สังเกตอย่างไรว่าลูกเป็นภูมิแพ้ อาการของภูมิแพ้มีอะไรบ้าง?
โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเด็กที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งหากปล่อยไว้ก็อาจเสี่ยงต่อการกำเริบ และอันตรายจากโรคภูมิแพ้ได้ คุณพ่อคุณแม่อาจเคยสงสัยว่าลูกเป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่ วันนี้ theAsianparent มีวิธี สังเกตอย่างไรว่าลูกเป็นภูมิแพ้ และวิธีในการทดสอบอย่างไรว่าลูกเป็นภูมิแพ้จากคุณหมอมาฝากกันค่ะ
สังเกตอย่างไรว่าลูกเป็นภูมิแพ้
หากลูกมีอาการเหล่านี้ อาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ได้ค่ะ
- เป็นหวัดบ่อย ๆ หรือเป็นหวัดไม่ยอมหายสักที
- จามบ่อย น้ำมูกไหล คัดจมูก คันคอ หรือมีเสมหะลงคอ โดยเฉพาะเวลาอากาศเปลี่ยน
- ไซนัสอักเสบ ปวดศีรษะบ่อย ๆ
- มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจบ่อย
- คันตา น้ำตาไหล ขยี้ตาบ่อย ๆ
- มีผื่นคันที่ผิวหนังแบบเรื้อรัง โดยเฉพาะบริเวณข้อศอก ข้อพับเข่า ผิวแห้งมากผิดปกติ
- เป็นลมพิษบ่อย ๆ
- หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หายใจเสียงดังวี้ด ไอ โดยเฉพาะตอนกลางคืน หรือหลังออกกำลังกาย
- หายใจไม่ออกร่วมกับไอมากบ่อย ๆ โดยเฉพาะในเวลากลางคืนหลังเที่ยงคืน
- ทานอาหารบางชนิดแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น ผื่นขึ้น ปากบวม ตาบวม แน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย หน้ามืด เวียนศีรษะ
ซึ่งอาการเหล่านี้อาจมีสาเหตุจากโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อย ๆ อันได้แก่ จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ ผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ ลมพิษ โรคหืด แพ้อาหารค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : แนะนำ 11 เครื่องฟอกอากาศสำหรับเด็ก ที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย ซื้อติดบ้านได้เลย
มีวิธีการทดสอบอย่างไรบ้างว่าลูกเป็นโรคภูมิแพ้ไหม
วิธีการทดสอบภูมิแพ้ที่ใช้กันโดยทั่วไป มีดังนี้ค่ะ
1. การทดสอบหาสารก่อภูมิแพ้ โดยการสะกิดผิวหนัง (Skin prick test)
คือการนำน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ มาทำการทดสอบที่ผิวหนังของผู้ป่วย เพื่อให้ทราบว่าแพ้สารใด ซึ่งเป็นการทดสอบที่มีความไว และความจำเพาะสูง ทำง่าย และราคาไม่แพง สามารถทราบผลได้ทันที ผู้ป่วยสามารถเห็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นด้วยตาของตนเอง มีขั้นตอน คือ การหยดน้ำยาที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ลงบนผิวหนังของผู้ป่วย ใช้เครื่องมือทดสอบ สะกิดที่ผิวหนังของผู้ป่วย (ท้องแขน สำหรับผู้ใหญ่และเด็กโต หรือที่หลัง สำหรับเด็กเล็กที่ไม่ค่อยร่วมมือ) อ่านผลหลังทำ 15-20 นาที หากผู้ป่วยแพ้สารก่อภูมิแพ้ใดก็จะเกิดปฏิกิริยาเป็นตุ่มนูนแดง คัน ในตำแหน่งที่ตรงกับสารก่อภูมิแพ้นั้น
2. การทดสอบหาสารก่อภูมิแพ้ โดยการตรวจเลือด (Serum specific IgE)
เป็นการทดสอบเพื่อตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ ด้วยการเจาะเลือดเพื่อหาปริมาณอิมมูโนโกลบูลินอี (IgE) ที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด (Serum specific IgE) ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะกับการทำในผู้ป่วยที่ เป็นโรคผิวหนังหรือมีปฏิกิริยาทางผิวหนังง่ายผิดปกติ ไม่ได้งดยาแก้แพ้มาก่อนตรวจ เด็กเล็ก และผู้มีโอกาสเกิดปฏิกิริยารุนแรงจากสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งไม่สามารถทำการทดสอบด้วย skin prick test ได้ มีขั้นตอนเพียงการเจาะเลือดส่งตรวจ โดยเจาะเพียงครั้งเดียวก็สามารถตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ได้หลายชนิด แต่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการทดสอบ skin prick test และต้องรอผลการทดสอบ ประมาณไม่เกิน 1 สัปดาห์
3. การทดสอบการแพ้อาหาร
หากสงสัยว่าลูกแพ้อาหาร นอกจากประวัติ การตรวจร่างกายเพื่อหาอาการแสดงของระบบต่าง ๆ แล้ว สามารถทำได้โดยทำการทดสอบภูมิแพ้ เช่น การทดสอบทางผิวหนัง (skin test) หรือการตรวจเลือดหาปริมาณอิมมูโนโกลบูลินอี (IgE) ที่จำเพาะต่ออาหารที่สงสัย เพื่อช่วยในการวินิจฉัย แต่หากทำทดสอบภูมิแพ้เหล่านี้แล้วได้ผลเป็นลบ คุณหมออาจพิจารณาทำทดสอบปฏิกิริยาการแพ้อาหาร โดยการทานอาหารนั้นทีละน้อย (oral food challenge test) และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณอีกเท่าตัวทุก 15-30 นาที จนกระทั่งถึงปริมาณอาหารมาตรฐานสากลที่ไม่แพ้ ระหว่างการทดสอบ จะมีการบันทึกสัญญาณชีพเป็นระยะ ๆ รวมถึงสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการทดสอบ ซึ่งการทดสอบ oral food challenge test นี้จะพิจารณาทำในผู้ป่วยบางรายเท่านั้นเพื่อความปลอดภัย สำหรับผู้ป่วยเด็กอาจใช้ในกรณีที่ทำทดสอบ skin test หรือตรวจเลือดแล้วได้ผลบวกแต่สงสัยว่าผู้ป่วยไม่ได้แพ้จริง หรือติดตามว่าหายจากการแพ้อาหารนั้นแน่นอนแล้วหรือยัง
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังคืออะไร โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีอาการเป็นอย่างไรบ้าง
หากสงสัยว่าลูกเป็นโรคภูมิแพ้ ควรทำอย่างไร
หากสงสัยว่าลูกเป็นโรคภูมิแพ้ ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัดตามที่หมอได้เล่ามาทั้งหมด เพื่อจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่บางท่านมีความเข้าใจผิดว่าโรคภูมิแพ้เป็นโรคที่รักษาไม่หาย และซื้อยาแก้แพ้ให้ลูกรับประทานเองอย่างต่อเนื่องก็ไม่ดีขึ้น และในบางครั้งยังเกิดผลข้างเคียง เช่น อ่อนเพลีย ง่วงซึม ในความเป็นจริงแล้ว หากได้ทราบสาเหตุและแก้ไขอย่างเหมาะสม โรคภูมิแพ้ก็เป็นโรคที่สามารถรักษาหายได้หรือบางครั้งหากรักษาไม่หายสนิทก็สามารถควบคุมอาการให้มีชีวิตปกติได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องนะคะ
อีกหนึ่งวิธีที่จะแนะนำคุณพ่อและคุณแม่ในการป้องกันการเกิดภูมิแพ้ของลูกน้อยได้คือการให้ลูกกินนมแม่จนถึงอายุ 6 เดือนเป็นอย่างน้อย เพราะโปรตีนในนมแม่คือโปรตีนที่มีคุณภาพ เพราะมีปริมาณที่เหมาะสม ส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่แต่ไม่ส่งผลให้ไตทำงานหนักเกินไป อีกทั้งนมแม่ยังมีโปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วน และมีเวย์โปรตีนสูง ซึ่งเป็นโปรตีนคุณภาพ เพราะย่อยง่าย ดูดซึมไปใช้ได้ง่าย และอ่อนโยนต่อระบบย่อยอาหารของลูกน้อยอีกด้วย
แต่ในบางกรณีที่ไม่สามารถให้นมแม่ได้อย่างเต็มที่ คุณแม่จึงควรคัดเลือกนมที่มีโปรตีนคุณภาพ คือมีเวย์โปรตีนที่สูง และเป็นโปรตีนที่ผ่านกระบวนการย่อยบางส่วนหรือผ่านกระบวนการไฮโดรไลซ์ที่ทำให้โปรตีนมีขนาดเล็กลง เพราะลูกน้อยจะได้รับโปรตีนที่อ่อนโยนกับระบบย่อยอาหาร และดูดซึมได้ง่าย และที่สำคัญคือจากการวิจัยยังค้นพบว่า โปรตีนนมวัวที่ผ่านการย่อยบางส่วน หรือผ่านกระบวนการไฮโดรไลซ์มีประสิทธิภาพช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดการแพ้ของลูกน้อยได้
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกมีอาการเสี่ยงที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ ควรรีบพาเขาไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัย และเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ทั้งนี้หากคุณพ่อคุณแม่รู้ว่าลูกแพ้สิ่งไหน ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ลูกเกิดอาการภูมิแพ้นะคะ เพราะนอกจากจะป้องกันโรคกำเริบแล้ว ยังช่วยป้องกันอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เริ่มแพ้ท้องตอนไหน จะรู้ได้เมื่อไร อาการแพ้ท้องเป็นอย่างไร?
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง เรื่องใกล้ตัวของครอบครัว เด็กขี้แพ้
ลูกแพ้นมวัว แพ้ไข่ เป็นอย่างไร อาการลูกแพ้อาหาร ทารกแพ้อาหารผ่านน้ำนมแม่ ที่ต้องระวัง!
ที่มา : bumrungrad