Checklist ของใช้ที่ควรเตรียมไว้ใน "กระเป๋าฉุกเฉิน" พร้อมอพยพทันที

undefined

ในสถานการณ์ฉุกเฉิน การมี 'กระเป๋าฉุกเฉิน' ที่บรรจุสิ่งของจำเป็นเหล่านี้ จะช่วยให้คุณสามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์วิกฤติได้อย่างปลอดภัย

ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่คาดฝัน การมี ‘กระเป๋าฉุกเฉิน’ ที่บรรจุสิ่งของจำเป็นครบครัน จะช่วยให้คุณแม่และครอบครัวสามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์วิกฤติต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย บทความนี้มี checklist ของใช้จำเป็นที่ควรมีติดบ้านไว้ จัดเตรียมลงใน กระเป๋าฉุกเฉิน เพื่อให้พร้อมสำหรับการอพยพเมื่อเกิดภัยพิบัติ อย่างเช่น แผ่นดินไหว หรือน้ำท่วม

กระเป๋าฉุกเฉินที่ดี ควรมีของใช้จำเป็นติดตัวไปได้ อย่างน้อย 3 วัน เพราะส่วนใหญ่แล้ว เราอาจต้องรอความช่วยเหลือจากคนอื่นประมาณ 3 วันค่ะ

เวลาจัดกระเป๋าฉุกเฉิน ควรเลือกกระเป๋าที่ถือไปไหนมาไหนสะดวก โดยเฉพาะกระเป๋าเป้สะพายหลังจะดีที่สุดเพราะจะทำให้เราใช้มือทั้งสองข้างได้คล่องตัว เช่น จูงหรืออุ้มลูกน้อย

 

Checklist ของใช้ที่ควรเตรียมไว้ใน กระเป๋าฉุกเฉิน พร้อมอพยพ

ของใช้ติด กระเป๋าฉุกเฉิน หมวดอาหารและน้ำดื่ม

  • น้ำดื่มสะอาด น้ำสำคัญมากๆ ควรเตรียมน้ำดื่มให้พร้อม อย่างน้อย 3 ลิตรต่อคนต่อวัน
  • อาหารแห้งที่ไม่ต้องปรุง เตรียมอาหารที่กินได้เลย ไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม เช่น 
    • ข้าวอบแห้ง แค่เติมน้ำก็กินได้
    • ถั่วอบแห้ง ผลไม้แห้ง เช่น ลูกเกด, มะม่วงอบแห้ง
    • บิสกิตหรือแครกเกอร์ที่ให้พลังงานเยอะ ๆ 
    • เนื้อแห้ง 
    • ช็อกโกแลต
  • หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปที่มีน้ำหนักมาก หรือเสียง่าย ให้เน้นอาหารที่เก็บได้นานและพกพาสะดวกจะดีกว่า
  • อาหารกระป๋องพร้อมทาน เตรียมอาหารกระป๋องที่เปิดกินได้เลย เช่น ปลาทูน่า, แกงกะหรี่, ผลไม้ ฯลฯ
  • เครื่องดื่มเกลือแร่ เตรียมเครื่องดื่มเกลือแร่ไว้ด้วยนะคะ ช่วยให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ
  • อาหารสำหรับเด็ก ถ้ามีลูกเล็ก อย่าลืมเตรียมอาหารพร้อมทานสำหรับเด็กด้วย
  • อาหารสัตว์เลี้ยงและน้ำ อย่างน้อย 5 วัน และกระดาษชำระสำหรับสัตว์เลี้ยง
  • กระติกน้ำเก็บอุณหภูมิ เตรียมกระติกน้ำที่เก็บความร้อนความเย็นได้ จะช่วยให้เรามีน้ำดื่มที่อุณหภูมิพอเหมาะค่ะ
  • ถุงพลาสติกซิปล็อก ใช้ใส่ของหรือเก็บอาหาร

 

ของใช้ติดตัวยามฉุกเฉิน

ของใช้ติดตัวยามฉุกเฉิน หมวดยาและอุปกรณ์ปฐมพยาบาล

  •  ยาสามัญและยาประจำตัว รวมถึงชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น เตรียมยาที่เราใช้บ่อย ๆ และยาประจำตัวของเรา พร้อมกับชุดทำแผลเบื้องต้น
    • ยาสามัญ เช่น ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้แพ้ ยาแก้ปวด ยาลดไข้
    • ยาประจำตัว (ถ้ามี) ต้องเตรียมยาให้พอใช้ อย่างน้อย 3-7 วัน
    • พลาสเตอร์ยา
    • ผ้าพันแผล + น้ำยาฆ่าเชื้อ
    • หน้ากากอนามัย (อย่างน้อย 5 ชิ้นต่อคน)
    • แว่นตาสำรอง หากสายตาสั้น/ยาวมาก ควรมีแว่นสำรองไว้ด้วย
    • ถุงมือกันบาด

 

ของใช้ติด กระเป๋าฉุกเฉิน หมวดเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน

  • เสื้อผ้าสำรอง ชุดชั้นใน และผ้าห่ม เตรียมเสื้อผ้าไว้เปลี่ยนสัก 1 ชุด
    • ผ้าห่มบางๆ
    • ผ้าห่มฉุกเฉินแบบฟอยล์ 
    • เสื้อกันฝน
    • ผ้าเช็ดตัวแบบแห้งเร็ว
  • หน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ เตรียมไว้ป้องกันฝุ่นควันหรือเชื้อโรค โดยเฉพาะเวลาที่เราต้องอยู่รวมกันหลาย ๆ คน เช่น ในศูนย์พักพิง
  • ถุงพลาสติกอเนกประสงค์: เตรียมถุงพลาสติกไว้หลาย ๆ ใบ ใช้ใส่ขยะ, กันน้ำ หรือทำเป็นที่นั่งชั่วคราวก็ได้
  • ห้องน้ำพกพา
  • ของใช้ส่วนตัว
    • แปรงสีฟัน + ยาสีฟันขนาดพกพา
    • ผ้าอนามัยหรือของใช้ส่วนตัวสำหรับผู้หญิง
    • แผ่นอนามัย
    • ถุงพลาสติกขุ่น สำหรับใส่ของที่เราไม่อยากให้คนอื่นเห็น เช่น ชุดชั้นใน หรือของใช้แล้ว
    • ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และแผ่นเช็ดทำความสะอาด
    • กระดาษทิชชู่ + ทิชชู่เปียก
  • สำหรับครอบครัวที่มีเด็กทารก
    • เตรียมของใช้สำหรับเด็กทารกให้ครบเหมือนเวลาพาลูกไปข้างนอก
    • ถ้วยกระดาษ ใช้แทนขวดนมได้
    • ของเล่นหรือตุ๊กตาสัตว์ที่ลูกชอบ ช่วยให้ลูกผ่อนคลาย

 

กระเป๋าฉุกเฉิน

ของใช้ติดตัวยามฉุกเฉิน หมวดอุปกรณ์ช่วยชีวิตเบื้องต้น

  • เครื่องมืออเนกประสงค์ 
    • นกหวีด ใช้เป่าส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ
    • กระจก ใช้สะท้อนแสงส่งสัญญาณ
    • มีดพับสวิส มีดที่มีเครื่องมือหลายอย่างในอันเดียว
    • กรรไกรขนาดเล็ก
    • เชือกเส้นเล็ก ใช้ผูกหรือมัดของ
  • วิทยุพกพา+ถ่าน เตรียมวิทยุที่ใช้ถ่าน เพื่อไว้ใช้ฟังข่าวสารต่างๆ
  • ไฟฉายแบบคาดศีรษะ เตรียมไฟฉายที่คาดบนหัวได้ จะได้ใช้มือทำอย่างอื่นได้สะดวก
  • ไฟแช็ก + ไม้ขีดไฟ
  • เทียนไข
  • สำเนาเอกสารสำคัญ เตรียมสำเนา ของเอกสารสำคัญ ใส่ในถุงกันน้ำ (จะได้ไม่เปียก) เพื่อไว้ใช้ยืนยันตัวตน เช่น
    • บัตรประชาชน
    • พาสปอร์ต
    • ทะเบียนบ้าน
    • สมุดจดเบอร์โทรศัพท์สำคัญ สำหรับไว้โทรขอความช่วยเหลือ
  • เงินสดและเหรียญ เตรียมเงินสดและเหรียญไว้จำนวนหนึ่ง เผื่อเวลาที่เครื่องใช้ไฟฟ้าใช้ไม่ได้ หรือซื้อของจำเป็น

 

ของใช้ในกระเป๋าของแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับว่าเราต้องใช้อะไรบ้าง แต่ก็ต้องระวังอย่าใส่ของเยอะเกินไป เพราะจะทำให้แบกไม่ไหว เดินไม่สะดวก โดยทั่วไปแล้ว กระเป๋าที่ใส่ของแล้ว ไม่ควรหนักเกิน 15 กิโลกรัมสำหรับผู้ชาย และ 10 กิโลกรัมสำหรับผู้หญิง ส่วนขนาดของกระเป๋าก็ควรจะอยู่ที่ประมาณ 20 ถึง 30 ลิตรค่ะ

ที่สำคัญคือ ต้องเก็บกระเป๋าฉุกเฉินไว้ในที่ที่เราหยิบได้ง่าย ๆ ตลอดเวลา เช่น ในห้องนอน หรือใกล้ ๆ กับประตูบ้านนะคะ ไม่ควรเก็บไว้ในตู้ที่อาจจะเปิดไม่ได้เวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน

นอกจากนี้ควรมีการวางแผนอพยพกับครอบครัว กำหนดเส้นทางอพยพและจุดนัดพบ รวมทั้งฝึกซ้อมแผนอพยพ เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าต้องทำอะไรในยามฉุกเฉินด้วยค่ะ

 

ที่มา: ครบเครื่องเรื่องญี่ปุ่น , ThaiPBS

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แผ่นดินไหวหนักมาก สิ่งแรกต้องที่สอนลูกคือ

5 ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่ต้องรู้จัก และการเอาตัวรอดฉบับหนูน้อย

เด็กจมน้ำ วิธีป้องกันเด็กไม่ให้จมน้ำ และขั้นตอนการช่วยเหลือ

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!