วิธีกระตุ้นน้ำนม ให้มีน้ำนมเยอะ ๆ สำหรับแม่มือใหม่กลัวน้ำนมน้อย ลูกไม่พอกิน
คุณแม่หลายท่าน โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ มักจะเป็นกังวลว่าตัวเองจะมีน้ำนมน้อย กลัวว่าน้ำนมจะไม่พอให้ลูกกิน วันนี้เรามีเคล็ดลับการเพิ่มน้ำนม วิธีกระตุ้นน้ำนม วิธีเพิ่มน้ำนมแม่ ทำให้มีน้ำนมมากขึ้นมาฝากกัน ส่วน วิธีกระตุ้นน้ำนม จะเป็นอย่างไรบ้างนั้นไปติดตามกันเลย
สาเหตุที่ทำให้น้ำนมแม่น้อย
ก่อนที่จะทราบถึงวิธีเพิ่มน้ำนมแม่ เรามาดูกันก่อนว่า จริง ๆ แล้ว น้ำนมแม่น้อยจริงหรือคิดไปเอง ซึ่งเวลาเห็นลูกร้องหิวบ่อย ๆ คุณแม่หลายท่านก็อาจจะเข้าใจว่าตัวเองมีน้ำนมไม่เพียงพอ มีน้ำนมน้อย จนเกิดความเครียด เกิดความกังวล ซึ่งจริง ๆ แล้ว น้ำนมของคุณแม่อาจจะไม่ได้น้อยอย่างที่เข้าใจ และสาเหตุที่มักจะทำให้คุณแม่เข้าใจผิด คิดว่าตัวเองมีน้ำนมน้อย ก็ได้แก่เรื่องต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น
- เริ่มให้ลูกดูดกระตุ้นให้ร่างกายสร้างน้ำนมหลังคลอดช้าเกินไป
- ให้ลูกเข้าเต้าผิดวิธี ลูกอมงับได้ไม่ลึกพอ
- ให้ลูกดูดนมแม่ไม่บ่อยพอในช่วงแรก (น้อยกว่า 8 ครั้งต่อวัน) ซึ่งมักจะเกิดร่วมกับการเสริมนมผสม การให้ดื่มน้ำ หรืออาหารเสริม (ก่อนวัยอันสมควรคือ 6 เดือน) ทำให้ลูกอิ่มไม่ยอมดูดนมแม่
- คุณแม่ที่กลับไปทำงานแล้วปั๊มนมออกน้อยเกินไป หรือทิ้งระยะห่างเกินกว่า 3 – 4 ชั่วโมง
- สาเหตุจากความเครียด พักผ่อนน้อย และรับประทานอาหารน้อย
- กินยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่เป็นฮอร์โมนรวมในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด
อย่ามองข้ามน้ำนมเหลืองหลังคลอด
หากคุณแม่มีปัญหาในการให้นมทารกน้อยตั้งแต่หลังคลอดใหม่ ๆ อย่าเพิ่งคิดว่าไม่ส่งผลมาก ค่อยกระตุ้นนมแม่ในภายหลังได้ จริง ๆ แล้วการกระตุ้นน้ำนมแม่ทันทีหลังคลอดสำคัญมาก เพราะในช่วง 1 – 3 วัน หลังคลอด เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่คุณแม่จะมีน้ำนมเหลือง (Colostrum) ที่ถือว่าเป็นนมที่มีประโยชน์ที่สุดในทุกระยะของน้ำนมแม่ หากผ่านช่วง 1-3 วันแรกหลังคลอดไปแล้ว น้ำนมเหลืองของคุณแม่ก็จะหมดลงและเข้าสู่น้ำนมระยะปรับเปลี่ยน
น้ำนมเหลืองเปรียบเสมือนวัคซีนธรรมชาติจากอกแม่ มี “แลคโตเฟอร์ริน” ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีส่วนช่วยทั้งในเรื่องกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทารก ช่วยต้านเชื้อโรคให้ทารกทั้งแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา รวมไปถึงช่วยเสริมทางเดินอาหารให้แข็งแรง
ไม่เพียงแต่แลคโตเฟอร์รินเท่านั้น ในน้ำนมเหลืองยังมี MFGM, DHA และ 2FL ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นมากสำหรับทารกเช่นกัน สารอาหารในน้ำนมเหลืองที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มีความสำคัญมากเกินกว่าจะมองข้ามได้ ดังนั้นอย่าพลาดที่จะให้นมทารกน้อยให้เร็วที่สุดหลังคลอด
วิธีกระตุ้นน้ำนมเหลือง กระตุ้นน้ำนมแม่
เมื่อได้ทราบถึงเหตุผลที่ทำให้น้ำนมแม่น้อยกันไปแล้ว และเห็นความสำคัญของน้ำนมเหลืองแล้ว คุณแม่ที่พบปัญหาให้น้ำนมเหลืองกับทารกไม่ได้ สำหรับวิธีการรับมือที่ดีที่สุด คือ การปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาแนวทางแก้ไข หรือแนะนำนมสูตรนมผงที่มีสารอาหารที่พบในน้ำนมเหลือง เช่น แลคโตเฟอร์ริน หรือ MFGM เป็นต้น แม้ลูกจะมีอายุมากกว่า 6 เดือน แต่การได้รับสารอาหารที่พบได้ในน้ำนมเหลืองนั้น ก็ยังคงส่งผลดีต่อภูมิคุ้มกันของลูกในระยะยาวอยู่
ต่อไปเรามาดูกันว่า เมื่อผ่านพ้นช่วงน้ำนมเหลืองไปแล้ว แต่ยังมีปัญหาให้นมทั่วไป ควรทำอย่างไรให้มีน้ำนมมากขึ้น สามารถทำตามวิธีเพิ่มน้ำนมแม่ดังนี้
- ให้นมลูกบ่อยขึ้นและนานขึ้น (ไม่ควรน้อยกว่า 8 ครั้งต่อวัน) ถ้าไม่ได้อยู่กับลูก ก็ควรบีบหรือปั๊มนมออกให้เกลี้ยงเต้าทุก 3 ชั่วโมง
- กระตุ้นเต้านม โดยใช้ผ้าอุ่นจัดประคบเต้านม 3 – 5 นาที จากนั้นนวดเต้านมและคลึงหัวนมเบา ๆ ก่อนให้นมลูก
- ให้ลูกดูดนมแม่อย่างถูกวิธี ที่สำคัญต้องให้ลูกงับหัวนมจนถึงลานนมได้ลึกพอ
- ไม่ควรป้อนน้ำ นมผสม หรืออาหารเสริมอื่นก่อนที่ลูกจะมีอายุได้ 6 เดือน
- หายใจลึก ๆ ทำใจให้สบาย ไม่เครียด เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายขณะให้นมลูกหรือขณะปั๊มนม
- ทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และรับประทานอาหารหรือสมุนไพรที่มีคุณสมบัติเพิ่มน้ำนม
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพียงพอใน 1 วัน
- ให้ลูกดูดข้างหนึ่ง ปั๊มนมอีกข้างหนึ่งไปพร้อม ๆ กันเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างน้ำนมเพิ่ม แถมยังช่วยให้ปั๊มน้ำนมออกง่ายกว่าการปั๊มนมตอนที่ลูกไม่ได้ดูดเต้าอีกด้วย แต่วิธีนี้ควรใช้เมื่อน้ำนมสร้างได้มากพอ คือประมาณหลัง 1 เดือนไปแล้ว
- เพิ่มรอบปั๊มนมให้แต่ละรอบห่าง 3 – 4 ชั่วโมง หรือช่วงที่ลูกนอนหลับนานเกิน 3 ชั่วโมง
ลูกดูดนมแล้วหลับ เอาลูกออกจากเต้า แล้วร้องหิวใหม่ ทำอย่างไร
เมื่อคุณแม่เห็นลูกหลับจึงเอาลูกออกจากเต้า เพราะเข้าใจว่าลูกอิ่มแล้ว แต่พอจะเอาออกก็ร้องขอดูดต่อ หรือหลับได้ครู่เดียวก็ร้องหิวใหม่อีก ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าตนเองน้ำนมน้อย ในกรณีแบบนี้ แนะนำให้คุณแม่สังเกตว่า ถ้าลูกหลับขณะกินนม และคายหัวนมออกเอง แสดงว่าลูกกินอิ่ม แต่ถ้ายังไม่คาย เพียงแต่อมหัวนมไว้ หรือดูดแค่เบา ๆ คุณแม่ควรกระตุ้นให้ลูกดูดต่อโดยวิธีการดังนี้
- ใช้นิ้วชี้ที่ประคองด้านล่างของเต้านม และเขี่ยริมฝีปากล่างของลูกเบา ๆ เพื่อกระตุ้นให้ดูดต่อ
- ใช้มือบีบเต้านม เพื่อไล่น้ำนมเข้าปากลูก ลูกจะกลืนน้ำนมและดูดต่อ เมื่อลูกหยุดดูด ก็บีบใหม่ ทำเป็นระยะ ๆ จนกว่าลูกจะอิ่ม และคายปากออกเอง แต่ถ้าหากว่าบีบไล่น้ำนมสักพักแล้วไม่ได้ผล อาจเป็นเพราะน้ำนมในเต้านั้นลดน้อยลง และไหลช้าลง ก็ให้เปลี่ยนไปอีกเต้าหนึ่ง ทำเป็นระยะ ๆ จนกว่าลูกจะอิ่ม และคายปากออกเอง
- หากลูกไม่ยอมตื่นมาดูดนมแม่ต่อ ให้เอาลูกออกจากเต้า และปลุกให้ตื่นก่อน จึงนำเข้าเต้าเพื่อดูดนมอีกครั้ง
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เราอยากแชร์ คือ การที่คุณแม่ให้ลูกดูดนมสลับเต้าไปมาในมื้อเดียวกัน ก็อาจทำให้ลูกได้แต่น้ำนมส่วนหน้า ไม่ได้น้ำนมส่วนหลังที่มีไขมันมากกว่า จึงทำให้ลูกกลับมาหิวเร็วกว่าปกตินั่นเอง
คุณแม่ควรคำนึงถึงความสำคัญของการให้นมแม่หลังคลอดเสมอ โดยเฉพาะน้ำนมเหลือง จึงไม่ควรปล่อยไว้ ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการกระตุ้นการให้นม เสริมกับเลือกผลิตภัณฑ์สูตรที่เหมาะกับช่วงวัยของเด็ก
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
วิธีนวดกระตุ้นน้ำนมไม่พอ เทคนิคสำคัญช่วยแก้ปัญหาท่อน้ำนมอุดตัน
สีน้ำนมแม่ น้ำนมใส ที่ปั๊มออกมา ลูกจะกินได้ไหม ทำไมนมแม่มีหลายสี
รู้หรือไม่!! MFGM คือ สารอาหารในนมแม่ ช่วยพัฒนาสมองของลูกรัก ให้พร้อมเรียนรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ที่มา :nappibaby , wicbreastfeeding