นมแลคโตสฟรี ไขคำตอบ “ลูกแพ้นมวัว” หรือ “แพ้แลคโตส”?

ทำความเข้าใจ “แพ้นมวัว” กับ “แพ้แลคโตสในนมวัว” ไม่เหมือนกัน ทดสอบได้ด้วย นมแลคโตสฟรี ไขข้อข้อใจ ลูกแพ้นมวัว หรือแค่ แพ้แลคโตสในนมวัว

ปัญหากวนใจคุณแม่มือใหม่ทุกวันนี้หนีไม่พ้นเรื่องอาหารการกินของลูก โดยเฉพาะอาหารมากคุณประโยชน์อย่าง “นม” ที่มักก่อ “อาการแพ้” มากวนใจแม่ กวนตัวลูก แพ้นมวัวใช่ไหม แพ้แลคโตสหรือเปล่า เป็นคำถามที่ทำเอาคุณแม่หลายคนหัวหมุนกับการเลือกชนิดของนมให้เหมาะกับลูกรัก ทั้งนม UHT นมแลคโตสฟรี นมจากพืช ฯลฯ แต่… อย่าเพิ่งเปลี่ยนไปตามใจมารดา เช็กให้ชัวร์ก่อนค่ะว่า ลูกแพ้อะไรกันแน่ แล้วค่อยแก้ที่ต้นตอ

ทราบกันดีว่าอาหารหลักอันดับแรกที่คุณแม่ป้อนเข้าปากลูกน้อยตั้งแต่เขาลืมตาดูโลกก็คือ “นม” โดยเฉพาะนมแม่ที่เต็มเปี่ยมด้วยสารอาหารสำคัญและจำเป็นสำหรับการเจริญเติมโตของทารก แต่เมื่อข้ามผ่านช่วงวัยแบเบาะเข้าสู่วัยเตาะแตะ ไปจนถึงวัยซน และวัยคิดส์ การรับสารอาหารจากนมของลูกย่อมเปลี่ยนจากนมแม่ไปเป็นนมวัวพร้อมดื่มชนิดต่าง ๆ  ทั้งนมพาสเจอร์ไรซ์ นมสเตอริไลซ์ และ นม UHT ซึ่งยังคงมีคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งมีไขมันดีเพิ่มพลังงาน โปรตีนสูง ช่วยสร้างเม็ดเลือดและกระดูก แคลเซียมสูง ลดความดันโลหิต ลดความเสี่ยงมะเร็งสำไส้ ทั้งยังมีผลดีต่อสมอง เสริมสร้างพัฒนาการทางสติปัญญา และพัฒนาการทางอารมณ์

เด็ก ๆ ในวัยเรียน จึงควรดื่มนมอย่างน้อยวันละ 2  แก้ว เฉลี่ยปีละ 88 ลิตร ร่วมกับการเสริมสร้างวินัยในการออกกำลังกาย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อลูกเติบโตอย่างสมวัย ส่วนสูงสมส่วน กระดูกและฟันแข็งแรง และไม่เป็นโรคอ้วน อย่างไรก็ตาม มีสถิติพบว่า เด็กทารกราว 0.3-7.5% แพ้น้ำตาลแลคโตสในนมวัว และ 1 ใน 5 ของเด็กที่แพ้นมจะมีอาการนี้จนถึงตอนโต ซึ่งในปัจจุบันอัตราการเพิ่มของผู้ที่แพ้น้ำตาลแลคโตสในนมมีมากถึง 80100​% และมีคนไทยถึง 98% ที่อยู่ในภาวะนี้

 

ทำความเข้าใจ “แพ้นมวัว” กับ “แพ้แลคโตสในนมวัว” ไม่เหมือนกัน

เริ่มแรก คุณแม่ต้องมีเข้าใจก่อนว่า การแพ้นมวัว คือ แพ้โปรตีน (ในนมวัว) ซึ่งอาการที่พบโดยทั่วไป คือ

  • อาการทางผิวหนัง ผื่นแดง คัน ผื่นลมพิษ หรือผื่นฝ้าขาวนูน
  • อาการในระบบทางเดินหายใจ คัดจมูกน้ำมูกไหลเรื้อรัง มีเสมหะในลำคอหรือหลอดลม ไปจนถึงเป็นปอดอักเสบ
  • อาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น สำรอกนม อาเจียนบ่อย อาการโคลิก ถ่ายเหลวเรื้อรัง หรือท้องผูกรุนแรง

โดยอาการแพ้นมวัวข้างต้นนี้อาจเกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ และจะเกิดขึ้นไม่เกิน 4 สัปดาห์หลังร่างกายลูกกินนมวัว

 

แพ้นมวัว หรือแพ้แลคโตส

 

แต่… การแพ้แลคโตส คือ มีภาวะย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่อง (Lactose intolerance) ซึ่งเกิดความผิดปกติของลำไส้เล็ก ทำให้ไม่สามารถผลิตเอนไซม์แลคเทสที่ใช้ย่อยน้ำตาลแลคโตส (ที่พบในนมวัว และนมแม่) โดยเฉพาะได้เพียงพอ ซึ่งเอนไซม์ชนิดนี้นี้มีมากในเด็กทารก และจะลดลงเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ทำให้ผู้ใหญ่บางคนสามารถเกิดอาการแพ้แลคโตสได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีอาการดังกล่าวในตอนเด็ก ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมได้นี่เองทำให้เกิดกรดและแก๊สมากขึ้นในช่องท้อง จนทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดหรือเสียดท้อง

 

ดังนั้น ลองสังเกตลูกน้อยก่อนนะคะว่า…

หลังจากดื่มนมไปแล้วประมาณ 2-3 ชั่วโมง ลูกมีอาการปวดท้อง ท้องอืด ลมในท้องเยอะ และผายลมบ่อยไหม?

มีอาการผิวหนังอักเสบ ปากบวม ตาบวม น้ำมูกเรื้อรัง ไอเรื้อรัง หายใจไม่สะดวก เสมหะเยอะ หอบหืด และนอนกรนหรือเปล่า?

ถ้าใช่… ก็อาจสันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่า ลูกน่าจะมีภาวะย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่อง

 

ทดสอบง่าย ๆ ด้วย นมแลคโตสฟรี

การมีภาวะ Lactose intolerance ไม่ได้หมายความว่า ลูกเป็นโรคแพ้นมวัว เพราะการแพ้นมวัวคือแพ้โปรตีนในนมวัว ในทารกขวบปีแรกเมื่อให้ดื่มนมวัวแล้วเกิดอาการแพ้โปรตีน แม้ลักษณะอาการจะใกล้เคียงกัน แต่ระยะเวลาแสดงอาการของโรคแพ้นมวัวจะเกิดขึ้นในเวลาฉับพลัน หรืออาการแพ้จะค่อย ๆ แสดงมากขึ้นใน 2 – 3 สัปดาห์ ส่วนการแพ้แลคโตสในนมวัว คือ ยังดื่มนมวัวได้ แต่ต้องเป็นนมที่ไม่มีแลคโตส

คุณแม่จึงสามารถทดสอบเบื้องต้นได้ง่าย ๆ โดยการให้ลูกดื่มนมสูตร Lactose Free เพราะนมชนิดนี้คือนมวัวแท้ ๆ ที่ผ่านกระบวนการย่อยสลายน้ำตาลด้วยเอนไซม์ธรรมชาติ “แลคเตส” ทำให้น้ำตาลแลคโตสที่มีอยู่ในนมนั้นหมดไป กลายเป็นนมที่ไม่มีแลคโตสรวมถึงทำให้โมเลกุลของนมเล็กลง​ จึงดื่มง่ายมากยิ่งขึ้น แต่ยังคงรสชาติและคุณประโยชน์เทียบเท่านมวัวทั่วไป ทั้งยังช่วยทำให้แลคโตสในนมมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก ที่มีประโยชน์กับทางเดินอาหารของมนุษย์ ช่วยลดจำนวนแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคกระเพาะ ลดอาการท้องผูก ลดความดันโลหิต ช่วยเพิ่มวิตามินบางชนิด เช่น B1, B2, B6 และ B12 เพิ่มการดูดซึมของแคลเซียม ช่วยลดปริมาณสารพิษ​และเอนไซม์ที่เป็นพิษซึ่งเกิดจากจากกระบวนการเมตาบอลิซึม จึงทำให้มีสารพิษเข้าสู่ตับลดลงด้วย

ถ้าดื่มนมที่ไม่มีแลคโตสแล้ว ลูกยังมีอาการปวดท้อง ท้องอืด ลมในท้องเยอะ ผายลมบ่อย ฯลฯ ก็อนุมานได้ว่าลูกเป็นโรคแพ้นมวัวจริง ๆ

แต่ถ้าดื่มนมแลคโตสฟรีแล้วไม่มีอาการผิดปกติ แสดงว่ามาถูกทางค่ะ ลูกน่าจะมีภาวะย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่อง แต่ก็แนะนำให้ไปรับการตรวจจากแพทย์เพื่อยืนยันอีกครั้งนะคะ

นมแลคโตสฟรี

แพ้แลคโตสแก้ยังไง?

หากคุณแม่ทดสอบการแพ้แลคโตสของลูกด้วยตัวเอง หรือพาลูกไปพบแพทย์และได้รับการวินิจฉัยว่าลูกมีภาวะย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่อง ทางแก้หรือทางรักษาคือ หลีกเลี่ยงน้ำตาลแลคโตสในนม คือ สามารถกินนมที่ไม่มีแลคโตสได้ ต่างกับเด็กแพ้นมวัว ที่แม้แต่นมแลคโตสฟรีก็กินไม่ได้ 

โดยกรณีเป็นลูกเล็กวัยแบเบาะที่มีภาวะนี้ แนะนำว่าไม่ควรหยุดนมแม่ค่ะ แต่ควรให้ลูกกินนมส่วนหลังมากกว่านมส่วนหน้า เพราะน้ำนมส่วนหน้ามีน้ำตาลแลคโตสมาก

บทความที่เกี่ยวข้อง นมแม่ส่วนหน้า&ส่วนหลังต่างกันอย่างไร

กรณีลูกเป็นเด็กโตที่กินอาหารได้หลากหลายแล้ว ให้ดื่มนมหรืออาหารประเภทแลคโตสฟรี หรือนมที่ทำจากพืช เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ แต่ต้องเสริมแคลเซียมเพิ่มเติมจากอาหารจำพวกเต้าหู้ งาดำ ธัญพืช กุ้งแห้ง ปลาเล็กปลาน้อยที่รับประทานได้ทั้งกระดูก หรือพวกผักใบเขียว เช่น คะน้า บร็อกโคลี และควรงดอาหารซึ่งมีนมที่มีน้ำตาลแลคโตสเป็นส่วนประกอบด้วย เช่น ไอศกรีม โยเกิร์ต เค้ก ขนมปัง

 

อย่างไรก็ตาม การแพ้แลคโตสมีหลายระดับ บางคนขาดเอนไซม์แลคเตสเพียงบางส่วน ก็สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสบางส่วนได้ หากรับประทานเพียงเล็กน้อยจะไม่เกิดอาการ ดังนั้น แนะนำให้สังเกตว่าเด็กรับประทานได้ปริมาณเท่าใดจึงจะเกิดอาการ โดยการที่รับประทานพร้อมมื้ออาหาร จะช่วยให้เอนไซม์แลคเตสมีเวลาในการย่อยได้นานมากขึ้น หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารตอนท้องว่าง หรืออาจลองรับประทานครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ ถ้าอาการไม่มาก บางครั้งอาจจะสามารถรับประทานนมเปรี้ยว โยเกิร์ตได้ เนื่องจากจุลินทรีย์ในนมเปรี้ยวและโยเกิร์ตจะช่วยย่อยน้ำตาลแลคโตสได้บางส่วน 

 

อ้างอิง : samitivejhospitals.com , tetrapak.com

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ตอบข้อสงสัย ลูกแพ้นมวัว ได้อย่างไร ? แม่กินนมวัว ทำให้ลูกแพ้โปรตีนนมวัว จริงหรือ ?

แพ้นมวัวกินนมผงได้ไหม นมผงส่วนมากผลิตมาจากอะไร?

เคล็ดลับ! วิธีเปลี่ยนนม เพื่อคุณแม่สบายใจ คุณลูกสบายท้อง

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!