อาการแพ้นมวัว เป็นอย่างไร อันตรายแค่ไหน จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกแพ้นมวัว

ปัจจุบันนี้โรคแพ้นมวัวมีการพูดถึงกันมากมาย ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุน้อย ๆ โดยมาพบคุณหมอด้วยอาการผิดปกติในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย คุณพ่อคุณแม่อาจสงสัยว่า อาการผิดปกติต่าง ๆ ของลูกนั้นเกิดจากแพ้นมวัวได้หรือไม่ เรามาทำความรู้จักโรคนี้กันดีกว่าค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

อาการแพ้นมวัว เป็นอย่างไร ? นมวัว อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกายมากมาย แต่ก็มีเด็ก และผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่มี อาการแพ้นมวัว บางคนก็เกิดอาการแพ้รุนแรง ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ วันนี้เรามาทำความรู้จักกับอาการแพ้นมวัว หรือโรคแพ้นมวัวกันค่ะ

โรคแพ้นมวัว คืออะไร?

โรคแพ้นมวัว หรือ แพ้โปรตีนนมวัว เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งในกลุ่มแพ้อาหาร พบได้บ่อยที่สุดในเด็กเล็ก เกิดจากปฏิกริยาของร่างกายต่อโปรตีนของนมวัว โดยผ่านกลไกทางภูมิคุ้มกัน ซึ่งทำให้เกิดอาการผิดปกติได้ในหลายระบบของร่างกาย ทั้งระบบผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยอาจมีอาการเพียงระบบใดระบบหนึ่ง หรือมีหลายระบบร่วมกัน และอาจแสดงอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยก็ได้ ทั้งนี้ระยะเวลาในการเกิดอาการอาจเกิดรวดเร็วภายในไม่กี่นาทีหลังทานนมวัวหรือเกิดช้าในเวลาเป็นเดือนก็ได้เช่นกันค่ะ

 

อาการแพ้นมวัว มีอะไรบ้าง? อาการเด็กแพ้นมวัว เป็นอย่างไร

อาการของเด็กแพ้นมวัว สามารถแสดงออกมาได้หลายระบบของร่างกายค่ะ อาการที่พบบ่อยคือ

  • อาการทางผิวหนัง ได้แก่ผื่นลมพิษ เปลือกตาบวม ผื่นคันเป็น ๆ หาย ๆ
  • อาการระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ถ่ายเหลว อาเจียน ปวดท้อง อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ทำให้มีปัญหาในการย่อย และการดูดซึมอาหาร เด็กจึงมีการเจริญเติบโตต่ำกว่าปกติ
  • อาการทางเดินหายใจ ได้แก่ หายใจครืดคราด หอบเหนื่อย โรคหืด จมูกอักเสบเรื้อรัง ไอเป็นเลือด

ซึ่งอาการในระบบต่าง ๆ สามารถเกิดพร้อมกันได้ทุกระบบ นอกจากนี้อาจมีอาการแพ้รุนแรงแสดงออกในระบบหัวใจ และหลอดเลือดคือ ความดันต่ำ ช็อค หมดสติได้

 

ทารกแพ้นมวัว ทราบได้อย่างไรว่าลูกน้อยแพ้นมวัว?

หากลูกมีอาการแบบที่หมอเล่าให้ฟังในข้างต้น ก็ควรจะปรึกษาคุณหมอเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องค่ะ เพราะอาการแพ้นมวัวบางอย่างคล้ายกับโรคที่พบบ่อยในเด็กทั่วไป เช่น ผื่นคัน ท้องเสีย อาเจียน เป็นหวัดบ่อย ๆ จึงเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก

เมื่อมาพบคุณหมอก็จะได้รับการสอบถามประวัติเพื่อทบทวนว่า อาการที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการทานนมวัวหรือไม่ ประวัติการเกิดอาการซ้ำ ๆ เมื่อสัมผัสกับนมวัว เป็นต้น

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

จากนั้นจะทำการการตรวจร่างกาย ตามระบบต่าง ๆ ที่แสดงอาการ และอาการภูมิแพ้อื่น ๆ เช่น ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคหืด หลังจากนั้นคุณหมอจะพิจารณาตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อที่จะยืนยันการวินิจฉัย โดยการทดสอบทางผิวหนัง หรือ การเจาะเลือด ซึ่งหากไม่มีผลการตรวจที่ช่วยยืนยันได้ว่าลูกแพ้นมวัวอย่างชัดเจน แต่จากประวัติและการตรวจร่างกายอาจเป็นได้ (ซึ่งพบได้ไม่น้อยนะคะ) คุณหมออาจจะพิจารณาให้ลูกลองหยุดนมวัว หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนมวัว เพื่อดูว่าอาการต่าง ๆ ดีขึ้นหรือไม่ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วค่อยลองรับประทานในปริมาณทีละน้อยและสังเกตอาการแพ้

แต่ทั้งนี้ควรอยู่ในการดูแลของคุณหมออย่างใกล้ชิดนะคะ ไม่แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่งดอาหารของลูกด้วยตนเองที่บ้านโดยไม่ไปพบคุณหมอมาก่อน เพราะอาจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาของสมองของลูก และไม่แนะนำให้ลองทานเองเพื่อทดสอบว่าลูกแพ้นมวัวจริงหรือไม่ ยกเว้นคุณหมออนุญาตให้เริ่มลองได้ เพราะอาจเกิดอันตรายจากปฏิกริยาการแพ้อย่างรุนแรงได้

ลูกแพ้นมวัว รักษาอย่างไร จะหายขาดไหม

หากลูกแพ้นมวัว มี อาการแพ้นมวัว จะมีการดูแลรักษาอย่างไรบ้าง?

คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกหลีกเลี่ยงนมวัว หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนมวัว เช่นขนมเค้ก ไอศครีมต่าง ๆ ค่ะ หากคุณแม่สามารถให้ลูกได้ทานนมแม่ก็ควรให้ทานต่อไป โดยที่คุณแม่งดนมวัว หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนมวัวด้วยนะคะ หากคุณแม่มีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถให้นมแม่ได้ ก็ควรให้ลูกทานนมสำหรับเด็กที่แพ้นมวัว เช่น นมถั่วเหลือง นมสูตรโปรตีนย่อยอย่างละเอียดที่ย่อยโปรตีนนมวัวจนมีขนาดเล็กมาก นมสูตรกรดอะมิโน หรือ นมที่ผลิตจากโปรตีนชนิดอื่น เช่น นมไก่ เป็นต้น ทั้งนี้ควรติดตามการรักษากับคุณหมออย่างใกล้ชิดเพื่อเฝ้าระวังอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นและให้อาหารทดแทนอย่างเหมาะสม เพื่อให้ลูกไม่ขาดอาหารค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ลูกมีโอกาสหายจากโรคแพ้นมวัว ได้หรือไม่?

มีการศึกษาว่าเด็กแพ้นมวัวมีโอกาสหายได้นะคะ โดยกลับไปดื่มนมวัวได้ปกติที่อายุ 1 ขวบ ประมาณ 40-50%, ที่อายุ 2 ขวบประมาณ 70%, และที่อายุ 3 ขวบประมาณ 80% แต่ก็มีผู้ป่วยบางส่วนมีอาการจนโตค่ะ

 

นมสำหรับเด็กแพ้นมวัว ผลิตภัณฑ์ที่สามารถทดแทนนมวัวได้

ผลิตภัณฑ์นมจากพืชได้เข้ามาเป็นผลิตภัณฑ์นมทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค ปัจจุบันในประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์นมจากพืชหลากหลายชนิดที่พบได้ทั่วไปตามร้านสะดวกซื้อ อาทิ นมจากถั่วเหลือง (soy milk) นมจากอัลมอนต์ (almond milk) นมจากข้าวโพด (corn milk) และนมจากข้าว (rice milk) ซึ่งคุณสมบัติของนมจากพืชแต่ละชนิดพบว่ามีความแตกต่างกันไปตามชนิดของพืช คุณภาพของวัตถุดิบ และกระบวนการผลิต

นมจากถั่วเหลือง นับว่าเป็นแหล่งโปรตีนที่มีปริมาณสูง มีสารอาหารใกล้เคียงกับนมวัว นับเป็นนมจากพืชที่ดีที่สุดสำหรับใช้ทดแทนนมวัว และราคาย่อมเยา ผลิตภัณฑ์นมจากพืชส่วนใหญ่จึงมีนมถั่วเหลืองเป็นส่วนประกอบหลัก แต่รสชาติของถั่ว (beany flavor) อาจไม่ถูกปากในผู้บริโภคบางกลุ่ม บางผลิตภัณฑ์จึงมีการใช้นมถั่วเหลืองผสมกับนมจากพืชชนิดอื่น ๆ และแต่งกลิ่นรสเพิ่มเติม เพื่อให้มีรสชาติดีขึ้น และยังคงมีปริมาณโปรตีนสูง

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

นมจากอัลมอนด์ นับว่าเป็นนมทางเลือกของกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการจำกัดปริมาณแคลอรี่ เนื่องจาก ให้พลังงานต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับนมวัว หรือนมถั่วเหลืองในปริมาณที่เท่ากัน อุดมไปด้วยไขมันที่ดี และวิตามินอี แต่มีโปรตีนน้อย

นมจากข้าวโพดและนมจากข้าวมีปริมาณโปรตีนไม่มากนักเมื่อเทียบกับนมวัว ส่วนใหญ่มักอุดมไปด้วยแป้ง และน้ำตาล จัดเป็นเครื่องดื่มให้พลังงาน และเหมาะกับผู้บริโภคที่มีประวัติการแพ้ถั่วหรืออัลมอนด์ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มีคุณค่าทางสารอาหารมากขึ้นทางผู้ผลิตบางรายจึงมีกระบวนการแปรรูปวัตถุดิบที่ช่วยเพิ่มปริมาณสารอาหารในนมจากข้าวโพดหรือข้าวให้มากขึ้น หรือมีการเติมแร่ธาตุและวิตามินเสริม ทั้งนี้ สารอาหารที่เติมเพิ่มเข้าไปในนมอาจมีการตกตะกอน ดังนั้น ผู้บริโภคผลิตภัณฑ์นมเหล่านี้จึงควรเขย่าขวดหรือกล่องบรรจุภัณฑ์ทุกครั้งก่อนบริโภค เพื่อให้สารอาหารต่าง ๆ กระจายตัวได้ดี

นอกจากชนิดของพืชที่ส่งผลต่อคุณสมบัติของนมแต่ละชนิด คุณภาพของวัตถุดิบ และกรรมวิธีการผลิต นับเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อสารอาหารในผลิตภัณฑ์นมจากพืช บางผลิตภัณฑ์ใช้วัตถุดิบในระยะที่มีสารอาหารสูง เช่น การใช้ข้าวในระยะงอก หรือการใช้เทคโนโลยีการแปรรูปวัตถุดิบให้คงปริมาณสารอาหารไว้ให้ได้มาก โดยสิ่งที่สามารถสะท้อนถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์นมจากพืชที่เราสามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเองเบื้องต้น คือ การอ่านสลากข้อมูลทางโภชนาการ (nutrition information) และส่วนประกอบ (ingredients) เพื่อตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ เพราะ นอกจากความชอบส่วนบุคคลแล้ว ควรคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสุขภาพ สารอาหารที่ต้องการในแต่ละช่วงวัย และงบประมาณตามกำลังทรัพย์ ทั้งนี้ มีข้อแนะนำว่า ควรบริโภคนมจากพืชในปริมาณแต่พอดี (เนื่องจากมักมีปริมาณน้ำตาลสูง) ควบคู่กับการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน และสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

 

ที่มา : 1

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เปรียบเทียบสารอาหารในนม นมแพะ นมวัว นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ นมแบบไหนเหมาะกับเบบี๋?

ภาวะย่อยแลคโตสผิดปกติ ดื่มนมแล้วท้องอืด ลูกกินนมวัวแล้วท้องอืด แพ้นมวัว หรือภาวะย่อยแลคโตสผิดปกติ

7 ข้อ ที่แม่ควรรู้เกี่ยวกับ นมวัว

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา