คุณแม่หลังคลอดต้อง ทำความสะอาดร่างกาย และดูแลตัวเองเพื่อปรับตัวให้เข้ากับความเป็นแม่ เรามาดูวิธี ทำความสะอาดร่างกาย ของคุณแม่กันดีกว่าค่ะว่ามีอะไรบ้าง
วิธีทำความสะอาดร่างกาย (คลอดธรรมชาติ)
ล้างหน้าแปรงฟัน
หลังจากที่คุณแม่คลอดลูกเสร็จ แพทย์กับพยาบาลจะให้คุณแม้เคลื่อนไหว ไปล้างหน้าแปรงฟัน ฝึกดูแลลูกบ้าง เพราะการเคลื่อนไหวจะช่วยให้การขยับตัวของกล้ามเนื้อและทำให้แผลฝีเย็บสมานเร็วขึ้น
ข้อควรระวัง :
- ในช่วงแรกคุณแม่เสียเลือดไปเยอะ ระวังอาการหน้ามืดเป็นลม
- ห้ามยกของหนัก เพราะจะส่งผลการกระทบกระเทือนต่อมดลูกได้
ดูแลแผลฝีเย็บ
การล้างแผลฝีเย็บนั้น ควรล้างด้วยน้ำต้มสุกอุ่น ๆ ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาล้างแผลเป็นพิเศษ เมื่อล้างเสร็จแล้วให้ใช้ผ้าสะอาด หรือสำลีซับให้แห้งก็เพียงพอแล้ว (หากแผลโดนน้ำตอนอาบน้ำก็ไม่มีปัญหา แค่ล้างด้วยน้ำเปล่า โดยปล่อยให้ไหลรินผ่านก็พอ ห้ามใช้หัวฉีดล้างชำระ หรือใช้ฝักบัวล้างโดยตรง เพราะแรงดันของน้ำอาจทำให้แผลเปิดแยกออกจากกันได้ และยังอาจทำให้เชื้อโรคเข้าไปสู่ส่วนลึก ๆ ของแผลได้อีกด้วย) หลังจากนั้น 5-6 วันแผลก็มักจะติดกันและแห้งดี ไม่ต้องทำอะไรเป็นพิเศษ
การปัสสาวะ
หลังปัสสาวะ คุณแม่ควรใช้น้ำสะอาดหรือน้ำอุ่นชำระล้างบริเวณแผลก็เพียงพอแล้ว ซึ่งจะช่วยลดอาการแสบคัน และป้องกันการอักเสบได้ ส่วนภายหลังการถ่ายอุจจาระเสร็จ คุณแม่ควรใช้กระดาษชำระเช็ดไปทางด้านหลัง ไม่ควรเช็ดออกมาทางด้านหน้า เพราะอาจจะทำให้เชื้อโรคเข้ามาปนเปื้อนบริเวณแผลจนเกิดการอักเสบได้
อาการน้ำคาวปลาหลังคลอด
หลังคลอดจะมีน้ำคาวปลาไหลซึมออกมาทางช่องคลอด คุณแม่ก็ต้องใส่ผ้าอนามัยเอาไว้ตลอดและเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ เพราะหากแผลแฉะอับชื้นก็จะทำให้เกิดการอักเสบได้
การรักษาความสะอาดร่างกาย
ถ้าเป็นการคลอดทางช่องคลอดปกติ คุณแม่สามารถอาบน้ำสระผมได้ตามปกติ อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และสระผมได้สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพราะในระหว่างรอคลอดและการคลอด นอกจากคุณแม่จะได้ใช้พลังงานในการเบ่งคลอดไปมาก แล้วยังทำให้ร่างกายมีเหงื่อไคลซึ่งอาจหมักหมมได้ แต่สิ่งที่ควรระวังสำหรับการอาบน้ำก็คือ อย่าแช่น้ำนานเกินไป เพราะจะทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ง่าย เนื่องจากร่างกายในช่วงหลังคลอดยังอ่อนเพลียอยู่
ข้อควรระวัง
- ระวังเรื่องการลื่นล้ม เพราะร่างกายอ่อนเพลียที่อาจทำให้คุณแม่หน้ามืดเป็นลมได้ง่าย
- ควรล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสอวัยวะเพศ เพราะอวัยวะเพศจะมีแผลทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
การเปลี่ยนผ้าอนามัย
หลังคลอดจะมีน้ำคาวปลาออกมา ในช่วง 2-3 วันแรก คุณแม่ไม่ต้องตกใจไป เพราะเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นหลังคลอด คุณแม่ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ เพื่อรักษาความสะอาด อย่าปล่อยทิ้งไว้นานจนหมักหมมและส่งกลิ่นเหม็น เพราะจะทำให้ฝีแผลเกิดการอักเสบ เพื่อป้องกันการติดเชื้อภายในช่องคลอด ควรใช้ผ้าอนามัยแบบธรรมดา ไม่ควรใช้แบบสอด
การให้นมลูก
คุณแม่ล้างมือให้สะอาดก่อนจับเต้านมทุกครั้งเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่ไม่จำเป็นต้องเช็ดหัวนมทุกครั้งที่ให้นมลูก ควรดูแลรักษาความสะอาดเต้านมและหัวนมด้วยทุกครั้งทั้งก่อนและหลังลูกดูดนมเสร็จ โดยใช้น้ำอุ่นเช็ดทำความสะอาดและซับให้แห้งด้วยผ้าสะอาด (ไม่ควรฟอกสบู่บริเวณเต้านม)
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีทำความสะอาดสะดือลูกน้อย สำหรับคุณแม่มือใหม่
การดูแลเต้านม
คุณแม่ควรใช้สำลีชุบน้ำหรือโลชั่นทำความสะอาดเต้านม ไม่ควรใช้สบู่ เพราะจะทำให้หัวนมแตกและเจ็บได้ สำหรับการดูแลเต้านมก็แค่ทำพร้อมกับการอาบน้ำในแต่ละวันก็เพียงพอแล้ว และหากมีปัญหาหัวนมแตกหรือเจ็บ ควรใช้ครีมทาตามที่แพทย์สั่ง และงดให้นมข้างนั้นจนกว่าจะหาย ในระหว่างงดให้นมคุณแม่ควรบีบน้ำนมทิ้งเพื่อกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของน้ำนมไปด้วย
ดูแลผิวพรรณ
อาการท้องแตกลายนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและป้องกันได้ยาก ส่วนรอยดำคล้ำตามบริเวณข้อพับต่าง ๆ นั้นจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ในระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งรอยดำเหล่านี้จะค่อย ๆ จางลงในช่วงหลังคลอด คุณแม่ไม่ต้องพยายามขัดหรือถูออก เพราะอาจจะทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังได้ สำหรับรอยดำบางส่วนที่เห็นได้ชัด เช่น ลำคอ คุณแม่อาจใช้แป้งทาปกปิดได้บ้าง
การดูแลผม
การดูแลผมหลังคลอด ในระยะหลังคลอดอาจเกิดอาการผมร่วงมากกว่าปกติ แต่ถือเป็นภาวะปกติ และเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ดังนั้น คุณแม่ไม่ต้องตกใจหรือเป็นกังวลไป เพราะโดยทั่วไปแล้วอาการผมร่วงนี้จะหายไปเองภายใน 6-12 เดือน ซึ่งต่างกันในแต่ละกรณี โดยจะมีผมเส้นใหม่ขึ้นมาแทนที่ คุณแม่จึงอาจถือโอกาสนี้ในการเปลี่ยนทรงผมใหม่ โดยอาจตัดผมสั้นซึ่งเป็นทรงที่ดูแลง่าย ทำให้คุณแม่ไม่ต้องหวีผมบ่อย จึงช่วยลดอาการผมร่วงได้ดีขึ้น แต่ถ้ามีอาการผมร่วงรุนแรงคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีรับมือกับปัญหาผมร่วง ลดผมร่วง ทำอย่าง ปัญหาหนักใจที่หลาย ๆ คนต้องเจอ
การตรวจสุขภาพ
การตรวจร่างกายหลังคลอด คุณแม่ควรได้รับการตรวจร่างกายในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เพื่อตรวจดูการคืนสภาพของปากมดลูก และอวัยวะในอุ้งเชิงกราน (หรือแผลผ่าตัดหน้าท้อง หากคุณแม่ผ่าท้องคลอด) และตรวจหาความผิดปกติต่าง ๆ ด้วยการตรวจภายใน และตรวจคัดกรองมะเร็งปามดลูก เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขตั้งแต่ต้น พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนในด้านต่าง ๆ เช่น การคุมกำเนิด แม้ว่าคุณแม่หลังคลอดจะยังไม่มีประจำเดือนมาก็ตาม
การแต่งกายของคุณแม่
ในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรเลือกเสื้อผ้าที่หลวม ใส่สบาย เพื่อให้คุณแม่เคลื่อนไหวได้สะดวก และหากคุณแม่เป็นคนที่ใส่ส้นสูงอยู่เป็นประจำ ให้คุณแม่หลีกเลี่ยงการใส่ส้นสูงไปก่อน หากคุณแม่ใส่ส้นสูงในช่วงตั้งครรภ์ จะทำให้กล้ามเนื้อขาเกน็ง ส่งผลให้ปวดเอว ปวดหลัง รวมถึงอุบัติเหตุ
การบริหารร่างกายหลังคลอด
คุณแม่ที่คลอดตามปกติทางช่องคลอด หลังจาก 24 ชั่วโมงไปแล้ว ควรจะเริ่มต้นท่ากายบริหารเพื่อให้ร่างกายกลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด จะทำให้ร่างกายแข็งแรง ผนังท้องที่หย่อนยานหลังคลอด และผนังช่องคลอดที่หมอได้เย็บไว้ให้ดีแล้วจะไม่หย่อนยาน จึงขอให้เริ่ม บริหารร่างกายได้ตั้งแต่ วันที่สองหลังการคลอด เป็นต้นไป ส่วนคุณแม่ที่คลอดโดยการผ่าคลอด ก็ควรรอให้
ครบ 20 วันก่อนแล้วจึงเริ่มบริหารร่างกายได้ ไม่ต้องรอให้นานกว่านี้ เพื่อให้ร่างกายกลับมากระชับเหมือนเดิมได้อย่างรวดเร็ว
บทความที่เกี่ยวข้อง : ผลิตภัณฑ์เพื่อจุดซ่อนเร้น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นสำหรับผู้หญิง
ที่มา : kwaeom.go.th