ลูกไม่ยอมตั้งไข่ ทรงตัวไม่ดี มีผลต่อพัฒนาการสมองของลูก

เมื่อทารกเข้าสู่อายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไป จะค่อย ๆ เริ่มมีพัฒนาการด้านการทรงตัวขึ้น จนถึงอายุ 9-12 เดือน ทารกมีกล้ามเนื้อแขน ขา ที่แข็งแรงมากขึ้น เตรียมพร้อมสู่การตั้งไข่ เพื่อที่จะยืน และก้าวเดินได้ต่อไป

การทรงตัว คือลักษณะที่สามารถยืนได้ด้วย 2 ขาและควบคุมร่างกายให้ตั้งตรงได้ดีนั้น ซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานของหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง การทรงตัวของมนุษย์ถูกควบคุมโดยหูชั้นกลางและหูชั้นใน ซึ่งในส่วนของหูชั้นในนั้นจะมีเส้นใยประสาทที่เชื่อมโยงกับสายตา ทำหน้าที่สำคัญในการทรงตัวไม่ว่าร่างกายจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด เดิน กระโดด หรือโยกเยกไปมา ดังนั้นเมื่อทารกสามารถทรงตัวได้ดี แสดงถึงสมองของลูกในส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวทำงานได้ดีและมีพัฒนาการด้านร่างกายที่ดีด้วย มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง มีการสั่งการและการควบคุมกล้ามเนื้อที่ดี มีการประมวลผลการรับรู้ของสมองได้ดี แต่กลับกันถ้า ลูกไม่ยอมตั้งไข่ มีการทรงตัวที่ไม่ดี ก็จะส่งผลต่อการไม่มีสมาธิ สายตาจะไม่เพ่งมองหาโฟกัสสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการเรียนรู้ การทรงตัวจึงมีความสำคัญต่อทารกมากตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยหัดเดิน

 

เมื่อทารกเข้าสู่อายุประมาณ 9-12 เดือน จะเริ่มตั้งไข่ และเริ่มพยุงขึ้นเองได้แล้ว เจ้าหนูบางคนอาจเริ่มก้าวเดินได้ตั้งแต่อายุ 11 -12 เดือน บางคนก็ยังชอบคลาน ไม่ยอมตั้งไข่ซะที ทำให้ไม่เกิดพัฒนาการทรงตัวที่ดีได้นะ

 

ลูกไม่ยอมตั้งไข่ มีผลต่อพัฒนาการสมอง เพราะอะไร

 

  • ให้ลูกใช้รถหัดเดิน การให้เด็กอยู่ในรถหัดเดินบ่อยทำให้เด็กเดินช้า เพราะไม่ได้ฝึกการใช้กล้ามเนื้อที่ถูกต้อง เด็กเล็กที่อยู่แต่ในรถหัดเดิน เวลาเคลื่อนที่จะใช้ปลายเท้าจิกลงและไถไปข้างหน้า ซึ่งจริง ๆ แล้วท่าเดินที่ถูกจะใช้ส้นเท้าลงก่อน เมื่อถึงเวลาตั้งไข่จะทำให้ลูกเดินโดยใช้ปลายเท้าจิกลงซึ่งจะทำให้เดินไม่ได้ หรือเดินเป๋
  • ให้ลูกนั่งนอนอยู่แต่ในรถเข็น ไม่ปล่อยให้เท้าเจ้าตัวน้อยได้สัมผัสกับพื้นเพื่อการทรงตัวให้ได้ฉาก คอยให้แต่รถเข็นพยุงตัวลูกตลอดเวลา จะทำให้การทรงตัวของลูกไม่ดี
  • ไม่ได้หนุนหมอนนอน การปล่อยให้ลูกนอนผิดท่า คอพับคอเอียง ส่งผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวไม่สะดวก ทรงผลเสียต่อการทรงตัวได้
  • อุ้มทารกไม่ถูกท่า จะทำให้กล้ามเนื้อของลูกยืดหยุ่นไปผิดทาง ส่งผลเสียต่อการทรงตัวของลูกได้
  • ไม่เปิดโอกาสพาลูกออกนอกบ้าน เมื่อทุกวัยเดินตั้งไข่ พ่อแม่ควรลูกออกนอกบ้านเพื่อไปเจอกับเด็กวัยเดียวกัน ได้เห็นเด็กคนอื่นยืนหรือเดินได้ จะเป็นแรงผลักดันให้เจ้าตัวน้อยหัดเดินและยืนเองได้

 

วิดีโอจาก : เด็กทารก Everything Channel

 

ดังนั้นพ่อแม่ควรช่วยพยุงตัวลูกเมื่อถึงวัยเริ่มตั้งไข่ บริหารกล้ามเนื้อเพื่อให้ลูกมีความแข็งแรง จัดพื้นที่ที่เน้นความปลอดภัยให้ลูกหัดเกาะยืนเกาะเดิน เช่น จัดเฟอร์นิเจอร์ที่มีความแข็งแรง มั่นคง อย่างโซฟา โต๊ะ ที่ไม่มีเหลี่ยมคมอันตราย สูงระดับที่เจ้าตัวเล็กเกาะยืนและเดินไปรอบ ๆ ได้สะดวก และการให้กำลังใจลูกคือส่วนสำคัญสู่ก้าวแรกของลูกในการเริ่มต้นได้

การทรงตัวที่ดีของลูกนั้น มีความสำคัญต่อพัฒนาการทางสมอง ส่งสัญญาณว่าสมองในส่วนที่ควบคุมทักษะการเคลื่อนไหว และการใช้กล้ามเนื้อทำงานได้ดี เริ่มต้นก้าวแรกของลูกพ่อแม่จึงควรให้ความสำคัญมาก ๆ นะคะ

บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกเดินก้าวแรก วิธีสอนลูกหัดเดินให้ลูกน้อยเดินได้ไว ๆ เพราะก้าวแรกสำคัญเสมอ

 

ลูกเดินได้ตอนกี่เดือน พ่อแม่จะรู้ได้อย่างไร

ลูกเดินได้ตอนกี่เดือน เมื่อไหร่ลูกถึงจะเริ่มเดิน ปกติแล้วทารกจะเริ่มหัดเดินเมื่อมีความพร้อมทางด้านร่างกายค่ะ ถ้าถามว่าจะรู้ได้ยังไงว่าลูกเราพร้อมแล้วหรือยัง พ่อแม่สามารถสังเกตได้จากการแสดงพฤติกรรมออกมา ถ้าพ่อแม่อยากให้ลูกเดินได้เร็วๆ ก็ไม่ควรอุ้มลูกบ่อย ปล่อยให้ลูกได้มีโอกาสได้คลานหรือยืนด้วยตัวเองบ้าง เพื่อให้ลูกน้อยได้มีพัฒนาการทักษะด้านการเคลื่อนไหว และการเสริมสร้างกล้ามเนื้อค่ะ

 

ลูกไม่ยอมตั้งไข่ 3

 

ลูกจะเริ่มตั้งไข่ได้เมื่อไหร่

ในช่วงขวบปีแรก ลูกน้อยของคุณจะเรียนรู้การทำให้ร่างกายสมดุล รวมถึงการควบคุมส่วนต่างๆ ของร่างกาย เริ่มแรกทารกจะพยายามทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอ ศีรษะ ไหล่ และลำตัวให้มั่นคง แข็งแรง จากนั้นก็จะเริ่มใช้แขน และกล้ามเนื้อมือให้มีความชำนาญมากขึ้น ก่อนที่จะไปพัฒนาบริเวณสะโพกต้นขา เข่า ทำให้ลูกน้อยเริ่มคลานได้

พออายุประมาณ 9-10 เดือน ลูกน้อยจะเริ่มนั่งได้นานขึ้นจากการใช้มืออีกข้างพยุงตัวเองไว้ ถัดไปอีก 3-6 เดือน ลูกน้อยของคุณก็จะเริ่มฝึกหัดตั้งไข่ และเริ่มเดินในที่สุด

สำหรับพ่อแม่คนไหนที่กังวลว่าลูกเราจะมีพัฒนาการช้าไปหรือเปล่า แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอเด็กดูว่าลูกของคุณมีพัฒนาการที่ปกติดีหรือไม่ หรือจะลองเช็คตารางพัฒนาการเด็กได้ตามนี้

 

ลูกไม่ยอมตั้งไข่ 4

 

สัญญาณที่ลูกบอกว่าจะเดินแล้วนะ

  1. คลานเหมือนปู: เมื่อลูกน้อยพร้อมที่จะเดิน เขาจะพยายามใช้มือข้างเดียวในการคลาน ส่วนขาอีกข้างก็จะตั้งชันเข้าขึ้นข้างหนึ่ง แล้วไถก้นไปตามมือ
  2. ปีนบันได: บ้านของคุณมีบันไดไหม? ถ้ามี..ลองแอบสังเกตดูสิคะว่าลูกของคุณเริ่มที่จะใช้มือปีนป่ายขึ้นบันไดเองได้แล้วหรือยัง แล้วคอยระวังอย่าให้ลูกตกบันไดด้วยนะคะ เด็กในช่วงนี้กำลังฝึกความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหวของร่างกาย
  3. จับยึดเฟอร์นิเจอร์: เมื่อไหร่ที่เห็นว่าทารกเริ่มที่จะเดินจุดสังเกตที่ง่ายที่สุดคือ ลูกน้อยพยายามที่จะจับเฟอร์นิเจอร์แล้วลุกขึ้นยืน ช่วงนี้ทารกจะเริ่มเสริมสร้างกล้ามเนื้อเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรองรับน้ำหนักของตัวเองอยู่ค่ะ
  4. เกาะเฟอร์นิเจอร์เดิน: หลังจากที่พอยืนหรือทรงตัวได้แล้ว ลูกน้อยจะเริ่มเรียนรู้ที่จะถ่ายโอนน้ำหนักจากเท้าข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่ง ทำให้เขาต้องอาศัยการเกาะเฟอร์นิเจอร์เดินไปเรื่อยๆ  ค่ะ

พัฒนาการด้านการเดินของทารก

  • ทารกจะเริ่มยืดตัวเองขึ้น และพยายามยืนอยู่กับที่ ช่วงอายุ 9-12 เดือน
  • จากนั้นจะเริ่มเกาะเฟอร์นิเจอร์เดินไปเรื่อยๆ ช่วงอายุ 9-13 เดือน
  • ลุกขึ้นยืนด้วยตัวเอง โดยไม่มีอุปกรณ์ช่วยยึดจับ ช่วงอายุ 9-14 เดือน
  • สุดท้ายจะเดินได้เมื่อมีอายุ 10-15 เดือน

 

ช่วงอายุข้างต้น เป็นเพียงช่วงอายุเฉลี่ยที่เด็กทำได้ ซึ่งเด็กแต่ละคนย่อมมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน ลูกของคุณอาจจะเดินได้เร็วหรือช้ากว่านี้ก็ไดั เราจึงขอเป็นกำลังใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ในการช่วยฝึกให้ลูกทรงตัวได้ดี และเริ่มตั้งไข่ไว ๆ นะคะ

 

บทความอื่นที่น่าสนใจ

พ่อแม่รู้ไหม ฝึกลูกตั้งไข่ ทรงตัวดีมีผลต่อการพัฒนาสมองของลูกได้

สอนลูกหัดเดิน เมื่อไหร่ลูกจะเดินได้สักที

ลูกมี "ผมหงอก" ได้อย่างไร ! เกิดจากอะไร และวิธีแก้ที่ถูกต้อง

 

ที่มาข้อมูลจาก : parentsone

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!