1. คุยกับลูกบ่อยๆ
แนะนำคำศัพท์ใหม่ ๆ ให้กับลูกทุกวัน โดยคุณแม่ชี้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวลูก ชวนลูกคุยเกี่ยวกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ โดยใช้ภาษาปกติของผู้ใหญ่ เพื่อให้ลูกจดจำและสามารถพูดออกมาอย่างถูกต้อง
ทำอย่างไร : คุยกับลูก อธิบายกิจวัตรประจำวัน ว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ เช่น คุณกำลังเลือกเสื้อผ้าจากตู้เสื้อผ้า แล้วลูกน้อยวัยเตาะแตะก็อยู่กับคุณด้วย คุยกับลูกว่า ทำไมคุณถึงต้องเลือกเสื้อผ้า เพราะว่า “แม่กำลังจะออกไปทำงาน แม่ก็เลยต้องเปลี่ยนไปใส่ชุดทำงานแทนจ้ะ” จากนั้นเลือกเสื้อผ้ามาสัก 2 ชุด แล้วถามลูกว่า “แม่ใส่เสื้อสีเขียว หรือชุดสีขาวดีจ๊ะ” แม้ลูกอาจยังไม่สนใจที่จะเลือกเสื้อผ้าให้คุณ แต่อย่างน้อยเขาก็ฟังในสิ่งที่คุณพูดกับเขา
2. ใช้ท่าทางและการกระทำเชิงสัญลักษณ์
การกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษา สามารถใช้ท่าทางและการกระทำ ควบคู่ไปกับการใช้คำพูดที่เหมาะสม เพื่ออธิบายให้ลูกเข้าใจสิ่งที่แม่ต้องการสื่อสารได้ดียิ่งขึ้น
ทำอย่างไร : สมมติว่าตอนนี้เป็นเวลาอาหารกลางวัน ให้คุณแม่นำจานมาวางบนโต๊ะให้ลูกเห็น พร้อมดังสูดดมกลิ่นหอมของอาหาร พร้อมกับเรียกชื่อลูก “น้องขวัญได้เวลาทานอาหารกลางวันแล้วจ้ะ” ในตอนแรกเจ้าตัวน้อยอาจยังไม่เข้าใจคำว่า อาหารกลางวัน แต่เขาจะเข้าใจในไม่ช้าว่า การที่แม่พูดถึง อาหารกลางวัน นั้นหมายถึง ได้เวลากินข้าว แล้วนั่นเอง
3. เปิดโอกาสให้ลูกได้สื่อสาร
คุณแม่ควรกระตุ้นให้ลูกสื่อสาร และตอบคำถาม โดยการถามคำถามง่ายๆ ตลอดทั้งวัน อาจเริ่มจาก คำถามที่ให้ลูกตอบ “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” ก่อนก็ได้ เมื่อลูกเริ่มมีการสื่อสารตอบโต้ ค่อยถามคำถามที่ยากขึ้น เช่น วันนี้ลูกอยากทานอะไร หรือ ลูกอยากไปไหน หลังจากถามคำถาม อย่าลืมที่จะหยุดให้เวลาลูกได้คิดเพื่อตอบคำถามเหล่านั้นด้วยนะคะ
ทำอย่างไร : เมื่อคุณแม่พาลูกไปเที่ยวนอกบ้าน ให้ถ่ายรูปตอนเจ้าตัวน้อยกำลังเล่นไว้ด้วย พอกลับบ้าน ให้คุณแม่ถามลูกว่า วันนี้หนูทำอะไรมาบ้าง สนุกไหม เอารูปให้เขาดู แล้วถามว่า ลูกชอบทำสิ่งนั้น หรือสิ่งนี้มากกว่ากัน และลูกอยากให้แม่พาไปที่นั่นอีกไหม เป็นต้น
4. ใช้คำง่าย ๆ ประโยคสั้น ๆ
ใช้คำง่าย ๆ ประโยคสั้น ๆ เท่าที่คุณจะสามารถทำได้ เพื่อให้ลูกสามารถทำความเข้าใจในสิ่งที่คุณพูดได้ง่ายขึ้น
ทำอย่างไร : คุณแม่ควรใช้คำง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ลูกคุ้นเคยและสามารถเชื่อมโยงคำนั้น ๆ กับสิ่งของหรือการกระทำต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น ใช้คำว่า “กิน” แทน “รับประทาน” ใช้คำว่า “ทีวี” แทน “โทรทัศน์” ใช้คำว่า “ฉี่” แทน “ปัสสาวะ” เป็นต้น
5. พูดซ้ำ ๆ
ลูกอาจยังเรียกบางอย่างไม่ถูกต้องเช่น เรียก “สไลเดอร์” เป็น “ไลเดอร์” เรียก “ควาย” เป็น “คาย” เรียก “ยืน” เป็น “ยูน” ให้คุณแม่หาจังหวะสอนการออกเสียงที่ถูกต้องกับลูกทันทีที่มีโอกาส การพูดซ้ำ ๆ จะช่วยกระตุ้นความจำของลูกได้เร็วขึ้น
หากลูกพูด “คาย” ให้คุณแม่ตอบว่า ใช่จ้ะ นี่คือ “ควาย” เมื่อลูกเรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงคำ และพูดคำที่ถูกต้องได้ อย่าลืมปรบมือชื่นชมเจ้าตัวน้อยด้วยนะคะ
ทำอย่างไร : พยายามใช้คำที่ถูกต้องเมื่อสื่อสารกับลูกวัยเตาะแตะ แม้ว่าคุณจะรู้ว่าคำที่ลูกพูดหมายถึงอะไรก็ควรจะทวนคำพูดของลูกด้วยคำที่ถูกต้องเสมอ เช่น ลูกพูดว่า “ไลเดอร์” คุณแม่ควรพูดทวนว่า ลูกหมายถึง “สไลเดอร์” ใช่ไหมจ๊ะ
คุณแม่ไม่ควรปล่อยผ่าน หรือออกเสียงเลียนแบบลูก เพราะถึงแม้จะดูน่ารัก แต่อาจทำให้ลูกเรียนรู้ภาษาแบบผิด ๆ ได้ค่ะ ความสม่ำเสมอของคุณแม่เป็นสิ่งสำคัญที่จะกระตุ้นให้ลูกออกเสียงได้เช่นเดียวกับคุณ
ยังมีเทคนิคกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาของลูกน้อยวัยหัดพูดในหน้าต่อไป คลิก
6. ทำให้เป็นเรื่องสนุก
การเรียนรู้ผ่านการเล่นที่สนุกและสร้างสรรค์ เป็นสิ่งจูงใจลูกที่ได้ผลสุดๆ หากคุณแม่ให้เจ้าตัวน้อยได้เรียนรู้คำศัพท์ไปพร้อมกับการทำท่าทางประกอบ เด็กจะสามารถจดจำได้อย่างรวดเร็วว่า คำนี้ ต้องทำท่านี้ อีกคำหนึ่ง ต้องทำอีกท่าหนึ่ง เป็นการเรียนรู้ที่ไม่รู้เบื่อสำหรับเจ้าตัวน้อยเลยล่ะ
ทำอย่างไร : คุณแม่อาจสอนคำศัพท์ใหม่ ๆ ให้ลูกผ่านเพลง เช่น เพลง ‘Head, Shoulders, Knees and Toes’ ลูกจะสนุกสนานไปกับการร้องเพลง พร้อมทั้งเรียนรู้คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะภายนอกร่างกายไปด้วย
7. ไม่หยุดสอน
เมื่อลูกเริ่มคุยแล้ว คุณแม่ไม่ควรหยุดสอนคำง่าย ๆ แต่ในขณะเดียวกันควรเพิ่มเติมคำที่ยากขึ้น เช่น คำที่มีหลายพยางค์ และสังเกตว่าลูกพร้อมเรียนรู้คำที่ยากขึ้นแล้วหรือยัง
ทำอย่างไร : ใช้เครื่องมือที่หลากหลาย เช่น แฟลชการ์ด หนังสือ และของเล่น เพื่อเพิ่มความดึงดูดใจ กระตุ้นให้ลูกอยากเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาของลูกได้เป็นอย่างดี
8. เรียกชื่อของลูก
ให้เรียกชื่อลูกทุกครั้ง ก่อนที่จะพูดหรือถามอะไร อย่าลืมว่า ควรมองตาลูกขณะพูดด้วย การทำเช่นนี้จะช่วยให้ลูกทำความเข้าใจ และโฟกัสในสิ่งที่คุณแม่พูดได้ดี
ทำอย่างไร : คุณแม่ต้องแน่ใจว่า ในขณะที่พูดกับลูก คุณแม่มองตาลูก พร้อมกับเรียกชื่อลูก “น้องฟ้า หนูอยากกินข้าวต้ม หรือกข้าวผัดจ๊ะ” หรือ น้องเมย์ ไปเล่นที่สนามเด็กเล่นกันเถอะ”
9. ใช้ภาพประกอบ
มีสำนวนกล่าวไว้ว่า “ภาพหนึ่งภาพ แทนคำพูดนับพัน” การใช้รูปภาพจึงสามารถช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ภาษาของลูกวัยเตาะแตะได้เช่นกัน
เด็กอายุ 18-30 เดือน สามารถเลียนแบบท่าทางได้บ้างแล้ว ซึ่งนั่นหมายความว่าเขาสามารถเรียนรู้ผ่านหนังสือภาพได้ หากในหนังสือมีรูปเด็กกำลังหวีผม ลูกจะสามารถเชื่อมโยงหวีในหนังสือกับหวีจริง ๆ ได้ และต้องการที่จะเลียนแบบการกระทำนั้น ด้วยการใช้หวีในจินตนาการ หรือขอหวีจริง ๆ จากคุณแม่มาหวีผม
ทำอย่างไร : สอนให้ลูกเรียนรู้ภาษาผ่านการใช้ภาพประกอบจาก รูปถ่าย ภาพจากนิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือหนังสือภาพ โดยคุณแม่ชี้ให้ลูกดูที่สิ่งลูกคุ้นเคยทุก ๆ วัน เช่น รถ แมว หมา เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้ลูกด้วยคำง่าย ๆ ก่อน
ในขณะเดียวกันก็เริ่มมองหาคำศัพท์ใหม่ ๆ ที่ลูกไม่คุ้นเคย หรือคำที่ออกเสียงยากขึ้น เช่น ไม้กวาด โรงพยาบาล สุนัข เพื่อให้ลูกได้พัฒนาคลังคำศัพท์ของเขาให้มากขึ้น
10. อ่านหนังสือกับลูก
กลับมาที่พื้นฐานในการเรียนรู้ภาษาของลูกน้อย นั่นคือการอ่าน ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาของลูกได้ดีจริงๆ ในแง่ของการเพิ่มจำนวนคลังคำศัพท์ การเข้าใจคำศัพท์ การเชื่อมโยงคำกับรูปภาพ และยังเป็นการเปิดโลกกว้างให้กับลูก
ทำอย่างไร : หาหนังสือที่เหมาะกับเด็กวัยเตาะแตะมาอ่านกับลูกเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 10 นาที โดยให้ลูกเลือกหนังสือที่เขาอยากอ่านเอง จากนั้นคุณแม่นั่งหันหน้าเข้าหาลูก เพื่อจะได้มองตาลูกขณะเล่าเรื่องและพูดคุยกันถึงเรื่องที่อ่านด้วยกัน แต่ควรระวังไม่ถามคำถามลูกมากเกินไป อาจปล่อยให้มีช่วงเงียบบ้าง เพื่อรอให้ลูกเป็นฝ่ายเริ่มต้นสื่อสารกับคุณบ้าง และอย่าลืมชมเชยลูกทุกครั้ง เมื่อลูกตอบถูก หรือแสดงพฤติกรรมที่คุณแม่คาดหวัง เพราะการได้รับคำชมจะเป็นการเสริมแรงบวกให้ลูกมั่นใจที่ทำพฤติกรรมเช่นนั้นเพิ่มขึ้นค่ะ
คุณแม่มีวิธีกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาของเจ้าตัวน้อยอย่างไรบ้าง แบ่งปันประสบการณ์ของคุณได้ที่ด้านล่างนะคะ หากคุณคิดว่าบทความของเรามีประโยชน์ อย่าลืมแชร์ให้กับคุณแม่ท่านอื่นๆ นะคะ
ที่มา https://sg.theasianparent.com/
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
สุดยอด 3 เคล็ดลับอ่านหนังสือกับลูกวัยหัดพูด
ลูก 2 ขวบไม่พูด ควรพาลูกไปตรวจการได้ยิน