คำแนะนำจากกุมารแพทย์ 5 เรื่องที่พ่อแม่ป้ายแดงอาจ ดูแลลูกน้อย แบบผิดวิธี
พ่อแม่ป้ายแดงมักจะเริ่มต้น ดูแลลูกน้อย ด้วยการลองผิดลองถูก จากการเรียนรู้เองหรือฟังคำบอกเล่าของผู้มีประสบการณ์มาก่อน จนบางเรื่องที่นำมาใช้กับลูกนั้นอาจจะผิดวิธี มาลองดูคำแนะนำจากกุมารแพทย์เพื่อให้แน่ใจกันค่ะ
ดูแลลูกน้อย สำหรับพ่อแม่มือใหม่อาจจะเริ่มด้วยการลองผิดลองถูก และเรียนรู้จากพฤติกรรมของลูกน้อย แต่เรื่องบางอย่างหากรู้ไว้ก็ดีกว่าที่จะเข้าใจหรือดูแลลูกแบบผิด ๆ กันไปนะคะ
คำแนะนำจากกุมารแพทย์ 5 เรื่องที่พ่อแม่ป้ายแดงอาจ ดูแลลูกน้อย แบบผิดวิธี
#1 การให้ยาลดไข้แบบผิดวิธี
พ่อแม่บางคนเริ่มสังเกตเห็นอาการว่าลูกคล้ายจะเป็นหวัด ตาซึม ๆ แต่ยังไม่เป็นไข้ เข้าใจผิดไปว่าการให้ลูกได้กินยาลดไข้สามารถป้องกันการเกิดไข้ได้ แต่จริง ๆ แล้วไม่ถูกต้อง การให้ยาลดไข้ควรให้ลูกกินเฉพาะตอนมีไข้เท่านั้น และการกินยาดลดไข้อย่างต่อเนื่อง ติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจจะเกิด ระดับยาสะสม ทำให้เกิดพิษต่อตับได้เช่นกัน หากลูกตัวรุม ๆ มีอาการไข้ต่ำควรเช็ดตัวลูกก่อนให้กินยาลดไข้ เมื่อลูกไข้ลดอาจไม่จำเป็นต้องกินยาลดไข้ได้
#2 อยากให้ลูกหายไวๆ ให้ฉีดยาดีกว่ากินยา
จริง ๆ แล้วยากินหรือยาฉีด ถ้าเป็นกลุ่มยาเดียวกันก็จะให้ผลลัพธ์ได้เท่ากัน เพียงแต่ว่ายากินต้องดูดซึมและมีการเมตาบอลิสซึ่ม แต่สุดท้ายก็จะกลายเป็นระดับยาในเลือดเช่นเดียวกันกับยาฉีด แต่ถ้าเป็นยาคนละกลุ่มก็ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้
#3 กลัวลูกขี้หูตันเลยใช้คอตต้อนบัดแคะหูลูก
การใช้ไม้พันสำลีหรือ cotton bud ไปแคะหูลูกอันตรายมากกว่าที่คิดนะคะ เพราะเสี่ยงที่จะทำให้ลูกหูหนวก แก้วหูทะลุ เนื่องจากการใช้ไม้คอตตอนบัดปั่นลึก หรือกลับมีขี้หูอุดตันเนื่องจากการใช้คอตต้อนบัดแคะหูจะเป็นการดันขี้หูให้ย้อนกลับ สะสมเป็นก้อน ขวางการไหลของผิวตามปกติ ส่งผลทำให้ขี้หูมากขึ้นและใหญ่จนไปตันได้ รวมไปถึงอาจทำให้เป็นแผลถลอกในหู เกิดการอักเสบ ติดเชื้อ นำเชื้อโรคเข้าไปส่งผลทำให้เป็นหูน้ำหนวกได้
การมีขี้หูหรือ ear wax ผลิตออกมาเป็นเรื่องปกติ เพื่อเคลือบในช่องหูและจะค่อยเคลื่อนออกมาด้านนอกกลายเป็นขี้ไคล ซึ่งพ่อแม่สามารถใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดบริเวณรอบ ๆ ก็พอ การที่ไปปั่นหรือแคะหูให้ลูกบ่อยครั้งจะทำให้เด็กรู้สึกคุ้นเคยและไปกระตุ้นเส้นประสาท ทำให้มีพฤติกรรม “ติด” และลูกจะหาอะไรไปแคะหูปั่นหูด้วยตัวเอง จนอาจทำให้อักเสบหรือติดเชื้อขึ้นได้อีกทางนะคะ
#4 หลังลูกดูดนมเสร็จแล้วให้ดูดน้ำตาม
การให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวสำหรับทารกแรกเกิดถึง 6 เดือน ไม่จำเป็นต้องป้อนน้ำทารกตามหลังดูดนมนะคะ เพราะในนมแม่มีน้ำเพียงพออยู่แล้ว การให้ทารกดูดน้ำตามจะทำให้ลูกได้รับสารอาหารจากนมแม่น้อยลงและส่งผลให้ทารกทานนมได้น้อยอีกด้วย แถมส่งผลต่อการผลิตน้ำนมของคุณแม่ ทำให้นมแม่ลดลงอีกด้วย อีกทั้งเพิ่มโอกาสการสำรอกของทารกหากได้รับน้ำมากเกินที่กระเพาะจะรับได้ สำหรับคุณแม่ที่กลัวว่าจะเกิดคราบนมหรือเชื้อราภายในช่องปากลูก ให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำสะอาดพันนิ้ว เช็ดเหงือกและลิ้น ให้ลูกวันละ 1-2ครั้ง เหมือนการแปรงฟันก็จะช่วยป้องกันเชื้อราในปากได้ค่ะ สำหรับทารกที่กินนมชง ในนมชงก็มีน้ำมากเพียงพอ คุณแม่อาจป้อนน้ำตามเพียงแค่ล้างปากหรือทำความสะอาดในช่องปากลูกได้ด้วยวิธีเดียวกันค่ะ
#5 การใช้มือวัดไข้ลูก
การใช้มือจับศรีษะ รักแร้ คอ หรือหน้าผาก แล้วรู้สึกว่าลูกตัวร้อน อาจบอกได้ว่าลูกมีไข้ต่ำ ๆ หรืออาจมีอุณหภูมิที่ปกติก็ได้ แต่การวัดไข้ด้วยมือเพียงอย่างเดียวอาจประเมินอุณหภูมิร่างกายที่ไม่แน่นอน การสัมผัสด้วยหน้าผากของพ่อแม่สัมผัสกับหน้าผากของลูกจะรับรู้ถึงอุณหภูมิได้มากกว่าการใช้มือ แต่อย่างไรก็ตามการใช้ปรอทวัดไข้นั้นเป็นอุปกรณ์วัดไข้เมื่อลูกมีอาการไม่สบายได้ดีที่สุด การรู้อุณหภูมิไข้ของลูกที่มีค่าแม่นยำจะช่วยให้พ่อแม่ตัดสินใจในการให้ลูกกินยาลดไข้ หรือรีบพาลูกมาหาหมอเมื่อพบว่าลูกมีไข้สูง
เมื่อรู้แบบนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถตัดสินใจดูแลลูกอย่างถูกวิธีได้มากขึ้นกว่าเดิม และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี้ยงดูทารก ก็สามารถแชร์คำถามเพื่อให้เราช่วยกันหาคำตอบมาให้นะคะ
ที่มา : www.pantip.com
บทความอื่นที่น่าสนใจ :
5 ความเชื่อเกี่ยวกับทารกที่เกิดได้กับพ่อแม่ป้ายแดง
ดูแลลูกน้อยหลังคลอด คู่มือที่จะช่วยให้คุณแม่เอาตัวรอดในสัปดาห์แรก