10 ปฏิญาณรับปี 2017 ฉบับคุณเเม่ที่มีลูกวัยซน
คำปฏิญาณดี ๆ ฉบับคุณเเม่ที่มีลูกวัยซน นี้ ก็ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อเจ้าตัวเล็กของคุณพ่อคุณแม่ยังไงละ
1.จะเล่นแบบสร้างสรรค์กับลูกให้มากขึ้น
ปีที่ผ่านมาชีวิตดิจิตอลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และเราก็เห็นแล้วว่าเทคโนโลยีให้ความสะดวกสบายกับเราแค่ไหน แต่สำหรับเด็กๆ การนั่งอยู่กับที่ทำให้ไม่สบายใจเอาเสียเลย เด็กๆ ควรจะได้ไปวิ่งเล่น สำรวจธรรมชาติ หรือเล่นบอร์ดเกมส์ต่างๆ มากกว่า
2.จะไม่เปรียบเทียบลูกกับคนอื่น
เรื่องผิดพลาดอันดับต้นๆ ซึ่งทำให้ลูกไม่สบายใจ น้อยใจ และเสียใจ คือการเปรียบเทียบลูกนี่แหละ ต่อไปนี้ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม จะไม่เปรียบเทียบลูกกับใคร เพราะลูกก็คือลูก คนทุกคนมีความแตกต่างกัน ลูกก็คือหนึ่งในนั้น
3.ความอดทนคือเรื่องที่ต้องสอนอย่างต่อเนื่อง
แม้ลูกจะยังไม่โต แต่ก็ต้องเริ่มมีความอดทนบ้างแล้ว การนับเลข การหายใจ หรือแม้แต่โยคะ ก็ช่วยลูกได้ เด็กๆ แต่ละคนมีสมาธิไม่เท่ากันอยู่แล้ว ขอแค่ให้ลูกพัฒนาขึ้นจากเดิมก็โอเคแล้ว
4.ออกไปข้างนอกให้มากขึ้น
เพราะประสบการณ์ที่ได้จากการสัมผัสของจริงนั้นมีค่ามาก การสูดอากาศบริสุทธิ์และอยู่ท่ามกลางธรรมชาติก็เช่นกัน นี่ยังไม่รวมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้อย่างไม่จำกัดอีกนะ
5.อ่านให้ลูกฟังทุกวัน
การอ่านก็เป็นอีกหนึ่งการเรียนรู้ที่ไม่ต้องลงมือทำ แต่เสริมจินตนาการได้อย่างมากมายมหาศาล พ่อแม่จะพยายามอ่านให้ลูกฟังทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นนิทานหรือหนังสือต่างๆ การปลูกฝังการอ่านเป็นอีกหนึ่งข้อดีที่จะติดตัวลูกไป
6.ขอพ่อแม่มีเวลาส่วนตัวบ้าง
ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวก็ตาม ต้องมีเวลาบริหารหัวใจบ้าง ขอเวลาพ่อกับแม่ไปเที่ยวด้วยกันสองคนเดือนละครั้งก็ยังดีนะลูก แน่นอนว่าเมื่อแม่อารมณ์ดีก็จะไม่วีนแตกง่ายๆ ยังไงละจ๊ะ
7.ดิ้นกระจายที่บ้านก็ได้
ลูกคงเข้าใจว่าแม่ไม่ค่อยมีเวลาห่างจากลูกเลย ทั้งที่เเม่เคยเป็นขาเเด๊นซ์ ดังนั้นอย่าพยายามสนใจแม่ ถ้าแม่จะขอดิ้นอยู่ที่บ้าน อยู่ข้างๆ ลูก หรือถ้าลูกจะขอมาดิ้นตามจังหวะเพลงด้วย ก็จะยิ่งดี
8.พ่อ/แม่จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่นให้มากขึ้น
แน่นอนว่าพ่อแม่ไม่ใช่ซุปเปอร์มัมหรือแด๊ด การมีสักอย่างสองอย่างที่เราไม่ถนัดไม่ใช่เรื่องแปลก การขอความช่วยเหลือก็เช่นกัน แถมพ่อแม่ก็ยังไม่ต้องเหนื่อยมากด้วย ที่ต้องทำก็แค่การเอ่ยปากขอเอง
9.อยู่กับปัจจุบันให้มากขึ้น
พ่อแม่จะลดการอยู่บนโลกโซเชียลและให้ความสำคัญกับสิ่งที่ทำอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ทำกับลูก วางเครื่องมือสื่อสารทั้งหลายเอาไว้ก่อน เพราะพ่อกับแม่รู้แล้วว่า ช่วงเวลาแบบนี้ มันไม่หวนคืนมาง่ายๆ
10.จะดูแลตัวเองให้มากขึ้น
แม่จะขอดูแลตัวเองให้มากขึ้น เพราะอย่างที่ลูกก็รู้ ว่าแม่ทำงานหนักมากกว่าใคร ทั้งงานในบ้าน งานนอกบ้าน และเวลาที่ลูกงอแงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นะ รู้ตัวใช่ไหม แม่ขอเวลาปรนเปรอตัวเองบ้าง ขอเวลาสงบๆ บ้าง เพราะเมื่อแม่มีความสุขทุกๆ คนในบ้านก็มีความสุขไปด้วยไงละ
ลูกซน อยู่ไม่นิ่ง… จัดการอย่างไร
1. จัดสภาพแวดล้อมให้เป็นระเบียบ ลดสิ่งเร้ารอบตัวลูกน้อยลง เช่น เก็บของเล่นของลูกเข้าตู้หรือลิ้นชักให้เรียบร้อย ลดภาพหรือเครื่องตกแต่งภายในห้องเด็กให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อจะไม่กระตุ้นความสนใจของลูกน้อยมากนัก
2. สร้างเสริมความสนใจและคงสมาธิ โดยใช้ของเล่นและจำกัดของเล่นในแต่ละครั้งๆ ละ 1 ชิ้น เมื่อเล่นเสร็จ ให้เด็กเก็บของเล่นชิ้นเดิมทุกครั้งก่อนแล้วจึงเลือกของเล่นชิ้นต่อไป
3. จัดลำดับหรือขั้นตอนการทำกิจวัตรประจำวันของลูกน้อยอย่างเป็นระบบ และทำกิจกรรมเหล่านี้ตามขั้นตอนที่จัดไว้อย่างสม่ำเสมอทุกวัน จะทำให้ลูกน้อยเข้าใจและยอมรับขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมดีขึ้น เรียนรู้การทำกิจกรรมง่ายขึ้น
4. ควรจัดกิจกรรมให้มีความหลากหลาย เพื่อกระตุ้นความสนใจของลูกน้อยให้เกิดสมาธิในการเรียนรู้ โดยการจัดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวมากก่อน เช่น การออกกำลังกาย อาจเป็นการวิ่ง เตะบอล กระโดด เพื่อให้เด็กสามารถนำพลังงานที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมไปใช้อย่างสร้างสรรค์ แล้วจึงเบี่ยงเบนไปสู่กิจกรรม ซึ่งมีการเคลื่อนไหวน้อยกว่า เน้นการฟังและการมีสมาธิในขณะทำกิจกรรม เช่น ศิลปะ หรือกิจกรรมการนั่งเล่น จะทำให้ลูกน้อยสนใจและเรียนรู้กิจกรรมที่มีเป้าหมายได้ดีขึ้น
ลูกดื้อ… จัดการอย่างไร
ลูกน้อยสามารถมีการแสดงออกถึงพฤติกรรมดื้อได้หลากหลาย เช่น ไม่เชื่อฟังคำสั่ง ต่อต้าน หรือไม่ร่วมมือ ทั้งนี้พ่อแม่ควรดูให้แน่ใจว่าพฤติกรรมดื้อนั้นเป็นการแสดงออกถึงความเป็นอิสระหรือความเป็นตัวของตัวเองหรือไม่ โดยเฉพาะในเด็กวัย 2-4 ปีที่ต้องการทำอะไรใหม่ๆ ด้วยตนเอง อยากสำรวจหรือค้นคว้า ผู้ใหญ่ไม่ควรขัดขวางเพียงแต่คอยดูว่า สิ่งนั้นจะนำไปสู่อันตราย หรือนำไปสู่การละเมิดสิทธิของผู้อื่นหรือไม่
แนวทางการจัดการกับพฤติกรรมดังกล่าว พ่อแม่ไม่ควรใช้วิธีลงโทษรุนแรง แต่ควรมีการป้องกันการเกิดพฤติกรรมดื้อโดยคาดการณ์และวางแผนล่วงหน้าไว้ก่อน เช่น วันนี้แม่จะพาลูกไปช้อปปิ้ง พ่อแม่ควรตกลงกับลูกไว้ก่อนว่าวันนี้จะไปทำอะไรบ้างและอนุญาตให้ลูกซื้อของเล่นได้เพียง 1 ชิ้นเท่านั้น และถ้าลูกไม่ทำตามที่ตกลงไว้จะเป็นอย่างไร เช่น พ่อแม่จะพากลับบ้านทันที หรือไม่พาไปสนามเด็กเล่นต่อ ซึ่งทำให้ลูกน้อยได้เรียนรู้ผลจากการกระทำที่ติดตามมาด้วยตนเองถ้าลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พ่อแม่อาจกำหนดกติกาหรือกฎเกณฑ์ที่สามารถปฏิบัติตามได้จริงเมื่อลูกดื้อหรือไม่เชื่อฟังแต่ยังไม่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว พ่อแม่ควรลงโทษโดยวิธีการใช้เวลานอก ให้แยกเด็กอยู่ลำพัง นั่งเข้ามุมสงบแต่ต้องไม่อยู่ในบรรยากาศที่น่ากลัว เช่น ขังในห้องน้ำ โดยไม่ให้ความสนใจเด็กเป็นระยะเวลานานเท่ากับอายุเด็กเป็นนาที เช่น ถ้าเด็กอายุ 5 ปีก็ให้นั่งนานประมาณ 5 นาที และเริ่มจับเวลาตั้งแต่ลูกสามารถเริ่มนั่งนิ่งได้ เพื่อฝึกให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเองจนกว่าลูกจะสงบลง จึงค่อยพูดทำความเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาและเหตุผลที่ต้องถูกทำโทษ
ทั้งนี้พ่อแม่ต้องจัดการกับความรู้สึกคับข้องใจหรือความรู้สึกโกรธ โมโห ของตนเองด้วยเมื่อลูกดื้อ โดยไม่ยอมแพ้ต่อการต่อรองหรือการอ้อนวอนของลูกน้อย พ่อแม่ต้องปรับพฤติกรรมลูกเมื่อดื้ออย่างสม่ำเสมอ จริงจัง ค่อยเป็นค่อยไป และต่อเนื่อง จะทำให้ลูกพัฒนาทักษะทางอารมณ์และเรียนรู้ได้ว่าอะไรถูก อะไรผิด หรือสิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ ซึ่งเป็นรากฐานให้เด็กมีการพัฒนาคุณธรรมที่เหมาะสมต่อไป
นอกจากนี้พ่อแม่ไม่ควรบังคับลูกน้อยมากเกินไป แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรตามใจมากเกินไป ถ้าทำตามไม่ได้หรือให้ไม่ได้ ก็ควรบอกด้วยว่าทำไม่ได้เพราะอะไร ต้องยืนยันตามเหตุผลนั้นอย่างจริงจัง การกระทำอย่างอ่อนโยนแต่เด็ดขาดชัดเจน เป็นวิธีหนึ่งที่แสดงให้เด็กรู้ว่ามีคนรักและเอาใจใส่ความรู้สึกของเด็ก ในกรณีที่เด็กมีพฤติกรรมดื้อรั้น ต่อต้าน ร้องไห้โวยวาย วิธีแก้ไขที่ง่ายที่สุดในขณะนั้นคือ ต้องใจเย็น อย่ายอมให้สิ่งที่เด็กต้องการในขณะที่เด็กเกิดพฤติกรรมเช่นนั้น ให้ทำเป็นไม่สนใจ อย่าแสดงอาการวิตกกังวลกับพฤติกรรมของเด็กที่เกิดขึ้น เด็กจะค่อยๆ สงบและเงียบลง เมื่อเด็กเงียบควรเบี่ยงเบนความสนใจไปทางอื่น การดื้อรั้นจะลดลง ถ้าสอนเด็กแล้วตนเองไม่ทำตามที่สอนหรือไม่ทำตามที่พูด เด็กจะเรียนรู้ว่าผู้ใหญ่ไม่ทำจริง เช่น บอกว่าถ้าทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วจะต้องถูกลงโทษ เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมนั้นจริงกลับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เด็กก็จะรู้ว่าพ่อแม่ไม่เอาจริง เด็กก็จะยิ่งแสดงพฤติกรรมนั้นมากขึ้น ทำให้พ่อแม่ต้องขู่มากขึ้นกว่าเดิม ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้หรือเข้าใจพฤติกรรมนั้นได้ กลับเข้าใจว่าเป็นเพียงคำขู่ ไม่มีอะไรจริงจัง กรณีเช่นนี้ เป็นการส่งเสริมให้เด็กกลายเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมดื้อรั้นมากขึ้น
ลูกก้าวร้าว… จัดการอย่างไร
พฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น ทำลายสิ่งของ พ่อแม่ต้องป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง และหยุดยั้งพฤติกรรมเหล่านี้ให้ได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับลูกน้อยและผู้อื่นที่อยู่รอบข้าง และช่วยให้ลูกน้อยได้เรียนรู้พฤติกรรมที่ถูกต้อง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้อื่นในสังคม
วิธีการแก้ไข
1. ถ้าพฤติกรรมก้าวร้าวนั้นไม่รุนแรง และไม่เป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น เช่น ร้อง นอนดิ้น กระทืบเท้า แก้ไขโดย
- เพิกเฉย ต่อพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นร้องไห้โวยวายเสียงดัง ควรแสดงสีหน้าที่เรียบเฉย นิ่ง สงบ และลอบสังเกตพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก ซึ่งอาจใช้เวลาแตกต่างกันประมาณ 10-30 นาที หรือบางครั้งอาจนานถึง 1 ชั่วโมงก็ได้ หลังจากที่เด็กสงบลงใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กไปสู่กิจกรรมอื่นแทนและไม่ควรพูดย้ำเตือนถึงเหตุการณ์นั้นอีก
- ใช้เวลานอก โดยเลือกมุมห้องที่เงียบและไม่มีสิ่งที่เด็กสนใจ แต่ต้องไม่น่ากลัวสำหรับเด็ก เมื่อเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายผู้อื่น หรือทำลายข้าวของ นำเด็กแยกออกจากสิ่งแวดล้อมขณะนั้น และนำเข้ามุมที่จัดไว้สำหรับปรับพฤติกรรม บางครั้งเรียกว่ามุมสงบโดยให้เด็กอยู่ภายในมุมนั้นชั่วคราวและคอยดูแลอยู่ห่างๆ เมื่อครบเวลานำเด็กออกจากมุมนั้น ถ้าเด็กยังแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอีก ให้นำเด็กเข้ามุมสงบทุกครั้ง
2. ถ้าพฤติกรรมก้าวร้าวนั้นรุนแรง และเป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น แก้ไขโดย
- การลงโทษ เป็นวิธีการหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้โดยทันที ซึ่งถึงแม้จะได้ผลทันที ก็ควรใช้เป็นวิธีสุดท้ายกับเด็กเพราะเด็กยังไม่สามารถเข้าใจถึงเหตุผลที่ถูกลงโทษ แต่จะเรียนรู้ว่าการลงโทษหรือการตีใช้ได้ผลในการหยุดพฤติกรรมและอาจเลียนแบบนำไปใช้กับเด็กอื่นแทน ขณะที่ลงโทษเด็ก ผู้ลงโทษเด็กต้องมีสติ ไม่ลุแก่โทสะ และไม่ควรใช้อุปกรณ์ เช่น เข็มขัด ไม้ และควรบอกเหตุผลสั้นๆ ในการลงโทษ
- วิธีกอดรัดเพื่อหยุดยั้งพฤติกรรม ถ้าเด็กตัวใหญ่อาจใช้ผ้าห่อรัดตัวเด็กแทน เด็กอาจจะดิ้นหรือต่อต้านผู้ปรับพฤติกรรมมากขึ้น แต่ผู้ปรับพฤติกรรมต้องมีความชัดเจน อดทน สม่ำเสมอ และควบคุมอารมณ์ตนเองให้ได้ก่อน พ่อแม่อาจใช้วิธีการจับมือหรือตัวเด็กไม่ให้ทำร้ายตนเอง หรือทำร้ายพ่อแม่และขว้างปาข้าวของได้ โดยพูดบอกเด็กด้วยน้ำเสียง สีหน้า หนักแน่น สั้นและชัดเจนว่า “หนูตีแม่ไม่ได้” หรือ “หนูขว้างของไม่ได้” เมื่อเด็กสงบลง ให้ใช้ วิธีเบี่ยงเบนไปสู่กิจกรรมใหม่แทน ไม่ควรพูดตำหนิในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และถ้าเด็กเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้อีก ก็อาจจะใช้วิธีการปรับพฤติกรรมเช่นนี้อีกทุกครั้ง จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
- การสร้างตัวแบบที่ดีให้เด็กเรียนรู้ โดยผู้เลี้ยงดูต้องเป็นต้นแบบ ในการควบคุมอารมณ์และแสดงออกอย่างเหมาะสม
ที่มา Romper
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
9 สัญญาณเตือน หนทางสู่ชีวิตคู่ที่ต้อง “หย่า” แน่นอน
ชีวิตคู่จะรอดไหม ถ้าอยู่ไกลกันช่วงเทศกาล”>ชีวิตคู่จะรอดไหม ถ้าอยู่ไกลกันช่วงเทศกาล
325 ชื่อเล่น Unisex ชื่อเดียวได้ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง เทรนด์การตั้งชื่อ ปี 2020