็นอัจฉริยะ
การเล่นกับลูก คือวิธีที่ง่ายที่สุดที่คุณแม่จะช่วยสร้างความฉลาดให้ลูกน้อย เคล็ดลับอยูที่เลือกการเล่นให้เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัย ประสบการณ์ที่ลูกน้อยได้จากการเล่น ทั้งการจับ การหยิบ การสัมผัส ล้วนส่งผลต่อการพัฒนาสมองในทุกๆ ด้าน อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อในสมองให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาความเป็นอัจฉริยะของลูก
5.การอ่านหนังสือช่วยกระตุ้นเซลล์สมอง
เมื่อเด็กอ่านหนังสือ เซลล์สมองจะมีการเชื่อมต่อและแตกแขนงออกไป เกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาประสาทสัมผัสต่างๆ โดยเฉพาะทางตาและทางหู ส่งผลให้เด็กที่ชอบอ่านหนังสือมีความชาญฉลาดและสามารถเรียนรู้ได้อย่างดีเยี่ยม
6.ขนาดสมองเท่ากันแต่ความฉลาดต่างกัน
ถ้าเปรียบเทียบสมองของเด็กสองคน แม้ว่าจะมีขนาดสมองเท่ากัน แต่กลับมีฉลาดแตกต่างกัน นั่นเป็นเพราะปริมาณการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง คุณแม่สามารถส่งเสริมให้เซลล์สมองของลูกเกิดการเชื่อมต่อได้ตั้งแต่แรกเกิดด้วยการให้นมแม่ เพราะนมแม่มีสารอาหารที่ดีต่อสมองอยู่มากมาย เช่น ดีเอชเอ รวมถึงการเลี้ยงดูที่เหมาะสมตามวัยและโภชนการที่สมบูรณ์
7.การคิดและการจดจำช่วยพัฒนาสมอง
ทุกครั้งที่สมองของลูกถูกกระตุ้นให้คิดแก้ปัญหา ทบทวนความจำ เซลล์สมองจะส่งผ่านกระแสไฟฟ้าภายในเซลล์สมองและสื่อผ่านไปยังเซลล์อื่นด้วยสารสื่อประสาททำให้การเชื่อมต่อที่เกิดขึ้นในสมองแข็งแรงยิ่งขึ้น และการคุยกับลูก การตั้งคำถาม ฝึกให้เค้ารู้จักคิด จึงเป็นการส่งเสริมความฉลาดของลูกที่คุณแม่สามารถทำได้ทุกวัน
รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงทิพวรรณ หรรษคุณาชัย ได้กล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า “ถ้าคุณแม่เข้าใจเรื่องการทำงานของสมองลูกรัก การสร้างทุกนาทีสู่การเรียนรู้ให้แก่ลูกน้อยนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากอีกต่อไป สิ่งสำคัญคือคุณแม่ควรดำเนินทุกกิจกรรมไปด้วยความรักและความสนุกสนาน เมื่อลูกสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นและความปรารถนาดี ลูกก็พร้อมที่จะเรียนรู้ไปกับเราในทุกๆ นาทีค่ะ”
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลและความรู้ใหม่ๆ เพื่อให้คุณแม่สามารถเรียนรู้เทคนิคสร้างทุกนาที สู่การเรียนรู้ไม่สิ้นสุดของลูกน้อยได้ที่ nonstoplearning.enfababy.com