ท้องแก่อยากเร่งคลอด ไม่อยากท้องนานเกิน ทำอย่างไรดี

undefined

สำหรับแม่ท้องที่ตั้งครรภ์ได้ 40 สัปดาห์แล้ว ท้องแก่อยากเร่งคลอด แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะเจ็บท้องคลอดเสียที ใจหนึ่งก็ตื่นเต้น ลุ้นว่าจะเจ็บท้องคลอดเร็ว ๆ นี้ไหมนะ อีกใจก็กลัวว่าจะเลยกำหนดคลอดแล้วลูกในท้องจะเป็นอันตราย งั้นเรามาดูกันว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้าง

 

ท้องแก่อยากเร่งคลอด

 

ท้องแก่อยากเร่งคลอด การเร่งคลอด คืออะไร

การเร่งคลอด การชักนำคลอด หรือการกระตุ้นคลอด (Induction of Labor) คือการทำให้แม่ท้องที่ยังไม่มีการเจ็บท้องคลอดตามธรรมชาติ เกิดการเจ็บครรภ์คลอดโดยอาศัยเทคนิค หรือวิธีการต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ถ้าการตั้งครรภ์ของแม่ท้อง เป็นไปอย่างปกติดีทุกประการ ก็ควรรอให้มีการเจ็บครรภ์คลอดตามธรรมชาติจะดีที่สุด เพราะการเร่งคลอด โดยเฉพาะคุณแม่บางท่าน ที่อยากเร่งคลอดตามฤกษ์ยามที่กำหนดไว้ ในบางกรณีอย่าง เช่น การใช้ยาเร่งคลอด อาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากการที่ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือมดลูกอาจจะแตกจากการเร่งคลอดที่รุนแรงเกินไป และยังมีโอกาสที่จะต้องผ่าคลอดสูง หากเร่งคลอดไม่สำเร็จ ส่วนในกรณีที่คุณหมอตรวจพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น คุณหมอก็จะเร่งคลอดให้ทันทีอยู่แล้วครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง : เตือนคนท้อง อย่าเอะอะผ่าคลอดทั้งที่ไม่จำเป็น

 

อาการแบบไหนถึงควรเร่งคลอด

  • แม่ท้องตั้งครรภ์เกิน 40 สัปดาห์ ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้บ่อยที่สุด เพราะถ้าตั้งครรภ์เกินกำหนด ก็อาจทำให้สายรกเสื่อม ทำให้ลูกในท้องขาดออกซิเจนและอาหาร จนเกิดอันตรายได้
  • ทารกในครรภ์โตช้า หรือมีน้ำหนักน้อย เนื่องจากคุณแม่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ โดยเฉพาะแม่ท้องที่สูบบุหรี่จัด และคุณแม่ที่ทานอาหารไม่เพียงพอและไม่เหมาะสมในระหว่างที่ตั้งครรภ์
  • แม่ท้องมีภาวะต่างๆเช่น ภาวะน้ำคร่ำน้อย, ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด, ความดันโลหิตสูง หรือภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด หรือก่อนที่อายุครรภ์จะครบ 37 สัปดาห์

 

สำหรับในกรณีที่แม่ท้องยังมีอายุครรภ์ไม่ถึง 37 สัปดาห์ แต่มีความจำเป็นต้องเร่งคลอด อย่างเช่น ในกรณีที่แม่ท้องอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลมาก ถ้ารอให้เจ็บครรภ์คลอดแล้วค่อยเดินทางมาโรงพยาบาล อาจจะไม่ทันจนทำให้มีการคลอดระหว่างทาง หรือกรณีอื่น ๆ คุณหมอก็จะดูว่าอันตรายแค่ไหน ถ้าสามารถรอได้ก็จะให้รอจนกว่าจะครบกำหนดคลอด หรือใกล้เคียงกับกำหนดคลอดมากที่สุด แต่ถ้าจำเป็นต้องเร่งคลอด คุณหมอจึงจะเร่งคลอดโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของคุณแม่ และทารกในครรภ์มากที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการคนท้องไตรมาส 3 ความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด และสัญญาณใกล้คลอด

 

อาการแบบไหนห้ามเร่งคลอด

  • มีรกเกาะต่ำ ซึ่งอาจจะทำให้รกไปกีดขวางการคลอดได้ รวมถึงมีภาวะสายสะดือย้อย หรือมีภาวะสายสะดือพาดผ่านปากมดลูกและติดกับถุงน้ำคร่ำ
  • ทารกในครรภ์ตัวโตเกินไป เพราะอาจทำให้ทารกบาดเจ็บจากการเร่งคลอดได้
  • ทารกในครรภ์ไม่แข็งแรง หรืออยู่ในท่าที่ไม่สามารถเร่งคลอดได้ เช่น ทารกท่าก้น หรือท่าขวาง
  • คุณแม่เป็นโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์
  • คุณแม่ที่เป็นมะเร็งปากมดลูก หากเร่งคลอดอาจทำให้มะเร็งแพร่กระจายได้
  • มีประวัติเคยผ่าตัดคลอดในท้องแรกมาก่อน เพราะอาจทำให้รอยแผลผ่าตัดเดิมปริ หรือแตก จากการที่มดลูกบีบตัวแรง

 

วิธีเร่งคลอด มีอะไรบ้าง

การเร่งคลอดนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี และบางครั้งคุณหมอก็อาจจะใช้หลาย ๆ วิธีรวมกันก็ได้ เช่น

 

1. การกวาดปากมดลูก

การกวาดปากมดลูกเป็นวิธีเร่งคลอดที่ทำได้ง่าย มีความปลอดภัยและได้ผลดี โดยวิธีการนี้จะคล้าย ๆ กับการตรวจภายใน โดยคุณหมอจะค่อย ๆ ใช้นิ้วกวาดบริเวณปากมดลูก เพื่อกระตุ้นให้มีการเจ็บครรภ์คลอด และจากการศึกษาพบว่า หลังจากใช้วิธีนี้ แม่ท้อง 2 ใน 3 มีอาการเจ็บครรภ์คลอดตามมาภายใน 72 ชั่วโมง

 

2. ใช้ยาเร่งคลอด

ยาเร่งคลอด เป็นยาที่มีคุณสมบัติช่วยให้มดลูกบีบตัว ช่วยเร่งให้เจ็บครรภ์ได้เร็ว และทำให้การคลอดสิ้นสุดลงได้เร็ว แต่การใช้ยาเร่งคลอดจะทำให้คุณแม่มีอาการเจ็บท้องมากกว่าปกติ

 

3. ใช้ฮอร์โมนพรอสตาแกลนดิน

วิธีการนี้ คุณหมอจะใช้ฮอร์โมนในรูปของเจลหรือยา เป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์ โดยการเหน็บช่องคลอด โดยสอดเข้าไปที่บริเวณคอมดลูก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอด

 

4. การเจาะถุงน้ำคร่ำ

วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้มีการเจ็บครรภ์คลอดเกิดขึ้น เพราะเมื่อถุงน้ำคร่ำแตกแล้ว ศีรษะของทารกจะเลื่อนต่ำลงมามากขึ้น และไปกดขยายปากมดลูกให้เปิด

 

ท้องแก่อยากเร่งคลอด

 

วิธีเร่งคลอดธรรมชาติ

นอกจากวิธีเร่งคลอดตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีวิธีธรรมชาติ ที่จะช่วยให้แม่ท้องเจ็บครรภ์คลอดได้เร็วยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่แม่ท้องจะลองใช้เทคนิคเหล่านี้ คุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอ และต้องแน่ใจก่อนนะครับว่า สุขภาพของตนเองยังแข็งแรงปกติดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ วิธีเร่งคลอดธรรมชาติ ที่ว่ามีดังนี้ครับ

 

1. การเดิน

การเดินเป็นวิธีธรรมชาติที่ง่ายที่สุด ที่จะช่วยให้คุณแม่เจ็บท้องคลอดได้เร็วขึ้น เพราะการเคลื่อนไหวของร่างกายจากการเดินนั้น จะเป็นการทำให้ตำแหน่งของทารกเคลื่อนต่ำลงมาอยู่ในตำแหน่งการคลอดครับ แม่ท้องควรเดินอย่างช้า ๆ ทำใจให้สบาย ให้รู้สึกผ่อนคลาย และควรมีคุณพ่อหรือคนใกล้ชิดมาเดินเป็นเพื่อนด้วย เผื่อว่ามีเหตุฉุกเฉินอะไรเกิดขึ้น จะได้ช่วยกันได้อย่างทันท่วงที

 

2. เล่นลูกบอล

วิธีนี้แม่ท้องจำเป็นต้องมีอุปกรณ์เสริมเป็นลูกบอลขนาดใหญ่ โดยวิธีการก็คือ ให้แม่ท้องนั่งบนลูกบอล แล้วโยกตัวไปมาอย่างช้า ๆ เบา ๆ และต้องระวังความปลอดภัยเรื่องการทรงตัวด้วยนะครับ จึงควรให้สามีหรือคนใกล้ชิดมาคอยประคองจะดีที่สุด

ประโยชน์ของลูกบอลนี้จะช่วยยืดกล้ามเนื้อ คล้ายกับการเล่นโยคะ อีกทั้งท่าแบบที่ว่านี้จะช่วยให้ทารกมีการเคลื่อนไหวสู่ช่องเชิงกรานได้เร็วยิ่งขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : 4 ท่าโยคะสำหรับคนท้อง ช่วยเสริมทารกกลับหัว ให้อยู่ในท่าเตรียมคลอด

 

3. มีเพศสัมพันธ์

หลายคนกลัวว่า การมีเซ็กส์ตอนท้อง อาจจะไปทำร้ายลูกในครรภ์ แต่จริง ๆ แล้วโอกาสที่การมีเซ็กส์ตอนท้องแล้วจะเป็นอันตรายนั้นมีน้อยมาก อีกทั้งการมีเซ็กส์อย่างนุ่มนวลในท่าที่ปลอดภัย ยังจะช่วยให้ปากมดลูกเปิด และกล้ามเนื้อช่องคลอดเกิดการหดรัดตัวได้ดียิ่งขึ้น

 

4. การกระตุ้นหัวนมและเต้านม

การกระตุ้นหัวนมและเต้านม หรือ Breast stimulation โดยการนวดคลึงหรือดูด โดยอาจจะใช้ฝ่ามือนวดบริเวณลานนมเบา ๆ อย่างอ่อนโยน ครั้งละ 15 – 20 นาทีทุกวัน วันละหลาย ๆ ครั้ง จะช่วยไปกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อว่า ออกซิโทซิน ที่จะทำให้มดลูกหดรัดตัวได้ดีขึ้น

มีการศึกษาวิจัยมาแล้วว่า วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดได้และทำให้ปากมดลูกมีความพร้อมมากขึ้น ซึ่งในกรณีที่ปากมดลูกมีความพร้อมก็จะทำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดใน 72 ชั่วโมง

 

การคลอดเอง กับ การเร่งคลอด รู้สึกเหมือนกันไหม

ความรู้สึกจากการคลอดเองตามธรรมชาติ กับการเร่งคลอด ไม่ได้แตกต่างกันเท่าใดนักครับ คุณแม่ยังสามารถควบคุม และกำหนดลมหายใจตามจังหวะการเบ่งคลอดได้ แต่หากคุณแม่เจ็บมาก คุณหมออาจให้ฉีดยาชาที่ไขสันหลังหรือให้ยาแก้ปวดอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวด ดังนั้น คุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลใจไปครับ เพราะคุณหมอจะดูแลความปลอดภัยของแม่ท้องอย่างดีที่สุดอยู่แล้วครับ

โดยสรุปแล้ว หากคุณแม่ ท้องแก่อยากเร่งคลอด มีอายุครรภ์เกิน 40 สัปดาห์ แล้วยังไม่เจ็บท้องคลอด ก็ควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอจะดีที่สุด เพราะหากพบความผิดปกติที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อคุณแม่และลูกในครรภ์แล้ว คุณหมอจะเป็นผู้เร่งการคลอดให้เอง ถึงยังไงแล้ว ในระหว่างนี้ ก็ดูแลตัวเองให้ดีนะครับ ออกไปเดินเล่นกับคุณพ่อ ออกกำลังกายเบา ๆ  ทำจิตใจให้สบาย เพื่อรอต้อนรับลูกน้อยที่กำลังจะออกมาลืมตาดูโลกจะดีที่สุดครับ

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

สารอาหารบํารุงครรภ์ ใกล้คลอดแบบนี้ต้องบำรุงอะไรเพิ่มอีก

ใกล้คลอดแล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกเอาหัวหรือก้นออก

สัญญาณอันตรายใกล้คลอด โค้งสุดท้ายก่อนเป็นแม่คน

ที่มา : medthai

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!