7 ข้อผิดพลาดในการใช้คาร์ซีท ที่พ่อแม่มักทำโดยไม่รู้ตัว
บทความนี้รวบรวม ข้อผิดพลาดในการใช้คาร์ซีท พร้อมทั้งแนะนำวิธีการใช้งานที่ถูกต้อง เพื่อให้ลูกน้อยได้รับความปลอดภัยสูงสุดทุกครั้งที่เดินทางค่ะ
แม้คาร์ซีทจะเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ การใช้คาร์ซีทที่ไม่ถูกต้องเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งที่ไม่แน่นหนา การรัดเข็มขัดที่หลวม หรือการเลือกใช้คาร์ซีทที่ไม่เหมาะสมกับวัยและขนาดของเด็ก บทความนี้เราได้รวบรวม ข้อผิดพลาดในการใช้คาร์ซีท ที่พ่อแม่มักทำโดยไม่รู้ตัว พร้อมทั้งแนะนำวิธีการใช้งานที่ถูกต้อง เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่มั่นใจได้ว่า ลูกน้อยจะได้รับความปลอดภัยสูงสุดทุกครั้งที่เดินทางค่ะ
7 ข้อผิดพลาดในการใช้คาร์ซีท ที่พ่อแม่มักทำโดยไม่รู้ตัว
1. ติดตั้งคาร์ซีทแบบหันหน้าไปด้านหน้าเร็วเกินไป
หลายคนเข้าใจผิดว่าเมื่อลูกอายุครบ 2 ขวบแล้ว ก็ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนทิศทางการนั่งของคาร์ซีทให้หันหน้าออกจากเบาะทันที แต่ความจริงแล้ว การให้เด็กนั่งหันหน้าไปด้านหลังให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะช่วยปกป้องลูกน้อยจากการบาดเจ็บรุนแรงได้มากขึ้น
ทำไมต้องรอให้นานที่สุด?
- คอและกระดูกสันหลังของเด็กยังไม่แข็งแรง การนั่งหันหน้าไปด้านหลังจะช่วยรองรับศีรษะ คอ และลำตัวของเด็กได้ดีกว่า ช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่ศีรษะและกระดูกสันหลังในกรณีเกิดอุบัติเหตุ
- การป้องกันที่ดีที่สุด การศึกษาหลายชิ้นพบว่าเด็กที่นั่งหันหน้าไปด้านหลังมีโอกาสเสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัสจากการชนน้อยกว่าเด็กที่นั่งหันหน้าไปด้านหน้าอย่างมาก
ควรเปลี่ยนทิศทางเมื่อไหร่?
- เมื่อถึงขีดจำกัดน้ำหนักหรือส่วนสูง ให้ตรวจสอบคู่มือการใช้งานคาร์ซีทเพื่อดูว่าน้ำหนักและส่วนสูงสูงสุดที่ลูกน้อยสามารถนั่งหันหน้าไปด้านหลังได้คือเท่าไร
- เมื่อคาร์ซีทไม่สามารถรองรับได้อีกต่อไป หากลูกน้อยโตเกินกว่าที่คาร์ซีทจะปรับได้ ก็ถึงเวลาเปลี่ยนไปใช้เบาะนั่งแบบอื่น
2. วางคาร์ซีทผิดตำแหน่ง
ไม่ควรวางคาร์ซีทที่เบาะหน้าข้างคนขับ เพราะเสี่ยงต่ออันตรายเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วลมนิรภัยพองตัวขึ้น โดยตำแหน่งที่ปลอดภัยในการติดตั้งคาร์ซีท คือที่เบาะหลัง เนื่องจากห่างจากระยะการทำงานของถุงลมนิรภัย
ทำไมการวางคาร์ซีทที่เบาะหน้าจึงอันตราย?
- อันตรายจากถุงลมนิรภัย ถุงลมนิรภัยออกแบบมาสำหรับผู้ใหญ่ และแรงกระแทกของถุงลมนิรภัยอาจรุนแรงเกินไปสำหรับเด็กเล็ก การที่ถุงลมนิรภัยกระแทกกับคาร์ซีทหรือตัวเด็กโดยตรง อาจทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บสาหัส เช่น กระดูกหัก บาดเจ็บที่ศีรษะ หรือเสียชีวิตได้
- ตำแหน่งการนั่ง เด็กเล็กที่นั่งหันหน้าไปข้างหน้าอาจได้รับแรงกระแทกจากเข็มขัดนิรภัยอย่างรุนแรงในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่คอ หน้าอก หรือช่องท้องได้
สำหรับรถที่มีเบาะนั่งแถวเดียว เช่น รถกระบะบางรุ่น มักไม่มีระบบป้องกันสำหรับเด็กโดยเฉพาะ การติดตั้งคาร์ซีทในรถประเภทนี้จึงมีความเสี่ยงสูงมาก การปิดระบบถุงลมนิรภัยอาจช่วยลดความเสี่ยงได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของเด็ก เช่น แรงกระแทกจากการชน หรือการที่เด็กหลุดออกจากคาร์ซีท เป็นต้น
3. ติดคลิปล็อคหน้าอกต่ำเกินไป
การปรับคลิปล็อคหน้าอกสำหรับคาร์ซีทนั้นให้ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้คาร์ซีททำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปกป้องลูกน้อยของคุณได้อย่างดีที่สุด คลิปล็อคหน้าอกเป็นตัวช่วยให้สายรัดคาร์ซีทแนบสนิทกับตัวเด็ก ทำหน้าที่คอยยึดร่างกายของเด็กให้อยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัยที่สุดเวลาเกิดอุบัติเหตุ
หลายคนเข้าใจผิดว่าคลิปล็อคหน้าอกคือสิ่งที่คอยยึดเด็กไว้กับที่ หรือกลัวว่า เวลาเกิดอุบัติเหตุคลิปหน้าอกจะแตกแล้วมาทิ่มแทงลูกน้อย ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เลย คลิปล็อคหน้าอกมีหน้าที่หลักในการจัดตำแหน่งของสายรัดเท่านั้น
ตำแหน่งที่ถูกต้องของคลิปล็อคหน้าอกคือตรงไหน?
คลิปล็อคหน้าอกควรอยู่ที่ระดับรักแร้ของเด็กพอดี เพื่อให้สายรัดแนบสนิทกับไหล่และลำตัว
ทำไมคลิปล็อคหน้าอกต้องอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง?
- ป้องกันสายรัดเลื่อน ถ้าคลิปหน้าอกต่ำเกินไป สายรัดอาจเลื่อนขึ้นมาบีบคอเด็ก หรือเลื่อนลงมาต่ำเกินไป ทำให้ร่างกายของเด็กเคลื่อนไหวได้มากเกินไปเวลาเกิดอุบัติเหตุ
- ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ การที่สายรัดอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องจะช่วยกระจายแรงกระแทกได้ดี ช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บร้ายแรง
- อย่ากังวลเรื่องคลิปหน้าอกจะทำร้ายลูก ตราบใดที่คุณติดตั้งคาร์ซีทและปรับคลิปหน้าอกให้ถูกต้องตามคู่มือ
4. ไม่ติดสายรัดคาร์ซีทด้านบน
หลายคนมักจะลืมติดตั้งสายรัดด้านบนของคาร์ซีท เมื่อเปลี่ยนจากการนั่งหันหน้าไปด้านหลังเป็นการนั่งหันหน้าไปข้างหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะสายรัดตัวนี้มีหน้าที่สำคัญในการป้องกันไม่ให้เบาะนั่งพลิกไปข้างหน้าเวลาเกิดอุบัติเหตุ
ทำไมสายรัดด้านบนถึงสำคัญ?
- ป้องกันศีรษะ ถ้าไม่มีสายรัดด้านบน เบาะนั่งอาจพลิกไปข้างหน้า ทำให้ศีรษะของลูกน้อยกระแทกกับเบาะนั่งด้านหน้า ประตูรถ หรือส่วนอื่นๆ ของรถได้
- เพิ่มความปลอดภัย สายรัดด้านบนจะช่วยยึดเบาะนั่งให้แน่นหนากับที่ ทำให้คาร์ซีททำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
วิธีสังเกตว่าติดตั้งถูกต้องหรือไม่?
อย่าลืมตรวจสอบให้แน่ใจว่าสายรัดด้านบนถูกติดตั้งอย่างถูกต้อง ลองดึงเบาะนั่งดู ถ้าเบาะนั่งไม่สามารถเอนไปข้างหน้าได้เลย แสดงว่าคุณติดตั้งสายรัดด้านบนถูกต้องแล้ว
5. ศีรษะลูกสูงเกินเบาะ
การเลือกคาร์ซีทไม่ใช่แค่เรื่องของน้ำหนักและส่วนสูง ความสูงของลำตัว ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะสำหรับเด็กที่มีลำตัวยาว เมื่อเด็กนั่งหันหน้าไปด้านหลัง ศีรษะของเด็กควรอยู่ต่ำกว่าขอบด้านบนของคาร์ซีทประมาณ 1 นิ้ว เพื่อให้คาร์ซีทสามารถรองรับและปกป้องศีรษะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถ้าเด็กสูงเกินไป ศีรษะอาจโผล่ออกนอกบริเวณที่คาร์ซีทปกป้องได้ ทำให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงในกรณีเกิดอุบัติเหตุ
ดังนั้นในการใช้คาร์ซีทควรคำนึงถึง “กฎหนึ่งนิ้ว” ที่จะช่วยให้ลูกน้อยใช้คาร์ซีทที่ปลอดภัยมากที่สุด
ทำไม “กฎหนึ่งนิ้ว” จึงสำคัญ?
- ปกป้องศีรษะ ศีรษะเป็นส่วนที่บอบบางที่สุดของร่างกายเด็ก การที่ศีรษะโผล่ออกนอกบริเวณที่คาร์ซีทปกป้อง จะทำให้ศีรษะไม่ได้รับการรองรับอย่างเต็มที่ หากเกิดอุบัติเหตุ ศีรษะอาจกระแทกกับส่วนอื่นของรถ หรือวัตถุแข็งอื่นๆ ได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรง เช่น กระโหลกศีรษะแตก หรือสมองบาดเจ็บ
- สายรัด เมื่อศีรษะสูงเกินไป สายรัดคาร์ซีทอาจไม่สามารถรัดตัวได้อย่างแน่นหนาพอ ทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันลดลง
- มุมที่เหมาะสม การที่ศีรษะอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง จะช่วยให้คาร์ซีทสามารถรองรับศีรษะและลำตัวของเด็กได้ในมุมที่เหมาะสมที่สุด
สิ่งที่ควรทำเมื่อศีรษะลูกสูงเกินเบาะ
เปลี่ยนคาร์ซีท หากเด็กสูงเกินไปจนไม่สามารถปฏิบัติตาม “กฎหนึ่งนิ้ว” ได้ แสดงว่าคาร์ซีทตัวนั้นอาจเล็กเกินไปสำหรับเด็กแล้ว ควรพิจารณาเปลี่ยนไปใช้คาร์ซีทที่ใหญ่ขึ้น หรือเปลี่ยนไปใช้เบาะบูสเตอร์ที่มีพนักพิง
6. คาร์ซีทไม่ได้ยึดติดกับเบาะรถอย่างแน่นหนา
การติดตั้งคาร์ซีทให้แน่นหนาเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อป้องกันไม่ให้คาร์ซีทเลื่อนไปมาขณะเกิดอุบัติเหตุ ถ้าคาร์ซีทขยับไปมา แสดงว่าคาร์ซีทไม่ได้ยึดติดกับเบาะรถอย่างแน่นหนา ซึ่งจะทำให้คาร์ซีทไม่สามารถทำหน้าที่ปกป้องลูกน้อยได้อย่างเต็มที่ อาจทำให้เด็กกระแทกกับส่วนต่างๆ ของรถ หรือทำให้สายรัดหลุด เพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้
วิธีตรวจสอบว่าติดตั้งแน่นหนาแล้วหรือยัง?
- ตรวจสอบจุดยึด ตรวจสอบให้แน่ใจว่าจุดยึดต่างๆ ของคาร์ซีท เช่น สายรัด, แถบคาด, และจุดยึดกับเบาะรถ ได้รับการติดตั้งอย่างถูกต้องและแน่นหนาตามคู่มือการใช้งาน
- ดึงสายรัด ลองดึงสายรัดคาร์ซีทดูว่าแน่นพอดีหรือไม่ หากสายรัดหลวมเกินไป ควรปรับให้แน่นขึ้น
- ขยับคาร์ซีท ลองดึงเบาะนั่งไปด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้าง และด้านบน เบาะนั่งไม่ควรเคลื่อนที่เกิน 1 นิ้ว และลองเขย่าเบาะนั่งเบาๆ เบาะนั่งควรอยู่กับที่
7. ใช้เบาะเสริม (Booster Seats) ไม่ถูกวิธี
เด็กโตต้องใช้เบาะเสริมเพื่อให้รัดเข็มขัดนิรภัยของผู้ใหญ่ได้พอดี ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถเปลี่ยนจากคาร์ซีทเป็นเบาะเสริมได้เมื่อลูกมีน้ำหนักหรือส่วนสูงเกินเกณฑ์ที่จะนั่งคาร์ซีทตัวเดิมต่อตามที่ผู้ผลิตระบุไว้
เมื่อใช้เบาะเสริม ควรให้ลูกคาดเข็มขัดนิรภัยทั้งแบบคาดตักและไหล่ ไม่ควรคาดเข็มขัดนิรภัยแบบคาดตักเพียงอย่างเดียว
บางคนข้ามขั้นไม่ใช่เบาะเสริม แต่เปลี่ยนมาคาดเข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้ใหญ่เร็วเกินไป ทำให้ความสูงถึง เข็มขัดนิรภัยจึงพาดอยู่บริเวณท้องและบริเวณคอ ซึ่งไม่ถูกต้องและไม่ปลอดภัย จึงเป็นเหตุผลที่เด็กๆ จำเป็นต้องใช้เบาะเสริม
นอกจากนี้ เพื่อความปลอดภัยควรให้ลูกนั่งเบาะเสริมจนถึงอายุ 12 ปี หรือสูงไม่น้อยกว่า 145 เซนติเมตร ซึ่งสูงพอที่จะเปลี่ยนมาใช้เข็มขัดนิรภัยได้โดยไม่ต้องใช้เบาะเสริม
คุณพ่อคุณแม่เลือกซื้อคาร์ซีทให้ลูกนั่ง ย่อมแสดงถึงการให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของลูกน้อยอยู่แล้ว แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความใส่ใจและความรู้ เพื่อป้องกัน ข้อผิดพลาดในการใช้คาร์ซีท แต่ก็คุ้มค่าอย่างแน่นอน การเลือกคาร์ซีทที่เหมาะสม การติดตั้งที่ถูกต้อง และการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าลูกน้อยจะได้รับการปกป้องอย่างดีที่สุดตลอดการเดินทางค่ะ
ที่มา: safeintheseat, mayoclinic
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
วิธีเลือกซื้อ คาร์ซีทสำหรับเด็ก คู่มือฉบับสมบูรณ์สำหรับพ่อแม่ชาวไทย
เก้าอี้กินข้าวเด็กระดับพรีเมียม ดีต่อพัฒนาการของลูกน้อยยังไง? คุ้มค่ากว่าจริงไหม?
เลือกซื้อรถเข็นเด็ก สำหรับลูกแต่ละวัย ยังไง? ให้ปลอดภัย ใช้งานได้ดี