6 วิธีจัดการเจ้าตัวเล็กเอาแต่ใจ

ใครๆก็อยากได้ลูกที่เลี้ยงง่าย อยู่ในโอวาทเชื่อฟังคำสั่ง เป็นเด็กดี เรียบร้อยน่ารักจะได้เป็นที่รักของคนอื่น ไม่ทำให้พ่อแม่อับอายด้วยการร้องกรี๊ดๆ ชักดิ้นชักงอเวลาไม่ได้ดั่งใจเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ แต่ถ้าลูกน้อยของเราไม่ได้เป็นเด็กดีตลอดเวลาอย่างที่เราหวังไว้ เอาแต่ใจตัวเองหนักมากคุณแม่จะต้องรับมืออย่างไรเพื่อแก้ไขนิสัยลูก เรามีทางออกมาฝากค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

การร้องไห้งอแงของเด็กเล็กคือการสื่อสารบอกความต้องการของตัวเอง และจะเกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ไปโดยอัตโนมัติว่าเมื่อร้องไห้จะได้รับการตอบสนอตามความต้องการทันที ดังนั้นครั้งต่อไปเด็กก็จะเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่โดยการร้องไห้ หากไม่ได้ดั่งใจก็จะเรียนรู้ที่จะเพิ่มเลเวลความรุนแรงให้มากขึ้นตามประสบการณ์จากการเรียนรู้และวัยที่โตขึ้น จนกลายเป็นการกรีดร้อง โวยวาย ชักดิ้นชักงอลงไปนอนดิ้นกับพื้นเพื่อให้พ่อแม่ยอมทำตามใจ ซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมไม่พึงประสงค์หากคุณพ่อคุณแม่ไม่รีบแก้ไขจะกลายเป็นนิสัยติดตัวไปจนโต อย่างนี้ไม่ดีแน่แล้วเราจะมีวิธีรับมืออย่างไรดี

  1. สำรวจอารมณ์ของตัวเอง

หากไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กเอาแต่ใจ ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล สิ่งสำคัญที่สุดคือการอบอรมสั่งสอนจากพ่อและแม่ ถึงเด็กเล็กจะไม่เข้าใจในเรื่องของความมีเหตุผล พูดสื่อสารก็ไม่ได้ แต่การเรียนรู้อย่างแรกของลูกคือการมองเห็น ทุกสิ่งที่ลูกเห็นจะเป็นการจดจำ เลียนแบบ เกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาไปสู่การนำไปใช้ ดังนั้นการกระทำและการแสดงออกทางอารมณ์พ่อแม่จะส่งผลโดยตรงถึงลูกอย่างไม่ต้องสงสัย

หากพ่อแม่มีอารมณ์เกรี้ยวกราดตลอดเวลา หงุดหงิดง่าย เอาแต่ใจตัวเองเป็นใหญ่ เมื่อหงุดหงิดก็ใส่อารมณ์กับเด็ก จึงไม่ใช่สิ่งเหนือความคาดหมายที่ลูกจะกลายเป็นเด็กอารมณ์ร้ายเหมือนต้นแบบ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือ ต้องหมั่นสำรวจอารมณ์ของตัวเอง และใช้เหตุผลในการแก้ปัญหามากกว่าใช้อารมณ์เพื่อเป็นตัวอย่างต้นแบบที่ดีให้กับลูก เริ่มต้นที่การปรับทัศนคติของคุณพ่อคุณแม่เองเป็นอันดับแรกค่ะ

  1. อย่าให้ความสนใจเป็นพิเศษเมื่อเด็กเรียกร้องความสนใจ

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำต่อมาคือ สำรวจตัวเองว่าให้เวลา ให้ความใส่ใจ ให้ความรักความอบอุ่นกับลูกเพียงพอหรือยัง หรือว่าให้มากเกินไปรึเปล่า ต้องทำความเข้าใจกับธรรมชาติของเด็กก่อนว่าช่วง 0-6 ขวบ การร้องไห้งอแงของเด็กนั้น อาจทำไปเพื่อเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่เท่านั้น คุณแม่ควรสังเกตว่าการร้องไห้ของลูกเป็นเพราะต้องการความช่วยเหลือจริงๆเช่น หิวนม ต้องการขับถ่าย เจ็บป่วยไม่สบายตัว หรือเด็กร้องเพียงเพื่อต้องการความสนใจเท่านั้น

ไม่ใช่เรื่องผิดหากคุณแม่จะปล่อยให้ลูกร้องสักครู่เพื่อดูว่าสิ่งที่ลูกต้องการจริงๆคืออะไรกันแน่ การตอบสนองต่อเสียงร้องไห้อย่างทันท่วงทีกับลูกอาจเป็นสิ่งจำเป็นใช่ช่วงวัยแรกเกิด แต่ถ้าคุณแม่ทำทุกครั้งลูกจนลูกเริ่มโตจนถึง 2 ขวบเด็กก็จะจดจำ และเรียนรู้ว่า การร้องไห้สามารถดึงให้พ่อแม่มาสนใจได้ เมื่อไม่ได้รับการตอบสนองอย่างทันท่วงทีเมื่อเริ่มโตขึ้น เด็กจะเพิ่มระดับความรุนแรงและความเกรี้ยวกราดขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รับความสนใจจากพ่อแม่

หากพ่อแม่ช่วยกันปลอบจะกลายเป็นว่าลูกจะจดจำว่าพฤติกรรมอย่างนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับได้และได้ในสิ่งที่ต้องการ เด็กก็จะทำทุกครั้งที่ต้องการเรียกร้องความสนใจจนติดเป็นนิสัย  สิ่งที่ควรทำคือต้องฝึกให้ลูกรู้จักการรอคอย ให้ได้เรียนรู้ว่าเขาไม่อาจได้ทุกอย่างที่ต้องการทันทีเสมอไป เมื่อลูกเริ่มร้องไห้อย่างไร้เหตุผลคุณพ่อคุณแม่ต้องใจแข็ง ควรหันหลังเดินหนี ไม่เข้าไปให้ความใส่ใจทันที จนกว่าเด็กจะสงบลงแล้วค่อยเข้ามาคุยกับลูกโดยใช้เหตุผล แม้เด็กจะยังไม่เข้าใจในตอนแรก แต่เด็กจะค่อยๆซึมซับพฤติกรรมด้านบวกไปเรื่อยๆจนเลิกเป็นเด็กเอาแต่ใจได้เอง ไม่ใช้อารมณ์ตอบโต้ ลดความใจร้อนลงได้

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

  1. อุ้มลูกหนีจากสิ่งเร้า

เมื่อพาลูกออกไปเที่ยวนอกบ้านแล้วลูกร้องโวยวายอยากได้ขนม หรือของเล่นจนกลายเป็นการลงไปดิ้นกับพื้นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือเข้าไปกอดลูกแล้วอุ้มลูกเดินหนีไปจากร้านโดยไม่ดุด่า ต่อล้อต่อเถียง หรือตี แค่กอดลูกไว้เฉยๆแล้วเดินหนี เมื่อลูกร้องไห้จนเหนื่อยและไม่เห็นสิ่งเร้าก็จะสงบลงไปเอง

จากนั้นควรพูดคุยทำความเข้าใจกับลูกด้วยเหตุผลว่าเพราะอะไรถึงไม่ซื้อของให้ ไม่จำเป็นต้องดุด่าหรือทำโทษลูกเพิ่ม เมื่อลูกทำตัวน่ารักเป็นเด็กดีคุณพ่อคุณแม่อาจซื้อขนม หรือของเล่นให้เพื่อเป็นรางวัล หรือตั้งกฏก่อนออกไปเที่ยวนอกบ้านว่าวันนี้จะอนุญาติให้ซื้ออะไรได้กี่ชิ้น หรือห้ามซื้ออะไรเลยเพราะอะไร แล้วรักษากฏนั้นอย่างเคร่งครัด

  1. ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง

การเอาแต่ใจ เรียกร้องความสนใจของเด็กอาจเป็นเพราะเขาขาดความมั่นใจในตัวเอง ดังนั้นเมื่อลูกเข้าวัย 2 ขวบสามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้แล้วคุณพ่อคุณแม่ควรเสริมสร้างความมั่นใจให้ลูกด้วยการให้เริ่มช่วยเหลือตัวเอง เช่น อาบน้ำเอง กินข้าวเอง เลือกเสื้อผ้าที่อยากใส่เอง แต่งตัวเอง เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักการแก้ปัญหา เรียนรู้จากความผิดพลาด ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองจะเป็นการสร้างความมั่นใจและความภาคภูมิใจในตัวเองให้ลูก และควรชมเชยทุกครั้งที่ลูกทำสำเร็จ หรือให้คำแนะนำเที่มีเหตุผลเมื่อลูกทำไม่ได้ ไม่ใช่ดุด่าเพื่อให้ลูกรู้สึกเป็นที่ยอมรับด้วยการกระทำด้านบวก ไม่ใช้ร้องไห้โยเยเพื่อให้ได้รับความสนใจ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  1. พาลูกออกไปเล่นกับเพื่อนนอกบ้าน

การพาลูกไปเล่นนอกบ้านจะทำให้ลูกเกิดการเรียนรู้จากสิ่งที่เห็นมากขึ้น เห็นตัวอย่างในการใช้ชีวิตมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้เด็กรู้จักการแบ่งปันกับผู้อื่นโดยเฉพาะเด็กวัยใกล้เคียงกัน เพื่อเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น เรียนรู้ที่จะเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ

  1. พูดคุยกับลูกอย่างสม่ำเสมอ

เด็กช่วงปฐมวัยต้องการความรัก ความเอาใจใส่และการเป็นที่ยอมรับจากพ่อแม่ หากพ่อแม่หมั่นชวนลูกพูดคุย ถามตำถามต่างๆและรับฟังความคิดเห็นของลูกจะเป็นการฝึกให้ลูกรู้จักการวิเคราะห์ไตร่ตรองอย่างมีแบบแผนก่อนแสดงความคิดเห็น และยังเป็นการสอนให้ลูกรู้จักรับฟังและยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นที่แตกต่างไปจากตัวเอง ลดการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งลง หาเวลาเล่นกับลูก ให้ความรักความอบอุ่นกับลูกอย่างเต็มที่ กอดลูกบ่อยๆ พูดคุยด้วยเหตุผลลูกจะไม่ใช้ความก้าวร้าวเป็นเครื่องต่อรองเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่

กว่าเด็กคนหนึ่งจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ สิ่งสำคัญที่สุดคือการอบรมเลี้ยงดู และการได้รับการกล่อมเกลาหล่อหลอมจากครอบครัว ด้วยความรัก ความเข้าใจ ไม่ใช่เพียงแค่การดุด่า หรือทำโทษเท่านั้น การแสดงอารมณ์ของเด็กเกิดจากการขาดทักษะและประสบกาณ์ในการควบคุมอารมณ์ของตนเอง จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องช่วยชี้แนะและสั่นสอนลูกให้มีภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ที่ดี รู้จักควบคุมอารมณ์ของตัวเอง หากอยากให้ลูกเป็นที่รักของคนอื่น เป็นคนมีเหตุผลไม่ปล่อยให้ใช้อารมณ์ตัดสินปัญหา อาจจะต้องใช้ความอดทนและความเพียรพยายามมากสักหน่อยแต่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของลูก ก็คุ้มที่จะพยายามว่าไหมคะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความโดย

daawchonlada