สัญญาณเตือนแม่ท้องเสี่ยงผ่าคลอด ถ้าเป็นแบบนี้คลอดเองไม่ได้แน่ แม่จำเป็นต้องผ่าคลอด

undefined

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในไตรมาสที่สาม คงต้องเตรียมการคลอดไว้บ้างแล้วนะคะ สำหรับวิธีคลอดแน่นอนว่าใคร ๆ ก็อยากคลอดเองด้วยวิธีธรรมชาติ เพราะมีข้อดีมากมายตามที่ได้ทราบกันมาบ้าง แต่สำหรับคุณแม่ที่มีอาการดังนี้ มีความเสี่ยงที่จะผ่าคลอดค่ะ มาดูกันว่ามีอาการอะไรบ้าง ติดตามอ่านค่ะ

นพ.ภูมิพร อัจฉรารัตนโสภณ สูตินรีแพทย์ เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยถึง สัญญาณเตือนแม่ท้องเสี่ยงผ่าคลอด  ว่าการผ่าตัดคลอดจะเกิดขึ้นเมื่อคุณหมอเห็นว่าการคลอดปกติแบบธรรมชาติ จะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะต่อตัวคุณแม่ หรือลูกก็ตาม

มาศึกษากันก่อนว่า สัญญาณเตือนแม่ท้องเสี่ยงผ่าคลอด โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีอะไรบ้าง ดังนี้ค่ะ

สัญญาณเตือนแม่ท้องเสี่ยงผ่าคลอด

 

1. มีโรคประจำตัว

โรคหัวใจ  เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบบางชนิด เป็นข้อบ่งชี้ว่าคุณแม่ควรต้องผ่าคลอด  เพราะเวลาขณะที่เบ่งคลอดจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน คือ การทำงานของหัวใจแย่ลง มีอาการเหนื่อยหอบ ระบบการหายใจทำงานถี่ หายใจไม่ทัน หมดสติ น้ำท่วมปอดหรือหัวใจวาย  เป็นอันตรายทั้งต่อคุณแม่และทารกได้ การผ่าตัดคลอดจึงเป็นวิธีที่ปลอดภัยสำหรับแม่และทารกมากกว่า

– มะเร็งปากมดลูก ขณะตั้งครรภ์ก็มีโอกาสทำให้การคลอดมีปัญหาได้ โดยอาจเป็นจากก้อนมะเร็งมาขัดขวางช่องทางคลอด หรือทำให้มีเลือดออกรุนแรงจากก้อนมะเร็ง การดูแลรักษา การผ่าตัดคลอดอาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคุณแม่ ทั้งนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลร่วมกันของคุณหมอสูติและคุณหมอมะเร็งนรีเวช

– เนื้องอกในมดลูก และยังไม่ได้ผ่าตัดเนื้องอกออกไป การมีเนื้องอกอาจจะส่งผลให้ทารกไม่กลับศีรษะลง หรือถ้ามาอยู่ในตำแหน่งที่อุดกั้นปิดขวางช่องทางการคลอดก็ทำให้ทารกไม่สามารถคลอดออกมาได้

– เบาหวาน คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์หรือเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจจะส่งผลส่วนหนึ่งให้ทารกในครรภ์มีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมากกว่าปกติ มีผลทำให้คลอดยาก หากคุณหมอประเมินแล้วว่าทารกในครรภ์น้ำหนักเกิน 4.2 – 4.5 กิโลกรัม ก็เป็นข้อบ่งชี้ตัวหนึ่งว่าควรจะผ่าตัดคลอด เพราะถ้าปล่อยให้คลอดเองจะทำให้ช่องคลอดเกิดการฉีกขาด คลอดไหล่ติด หรือติดภาวะแทรกซ้อนทั้งต่อตัวคุณแม่และทารกได้

2. กระดูกอุ้งเชิงกรานผิดปกติ ความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกอุ้งเชิงกราน อาจเกิดจากคุณแม่เคยได้รับอุบัติเหตุ มีภาวะกระดูกอุ้งเชิงกรานหัก ทำให้กระดูกผิดรูปหรือโรคกระดูกบางชนิด ส่งผลให้ช่องทางการคลอดเปลี่ยนแปลง หรือแคบลงไปด้วย ซึ่งจะเป็นข้อบ่งชี้ตัวหนึ่งว่าคุณแม่ต้องผ่าคลอด เพราะถ้าโครงสร้างกระดูกอุ้งเชิงกรานมีความผิดปกติ ผิดรูป หรือแคบลง การที่ทารกจะคลอดผ่านออกมาจะเป็นไปลำบากหรือคลอดออกไม่ได้ และบางครั้งทำให้ทารกที่คลอดออกมาได้รับความกระเทือนบอบช้ำ

3. โรคติดต่อ เช่น เริม คุณแม่ที่มีการติดเชื้อเริมที่ปากช่องคลอดในช่วงใกล้คลอด หรือช่วงจะคลอดทารก หากคลอดเองตามธรรมชาติ จะทำให้ทารกในครรภ์มีการติดเชื้อผ่านทางช่องคลอดได้ หูดหงอนไก่ ถ้ามีขนาดใหญ่มากๆ ก็จะไปอุดตัน หรือบดบังช่องคลอด ขวางทางคลอด ส่งผลให้คลอดยาก คลอดไม่ได้ หรือถ้าทารกคลอดผ่านช่องคลอดที่มีหูดหงอนไก่ ก็มีโอกาสติดเชื้อสู่หลอดเสียง ทำให้เกิดการอุดตันทางเดินหายใจของทารกในครรภ์ เมื่อคลอดออกมาส่งผลให้การหายใจมีปัญหาได้

ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือติดเชื้อเอดส์ กลุ่มนี้ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม และเพียงพอ หรือพบปริมาณไวรัสในร่างกายค่อนข้างสูง การผ่าตัดคลอดก็จะช่วยลดภาวะของการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้ค่อนข้างมาก

4. รกเกาะต่ำ คุณแม่ที่เคยมีประวัติเป็นมาก่อน เคยผ่าตัดมดลูก หรือผ่าตัดคลอดก็อาจทำให้เกิดภาวะรกเกาะต่ำได้ มีการอักเสบบริเวณปากช่องคลอด ก็อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการที่รกมาฝังตัวในตำแหน่งที่ไม่ปกติ เกิดภาวะรกเกาะต่ำได้เช่นกัน

5. ภาวะครรภ์เป็นพิษ (preeclampsia) เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ และอาจมีความเสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้   ครรภ์เป็นพิษอาจพบในแม่ตั้งครรภ์ที่มีสุขภาพดี โดยมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ตั้งครรภ์ในขณะอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 35 ปี เป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรก มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน ตั้งครรภ์แฝด เคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษหรือโรคหลอดเลือดหัวใจในครอบครัว เพื่อความลอดภัยของแม่และลูกคุณหมอจะแนะนำให้ผ่าคลอด

6. เกิดภาวะคลอดเองไม่ได้ เช่น ปากมดลูกเปิดค้างอยู่แค่ 6 เซนติเมตร หัวลูกเริ่มบวม ปากมดลูกไม่เปิดต่อ หรือกราฟหัวใจเด็กลดลง หากมีภาวะเหล่านี้ แพทย์จะตัดสินใจผ่าตัดคลอดเพื่อความปลอดภัยของทั้งแม่และลูกค่ะ  

7. ท่าออกของลูกไม่เหมาะสม คือ กรณีลูกไม่เอาหัวลง โดยเฉพาะออกท่าก้น  แต่แม่เจ็บท้องจะคลอดแล้วก็จำเป็นต้องผ่าตัดคลอด และกรณีขนาดไม่สมดุล ไม่ว่าจะเป็นแม่ตัวเล็ก ลูกตัวใหญ่เกินไป หรืออุ้งเชิงกรานของแม่ไม่สมดุลกับตัวลูกเป็นต้น

สัญญาณเตือนแม่ท้องเสี่ยงผ่าคลอด

เรื่องน่ารู้ : ขั้นตอนการผ่าคลอด

1. การผ่าตัดคลอดจะเริ่มจากวิสัญญีแพทย์จะซักประวัติการเจ็บป่วยและโรคประจำตัวรวมทั้งตอบคำถามต่าง ๆ ที่คุณแม่สงสัย

2. ทำการเจาะตัวอย่างเลือดและให้คุณแม่ลงชื่อในหนังสือแสดงความยินยอมการผ่าตัด

3. คุณหมอจะให้ยาลดกรดในกระเพาะอาหารเพื่อปรับสภาพความเป็นกรดในกระเพาะอาหารให้เป็นกลางและต่อสายน้ำเกลือเข้าหลอดเลือดดำที่แขนเพื่อที่คุณหมอจะสามารถสังเกตระดับสารน้ำในร่างกายและให้ยาแก้ปวดเพิ่มเติมได้ถ้าคุณแม่ต้องการ

4. วิสัญญีแพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่โดยการฉีดยาเข้าช่องเหนือช่องน้ำไขสันหลังหรือการฉีดยาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง

5. ใส่สายสวนไว้ในกระเพาะปัสสาวะเพื่อระบายปัสสาวะซึ่งจะทิ้งไว้ประมาณ12-24ชั่วโมงหลังการผ่าตัดอาจต้องโกนขนบริเวณหัวหน่าวเพื่อเตรียมรับการผ่าตัด

6. เมื่อยาชาออกฤทธิ์คุณหมอจะเริ่มลงมือผ่าตัดเปิดหน้าท้องเพื่อนำลูกน้อยออกจากถุงน้ำคร่ำสู่อ้อมอกของคุณแม่การผ่าตัดจะเสร็จสิ้นลงอย่างรวดเร็วโดยที่คุณแม่จะรู้สึกถึงแรงกดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

7. คุณหมอด้านกุมารแพทย์จะนำทารกไปไว้ใน“ตู้อบ” ซึ่งเป็นเตียงที่อบอุ่นขนาดเล็กทำการตรวจร่างกายลูกถ้คุณหมอพบว่าลูกของคุณแม่มีสุขภาพแข็งแรงแพทย์จะห่อตัวลูกด้วยผ้าห่มและส่งให้คุณแม่หรือคุณพ่ออุ้ม

8. เมื่อนำรกออกจากครรภ์จนหมดแล้วคุณหมอจะเย็บปิดมดลูก  และหน้าท้องของคุณแม่ ขั้นตอนทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 30 นาที

9. หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะพาคุณแม่กลับไปยังห้องพัก  ซึ่งจะมีการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้แก่คุณ

10. ส่วนใหญ่ คุณแม่จะฟื้นตัวได้ภายใน 24 ชั่วโมง และออกจากโรงพยาบาลได้ภายใน 5 วัน แต่ใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์เพื่อให้รอยแผลจากการผ่าตัดคลอดหายดี

ได้ทราบกันแล้วนะคะวา  ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คุณแม่มีโอกาสผ่าคลอดมีอะไรบ้าง  แต่อย่างไรก็ตามคุณมอที่ดูแลครรภ์ของคุณแม่จะเป็นผู้ประเมินเองนะคะ อย่ากังวลใจไปเลยค่ะ ขอให้คุณแม่ทุกคนปลอดภัยในการคลอดนะคะ

สัญญาณเตือนแม่ท้องเสี่ยงผ่าคลอด

ที่มา : thairath.co.th , dumex.co.thbumrungrad.comhaamor.com

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

แม่ผ่าคลอด มีลูกได้ 2 คนจริงหรือ?

เพราะอะไร “การผ่าคลอด” จึงทำให้ทารกมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหอบหืด

ผ่าคลอดไม่มีน้ำนม แก้ด้วยวิธีนี้ ปัญหาแม่ไม่มีน้ำนมให้ลูกทำไงดี?

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!