10 วิธี ปลูกฝังลูก นิสัยดี ก่อนโตเป็นวัยรุ่น
ลูกยิ่งโตยิ่งห่างจากอกแม่ พอลูกเติบโตจนกลายเป็นวัยรุ่นแล้ว จากที่เคยเชื่อฟัง ทำตามที่พ่อแม่บอก ก็จะค่อยๆ ดื้อมากขึ้น จะสอนสั่งลูกตอนโตก็ทำได้ยาก ในช่วงเวลาที่ลูกยังเชื่อฟังและพ่อแม่ยังใกล้ชิดลูก ก็ควรจะสอนนิสัยดีๆ บอกพฤติกรรมที่ลูกควรทำ เพื่อลูกจะได้เติบโตเป็นวัยรุ่นที่ดีที่ใครๆ ก็รัก
1.ระวังคำพูด เลือกเอ่ยเฉพาะประโยคไพเราะ
ตั้งแต่ลูกยังเป็นเบบี๋ พ่อแม่ก็ต้องระมัดระวังคำพูดให้ดี เพราะลูกจะเริ่มจดจำและพูดตาม คำศัพท์หยาบคายหรือคำเรียกด้วยภาษาที่ไม่เหมาะสม จะทำให้ลูกรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่พูดได้ในบ้าน พ่อแม่จึงต้องไม่พูดคำหยาบต่อหน้าลูก หรือแม้แต่คำที่ไม่สุภาพก็ไม่ควรให้ลูกได้ยิน เมื่อลูกโตขึ้น พบเจอกับเพื่อนๆ มากขึ้น ลูกจะเรียนรู้คำหยาบหรือประโยคที่ไม่สุภาพ แต่ถ้าพ่อแม่ไม่เคยพูดสิ่งเหล่านี้ในบ้าน ลูกก็จะรู้ได้เองว่าคำพูดหยาบคายไม่ควรพูดในบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพ่อและแม่
2.รัดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเมื่อนั่งในรถ
แม้ว่าลูกจะยังไม่ได้สอบใบขับขี่เร็วๆ นี้ แต่อีกไม่ช้าไม่นาน ลูกก็จะโตพอที่จะเรียนขับรถและสอบใบขับขี่ ดังนั้น พ่อแม่ควรจะฝึกนิสัยรัดเข็มขัดนิรภัยให้กับลูก โดยทุกๆ ครั้งที่นั่งในรถยนต์ พ่อแม่ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งให้ลูกเห็น พร้อมทั้งคาดเข็มขัดให้ลูกด้วย แล้วค่อยสตาร์ทเครื่อง พอลูกโตขึ้นและขับรถเองได้ จะติดนิสัยการคาดเข็มขัดนิรภัยก่อนขับรถออกไป แค่นี้ก็ช่วยลดอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้แล้ว
3.โทรไม่ขับ อย่าเล่นโทรศัพท์ในรถ
โทรศัพท์มือถือเป็นต้นเหตุสำคัญในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ในทุกๆ ปี ไม่ว่าจะคุยโทรศัพท์หรือเล่นมือถือ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเวลาขับรถ เมื่อก้าวขาขึ้นรถ พ่อแม่ต้องเก็บมือถือให้ห่างจากตัวเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก พอลูกเริ่มเห็นจนเป็นความเคยชิน ตอนที่ลูกโตขึ้นก็จะไม่ใช้มือถือขณะขับรถ ลดอันตรายได้ทั้งตัวลูกและคนอื่นๆ
4.ถามลูกด้วยคำถามปลายเปิด ช่วยให้ลูกเปิดใจ
พ่อแม่มักจะถามลูกด้วยคำถามเดิมๆ อย่าง โรงเรียนเป็นยังไงบ้าง? คำตอบที่ได้รับก็จะเป็นคำตอบเดิมๆ เช่น ก็ดีค่ะ, ก็เหมือนเดิมครับ จริงๆ เป็นเพราะการเลือกใช้คำถามที่ทำให้ได้คำตอบสั้นๆ ได้ใจความ นั่นไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็ไม่สามารถพูดคุยซักถามไปเรื่องอื่นๆ ได้ พ่อแม่จึงควรปรับเปลี่ยนคำถาม วิธีการถาม ที่ส่งเสริมให้ลูกอยากตอบ อย่างโรงเรียนสนุกไหม เรียนเรื่องอะไรบ้าง เพื่อนที่โรงเรียนน่ารักหรือเปล่า เลือกใช้คำถามที่ให้ลูกเปิดใจ แล้วลูกจะเล่าปัญหาต่างๆ จะได้แก้ไขปัญหาให้ลูกได้อย่างถูกจุด
5.กินข้าวเย็นพร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัว
เวลาแห่งความสุขที่จะช่วยสร้างสัมพันธ์ที่ดีให้กับทุกครอบครัว คือการนั่งกินข้าวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ดี ที่จะให้ทุกคนในครอบครัวได้แบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ที่พบเจอในแต่ละวัน แชร์เสียงหัวเราะ และยิ้มไปกับความสุข ดังนั้น การได้นั่งล้อมวงกินข้าวกันทั้งครอบครัว จึงถือเป็นสิ่งที่ดีที่ให้ลูกใกล้ชิดกับพ่อแม่ แต่ข้อควรระวังคือ เก็บมือถือทุกเครื่องก่อนดินเนอร์ ทุกคนจะได้พูดคุยและมองหน้ากัน ไม่ใช่มองจอ
อ่านวิธีสร้างนิสัยดีๆ ให้ลูกก่อนโตเป็นวัยรุ่น ในหน้าถัดไป
6.พยายามจะรู้จักเพื่อนของลูก
พอเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ลูกจะเริ่มเข้าสังคมและเปิดกว้างกับกลุ่มเพื่อนใหม่ๆ และมักจะเกิดอาการติดเพื่อน จนไม่อยากกลับบ้าน พ่อแม่จึงควรจะรู้จักเพื่อนของลูกไว้บ้าง อย่างน้อยๆ จะได้รู้ว่าลูกใช้เวลาอยู่กับเพื่อนคนไหน ท่าทางเป็นอย่างไร ดูน่าไว้ใจหรือเปล่า ลองดูว่าเพื่อนคนไหนจะพาลูกทำสิ่งดีๆ หรือชักนำไปทำกิจกรรมที่เหมาะสม
7.ดูสิ่งที่ลูกโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย
เด็กรุ่นใหม่เริ่มติดเทคโนโลยี และมักจะใช้โซเชียลมีเดียบ่อยๆ พ่อแม่จึงควรสอดส่องว่าลูกโพสต์หรือพูดคุยกับใครบ้างในโซเชียลมีเดีย แต่ไม่จำเป็นต้องติดตามทุกโพสต์ ปลอมโปรไฟล์เพื่อสืบเสาะ หรือทำอะไรที่มากเกินไป แค่สำรวจดูว่าลูกไลค์ คอมเมนท์ หรือโพสต์ ในสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อตัวลูกเองหรือเปล่า ที่สำคัญต้องคอยสอนเรื่องความปลอดภัยในการเล่นโซเชียลมีเดีย และเตือนภัยถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้ลูกได้ระวังตัว
8.ใส่ใจทุกสิ่งที่ลูกสนใจและเรื่องที่ลูกหลงใหล
พอลูกโตขึ้นจะจับทางตัวเองได้ว่า ชอบสิ่งใดหรือไม่ชอบอะไร มีความสนใจหรือหลงใหลในกิจกรรมอะไรเป็นพิเศษ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ ใส่ใจในทุกเรื่องที่ลูกให้ความสำคัญ และแสดงออกว่าเข้าอกเข้าใจในเรื่องที่ลูกแคร์ เช่น รายการโทรทัศน์ชื่อดังหรือหนังสือชุดที่กำลังเป็นที่นิยม พ่อแม่ต้องลองไปดูทีวี อ่านหนังสือ ที่ลูกสนใจ เพื่อจะได้มีเรื่องไปคุยกับลูก นอกจากนี้ ถ้าลูกเริ่มอยากทำกิจกรรม เล่นดนตรีหรือเล่นกีฬา ก็ควรสนับสนุน ไม่ก็ร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ไปด้วยเลย เพื่อแสดงออกว่าใส่ใจในทุกเรื่องที่ลูกสนใจ
9.วางแผนทำกิจกรรมร่วมกับลูก
ก่อนลูกจะโตเป็นวัยรุ่นที่มีทางเดินชีวิตของตัวเอง ระหว่างนี้พ่อแม่ต้องหากิจกรรมทำร่วมไปกับลูก เป็นกิจกรรมสนุกๆ หรือกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นเร้าใจ เพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัว เมื่อลูกเติบโตเป็นวัยรุ่น ลูกจะเริ่มต้องการพื้นที่ส่วนตัว แต่ขณะเดียวกันก็จะยังรู้สึกว่า พ่อแม่เป็นเพื่อนและเปิดใจให้
10.สอนลูกให้เข้าใจคุณค่าของความล้มเหลวและความพยายาม
ในวันที่ลูกเติบโตเป็นวัยรุ่น ลูกอาจจะพบเจอกับความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง ทั้งทางร่างกายและทางอารมณ์ หากผิดพลาดล้มลงหรือแพ้ในบางอย่าง บางครั้งก็ยากที่จะรับมือไหว พ่อแม่จึงต้องอบรมและสั่งสอนลูกเรื่องความผิดพลาดว่าสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ลูกก็ต้องผ่านพ้นมันไปให้ได้ แล้วลูกจะแข็งแกร่งขึ้นหลังจากที่พ่ายแพ้ เพราะคนเราไม่จำเป็นต้องชนะทุกอย่าง แต่การเรียนรู้ที่จะเติบโตผ่านประสบการณ์ นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า
เตรียมตัวลูกให้พร้อมก่อนลูกเติบโตเป็นวัยรุ่น ลูกจะได้แข็งแรงทั้่งร่างกาย และแข็งแกร่งในจิตใจ ด้วยภูมิคุ้มกันที่พ่อแม่สร้างไว้ให้
ที่มา : sg.theasianparent.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
รวมรายชื่อจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นในกทม.
คุยกับลูกวัยรุ่นเรื่องความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย