ออกจากงานมาเลี้ยงลูก ดีมั้ย? ควรทำงานประจำ หรือเป็นแม่ Full Time
คุณแม่ที่ยังสับสน ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะออกจากงานมาเลี้ยงลูก เป็นคุณแม่ full time ดีไหม ตามมาดูบทความนี้กันค่ะ
เชื่อว่าคุณแม่ทุกคน รวมถึงคุณแม่ที่เป็น Working Mom มีงานประจำต้องรับผิดชอบ แต่ก็อยากเลี้ยงลูกด้วยตัวเองให้ดีที่สุด แต่บ่อยครั้งที่งานประจำอาจช่วงชิงเวลาการเลี้ยงลูกไปบ้าง ทำให้ต้องมีการฝากเลี้ยง ทั้งฝากปู่ย่าตายาย พี่เลี้ยง ไปจนถึงเนอสเซอรี่ ที่บางครั้งก็มีวิธีการเลี้ยงดูลูกต่างไปจากที่คุณแม่คิดและตั้งใจไว้ ประโยค “ออกจากงานมาเลี้ยงลูก” จึงอาจดังก้องวนไปมาในหัว สร้างความรู้สึกหลากหลายให้คุณแม่ เริ่มตั้งแต่มองเห็นข้อดีว่าจะมีความสุขที่ได้อยู่ใกล้ชิดติดตามทุกพัฒนาการลูกในทุกๆ วัน แต่ก็มีความกังวลเรื่องภาวะการเงิน และความรู้สึกผิดลึกๆ ในใจที่ต้องทิ้งโอกาสในการทำงานไปด้วย การลาออกหรือไม่ จึงนับเป็นการตัดสินใจที่สำคัญ เป็นการแลกเปลี่ยนที่ต้องใช้ความกล้าและความเสียสละอย่างมาก วันนี้ จึงจะชวนคุณแม่มาพูดคุยกันว่า ออกจากงานมาเลี้ยงลูก ดีมั้ย? ควรทำงานประจำ หรือเป็นแม่ Full Time ดีนะ พร้อมแชร์ประสบการณ์จากคุณแม่ที่ “เลือกแล้ว” ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “ห้องนั่งเล่นพ่อแม่” เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของคุณแม่ในเบื้องต้นค่ะ
สารบัญ
ข้อดีของการเป็นคุณแม่ Full Time ออกจากงานมาเลี้ยงลูก
-
ดีต่อพัฒนาการลูก
การมีผู้ปกครองคนใดคนหนึ่งอยู่ดูแลอย่างเต็มที่นั้นส่งผลดีต่อลูกน้อยในทุกช่วงอายุค่ะ ทั้งในเรื่องพฤติกรรม พัฒนาการ และการเรียนรู้ รวมถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดี ซึ่งคุณแม่สามารถดูแลและส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกได้อย่างเต็มที่ ได้มีส่วนร่วมไปกับทุกพัฒนาการในทุกๆ วันของลูก นอกจากนี้ ในแง่พฤติกรรม การที่มีคุณแม่ดูแลแบบ Full Time ยังช่วยลดความเครียดและความก้าวร้าวของลูกได้ด้วย
-
สร้างความผูกพันกับลูก
คุณแม่ Full Time ที่ออกจากงานมาเลี้ยงลูกจะได้มีโอกาสดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ได้ใช้ทุกช่วงเวลาในการสร้างความผูกพันอันแน่นแฟ้นกับลูกน้อยค่ะ
-
ความสุขทางใจ
การได้เห็นลูกเติบโตในทุกๆ วัน ได้อยู่ในช่วง “ครั้งแรก” ของพัฒนาการทุกด้านของลูก ทั้งการพลิกคว่ำ การคลาน การพูดออกเสียง การนั่ง ตั้งไข่ ไปจนถึงก้าวแรกที่ลูกเดิน นับเป็นความสุขที่หาอะไรมาเปรียบเทียบไม่ได้จริงๆ ค่ะ
ทำไม? “ออกจากงานมาเลี้ยงลูก” เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก
ต้องยอมรับนะคะว่าด้วยบริบทของสังคมไทยนั้นยังมีท่าทีที่กำหนดให้ผู้หญิงเป็นคนเลี้ยงลูกเป็นหลัก แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจกลับบังคับให้ผู้หญิงยังต้องทำงานนอกบ้านด้วย ซึ่งการมีลูกนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงานของคุณแม่อย่างแทบหลีกเลี่ยงไม่ได้ การมีลูกส่งผลต่อโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้หญิงไม่เพียงในระยะสั้นเท่านั้น แต่ในระยะยาว การตัดสินใจ “ออกจากงานมาเลี้ยงลูก” เปลี่ยนงาน หรือลดบทบาทการทำงานจะส่งผลต่อเส้นทางความก้าวหน้าทางการงานและความมั่นคงทางการเงินของคนเป็นแม่ในวันข้างหน้า
นอกจากนี้ การเลี้ยงลูกไปด้วยทำงานไปด้วย อาจส่งผลกระทบต่อบางครอบครัว จนต้องมีคนใดคนหนึ่งจำเป็นต้องออกจากงานเพื่อเลี้ยงดูลูกได้เต็มที่ หรืออาจต้องเปลี่ยนมาทำงานพาร์ตไทม์ ฝากเลี้ยง คุณแม่บางคนยังทำงานเหมือนเดิม แต่ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เพราะต้องกลับบ้านเร็ว ไปทำงานต่างจังหวัดนานๆ ไม่ได้ หรือลาบ่อยขึ้นเพื่อที่จะไปดูลูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ 1 หรือ 2 ปี ในช่วงที่ลูกยังเล็ก แต่จำเป็นต้องออกจากงานนานถึง 2-3 ปี พอจะกลับเข้าไปทำงานใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงเรียกได้ว่าสามารถส่งผลกระทบทั้งชีวิตของคนเป็นแม่ได้เลยค่ะ
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ ออกจากงานมาเลี้ยงลูก | |
ภาวะการเงิน |
|
ความกังวลเรื่องงานและอนาคต |
|
การสนับสนุนจากคนรอบข้าง |
|
ออกจากงานมาเลี้ยงลูก ดีไหม? แชร์ประสบการณ์จากคุณแม่ในกลุ่ม “ห้องนั่งเล่นพ่อแม่”
คุณแม่หลายคนอาจยังพอมีเวลาในการคิดและตัดสินใจว่าจะทำงานไปด้วย เลี้ยงลูกไปด้วย หรือจะลาออกจากงานมาเป็นคุณแม่ Full Time แต่บางคนก็กำลังกังวลที่จะต้องเลือกทางเดินของความเป็นแม่แล้ว ลองมาฟังความคิดเห็นจากคุณแม่ที่ “เลือกแล้ว” 10 คน ซึ่งเราขออนุญาตสรุปความคิดเห็นของแต่ละคนมาให้ดังนี้ค่ะ
1. ข้อดี คือ ได้จัดระเบียบแบบแผนการเลี้ยงลูกเองทั้งหมด ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน จัดการพัฒนาการต่างๆ ได้รู้นิสัยใจคอ เห็นพัฒนาการทุกย่างก้าว ปรับกันไปทุกวัน ข้อเสีย เงินลดลงแน่นอน จากที่เคยมีเงินตัวเองก็ต้องรอเงินสามี และอาจจะรู้สึกด้อยค่าตัวเองได้ แล้วก็เหนื่อยสุดๆ
2. ข้อเสียไม่มีหรอกค่ะ ถ้าเงินพอใช้ ไม่ขัดสน นี่ก็ไม่ได้ทำงานมา 4 ปีแล้ว เลี้ยงลูกเองคนเดียวมาตลอด ไม่มีคนช่วยก็เหนื่อยหน่อย แต่เรื่องเงินไม่ขัดสน ตามชนบทข้าวของไม่ค่อยแพง พออยู่ได้มีความสุขดี ได้เลี้ยงลูกแบบที่เราคิดไว้ตั้งเเต่เเรก
3. เลี้ยงเองมา 7 ปีแล้ว ข้อดี คือได้เลี้ยงลูกเองเห็นทุกพัฒนาการของลูก ข้อเสีย ก็คือขาดรายได้ แต่เราขายออนไลน์มาก่อนมีน้อง ก็มีรายได้เสริมของตัวเอง พอกินพอใช้
4. ถ้ารายได้ไม่มากพอ (หรือรวย) ระยะยาวอาจมีทุกข์เพราะเงินไม่พอใช้จ่ายค่ะ คนแบกภาระเครียด จนอาจพาลเผลอปากไม่ดีใส่แม่ Full Time ให้น้อยเนื้อต่ำใจ ถ้าจำเป็นขอให้ลาออกแค่ช่วงสั้นๆ ก็พอ เพราะดีกับลูก แต่ข้อเสียก็มีเยอะเหมือนกัน ชั่งใจดีๆ
5. เลี้ยงเอง แต่ไม่ได้ลาออกจากงานนะคะ เพราะเงินก็สำคัญ เราเอาลูกไปฝากที่เนอร์สเซอรี่ตั้งแต่ 3 เดือน มีกล้องให้ดูได้ตลอดเวลา เช้าตื่นเตรียมตัวไปส่งลูกและไปทำงานเลิกงานก็ไปรับลูกมาดูแล ตอนนี้ลูก 3 ขวบกว่าแล้ว
6. เลี้ยงเองดีทุกอย่าง แต่ต้องมั่นใจสถานะการเงินที่สามีจะหล่อเลี้ยงเรากับลูกได้จนกว่าเราจะได้กลับไปทำงาน หรืออาจจะไม่มีโอกาสกลับไปทำงานด้วย และต้องมั่นใจว่าสามีจะไม่มองเราเป็นภาระในวันหลัง และเราต้องทำใจว่าสังคมเราจะแคบลง อะไรที่อยากได้ให้ตัวเองอาจมีข้อจำกัดเพราะไม่มีรายได้แล้ว
7. ข้อดีคือสนิทกับลูกมาก ลูกไว้ใจมาก อ่านนิทานก่อนนอนด้วยกัน ไม่รู้สึกเสียดายเลยที่ต้องออกงานมาเลี้ยงลูก มันคุ้มค่ามาก อันนี้คือแฟนมีรายได้เพียงพอ ไม่ได้อดอยากลำบากอะไรนะคะ แต่ถ้ามีปัญหาเรื่องเงินก็ต้องทำงานแหละค่ะ
8. หากไม่คิดเรื่องการได้เลี้ยงลูกเองออกไป อยากให้แม่ลองคำนวณรายได้ที่หาได้ต่อเดือน กับเงินที่จะต้องจ้างพี่เลี้ยง/ฝากเลี้ยงดูนะคะ + ความเห็นท่านอื่นเกี่ยวกับรายได้สามี แต่อยากให้คิดดีๆ นะคะ เศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีอะไรแน่นอน ความมั่นคงของแม่สำคัญไม่แพ้กัน
9. ตั้งใจที่จะมีลูกและเลี้ยงลูกเอง มีเงินเก็บก้อนนึง คิดว่าสามารถช่วยแบ่งเบาภาระสามีได้บางส่วน แต่เหตุการณ์พลิก เพราะป่วยบ่อยจนต้องใช้เงินเก็บรักษาตัว แต่พอพยายามมีลูกตั้งแต่ฝากท้องจนคลอด เราเป็นคนเดียวที่เลี้ยงและอยู่กับลูก 24/7 มันเป็นความเหนื่อยที่บางครั้งก็มีความสุข
10. เราลาออกมาเลี้ยงลูกค่ะ แต่พอลูกเข้าโรงเรียนแล้วกลับไปทำงานเถอะค่ะ เลี้ยงลูกเองมันดีจริงๆ ดีมากๆ ค่ะ แต่มันก็มีข้อเสีย เราไม่เคยนึกเผื่อไว้ว่าหากสามีไปก่อนมันจะลำบาก สามีพี่เสียไปเมื่อ 3 ปี ที่แล้ว กว่าจะผ่านมาได้ ลำบากมากเหมือนกัน อย่าลืมคิดเผื่ออนาคตข้างหน้าด้วยนะคะ
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจลาออกจากงานมาเลี้ยงลูกเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด แต่อยากให้คุณแม่ทุกคนพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเลือกทางเลือกที่เหมาะสมกับตัวเองและครอบครัวที่สุด สิ่งสำคัญที่สุดคือการให้ความสำคัญกับความสุขของทุกคนในบ้าน การดูแลสุขภาพตัวเองและการดูแลลูกน้อยให้เติบโตอย่างแข็งแรงและมีความสุขนะคะ
ที่มา : thematter.co , กลุ่มเฟซบุ๊ก “ห้องนั่งเล่นพ่อแม่” , thaipbskids.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เจ้าหนูจำไม ถามเก่ง ถามไม่หยุด พ่อแม่ควรรับมือยังไงดี
ปี 2025 เริ่มต้น เด็ก Gen Beta เด็กยุค AI ที่โลกไม่ควรละสายตา