คุณพ่อคุณแม่กลุ้มใจ ลูกน้ำหนักน้อย ตัวเล็กเกินไป ทำอย่างไรดีนะ

คุณพ่อคุณแม่หลายท่าน อาจจะเกิดความกังวลไม่น้อย เมื่อเห็นเจ้าตัวเล็กน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ผอมแห้ง ดูแล้วไม่สบายใจ รู้สึกเป็นห่วงสุขภาพเจ้าตัวเล็กมาก ๆ เรามาดูกันดีกว่าว่าถ้า ลูกน้ำหนักน้อย ตัวเล็กเกินไป คุณพ่อคุณแม่อย่างเราควรทำอย่างไรดี เพื่อให้เด็ก ๆ มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นค่ะ

ลูกน้ำหนักน้อย ตัวเล็กเกินไป ทำอย่างไรดี

 

ลูกน้ำหนักน้อย

 

1. ปล่อยให้ลูกดูดนมนานจนกว่าจะพอใจ

ถ้าลูกของคุณยังเป็นทารก นมแม่ คือสารอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย แต่ถ้าหากลูกตัวเล็กหรืออยากให้ลูกเพิ่มน้ำหนัก เมื่อให้นมลูกก็ควรให้แน่ใจว่าลูกจะได้ทานหรือดูดนมนานเพียงพอต่อความต้องการของทารก โดยคุณแม่อาจจะสังเกตได้จากสัญญาณต่าง ๆ ว่าลูกได้ทานหรือดูดนมเพียงพอหรือไม่ เช่น ถ้าลูกกลับตัวไปมา ไม่งอแง และเริ่มง่วง ก็ให้เลิกดูดได้ พยายามอย่าดึงลูกออกมาจนกว่าลูกจะอิ่ม และลองนับจำนวนครั้งที่ลูกปัสสาวะดู ถ้าลูกปัสสาวะประมาณ 6 ครั้งต่อวัน นั่นแสดงว่าเขาได้ดื่มนมในปริมาณที่เพียงพอแล้ว

2. ให้ทานอาหารบ่อยขึ้น

หากลูกน้อยมีอายุเกินกว่า 6 เดือน หรือมีอายุครบปีแล้ว แต่ยังผอมมาก การให้ลูกทานอาหารบ่อยขึ้น จะยิ่งทำให้ลูกได้แคลอรี่เพิ่ม และน้ำหนักจะค่อย ๆ ขึ้นด้วย ท้องเล็ก ๆ ของลูกน้อยไม่สามารถจุอาหารปริมาณมาก ๆ ได้ในครั้งเดียว ถ้าลูกทานอาหารได้น้อยกว่าปกติใน 1 มื้อ คุณแม่ก็อาจจะลองจัดตารางให้ลูกทานหลายมื้อในแต่ละวัน แต่ลดปริมาณอาหารแต่ละมื้อให้น้อยลง

3. ให้ลูกทานอาหารที่เหมาะสม

สำหรับเด็กโต คุณแม่ควรเลือกอาหารที่มีไขมันแบบสุขภาพดี เช่น น้ำมันมะกอก ปลาแซลมอน โยเกิร์ตนม ชีส หรือซีเรียล ที่ทำมาจากข้าวและข้าวโอ๊ต โดยอาจจะผสมซีเรียลบดกับนม เพื่อช่วยเพิ่มน้ำหนักของเด็กได้ค่ะ

4. นวดให้ลูก

คุณพ่อคุณแม่สามารถนวดกระตุ้นพัฒนาการให้เด็ก ๆ ได้นะคะ เพราะการนวดจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น และช่วยเพิ่มน้ำหนักทารกได้อีกด้วย

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ลักษณะของ ทารกระยะแรกเกิด การดูแล ทารกแรกเกิด มีอะไรบ้าง ที่พ่อแม่ต้องรู้

 

ลูกน้ำหนักน้อย

 

5. ให้ออกไปวิ่งเล่น

ถ้าลูกของคุณโตขึ้นมาหน่อย เช่น อายุ 1 ขวบครึ่ง ถึง 2 ขวบขึ้นไป อีกหนึ่งเคล็ดลับที่ทำให้ลูกทานได้มากขึ้น นั่นก็คือ การปล่อยให้พวกเขาได้วิ่งเล่นเยอะ ๆ จนเหนื่อย เมื่อเด็ก ๆ ได้ใช้พลังงานมาก ๆ พวกเขาก็จะทานอาหารได้มากขึ้น พาเด็ก ๆ ออกไปปล่อยพลังกันค่ะ 

6. นอนเป็นเวลา

การนอนหลับให้เป็นเวลาและเพียงพอในแต่ละวัน จะช่วยให้ฮอร์โมนการเจริญเติบโตทำงานได้เต็มที่ ทำให้ลูกน้อยค่อย ๆ มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

7. ปรับเปลี่ยนเมนูอาหาร

ลองเปลี่ยนเมนูอาหารให้เด็ก ๆ ดูไหมคะ เผื่อเด็ก ๆ อาจจะเบื่ออาหารก็ได้ค่ะ ทำเมนูอาหารให้ดูน่าสนใจ และที่สำคัญอาหารต้องครบ 5 หมู่ หรือลองพาลูกไปทานอาหารนอกบ้านบ้าง เปลี่ยนบรรยากาศการทานอาหารให้น่าสนุกมากขึ้น อาจจะไม่ต้องไปร้านอาหาร แค่ออกไปทานข้าวหน้าบ้านลูกอาจจะตื่นเต้นแล้วก็ได้นะคะ

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ขนมเพื่อสุขภาพ 5 เมนูสำหรับเด็ก ที่สามารถทำได้เองที่บ้านง่าย ๆ ใน 1 ชั่วโมง

 

8. ลูกน้ำหนักน้อย ให้พาลูกไปตรวจสุขภาพ

คุณพ่อคุณแม่ ควรพาลูกไปพบคุณหมอ และตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อดูว่าลูกน้อยมีปัญหาสุขภาพ หรือเป็นโรคที่ทำให้มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์หรือไม่ เช่น การติดเชื้อที่หู ปากอักเสบเชื้อรา โรคกรดไหลย้อน โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ภาวะโลหิตจาง สภาพลิ้นยึด อาการแพ้ต่าง ๆ หรือแม้แต่อาการหวัดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ทำให้เด็กน้ำหนักลดลงได้ ซึ่งหากตรวจพบได้เร็ว ก็จะสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที ที่สำคัญควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ ของลูกน้อยในแต่ละวันอยู่เสมอนะคะ

 

การเพิ่มน้ำหนักควรทำอย่างค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปนะคะ น้ำหนักของลูก เป็นหัวใจสำคัญในการเลี้ยงดู หากลูกน้อยดูไม่เจ้าเนื้อ แต่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องเป็นกังวลใจไปนะคะ ลูกเราอาจจะไม่จ้ำม่ำเท่าเด็กคนอื่น ๆ แต่ว่าสุขภาพโดยรวมแล้วแข็งแรง ลูกมีความสุข พ่อแม่ก็มีความสุขแล้ว จริงไหมคะ นอกจากนี้การบังคับ ดุ ตีลูก เพื่อให้ลูกกินข้าว เป็นวิธีที่ผิด และจะยิ่งทำให้ได้เด็ก ๆ ไม่อยากทานอาหารอีกด้วย และการให้รางวัลเกินความจำเป็นก็จะทำให้เด็ก ๆ กินเพื่อหวังสิ่งตอบแทน เพราะฉะนั้นควรใช้ความเข้าใจ ค่อย ๆ สอน ค่อย ๆ ปรับไปจะดีที่สุดนะคะ

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เคล็ดไม่ลับ พัฒนาการเรียนรู้ทารก วัย 6 เดือนขึ้นไป มีอะไรบ้าง ที่พ่อแม่ ต้องรู้

แม่ขอแชร์! ผ่าคลอดลูกแฝด เหตุห่วงรัดปากมดลูกหลุด ส่งทารกเข้า N I C U ด่วน

การถดถอยของการนอนหลับ อาการของทารก ที่คุณแม่ แทบอยากร้องกรี๊ด

 

ที่มา : Bumrungrad

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!