อาการปวดท้องเรื้อรังในเด็ก เป็นอย่างไร
อาการปวดท้องเรื้อรังในเด็ก ที่จัดว่าเป็นการปวดท้องตามนิยามของ Dr. Apley คือ อาการปวดท้องเป็นระยะในเด็กอายุ 4-16 ปี โดยที่อาการปวดท้องนั้นเป็นมากจนรบกวนกิจกรรมต่าง ๆ ของเด็ก และเป็นมานานกว่า 3 เดือน อาการปวดท้องเรื้อรังนี้ จะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
- ปวดท้องเป็นช่วงๆ
- อาการปวดท้องร่วมกับการกินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียนบางครั้ง กินอาหารแล้วอิ่มเร็ว หรือ ท้องอืด เรอบ่อย
- ปวดท้องร่วมกับการขับถ่ายที่ไม่ปกติ เช่น มีท้องเสีย ท้องผูก หรือ มีความรู้สึกว่าถ่ายอุจจาระไม่หมดเกลี้ยง
สาเหตุของการปวดท้องเรื้อรัง
อาการปวดท้องเรื้อรังนี้ เป็นการปวดจริง ไม่ได้เกิดจากที่การเด็กปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้ ไม่ได้เลียนแบบผู้ใหญ่ หรือเป็นข้ออ้างในการที่เด็กจะไม่ยอมทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งสาเหตุของการปวดก็มีหลากหลาย โดยพยาธิสภาพของอาการปวดมาจากการบีบตัวที่ผิดปกติ และระบบประสาทการรับรู้ความเจ็บปวดของทางเดินอาหารตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ลำไส้ตรงจนถึงทวารหนัก
ในเด็กที่ปวดท้องเรื้อรัง จะพบว่ากล้ามเนื้อของลำไส้จะมีการบีบเกร็งมากขึ้นเมื่อมีสิ่งกระตุ้น ดังนั้นจึงมีอาการปวดได้ทั่วท้อง และสารที่กระตุ้นความเจ็บปวดนี้ ได้แก่ น้ำตาลชนิดต่างๆ เช่น น้ำตาลนม น้ำตาลฟรุคโตส น้ำตาลซอร์บิทอล กรดไขมันอิสระ และกรดน้ำดี มีการตรวจพบภาวะผิดปกติของการย่อยน้ำตาลนม ( lactose Malabsorption) โดยการตรวจหาแก๊สไฮโดรเจนจากลมหายใจ (H2 Breath Test) พบเป็นจำนวนถึง ร้อยละ 40 ในเด็กที่ปวดท้องเรื้อรัง ซึ่งร้อยละ 70 ของเด็กเหล่านี้อาการปวดท้องจะหายไป หลังจากงดการกินน้ำตาลนมไปแล้ว
ในผู้ป่วยหลายรายที่พบอาการทางกายอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ ซีด เวียนศีรษะ คลื่นไส้ เนื่องจากมีการกระตุ้นต่อระบบประสาทเวกัสด้วย
นอกจากนั้น อารมณ์ และบุคคลิกภาพชนิดที่มีความกังวล ความถดถอย ความรู้สึกต่ำต้อย ก็จะพบได้บ่อยในเด็กกลุ่มปวดท้องเรื้อรัง และ จะบ่งชี้ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่จะกดดันต่อภาวะปวดท้องของเด็กด้วย
สัญญาณเตือนว่าอาการร่วมดังต่อไปนี้ต้องได้รับการตรวจพิเศษอื่นๆ
- ปวดมากเฉพาะที่ในตำแหน่งห่างจากสะดือ
- มีอาการท้องผูกหรือท้องเสีย
- อาเจียน
- ปวดจนต้องตื่นนอน
- อาการปวดกระจายไปยังไหล่ หรือขา
- มีน้ำหนักลดหรือน้ำหนักไม่ขึ้น
- ถ่ายเป็นเลือด
- มีไข้ ปวดข้อ
- ถ่ายอุจจาระเล็ด
- มีอาการนอนหลับหลังจากปวดท้อง
- มีประวัติครอบครัวของโรคแผลเป็บติค มะเร็งทางเดินอาหาร หรือลำไส้อักเสบเรื้อรัง
การตรวจเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุเมื่อลูกปวดท้องเรื้อรัง
การตรวจร่างกายอาจพบเพียงแต่ การกดเจ็บบริเวณท้อง
การตรวจเลือด ปัสสาวะ การตรวจลมหายใจ การถ่ายภาพรังสี การตรวจอุลตราซาวนด์ช่องท้อง และ การส่องกล้องทางเดินอาหาร ซึ่งอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์
การรักษาอาการปวดท้องเรื้อรัง
รักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ หรือตามอาการ พยายามหาสาเหตุที่เป็นการกระตุ้นอาการปวดท้อง เช่น น้ำตาลนม (lactose) น้ำผลไม้ต่าง ๆ แล้วงดอาหารเหล่านั้น พยายามให้เด็กไปโรงเรียนตามปกติ ถึงแม้จะมีอาการปวดท้องก็ตาม การกิน เอนไซม์ช่วยย่อยนม หรือ นมโยเกิร์ต
หากมีอาการท้องผูกร่วมด้วย แนะนำให้กิน อาหารที่มีกากใยสูง
การใช้ยาคลายการเกร็งของลำไล้ จะยิ่งทำให้อาการปวดท้องเป็นต่อเนื่องอีกนาน ถ้าเด็กที่มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงมาก และ เด็กที่ไม่สามารถกลับไปทำกิจกรรมได้ เมื่อปรับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ แล้ว ควรปรึกษาจิตแพทย์
บทความโดย รศ.พญ.บุษบา วิวัฒน์เวคิน
ศูนย์โรคทางเดินอาหารและโรคตับในเด็ก
โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช
The Asianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น The Asianparent ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งานฟรี เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุดและผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว
การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก The Asianparent เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง
เพราะเราเชื่อว่า “พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง”
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
5 เรื่องผิดมหันต์ ที่พ่อแม่ มักทำกับลูก
Time out ลงโทษแบบสงบ แต่สยบลูกน้อย อย่างได้ผล
สุดยื้อ เด็ก ป.4 ล้มพับเสียชีวิต หลังยืนเข้าแถว รับเปิดเทอม