ร่างกายของคุณแม่นับตั้งแต่ตั้งครรภ์ 1-40 สัปดาห์ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างมหาศาล ไม่เฉพาะแค่รูปร่างที่ต้องเปลี่ยนไป ยังส่งผลไปถึงสุขภาพ อารมณ์ ปฏิกิริยาอาการต่าง ๆ จึงไม่ควรนิ่งนอนใจกับ อาการผิดปกติขณะตั้งครรภ์ ที่ควรสังเกตและพึงระมัดระวังเป็นพิเศษ
กุมารแพทย์แนะ อย่านิ่งนอนใจ 7 อาการผิดปกติขณะตั้งครรภ์ ก่อนที่จะเป็นอันตราย
#1 อาการเลือดออกที่ช่องคลอด ที่คิดว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
อาการเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงหนึ่งช่วงใดถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล ไม่ว่าจะมีปริมาณเล็กน้อยหรือมีมาก ซึ่งเกิดได้กับคุณแม่ตั้งครรภ์จำนวน 1 ใน 3 เลือดออกที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกหรือที่เรียกว่า “เลือดล้างหน้า” นั้นเกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อนกับผนังมดลูก หรือความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนก็เป็นสาเหตุของอาการเลือดออกได้ ส่วนอาการเลือดออกในไตรมาส 2 หรือ 3 นั้น เป็นช่วงที่ปากช่องคลอดเริ่มอ่อนไหว สังเกตได้จากสีของปากมดลูกที่จะคล้ำขึ้นกว่าเดิม เพราะมีเลือดมาเลี้ยงมากเป็นพิเศษนั่นเอง
แต่เลือดออกที่ช่องคลอด อาจจะเป็นสัญญาณของการแท้งหรือตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
- กรณีที่พบว่ามีเลือดออกมากในสัปดาห์ที่ 6-8 อาจเป็นสัญญาณของการแท้งได้ และอาจบ่งชี้ถึงการตั้งครรภ์นอกมดลูกซึ่งตัวอ่อนมีการเจริญเติบโตนอกมดลูก ที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน ด้วยการผ่าตัดหรือรับยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์
- กรณีที่พบว่ามีเลือดออกร่วมกับอาการปวดท้องในช่วงใกล้คลอด อาจเป็นสัญญาณของการคลอดลูกก่อนกำหนดได้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ ตรวจเช็กการเต้นหัวใจ และดูท่าของทารก
- ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คนท้อง 5 % มีโอกาสที่จะเกิดอาการรกพันคอทารกหรือรกเกาะต่ำ ที่ทำให้เกิดเลือดออก โดยสีของเลือดค่อนข้างสด เป็นอาการที่จะเกิดขึ้นก่อนนำไปสู่อาการตกเลือด ซึ่งคุณแม่ต้องรีบเข้ารับการผ่าตัดคลอดโดยด่วน
อาการผิดปกติขณะตั้งครรภ์ อย่านิ่งนอนใจ อ่านต่อ >>
#2 อาการปวดท้องรุนแรง ที่คิดว่าเป็นเพราะอาหารไม่ย่อย
อาการปวดท้องถือเป็นเรื่องปกติที่มักเกิดขึ้นกับแม่ท้องได้ เพราะในขณะตั้งครรรภ์ระบบการย่อยอาหารของคุณแม่จะทำงานเชื่องช้าลง ทำให้เกิดแก๊สและมีอาการท้องผูก อายุครรภ์ที่มากขึ้นทำให้มดลูกใหญ่ขึ้น เนื้อเยื่อหน้าท้องหนาขึ้นและยืดขยายออก ทารกในครรภ์เริ่มเบียดกระเพาะปัสสาวะจนทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บและปวดท้องขึ้นได้ หรือเมื่อใกล้คลอดคุณแม่บางคนมีอาการเจ็บท้องหลอกซึ่งทำให้รู้สึกปวดท้องรุนแรงได้เช่นกัน
แต่ปวดท้องรุนแรง อาจจะเป็นอาการทางเดินปัสสาวะอักเสบหรือตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
- ความเปลี่ยนแปลงของมดลูกที่โตขึ้น ทำให้การไหลของปัสสาวะจากไตไปยังกระเพาะปัสสาวะช้าลง ส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะมีเวลาเจริญเติบโต ที่จะทำให้คุณแม่เกิดอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบขึ้นมา และอาจมีการติดเชื้อที่บริเวณไตซึ่งอาจนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดได้
- อาการปวดท้องรุนแรงในช่วง 3 เดือนแรก อาจเป็นสัญญาณการแท้งหรือการหรือตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
- อาการปวดท้องมากอาจส่งผลให้มีเลือดออกตามมาหรือถึงแม้ไม่มีก็อาจหมายถึง รกมีการลอกตัวจากผนังมดลูก ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงต้องรีบเข้ารับการผ่าตัดคลอดฉุกเฉินโดยด่วน
#3 อาการปวดหัวบ่อย ๆ ที่คิดว่าเป็นเพราะเพลีย เหนื่อยง่าย หรือขาดน้ำ
ร่างกายของแม่ตั้งครรภ์นั้นจะมีอาการอ่อนแรง เหนื่อย เพลียง่ายกว่าคนทั่วไป จนทำให้รู้สึกปวดหัวเพิ่มง่ายขึ้น คุณแม่ตั้งครรภ์ 1-2 % ที่ไม่มีประวัติเป็นโรคไมเกรนมาก่อน ก็สามารถเกิดอาการนี้ขึ้นมาได้ด้วยสาเหตุ เช่น การขาดน้ำ ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง เกิดจากความเครียด และเหน็ดเหนื่อย พักผ่อนไม่เพียงพอ เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น อาการปวดหัว อาจเกิดจากการทรงตัวได้ไม่ดีเพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเมื่อคุณแม่รู้สึกปวดหัวหรือวิงเวียนศีรษะ ควรได้รับการพักผ่อน ดื่มน้ำให้เยอะขึ้น เพื่อช่วยลดอาการอันเนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ พยายามเดินทรงตัวให้ดี งดทำกิจกรรมหนัก และค่อย ๆ ทำอะไรให้ช้าลงนะคะ
แต่ปวดหัวบ่อย ๆ อาจจะเป็นครรภ์เป็นพิษได้
ถ้าคุณแม่รู้สึกปวดหัวอย่างต่อเนื่อง ตามมาด้วยอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ ตาพร่า เห็นแสงวูบวาบ และมีเลือดออกมาเป็นจุด อาจเป็นสัญญาณของอาการครรภ์เป็นพิษหรือความดันโลหิตสูงก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งควรจะไปพบแพทย์เพื่อดูแลรักษานะคะ
#4 อาการกระหายน้ำจัด ที่คิดว่าเป็นภาวะขาดน้ำระหว่างตั้งครรภ์
ภาวะขาดน้ำ การเกิดขึ้นได้ในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากในร่างกายมีเลือดไหลเวียนเพิ่มมากขึ้น และมีเหงื่อออกมาก น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น 25 % ระหว่างตั้งครรภ์มาจากของเหลวส่วนเกิน ดังนั้นคุณแม่ควรดื่มน้ำให้มาก ๆ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า คุณแม่ท้องควรดื่มน้ำประมาณ 8-12 แก้วต่อวัน จะช่วยป้องกันอาการต่างๆ ขณะตั้งครรภ์ รวมทั้งความไม่สบายตัวที่มักเกิดขึ้นกับแม่ท้องได้
Read : การดื่มน้ำสำคัญกับแม่ท้องกว่าที่คิด
แต่การกระหายน้ำจัด อาจจะเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้
อาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีโอกาสเกิดขึ้น 1 ใน 3 ของแม่ตั้งครรภ์ หากเกิดขึ้นหลัง 20 สัปดาห์ จะทำให้มีอาการปวดปัสสาวะเพิ่มมากขึ้นและเหนื่อยง่ายเป็นพิเศษ เนื่องจากฮอร์โมนไปปิดกั้นการทำงานของอินซูลิน ทำให้ร่างกายต้องผลิตมากขึ้นอีก 2-3 เท่า น้ำตาลจึงคั่งค้างอยู่ในกระแสเลือด โดยแพทย์จะทำการทดสอบเพื่อวัดระดับกลูโคลสที่เพิ่มขึ้น และทำการรักษาโดยฉีดอินซูลิน ซึ่งเมื่อสามารถควบคุมไว้ได้ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อแม่หรือลูกในครรภ์ และอาการจะหายไปเมื่อหลังคลอด ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์นอกจากการดื่มน้ำให้เพียงพอต่อปริมาณที่ร่างกายแม่ท้องควรได้รับแล้ว ควรดูแลเรื่องโภชนาการที่ดี และหมั่นออกกำลังกายด้วยนะคะ
รู้ทันอาการผิดปกติขณะตั้งครรภ์ ที่ไม่น่านิ่งนอนใจ อ่านต่อนะคะ >>
#5 อาการมือ เท้าบวม ที่คิดว่าเป็นมีของเหลวในร่างกายมาก
อาการมือหรือเท้าบวม บางกรณีถือเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้ขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากมีของเหลวในร่างกายมาก การขยายตัวของมดลูก ทำให้การไหลเวียนของเหลวในร่างกายช้าลง วิธีที่ช่วยลดอาการบวมลงได้คือให้นั่งยกขาสูงพาดเก้าอี้ หรือในขณะนอนให้หาหมอนมาหนุนรองเท้า ออกกำลังกายพอประมาณ และดื่มน้ำให้มาก ๆ
แต่อาการมือ เท้าบวม อาจจะเป็นสัญญาณครรภ์เป็นพิษได้
หากมีอาการมือเท้าบวมตอนท้องขึ้นมาแบบปัจจุบันทันด่วน ร่วมกับอาการปวดหัว ตาพร่า หรือมีส่วนอื่นบวมขึ้นผิดปกติ เช่น ใบหน้า ดวงตา มือ ขา ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีนะคะ
#6 อาการคันหนักมาก ที่คิดว่าเป็นเพราะผิวหนังยืดขยาย
เมื่ออายุครรภ์เริ่มมาก ผิวหนังหน้าท้องก็จะเริ่มขยายแตกลายขึ้น และทำให้เกิดผิวแห้งแตก ซึ่งทำให้เกิดอาการคันสุด ๆ รวมถึงน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นและเหงื่อที่ออกปริมาณมากส่งผลให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนังคุณแม่ ทั้งหน้าท้องและข้อพับส่วนต่าง ๆ นอกจากการใช้ครีมทาผิวสำหรับคนท้องหรือใช้เบบี้ออยล์ทาช่วยบำรุงผิวไม่ให้แห้ง คุณแม่ควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่สบาย ไม่รัดแน่น ก็จะช่วยบรรทาอาการคันลงได้ค่ะ
แต่อาการคันสุด ๆ อาจจะเป็นอาการน้ำดีหยุดหลั่งตอนตั้งครรภ์ได้
ถ้าคุณแม่มีอาการคันหนักมากจนถึงขั้นรู้สึกว่าคันผิดปกติ โดยเฉพาะที่มือและเท้า ในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ อาจเป็นอาการแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับตับ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนดหรือได้รับอันตรายเพราะน้ำดีอาจเข้าไปปะปนในกระแสเลือดทำให้เกิดอาการคันอย่างมาก จนทำให้นอนไม่หลับ หรือขาดสมาธิ ควรไปพบแพทย์เพื่อติดตามอาการของคุณอย่างใกล้ชิดและอาจทำคลอดเร็วขึ้น (ในช่วง 37-38 สัปดาห์)
#7 อาการลูกไม่ดิ้น ที่คิดว่าเป็นเพราะลูกในท้องนอนหลับสนิท
โดยทั่วไปแล้วคุณแม่จะรู้สึกว่ามีอาการดิ้นดุกดิกของลูกให้รู้สึกครั้งแรกในช่วงสัปดาห์ที่ 16-25 และเมื่อใกล้คลอด ช่วงสัปดาห์ที่ 32 หรือเข้าเดือนที่ 8 คุณแม่จะรู้สึกว่าเจ้าตัวน้อยเริ่มดิ้นแรงและดิ้นถี่ขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าสังเกตว่าลูกน้อยดิ้นน้อยลงจนผิดปกติ หรือลูกนอนหลับลึกอยู่โดยไม่เคลื่อนไหวใด ๆ อาจเป็นเพราะขนาดที่เริ่มโตของทารกจึงทำให้มีพื้นที่ในท้องแคบลงและดิ้นลำบากขึ้น จนคุณแม่รู้สึกว่าทารกเคลื่อนไหวเชื่องช้าลง หรือไม่รู้สึกว่าลูกดิ้นหรือขยับไปมา
แต่ลูกไม่ดิ้น อาจจะเป็นสัญญาณอันตรายจากทารกได้
โดยปกติในไตรมาสที่ 3 นี้ลูกควรจะมีการดิ้นอย่างสม่ำเสมอแล้ว แต่อาการที่ลูกไม่ดิ้นนานเกินไปหรือไม่ดิ้นติดต่อกัน 1-2 วันหรือมากกว่านั้น เป็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ อาจเกิดสายสะดือพันคอหรือลูกน้อยขาดอากาศหายใจ และอาจบ่งบอกว่าทารกในครรภ์เสียชีวิตไปแล้ว
การที่ลูกดิ้นน้อยลงไม่ได้หมายความว่าทารกจะอยู่ในภาวะอันตรายเสมอไป เพียงแต่จัดว่าอาจเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่าปกติ ดังนั้นหนทางที่ยังรู้ว่าลูกในท้องมีชีวิตดีสุขภาพแข็งแรงหรือไม่ คุณแม่ควรจะใช้วิธีการนับลูกดิ้น เพื่อตรวจดูความผิดปกติของทารกในครรภ์ และถ้าพบว่าลูกไม่ดิ้นควรรีบไปพบแพทย์นะคะ
แม้ว่าในช่วงตั้งครรภ์จะทำให้คุณแม่กังวลมากเป็นพิเศษ แต่โอกาสที่ทารกในครรภ์จะเสียชีวิตมีน้อยมาก หากคุณแม่ดูแลตัวเองให้ดีระหว่างตั้งครรภ์ และขึ้นอยู่กับการปรับตัวของร่างกายคุณแม่ด้วย คอยสังเกตรูปแบบและความถี่ของพัฒนาการตามอายุครรภ์ที่เติบโตขึ้น หากคุณแม่มีความกังวลใจจริง ๆ เกี่ยวกับลูกน้อยในครรภ์ก็สามารถไปให้คุณหมอทำการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อเช็กดูว่าทารกน้อยยังสบายดี อยู่หรือเปล่า ในแต่ละครั้งที่มีการนัดไปตรวจครรภ์ได้นะคะ
Credit content : healthmee.com
บทความอื่นที่น่าสนใจ :