ไวรัสโรต้า ผลกระทบต่อพัฒนาการของลูก
เชื้อไวรัสโรต้ามีอันตรายต่อเด็กเล็กมากน้อยเพียงใด มีผลเสียอย่างไรบ้างต่อลูก มักมีการติดต่อทางใดที่ต้องให้ลูกหลีกเลี่ยงป้องกัน
ไวรัสโรต้า คืออะไร? (Rota virus)
โรต้า เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่ติดต่อ ได้ง่าย เป็น สาเหตุ สำคัญ ที่ทำให้เกิด โรคอุจจาระร่วง ในเด็กทารกและเด็กเล็ก โดยพบได้มากสุดในเด็กช่วงอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี มีรายงานว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี แทบทุกคนต้องเคยติดเชื้อไวรัสโรต้าอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต ถ้าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ติดเชื้อนี้ อาจจะมีอาการรุนแรงหรือมีอาการน้อยกว่าที่พบในเด็กเล็กก็ได้ ไวรัสชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เด็กเล็กมีอาการท้องเสียรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากการขาดน้ำและเกลือแร่ เป็นไวรัสที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวางได้มากทั่วโลก แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่มีความรู้ด้านสาธารณสุขและสุขอนามัยก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ ประมาณว่าในแต่ละปีมีเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่ป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วงปีละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน จากการติดเชื้อไวรัสโรต้า
เด็กๆ ติดเชื้อไวรัสโรต้าได้อย่างไร ?
การติดเชื้อไวรัสโรต้าเกิดจากการรับประทานสิ่งปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อนี้เข้าทางปาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำ อาหารและสิ่งของ เช่น ของเล่นเด็ก หรือมือที่เปื้อนเชื้อไวรัสเข้าปาก ก็สามารถติดเชื้อได้จากนั้นเชื้อไวรัสเดินทางไปตามระบบทางเดินอาหาร คือ กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก ทำลายเยื่อบุผนังลำไส้ทำให้การดูดซึมน้ำและเกลือแร่ลดลง และเอนไซม์สำหรับย่อยคาร์โบไฮเดรตผิดปกติ
เด็กที่ได้รับเชื้อไวรัสโรต้าและมีอาการของโรคท้องเสียซ้ำๆ ในช่วงวัย 1 – 2 ปี จะได้รับผลกระทบต่อร่างกายด้านต่างๆ เช่น ความสูงที่อาจจะต่ำกว่าเด็กทั่วไปถึง 8.2 เซนติเมตร
“ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีพ่อแม่มือใหม่หลายๆ คน ที่ยังขาดความรู้เท่าทันเชื้อไวรัสโรต้าและความรุนแรงของโรค คิดเพียงว่าเป็นโรคอุจจาระร่วงที่คนเมืองร้อนต้องประสบกันอยู่แล้ว ทำให้ขาดการเตรียมตัวและไม่สามารถปกป้องลูกน้อยได้อย่างถูกวิธี โดยเฉพาะเด็กวัย 6 เดือนถึง 2 ขวบ นับเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโรต้ามากที่สุด ซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่า เด็กแรกเกิดถึง 5 ขวบแทบทุกคนเคยติดเชื้อนี้กันมาแล้ว และมีถึง 1 ใน 10 รายที่อาจเป็นซ้ำๆ ได้ถึง 5 ครั้ง
…จากผลการสำรวจพบว่า เด็กไทยอายุน้อยกว่า 5 ขวบที่นอนโรงพยาบาลจากท้องร่วงมีถึง 43 เปอร์เซ็นต์ที่เกิดจากเชื้อไวรัสโรต้า ไวรัสโรต้าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงรุนแรงในเด็กเล็กที่อาจคร่าชีวิตลูกน้อยได้ แถมยังเป็นตัวการบั่นทอนพัฒนาการ อาจทำให้ลูกน้อยเจริญเติบโตไม่สมวัย ซึ่งส่งผลต่ออนาคตของลูกน้อยที่คุณพ่อคุณแม่ต่างกังวลกันให้วุ่น เนื่องจากเป็นเชื้อโรคที่แฝงกายไปอยู่ได้ทุกซอกทุกมุมรอบตัวเด็ก โดยเฉพาะของเล่น ซึ่งติดต่อได้โดยง่าย แม้จะป้องกันด้วยวิธีใดก็ตาม ก็ไม่สามารถต้านทานความร้ายกาจของมันได้ ซึ่งเด็กเล็กทุกคนถืออยู่ในภาวะเสี่ยง มีโอกาสติดเชื้อได้ทุกคน”
เด็กที่ได้รับเชื้อไวรัสโรต้าจะมีอาการอย่างไรที่ต้องสังเกต รุนแรงมากน้อยแค่ไหน มีผลต่อพัฒนาการของลูกหรือไม่
“อาการของเด็กที่ได้รับเชื้อไวรัสโรต้านั้น จะมีอาการถ่ายเหลวและอาเจียนอย่างหนัก จนเกิดภาวะขาดน้ำ ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ และถ้าเป็นซ้ำๆ อาจทำให้ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ส่งผลร้ายต่อพัฒนาการของเด็กอย่างมาก จนทำให้พัฒนาการของเด็กหยุดชะงัก ซึ่งเด็กในวัย 5 ปีแรก เป็นวัยแห่งพัฒนาการ ทั้งศักยภาพทางสมองและสมรรถภาพร่างกายกำลังเจริญเติบโตเต็มที่ ดังนั้นเมื่อไรที่เด็กท้องร่วงบ่อยๆ ย่อมส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียนรู้และความฉลาดของลูกน้อย รวมถึงการเจริญเติบโตของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นความสูงหรือน้ำหนักในอนาคตได้
…มีการศึกษาวิจัยพบว่า เด็กที่ได้รับเชื้อไวรัสโรต้าและมีอาการของโรคท้องเสียซ้ำๆ ในช่วงวัย 1 – 2 ปี จะได้รับผลกระทบต่อร่างกายด้านต่างๆ เช่น ความสูงที่อาจจะต่ำกว่าเด็กทั่วไปถึง 8.2 เซนติเมตร ในวัยก่อน 7 ปี หรือความพร้อมต่อการเรียนรู้ช้ากว่าเด็กทั่วไปในช่วงวัยเรียน และยิ่งในเด็กที่ท้องร่วงซ้ำๆ ก่อนอายุ 2 ปี จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองหรือไอคิวต่ำกว่าเด็กวัยเดียวกันถึง 10 จุด
…นอกจากนี้การศึกษาวิจัยยังพบอีกว่า ท้องร่วงยังมีผลต่อภาวะขาดสารอาหารตั้งแต่เด็ก ซึ่งส่งผลกระทบทำให้น้ำหนักของเด็กบางคนเพิ่มขึ้นน้อยกว่าปกติ”
เพื่อป้องกันลูกให้ห่างไกลจากเชื้อไวรัสโรต้าให้มากที่สุด ควรต้องดูแลอย่างไร
“คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกน้อยมารับการหยอดวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า ซึ่งถือเป็นวิธีป้องกันโรคที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรค ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการเสริมเกราะป้องกันให้เด็กห่างไกลจากโรคร้ายนี้เร็วขึ้น
…สำหรับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้ามี 2 ชนิด คือ ชนิดที่ทำมาจากสายพันธุ์ มนุษย์หยอด 2 ครั้ง จะให้หยอด เมื่อเด็กอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไปและ 4 เดือน (2,4 เดือน) ซึ่งจะทำให้ได้รับการป้องกันเร็วตั้งแต่ 4 เดือน” และสามารถครอบคลุมเชื้อได้ค่อนข้างกว้าง และชนิดที่ทำมาจากวัว หยอด 3 ครั้ง โดยวัคซีนที่กิน 3 ครั้งจะให้กิน 6 เดือน(2,4,6 เดือน) ซึ่งจะให้การป้องกันหลัง 6 เดือน …นอกจากนี้ยังมีวิธีง่ายๆ ที่คุณแม่สามารถป้องกันได้ด้วยตนเอง คือ ให้นมลูกอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้เด็กมีภูมิคุ้มกันที่ดีอีกด้วย”
บทความโดยพญ.หทัยทิพย์ ชัยประภา
กุมารแพทย์ สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
11 สัญญาณเตือน อาการปวดท้องเรื้อรังในเด็ก
แม่เล่า ลูกท้องเสียอย่านิ่ง ไวรัสโรต้าอาจถามหา
https://www.sikarin.com/content/detail/314/ไวรัสโรต้า-วายร้ายสำหรับลูกน้อย