ความเชื่อเรื่องการปฏิบัติตัวหลังคลอด

undefined

คุณเคยได้ยินถึงเรื่องความเชื่อในการปฏิบัติตัวหลังคลอดตามแบบฉบับของคนโบราณทั้งธรรมเนียมไทยและจีนมาบ้างใช่ไหมคะ แล้วคุณเคยสงสัยบ้างไหมคะว่าทำไมฝรั่งไม่เห็นมีเหมือนบ้านเราเลย แต่พอแก่ตัวไปก็เห็นแข็งแรงกันดี ความเชื่อในการปฏิบัติตัวหลังคลอดนี้เคยทำให้คุณอยากหาคำตอบบ้างไหม ว่าถ้าคุณลองทำแล้วผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร

ความเชื่อเรื่องการปฏิบัติตัวหลังคลอด

ความเชื่อเรื่อง การปฏิบัติตัวหลังคลอด

ฉันเป็นคนไทยที่มีเชื้อสายจีนที่เผอิญแต่งงานกับฝรั่ง ปกติฉันก็เป็นคนง่าย ๆ แต่ก็ขี้สงสัย ยิ่งเวลาตอบคำถามสามีแล้วยิ่งต้องพยายามหาข้อมูลมาอธิบายและก็ถามคุณหมอประกอบกัน เราลองมาดูการเปรียบเทียบความเชื่อในการปฏิบัติตัวหลังคลอดฉบับของฉันกันดูนะคะ อ่านเล่น ๆ เพลิน ๆ ตามประสาคนขี้สงสัย

การอยู่เดือนตามธรรมเนียมของคนจีนคือ การที่แม่อยู่แต่บนบ้านไม่ลงมาข้างล่าง ไม่ทำงานหนักเป็นเวลาหนึ่งเดือน เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวหลังคลอดและแก่ตัวไปจะไม่เจ็บไข้ได้ป่วยง่าย ฉันเชื่อว่านี่คือกุศโลบายที่ช่วยให้แม่ไม่ต้องทำงานหนักหลังคลอด เพื่อมีเวลามาดูแลลูกและปรับตัวเพื่อทำหน้าที่แม่อย่างสมบูรณ์นั่นเอง เวลาอยู่เดือนต้องทำอย่างไร การปฏิบัติตัวหลังคลอด

การปฏิบัติตัวหลังคลอด

1. ห้ามสระผมขณะอยู่เดือน ปกติแล้วฉันสระผมวันเว้นวัน ยิ่งหน้าร้อนยิ่งรู้สึกว่าผมมัน ไม่รู้สึกสะอาด แต่ห้ามสระเลยเป็นเวลา 1 เดือนหลังคลอดก็ไม่ไหว ฉันอยู่กับอี๊ (น้า) อี๊จะคอยบอกคอยดูแลฉันดียิ่งกว่าเดิมเวลาอยู่เดือน ในที่สุดฉันก็ทนกับหัวเหนียว ๆ ไม่ไหวต้องแอบไปสระผม พออี๊รู้ว่าฉันสระผมเลยโดนว่าตลอดแล้วบอกว่าทำไมไม่ดูแลตัวเอง แก่ไปจะลำบาก แต่ฉันก็บอกว่าหนูไดร์ผมแล้วค่ะ ผมแห้งแล้ว นี่อาจจะมีความเชื่อสืบเนื่องมาจากโบราณของจีนที่มีอากาศหนาวเย็นและไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอย่างไดร์เป่าผม เลยอาจจะทำให้แม่เป็นหวัดไม่สามารถดูแลลูกได้อย่างเต็มที่ อีกอย่างคนจีนสมัยก่อนไว้ผมยาวมากเลยแห้งช้า

2. อาบน้ำอุ่น การอาบน้ำอุ่นช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย อีกทั้งยังช่วยให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น ดังนั้นหากคุณแม่ท่านไหนลองสังเกตดูจะพบว่าหลังจากอาบน้ำใหม่ ๆ นมจะหยดติ๋ง ๆ เลย ส่วนวิถีชีวิตของชาวพม่าก็มีลักษณะคล้ายกันเพราะสาวแม่ลูกอ่อนนิยมอาบน้ำต้มตะไคร้

3. ห้ามดื่มน้ำเย็น ปกติฉันชอบดื่มน้ำอุณหภูมิห้อง แต่ตอนท้องกินแต่น้ำเย็นเพราะรู้สึกว่าร้อนมาก อี๊บอกว่าเวลาอยู่เดือนห้ามกินน้ำเย็นเดี๋ยวไม่มีนมให้ลูก แต่หลังจากอยู่เดือนสามารถดื่มได้ ฉันเลยงงว่าทำไมถึงห้ามดื่มน้ำเย็นแค่เดือนเดียวล่ะ แล้วตลอดเวลาที่ให้นมลูกล่ะ ดังนั้นฉันเลยถามหมอตอนพาลูกไปหาหมอเพราะอยากกินชาไข่มุกที่อยู่ตรงแผนกจ่ายเงิน หมอบอกว่าจริง ๆ แล้วกินน้ำเย็นได้ค่ะ แต่สมัยก่อนไม่มีน้ำสะอาดเลยต้องต้มน้ำให้สุกเสียก่อน คนโบราณเลยติดดื่มน้ำอุ่นแล้วความเชื่อก็สืบเนื่องต่อกัน เรื่องไม่มีน้ำนมให้ลูกฉันเชื่อว่าเกี่ยวกับความเครียดมากกว่า

4. ห้ามอยู่ห้องแอร์ ถ้าห้ามกันแบบนี้ฉันก็ทำไม่ได้ตั้งแต่คลอดลูกแล้วล่ะค่ะ เพราะว่าตลอดเวลาที่อยู่ที่โรงพยาบาลฉันและลูกก็อยู่ในห้องแอร์ตลอด ปกติแล้วสามีเป็นคนขี้ร้อนและเปิดแอร์ตลอดเวลา แผนกเด็กอ่อนก็เปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส จึงทำให้เราตกลงว่าจะเลี้ยงลูกที่อุณหภูมินี้ก่อน นอกจากนี้คุณหมอบอกว่าเด็กแรกเกิด – 3 เดือน จะขี้ร้อนร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติเพราะร่างกายลูกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอีกด้วย

บทความใกล้เคียง: สิ่งต้องห้ามสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์

5. ดื่มเหล้ายาดองขับน้ำคาวปลา หลายคนยังคงซื้อเหล้าขาวมาดองสมุนไพรเพื่อดื่มหลังคลอด จริง ๆ แล้วการดื่มสุราหรือยาดองจะทำให้เลือดออกมากขึ้น เลยเชื่อกันว่านั่นคือการขับน้ำคาวปลา แท้ที่จริงแล้วมันก็คือเลือดดีของเรานี่เอง ดังนั้นมีคุณแม่หลังคลอดหลายคนที่เสียเลือดมากจนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลจากสาเหตุนี้ นอกจากนี้แล้วแอลกอฮอล์ในยาดองยังซึมเข้าสู่น้ำนมแม่อีกด้วย

6. การอยู่ไฟ การอยู่ไฟเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของเราซึ่งเหมาะสมต่อสถานการณ์ในอดีต แต่การแพทย์แผนปัจจุบันพัฒนาไปอย่างมาก แพทย์สามารถดูแลรัษาคุณแม่ที่คลอดตามธรรมชาติโดยการเย็บแผลฝีเย็บ ให้น้ำเกลือ ให้เลือด ให้ยารัดมดลูก ดังนั้นการอยู่ไฟจึงไม่จำเป็น แต่หากจะทำเพื่อผ่อนคลายอาการเมื้อยล้าหรือความชอบส่วนตัวก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง

7. ห้ามรับประทานอาหารที่มีธาตุเย็น อาหารที่มีธาตุเย็น เช่น ถั่วงอก เต้าหู้ เป็นอาหารที่คนจีนจะไม่กินในช่วงอยู่เดือน คนจีนจะกินแค่ไก่ผัดขิง กุยช่ายผัดตับ หมูหยอง เป็นต้น แต่ทางโรงพยาบาลจัดอาหารเที่ยงวันที่ 2 ให้ฉันเป็นก๋วยเตี๋ยวไก่ใส่ถั่วงอกเต็มเลย เอาเป็นว่าฉันก็กินละ หิวจะแย่อยู่แล้วหลังจากกินอาหารอ่อนมาแล้วทั้งวัน ที่นี้ฉันถามแม่สามีว่าทานอะไรตอนให้นมลูก ท่านก็บอกว่าทานปกติทั่วไปเช่น สลัด ขนมปัง สปาเก็ตตี้ ก็ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำนม ดังนั้นฉันจึงสรุปว่าทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่นี่ล่ะดีแล้ว จะมีพิเศษก็อาหารเพิ่มน้ำนมอย่างแกงเลียงหัวปลี ผัดฟักทองเพิ่มเติม แต่ที่ทุกฝ่ายพูดเป็นเสียงเดียวกันคือ ห้ามทานอาหารรสเผ็ด

บทความแนะนำ: อาหารสำหรับแม่ที่กำลังให้นมบุตร

การปฏิบัติตัวหลังคลอด

ฉันเชื่อว่าสมัยก่อนคนต้องทำงานหนัก อีกทั้งการแพทย์ก็ไม่ได้ก้าวหน้านักทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยง่าย หากไม่ดูแลตัวเองอย่างดี ดังนั้นเราควรดูแลตัวเองให้ดีโดยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และที่สำคัญอย่าลืมดูแลสุขภาพจิตด้วยนะคะ อะไรที่คุณทำแล้วสบายใจไม่เครียดก็ทำเถอะค่ะ การดูแลตัวเองและการเลี้ยงลูกก็เช่นกันทำในแบบที่คุณอยากทำ ไม่อย่างนั้นแล้วคุณอาจจะเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้นะคะ

บทความใกล้เคียง: ลดน้ำหนักหลังตั้งครรภ์

ความเชื่อหลังคลอด

1. ความเชื่อในช่วง 3 วันแรกหลังคลอด
1.1 ความเชื่อในช่วง 3 วันแรกหลังจากที่สตรีได้คลอดบุตรออกมาล้ว สตรีต้องอยู่ไฟหรืออยู่กำไฟ (ไทดำ ออกเสียงว่า อยู่ก๊ำไฟ) คำว่า กำหรือก๊ำ แปลว่า ข้อห้าม ดังนั้นการอยู่กำไฟ
จึงหมายถึง ข้อห้ามที่ต้องยึดถือปฏิบัติในระหว่างการอยู่ไฟ ดังที่ เสฐียรโกเศศ (2552, หน้า 55-56) เรียกช่วงเวลานี้ว่า อยู่กรรม โดยอธิบายว่า น่าจะเป็นเรื่องการล้างมลทินอันเกิดจากการ
คลอดลูก มากกว่าจะเป็นไปเพื่อการบำบัดพยาบาล เพราะการคลอดลูกเป็นไปตามธรรมดา ไม่ได้เป็นการรักษาโรค การคลอดลูกจะมีเลือดฝาดและสิ่งโสโครกออกมา เชื่อกันว่าเป็นมลทิน
จึงต้องมีการชำระล้างมลทินให้หมดไป ซึ่งมลทินทั้งหลายสามารถชำระล้างได้ 2 วิธีการ ดังนี้
วิธีการแรก ชำระล้างด้วยน้ำ แต่ถ้าหากว่าเมื่อใช้น้ำล้างธรรมดาได้ไม่หมดจด จึงต้องใช้ความร้อนล้าง
วิธีการที่สอง คือ ชำระล้างด้วยไฟ เพื่อให้สิ่งที่เป็นมลทินเหือดแห้งไป
1.2 เมื่อเด็กคลอดหลุดพ้นจากครรภ์ออกมาแล้ว สตรีหลังคลอดต้องบำรุงร่างกายด้วยการดื่มน้ำส้มมะขามเปียกคั้นผสมกับเกลือ เพื่อช่วยขับของเสียและเลือดเสียที่คั่งค้างอยู่ใน
ร่างกายให้ออกมา
1.3 หลังจากที่สตรีได้คลอดบุตรออกมาแล้ว ต้องล้างทำความสะอาดร่างกายเล็กน้อยด้วยน้ำอุ่นที่ต้มผสมใบไม้สมุนไพรพื้นบ้าน เช่น ใบหนาด ใบมะขามและข่า แต่บางตำราก็อ้างอิง
มาจากตำนานเรื่องกวางทองของไทดำ เกี่ยวกับการปฏิบัติตนของสตรีหลังคลอดบุตร ว่าต้องให้กินเถาอุ้มลูกไปดูหนัง และกินน้ำร้อนในขณะอยู่ไฟ
1.4 หลังจากที่สตรีอาบน้ำแล้ว ต้องนั่งอยู่ไฟทันที ซึ่งบรรดาญาติจะเป็นผู้ก่อกองไฟไว้ให้ โดยในช่วง 3 วันแรกของการอยู่ไฟ สตรีลูกอ่อนต้องนั่งหันหน้าเข้าหาเตาไฟตลอดเวลา คอย
เอามือควักเขม่าควันไฟในเตามากินและดื่มน้ำอุ่นอยู่สม่ำเสมอ หากจะอาบน้ำ ต้องอาบน้ำอุ่นผสมใบสมุนไพรทุกครั้ง เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น สตรีที่กำลังอยู่ไฟในช่วงนี้ เรียกว่า “แม่กำไฟ”
1.5 ในช่วงตลอดการอยู่ไฟ ห้ามแม่กำไฟสระผม เพราะจะทำให้ไม่สบายได้ง่าย
1.6 ในช่วงที่สตรีกำลังอยู่ไฟ ไทดำตำบลหนองปรงมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผีไม่ดี จะเข้ามาทำร้ายแม่และทารก จึงต้องนำไม้มีหนาม เช่น กิ่งต้นพุทรา มาวางไว้ที่มุมห้องหรือใต้ถุน
เรือน (บ้าน) โดยก่อกองไฟไว้ใต้ถุนเรือนตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะเชื่อว่า ผีไม่ดีจะกลัวและไม่เข้ามาใกล้บริเวณบ้าน
1.7 ในช่วงระยะที่กำลังอยู่ไฟ แม่ลูกอ่อนไม่ต้องเข้าไปทำพิธีปาดตงผีเรือน (เซ่นอาหารให้ผีบรรพบุรุษในกะล่อห่อง) เพราะเชื่อว่าผีเรือนไม่ชอบกลิ่นคาวเลือดของสตรีหลังคลอด
1.8 ห้ามไม่ให้สตรีลูกอ่อนกับเด็กทารกออกไปนอกบ้าน เพราะเชื่อว่ากลิ่นคาวเลือดของสตรีที่เพิ่งคลอดบุตรจะทำให้ผีไม่ดีมารบกวน แต่ถ้าหากจำเป็นจะต้องพาเด็กออกไปนอกบ้าน
ให้เอาขี้ดินหม้อทาหน้าเด็กให้ดำ เพราะเชื่อว่าผีไม่ดีจะไม่มารบกวนหรือมาเอาเด็กไปอยู่ด้วย อีกทั้งการที่สตรีแม่ลูกอ่อนออกไปนอกบ้าน จะต้องโดนทั้งแดดและฝุ่น อาจทำให้ไม่สบายได้
1.9 ห้ามสตรีลูกอ่อนทำงานหนัก เนื่องจากช่วงนี้ร่างกายของสตรีลูกอ่อนยังไม่แข็งแรงดี หากทำงานหนักอาจทำให้ไม่สบายหรือเป็นไข้ได้ เมื่อไม่สบายจะส่งผลให้ทารกที่ต้องดื่มนม
แม่ติดไข้ไม่สบายไปด้วยนั่นเอง
1.10 ความเชื่อเรื่องอาหารของสตรีหลังคลอด ในช่วงนี้ สตรีรับประทานได้เฉพาะข้าวเหนียวนึ่งกับเกลือคั่วหรือเกลือเผาเท่านั้น (เกลือใส่ใบตองปิ้ง) เพื่อช่วยล้างลำไส้และเพื่อป้องกัน
ไม่ให้เกิดอาการแสลงของ
1.11 ในช่วง 3 วันแรก จะมีญาติพี่น้องและผู้ใกล้ชิดมาเยี่ยมและอยู่เป็นเพื่อนแม่กำไฟ จนเมื่อออกกำไฟช่วงนี้แล้ว สตรีลูกอ่อนต้องไปสระผมที่ท่าน้ำ แต่ห้ามอาบน้ำ โดยทำเพียงใช้
ผ้ารัดเอวไว้หนึ่งผืนและคาดชุดติดไฟ (ไทดำ เรียกว่า ผ้าฮ้ายฝั้นใต้ไฟ) ทับไว้อยู่ข้างนอก เพื่อให้เกิดความอบอุ่นแก่ร่างกาย เมื่อกลับมาถึงเรือนให้ทำพิธีเซ่นผีย่าไฟ โดยใช้ไข่ไก่ 1 ฟอง
นำไปวางไว้ตรงที่ทารกคลอด จากนั้นทำพิธีสู่ขวัญให้แก่เด็กน้อยเกิดใหม่ ส่วนแม่ของเด็กให้ใช้ไก่ต้ม ข้าวต้ม ขนม จัดใส่สำรับเพื่อทำพิธีสู่ขวัญให้สตรีลูกอ่อน เมื่อถึงเวลากลางคืนสามารถ
ให้สตรีและลูกอ่อนย้ายไปนอนบนที่นอนปกติได้ แต่ยังคงต้องให้อยู่ไฟเดือนต่อไปอีกเป็นเวลา 1 เดือน
ที่มาจาก : https://www.stou.ac.th/study/sumrit/12-59(500)/page1-12-59(500).html

บนความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

สูตรน้ำแกงแม่หลังคลอด หลังคลอดกินซุป แกง อะไรได้บ้าง?

แนะนำ 5 ครีมขั้นเทพ ทาหน้าหลังคลอด ครีมบำรุงและฟื้นฟูผิวคุณแม่หลังคลอด

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!