หนึ่งในวิธีการเพิ่มทักษะและพัฒนาการทารกในครรภ์ก่อนคลอด นั่นก็คือการพูดคุยกับลูกในท้องนั่นเอง เรามาดูกันว่า วิธีคุยกับลูกในท้อง ที่คุณแม่ทำได้ง่าย ๆ มีวิธีการอย่างไรบ้าง
เริ่มคุยกับลูกในท้องตอนไหนดี
หลายท่านอาจจะมีคำถาม ว่าจะ เริ่มคุยกับลูกในท้องตอนไหนดี ซึ่งจริง ๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มต้นพูดคุยกับลูกได้ ตั้งแต่ที่เริ่มรู้ว่ามีเจ้าตัวน้อย แต่ถ้าจะให้ดี เรามาทำความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการทางร่างกายของลูกในแต่ละเดือน ว่าเจริญเติบโต หรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ก็จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางอารมณ์ รวมถึงพัฒนาการด้านอื่น ๆ ของลูกน้อยให้ดียิ่งขึ้นได้อีกด้วย
คุยกับลูกในท้อง ช่วงแรกเกิด – 3 เดือน
ช่วงแรกเกิด – 3 เดือนนี้ ถือเป็นช่วงที่ทารกเริ่มต้นสร้างอวัยวะ กล้ามเนื้อ และเซลล์ประสาท การพูดคุยกับลูกในท้องจะเป็นการซักซ้อม เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับสมาชิกใหม่ของบ้าน อีกทั้งยังช่วยทำให้คุณแม่ผ่อนคลาย แถมยังอารมณ์ดีขึ้นอีกด้วย
คุยกับลูกในท้อง ช่วงเดือนที่ 4 – 6
ช่วงเดือนที่ 4 – 6 นี้ ประสาทสัมผัสทางการได้ยินของลูกจะเริ่มพัฒนา ลูกจะได้ยินเสียงพูดของคุณแม่ชัดขึ้น ลูกจะเริ่มจดจำน้ำเสียงของคุณแม่ได้ และมีการตอบสนองด้วยการดิ้น หรือเคลื่อนไหวไปมา
คุณแม่สามารถพูดคุยกับลูกในท้องเป็นเรื่องราวได้มากขึ้น หรืออาจเปลี่ยนบรรยากาศด้วยการเล่านิทานให้ลูกในท้องฟัง หรือเปิดเพลงฟังสบาย ๆ ก็จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้รวดเร็วขึ้น
ในช่วงนี้คุณพ่ออาจเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยกับลูกได้แล้วนะครับ
คุยกับลูกในท้อง ช่วงเดือนที่ 7 – 9
ช่วงเดือนที่ 7 – 9 นี้ ลูกจะเริ่มมีปฏิกิริยาตอบสนอง หรือตอบโต้กับคุณแม่มากขึ้น การพูดคุยกับลูกในท้องจึงมีความสำคัญมาก คุณพ่อคุณแม่ควรคุยกับลูกบ่อย ๆ เป็นประจำทุกวัน เล่านิทานด้วยน้ำเสียงสูง – ต่ำ ให้ดูมีชีวิตชีวา
นอกจากนี้ การฟังเพลง หรือร้องเพลงให้ลูกฟัง จะช่วยกระตุ้นและเสริมสร้างเครือข่ายใยประสาททางการได้ยิน ให้ทำงานได้เร็วขึ้น เมื่อลูกคลอดออกมา จะทำให้เป็นเด็ก ร่าเริง แจ่มใส มีความสามารถในการจัดลำดับความคิดในสมอง และจดจำสิ่งต่างๆ ได้ดี
วิธีคุยกับลูกในท้อง อุปกรณ์คุยกับลูกในท้องต้องใช้อะไรไหม
เราไปดูกันว่า วิธีคุยกับลูกในท้อง เพิ่มทักษะและพัฒนาการทารกในครรภ์ก่อนคลอด มีวิธีการอย่างไร
1. ปรับอารมณ์
ปรับอารมณ์ของคุณแม่ให้ดี เพราะลูกในท้องสามารถรับรู้อารมณ์ของคุณแม่ได้ ดังนั้น ไม่ว่าคุณแม่จะเหงา เศร้า ผิดหวัง เสียใจ หรือโกรธเคืองเรื่องอะไรมาก็ตาม ควรปรับอารมณ์ให้เย็นลง และปรับอารมณ์ให้เป็นบวก แต่ถ้าคุณแม่อารมณ์ดี มีความสุขอยู่แล้วก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะเมื่อคุณแม่ถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก รวมถึงพูดคุยกับลูกในท้องในทางบวก ลูกก็จะมีความสุขตามไปด้วย
2. เลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม
จริง ๆ แล้ว คุณแม่สามารถคุยกับลูกในท้องได้ทุกช่วงเวลา แต่เวลาที่ดีที่สุดอาจจะเป็นช่วงหลังมื้ออาหาร เพราะเป็นช่วงเวลาที่ลูกในท้องตื่นตัวมากที่สุด หรืออาจจะเป็นช่วงก่อนนอนก็ได้ครับ และหากได้คุณพ่อมาพูดคุยกับลูกในท้องได้ด้วยก็ยิ่งดี
3. ชวนลูกคุยช้า ๆ
เริ่มพูดกับลูกในท้องช้า ๆ ให้ลูกรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย เรื่องที่พูดคุยอาจจะเป็นเรื่องใกล้ตัว กิจวัตรประจำวันที่คุณแม่ทำ หรืออาจจะเป็นแค่คำพูด 3 คำ อย่าง แม่รักลูก หรือจะอ่านนิทานให้ลูกฟังก็ได้ครับ
4. ส่งผ่านความรักไปให้ถึงลูกในท้อง
คุณแม่สามารถใช้วิธีสัมผัส ลูบท้อง ใช้ไฟฉายส่อง พร้อมทั้งพูดคุยกับลูกไปด้วย หรือจะร้องเพลง เปิดเพลงให้ลูกฟังบ่อย ๆ จะเพลงไหนก็ได้นะครับ เลือกที่คุณแม่ฟังแล้วสบายใจ ลูกก็จะสบายใจตามไปด้วย
การพูดคุยกับทารกในครรภ์นั้น นอกจากจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก รวมไปถึงคนในครอบครัวแล้ว ยังช่วยเพิ่มทักษะและพัฒนาการทารกในครรภ์ก่อนคลอดได้อีกด้วย ซึ่งวิธีการดังที่กล่าวมานั้น ก็สามารถทำตามได้ไม่ยากเลย อีกทั้งยังสนุก ทำให้คุณแม่อารมณ์ดี และช่วยลดความเครียดของคุณแม่ท้องได้อีกด้วยนะครับ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ท้องแข็ง คนท้อง อันตราย เมื่อรู้สึกว่าท้องแข็งห้ามทำ 4 เรื่องนี้เด็ดขาด!!
ตั้งครรภ์ ท้องเสีย ปวดท้องบิด อาการแบบนี้ส่งผลอย่างไรต่อลูกในท้อง
อยากให้ลูกขาว ทำอย่างไร อาหารบำรุงผิวให้มีออร่า ฉลาดตั้งแต่อยู่ในครรภ์