ทารกในครรภ์โตช้า สังเกตอย่างไร อันตรายที่แม่ท้องต้องระวัง

คุณแม่ทุกคนที่กำลังตั้งครรภ์ คงต้องการให้ทารกน้อยในครรภ์เติบโตแข็งแรง มีพัฒนาการที่สมบูรณ์ แต่ความผิดปกติบางอย่าง อาจทำให้ ทารกในครรภ์โตช้า ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน บทความนี้จะพาเหล่าคุณแม่มาดูกันว่าภาวะนี้ คืออะไร มีวิธีการสังเกตอย่างไร และหากทารกเป็นภาวะผิดปกตินี้ จะมีการรักษาอย่างไรบ้าง

 

ภาวะทารกในครรภ์โตช้า เกิดจากอะไร ทำไมอันตราย

ทารกในครรภ์โตช้า (Fetal Growth Restriction หรือ FGR) หมายถึง การที่ทารกในครรภ์ไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มศักยภาพอย่างที่ควรจะเป็น โดยจะทำให้ทารกในครรภ์ตัวเล็กและมีน้ำหนักน้อยกว่าอายุครรภ์จริง สาเหตุการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดทั่วโลกนั้น กว่า 60 % มาจากการที่เด็กแรกคลอดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดมาก ซึ่งก็เป็นผลมาจากภาวะทารกในครรภ์โตช้านั่นเอง ภาวะทารกในครรภ์โตช้านั้นจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ และอายุครรภ์ โดยความรุนแรงจากภาวะทารกในครรภ์โตช้านั้นอาจส่งผลทำให้ทารกเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

 

  • หากเกิดจากรกเสื่อม : ตั้งครรภ์เกินกำหนด หรือทารกมีภาวะขาดออกซิเจนไม่นาน เมื่อคลอดออกมาและได้รับอาหารที่เพียงพอ เด็กก็จะสามารถเติบโตได้ดีเหมือนเด็กปกติ
  • หากเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม : ทารกอาจมีชีวิตหลังคลอด หรือเสียชีวิตหลังคลอด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความผิดปกตินั้น ๆ ด้วย หรือความแข็งแรงของร่างกายคุณแม่แต่ละคน
  • หากเกิดจากการติดเชื้อตั้งแต่ในครรภ์ : อาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิดได้ หากสังเกตความผิดปกติของครรภ์ใด ๆ คุณแม่ควรเข้าพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

เนื่องจากสาเหตุหลากหลายที่สามารถทำให้ทารกมีการเติบโตที่ช้า ทำให้คุณแม่ไม่ควรมองข้ามการฝากครรภ์ หรือการใช้ชีวิตประจำวันทั้งการทานอาหาร หรือความเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อาจทำให้ครรภ์ไม่แข็งแรง

บทความที่เกี่ยวข้อง : พัฒนาการ ทารกในครรภ์ ตลอด 9 เดือนมีอะไรเกิดขึ้นบ้างนะ?

 

วิดีโอจาก : โค้ชเลิศพร สอนแม่และเด็ก

 

ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดภาวะทารกในครรภ์โตช้า

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะทารกในครรภ์โตช้านั้น เกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายประการ ซึ่งเกิดได้ทั้งจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่ระมัดระวัง ไปจนถึงความผิดปกติของร่างกายคุณแม่ ดังนี้

 

  • มดลูกรูปร่างผิดปกติ รกเสื่อม รกลอกตัวบางส่วน รกเกาะต่ำ มีเนื้องอกของรก สายสะดือพันกัน หรือผูกเป็นปม ทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกไม่พอเพียง ทารกจึงเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่
  • โครโมโซมผิดปกติ เช่น กลุ่มดาวน์ซินโดรม มีความพิการแต่กำเนิด ทารกในครรภ์แฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวที่มีการเชื่อมต่อผิดปกติของหลอดเลือด มีการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์
  • มารดามีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะซีด โรคหัวใจทำงานผิดปกติ ทำให้การส่งออกซิเจนไปยังลูกไม่เพียงพอ
  • ระหว่างตั้งครรภ์ หากแม่ท้องมีอาการของโรคหัดเยอรมัน ซิฟิลิส หรือโรคทอกโซพลาสโมซิส ก็อาจทำให้ทารกในครรภ์โตช้าได้
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ หรือการใช้สารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ทารกในครรภ์โตช้า อีกทั้งยังทำให้ความดันในเลือดสูง การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และเป็นอีกสาเหตุของโรคหัวใจ
  • การที่คุณแม่มีน้ำหนักตัวที่น้อยเกินไปก็อาจทำให้เกิดภาวะทารกในครรภ์โตช้าได้เช่นกัน

 

การดูแลตนเองในช่วงตั้งครรภ์เป็นวิธีที่ดีในการลดปัจจัยสาเหตุที่หลากหลายนี้ ในการป้องกันปัจจัยที่สามารถป้องกันได้ ส่วนปัจจัยทางด้านร่างกายที่ยากจะป้องกันนั้น สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้ด้วยการไปพบแพทย์นัดเสมอ เพื่อรับการตรวจครรภ์ตามเวลาที่กำหนด

 

ทารกในครรภ์โตช้า

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าทารกในครรภ์โตช้า

ไม่จำเป็นว่าทารกที่มีขนาดตัวเล็กจะมีภาวะทารกในครรภ์โตช้าเสมอไป โดยในช่วงแรกนั้น แม่ท้องอาจจะต้องสังเกตจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น หากว่ามีการผิดปกติ ควรไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการวินิจฉัย โดยคุณแม่ท้องสามารถติดตามเรื่องน้ำหนักตัวที่เหมาะสมตอนท้องได้จากบทความด้านล่างนี้ครับ หากคุณแม่สงสัยว่าจะมีภาวะทารกในครรภ์โตช้า ในระหว่างที่ไปพบคุณหมอ คุณหมอมักจะทำการวินิจฉัยจากน้ำหนักตามอายุครรภ์ของทารก และซักประวัติโรคประจำตัว หรืออาการต่าง ๆ ของคุณแม่ เช่น

 

  • คุณแม่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องหรือไม่
  • คุณแม่เคยอยู่ในภาวะโตช้าในครรภ์มาก่อนหรือไม่
  • นี่เป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรกหรือไม่
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ก่อนอายุ 19 ปีหรือไม่
  • คุณแม่ตั้งครรภ์มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปหรือไม่
  • คุณแม่ตั้งครรภ์มากกว่า 5 ครั้งขึ้นไปหรือไม่

 

หลังจากนั้นคุณหมอก็อาจจะตรวจดูจากการอัลตราซาวนด์ โดยคุณหมอจะทำการอัลตราซาวนด์โดยวัดขนาดของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ ความกว้างของศีรษะ เส้นรอบวงศีรษะ เส้นรอบท้อง ความยาวกระดูกต้นขา เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยที่แม่นยำ ว่าทารกในครรภ์อยู่ในภาวะโตช้าหรือไม่ นอกจากนั้นแล้วการทำอัลตราซาวนด์ยังสามารถวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับรก และปริมาณน้ำคร่ำได้อีกด้วย

นอกเหนือจากนั้นก็อาจจะมีการตรวจในเรื่องของการติดเชื้อต่าง ๆ อัตราการเต้นของหัวใจ หรืออาจมีการเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจสอบสภาวะของทารกในครรภ์ เพื่อหาสาเหตุต่าง ๆ ต่อไปครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง : อัลตราซาวนด์ครั้งแรก กี่สัปดาห์ คนท้องจะได้รู้อะไรบ้าง ?

 

ทารกในครรภ์โตช้า 2

 

ทำอย่างไรดีหากทารกในครรภ์โตช้า ?

ในช่วงเวลาที่คุณแม่ยังมีอายุครรภ์ไม่ถึง 34 สัปดาห์ คุณแม่ควรใส่ใจสุขภาพมากเป็นพิเศษ หากพบอาการผิดปกติใด ๆ ไม่ควรรอช้า ให้รีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจในทันที เบื้องต้นให้คุณแม่ดูแลตนเองด้วยวิธีการง่าย ๆ ตัวอย่างเช่น

 

  • พักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 8 – 10 ชั่วโมง และควรนอนกลางวันอย่างน้อย ครึ่งชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมงต่อวัน
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ โดยเพิ่มพลังงานจากอาหารวันละ 300 กิโลแคลอรีเพื่อให้เพียงพอที่จะไปเสริมสร้างการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์
  • ไม่ใช้สารเสพติด งดบุหรี่ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ปรับเปลี่ยนท่าทางและพฤติกรรม เพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ลูกได้รับออกซิเจนมากขึ้น เช่น คุณแม่ควรนอนตะแคงซ้าย เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกและรกมากที่สุด
  • ควรนับลูกดิ้น โดยลูกควรจะดิ้นไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ภายในเวลา 12 ชั่วโมง
  • ระวังหากมีโรคประจำตัวและควรไปตรวจหาโรคต่าง ๆ อย่างละเอียด
  • ระหว่างนี้แม่ท้องควรอยู่ในการดูแลของคุณหมออย่างใกล้ชิด ไปตามที่คุณหมอนัดอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการผิดปกติควรไปพบคุณหมอทันที ไม่ต้องรอครบกำหนดนัดครั้งต่อไป

 

ภาวะทารกในครรภ์โตช้า เป็นเรื่องอันตรายแต่ก็สามารถป้องกันได้ การใส่ใจสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่มีอีกหนึ่งชีวิตอยู่ในท้องกับคุณแม่ด้วยแล้ว ยิ่งต้องดูแลเป็นพิเศษ หากคุณแม่กังวลหรือพบว่ามีอาการผิดปกติต่าง ๆ เกิดขึ้น อย่าลังเลที่จะรีบไปพบคุณหมอนะครับ

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

การตั้งครรภ์ 1-9 เดือน ของหนูในท้องแม่ พัฒนาการทารกในครรภ์ตลอด 40 สัปดาห์

จุดสังเกต การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ลูกเราโตขนาดไหนกันแล้วนะ

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกในครรภ์สมบูรณ์ ลูกในครรภ์ของคุณครบ 32 หรือเปล่า

ที่มา : w1.med.cmu.ac.th

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!