ทำไมลูกถึงอารมณ์รุนแรง
เรื่องอารมณ์ของลูก ไม่ใช่เพียงเพราะพวกเขายังเด็กเท่านั้น แต่นั่นเป็นเพราะสมองบางส่วนที่ช่วยให้ลูกๆ ของเราคิดเรื่องการมีเหตุมีผลนั้นยังไม่พัฒนาค่ะ สมองส่วนนี้จะพัฒนาเต็มที่ก็ต่อเมื่อลูกมีอายุยี่สิบกลางๆ แล้ว อย่าลืมนะคะว่าสมองของพวกเขายังไม่พัฒนาเท่ากับผู้ใหญ่อย่างเราๆ ดังนั้นเวลาที่ลูกๆ รู้สึกโกรธหรือว่าถูกขัดใจนั้น ระบบการทำงานของลิมบิกจะถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่โดยไม่สามารถควบคุมได้
ระบบการทำงานของลิมบิกคืออะไร
เป็นกลุ่มของส่วนของสมองที่อยู่ตามแนวโค้งระหว่างทาลามัส (ทำหน้าที่ในการรับรู้ความเจ็บปวด ทำให้มีการสั่งการ และแสดงออกด้านพฤติกรรมด้านความเจ็บปวด) กับซีรีบรัล คอร์เท็กซ์ (ทำหน้าที่ทำหน้าที่ในการพูดและภาษา ส่วนที่สั่งการเกี่ยวกับภาษา)โดยทั้งสองอย่างนี้จะทำงานร่วมกันในการรับรู้เกี่ยวกับอารมณ์และพฤติกรรม
วิธีรับมือกับอารมณ์ของลูก
ก่อนอื่นเลย คุณพ่อคุณแม่ต้องอย่าลืมเด็ดขาดว่า เด็กทุกคนมีความแตกต่างกัน บางวิธีก็อาจจะสามารถใช้ได้กับเด็กบางคน บ้างก็อาจจะใช้ไม่ได้เลย นั่นเป็นเพราะระบบการทำงานของเจ้าตัวลิมบิกนั่นเอง มาดูวิธีการรับมือกันดีกว่าค่ะ หลักๆที่เราจะขอนำเสนอวันนี้ จะขอพูดถึงข้อหลักๆแค่สามข้อ ดังนี้
1. สะท้อนให้พวกเขาเห็นถึงความรู้สึกของตนเอง แน่นอนที่คุณพ่อคุณแม่คงต้องเคยถามลูกๆหลานๆว่า “เป็นอะไรไปลูก” “หนูจะเอาอะไร” “ร้องไห้ทำไม” “ใครทำอะไร” แต่ผลที่ได้รับลูกอาจจะไม่ตอบ แถมร้องไห้มากกว่าเดิมจริงไหมคะ นั่นเพราะคำถามของเรานั้นมันจะเป็นคำถามที่เกี่ยวกับระบบการทำงานของลิมบิก แล้วการที่ลูกกำลังอาละวาดอยู่นั้นก็ยากที่จะหยุดได้ เพราะพวกเขาไม่สามารถควบคุมการทำงานของเจ้าระบบนี้ได้ ดังนั้นวิธีการรับมือก็คือ เราควรที่จะดูก่อนว่า ณ ตอนนั้นรอบข้างของลูกมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ถ้าเราสามารถรู้ได้ แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่เล็กๆน้อยๆ เราก็สามารถใช้คำถามง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ลูกอาจจะต่อบล๊อคของเล่นไม่ได้ เขาก็จะมีอาการหงุดหงิด ร้องกรี๊ดๆ ณ ตอนนั้นเราจะเห็นแล้วว่า สาเหตุต้องเกิดจากบล๊อคของล่นนั่นแน่ๆ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถถามได้เลยค่ะว่า “เพราะหนูทำอันนี้ไม่ได้เลยโกรธและหงุดหงิดใช่มั้ยจ้ะ” “หนูเสียใจใช่ไหมลูก” พยายามเข้าหาลูกโดยวิธีการพูดสะท้อนถึงความรู้สึกถึงตัวลูกเอง และกอดเค้า เท่านี้ลูกของเราก็จะค่อยๆสงบขึ้นเองค่ะ
2. ให้เวลาสักพัก เวลาลูกๆเริ่มอาละวาด ขว้างปาข้าวของ ทำให้อารมณ์ของเราพุ่งปรี๊ดขึ้นด้วยใช่ไหมคะ สิ่งที่เราทำก็คือตีมือ ดุตะคอกพวกเขา นั่นไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องเลยล่ะค่ะ แถมจะยังทำให้พวกเขาเป็นหนักขึ้นกว่าเดิมด้วย คุณพ่อคุณแม่ลองให้เวลาลูกๆสักพัก นั่งดูในสิ่งที่เขาทำ แล้วแกล้งทำเป็นไม่สนใจ สักพักเมื่อลูกพร้อมหรือรู้ว่าเราไม่สนใจ เขาจะค่อยๆเข้ามาหาเราเอง เราก็ค่อยๆกอดเขา และบอกเขาดีๆว่า ที่เขาทำไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเลย หรือถ้าคุณพ่อคุณแม่ทนไม่ไหว ให้ลุกออกมาจากตรงนั้นก่อนค่ะ ทิ้งระยะห่างไว้สักพักนึง ให้เวลากับอารมณ์โกรธของตัวเองก่อน พออารมณ์เย็นขึ้นก็ค่อยคุยกับลูกๆ แต่ต้องรอให้ลูกของเราพร้อมด้วยนะคะ แล้วทุกอย่างจะค่อยๆดีขึ้นเอง
3. สังเกตตัวเราเองด้วย ข้อนี้สำคัญนะคะ เพราะบางทีพฤติกรรมที่ลูกเป็นนั้นก็มาจากการที่เห็นเราทำเป็นต้นแบบด้วยแหละค่ะ ไม่ว่าจะเป็น การดุตะคอกเสียงดัง ดังนั้นสิ่งที่พวกเราทุกคนควรทำก็คือ ใช้น้ำเสียงที่เบาและดูอ่อนโยนเวลาลูกกำลังอาละวาดอยู่ ค่อยๆพูดกับเค้าอย่างอ่อนโยน หายใจเข้าลึกๆ และใจเย็นๆ ค่อยๆช่วยเหลือพวกเขา อย่าลืมนะคะว่า คนที่กำลังต้องการการแนะนำและความช่วงเหลือไม่ใช่เรา แต่เป็นลูกๆของเราเองค่ะ
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ความเข้าใจในธรรมชาติของเด็กๆ จากสมาชิกทุกคนในบ้าน ไม่มีใครหรอกค่ะที่อยากให้ลูกหลานเป็นเด็กขี้โมโห ร้องกรี๊ดๆ ขว้างปาข้าวของ หรือกลายเป็นเด็กที่เอาแต่อารมณ์จริงไหมคะ ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่พวกเราทุกคนจะช่วยกันทำความเข้าใจ และคอยช่วยเหลือพวกเขา จงอย่าลืมว่า “ผู้ใหญ่คือต้นแบบและตัวอย่างสะท้อนให้เด็กๆเห็นนะคะ”
ขอบคุณที่มา: https://dirtandboogers.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ :
4 ทางแก้เมื่อลูกขี้โมโห ลูกขี้แย
11 คำถามชวนลูกคุยที่จะทำให้เข้าลูกมากขึ้น