1.ดุด่าต่อว่า
การดุด่าต่อว่าในที่นี้รวมถึงการถากถาง ประชดประชันด้วยนะคะ คำพูดทำร้ายจิตใจผู้ฟัง คุณควรตำหนิการกระทำของลูก ไม่ใช่ตัวลูก เมื่อลูกทำผิด เรามักตีตราว่าลูกเป็นเด็ก ‘ดื้อด้าน’ หรือ ‘ไม่ได้เรื่อง’ ลูกจะซึมซับคำดุด่าไว้ และมันอาจกัดกร่อนจิตใจของลูกทีละน้อย จนคำเหล่านี้ฝังรากลึกกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวลูกไปจริงๆ ค่ะ
2.ชมอย่างขอไปที
พ่อแม่ควรชื่นชมลูกที่มุ่งมั่นฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อทำงานให้สำเร็จมากกว่าจะชื่นชมผลลัพธ์ที่ได้ คุณควรให้ลูกได้เรียนรู้ที่จะยอมรับคำติเพื่อก่อ และชมลูกอย่างจริงใจ โดยเจาะจงในรายละเอียดและเอ่ยถึงควมอุตสาหะของลูก เช่น อย่าพูดแค่ว่า “รูปสวยจัง…” แต่ให้ชมว่า “สีที่หนูใช้ระบายท้องฟ้าสวยมากเลยจ้ะ…” คำชมเช่นนี้จะทำให้ลูกพยายามยิ่งๆ ขึ้นไปอีกในอนาคต
3.ช่วยลูกไปหมดทุกเรื่อง
อย่าช่วยทำในสิ่งที่ลูกทำเองได้ คุณอาจช่วยให้ข้อมูลเป็นแนวทางในการลงมือทำงานแก่ลูก สาธิตให้ลูกดูขั้นตอน และถอยออกมา ปล่อยให้ลูกได้เป็นคนตัดสินใจเอง เช่น เวลาลูกพยายามเล่นเกมให้ผ่านด่าน คุณควรบอกใบ้วิธีให้ลูกไปแก้โจทย์ต่อเอง การทำเช่นนี้จะกระตุ้นให้ลูกรู้จักตัดสินใจด้วยตัวเองจากข้อมูลที่มี
4.ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ ผิดพลาดไม่ได้
ความผิดพลาดและความล้มเหลวสอนให้ลูกรู้จักล้มแล้วลุกค่ะ ถ้าลูกไม่มีโอกาสเรียนรู้ที่จะมองหากลวิธีใหม่ในการเอาชนะอุปสรรค ทักษะในการแก้ปัญหาของลูกจะอ่อนด้อยอย่างน่าวิตก
การเป็นตัวของคุณเองสำคัญยิ่งกว่าพยายามทำตัวให้สมบูรณ์แบบตามบรรทัดฐานสังคม คุณควรอยู่ข้างๆ ลูกเมื่อลูกลองเทน้ำใส่แก้วด้วยตัวเอง อย่าช่วยลูกแม้ว่าลูกอาจทำน้ำหกก็ตาม ถ้าน้ำหก ไม่ควรตำหนิลูก แต่ให้ถามลูกว่าควรทำยังไงกับความเลอะเทอะตรงหน้า
5.ใช้เวลากับลูกน้อยเกินไป
ทำให้ลูกรู้ว่าลูกมีค่าต่อเวลาของคุณเสมอ การอยู่ใกล้ๆ ลูกโดยไม่ทำอะไรเลยก็ช่วยเสริมสร้างความภูมิใจในตนเองของลูกได้แล้วค่ะ ใช้เวลากับลูกซ่อมแซมเครื่องใช้ในบ้านด้วยกัน หรือแทนที่จะขับรถ ก็ลองเดินแทนบ้างจะได้ใช้เวลากับลูกมากขึ้นค่ะ
6.ไม่เป็นตัวอย่างให้ลูก
ถ้าคุณเป็นตัวอย่างให้ลูกไม่ได้ คำสั่งสอนของคุณก็สูญเปล่า ลูกเห็นสิ่งที่คุณทำมากกว่าได้ยินสิ่งที่คุณพูดค่ะ
7.พูดว่า “พ่อ/แม่จะรักหนูถ้า…”
ความเสียหายใหญ่หลวงจากคำพูดนี้คือลูกจะเข้าใจว่าความรักของคุณมีเงื่อนไข ส่งให้เด็กทำสิ่งต่างๆ เพราะหวังจะได้ความรักและการยอมรับตอบแทน สิ่งนี้จะฝังใจเด็กไปจนล่วงเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ และเด็กเหล่านี้มีแนวโน้มจะถูกล่วงเกินทางเพศมากกว่าเด็กทั่วไปด้วย
8.ประคบประหงมลูก
ให้ลูกทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ บ้าง เช่น ทำแซนด์วิชหรือพับเสื้อผ้า วิธีนี้ทำให้ลูกเห็นว่าคุณชื่นใจที่ลูกมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระและจะกระตุ้นให้ลูกอยากช่วยอีก การกำหนดหน้าที่ให้ลูกล้างจานของตัวเองนับเป็นขั้นแรกของการฝึกให้ลูกได้รู้ว่าชีวิตจริงๆ ที่ต้องพึ่งตนเองเป็นอย่างไร การรองมือรองเท้าลูกตลอดเวลาบ่อนทำลายความสามารถในการพึ่งพาตนเองของลูก
9.พูดว่า “เดี๋ยวก็ดีเอง…”
คำพูดที่ได้ผลกว่าคือ “เราจะแก้ปัญหานี้ด้วยกันนะ พ่อ/แม่อยู่เคียงข้างหนูเสมอ…” คุณควรสนับสนุนให้ลูกเอ่ยปากบอกถึงความรู้สึกของตน และสอนคำเกี่ยวกับอารมณ์ เช่น หงุดหงิด โมโห เสียใจหรือผิดหวัง การตระหนักรู้ถึงความรู้สึกของตนเองเป็นก้าวแรกไปสู่ทางแก้ไข
10.คิดลบ
นักวิทยาศาตร์เชื่อมั่นว่าสมองของเราสามารถเปลี่ยนทัศนะมองโลกได้หากฝึกฝนบ่อยๆ คุณควรหมั่นเติมเต็มความคิดหลากหลายและความเป็นไปได้ไม่รู้จบให้แก่ลูก ช่วยลูกหล่อเลี้ยงทัศนคติที่ว่าอย่ายอมแพ้ต่อชีวิต ยิ้มรับปัญหา เล่าเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจให้ลูกฟัง และสอนให้ลูกเป็นเหมือนโปรตอน คือเป็นขั้วบวก คิดบวกค่ะ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
5 เรื่องที่พ่อแม่ไม่ควรบังคับลูก
ไม่อยากเป็นพ่อแม่เฮลิคอปเตอร์ ฟัง 4 วิธีทางนี้