5 โรคหน้าร้อนที่เด็กต้องระวัง
เพราะอากาศที่ร้อนจัดจนผู้ใหญ่ยังแทบทนไม่ไหว ยิ่งคุณแม่ที่มีลูกเล็กภูมิต้านทานยังน้อย ยิ่งมีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่าย มาดูกันว่าโรคหน้าร้อนที่เด็กต้องระวังมีอะไรกันบ้าง และคุณแม่จะดูแลลูกน้อยอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคหน้าร้อนเหล่านี้อย่างไร
1. เลือดกำเดาไหล
คุณแม่อาจตกใจที่จู่ๆ ก็มีเลือดกำเดาไหลออกมาจากจมูกของลูกเมื่ออากาศร้อนจัด ในกรณีที่ลูกเป็นภูมิแพ้นั้น เลือดกำเดาไหลมีโอกาสเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ซึ่งคุณแม่ควรเตรียมการรับมือเอาไว้
อากาศเปลี่ยนแปลงเป็นสาเหตุของเลือดกำเดาไหล
อาจารย์นายแพทย์อนัญญ์ เพฑวณิช ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้เลือดกำเดาไหลเมื่ออากาศร้อนไว้ว่า ผู้ที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้จะมีปัญหาเรื่องการปรับตัวของเยื่อบุจมูก คือจมูกจะไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ไม่ว่าจะเป็นอากาศร้อนหรือเย็น โดยจะมีอาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล คันจมูก ชอบขยี้จมูกจนเกิดรอยบริเวณสันจมูก มีเสมหะในคอ และอาจพบอาการคันตา แสบตา น้ำมูกไหล คันหู หูอื้อ รวมถึงเลือดกำเดาไหลบ่อยด้วย
วิธีดูแลเมื่อลูกเลือดกำเดาไหล
ผศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แนะวิธีปฐมพยาบาลเมื่อลูกน้อยเลือดกำเดาไหล ดังนี้
- ให้ลูกก้มหน้าลง ใช้ใช้นิ้วชี้และหัวแม่มือบีบปีกจมูกทั้งสองข้างให้แน่นเป็นเวลา 5–10 นาที ระหว่างนี้ให้หายใจทางปากแทน
- หลังเลือดกำเดาไหล 24-48 ชั่วโมงแรก ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรงๆ การแคะจมูก การออกแรงมากๆ หรือการกระทบกระเทือนบริเวณจมูก เพราะอาจทำให้มีเลือดออกได้
- เมื่อเลือดหยุดแล้วควรนอนพัก ยกศีรษะสูง นำน้ำแข็งหรือ coldpack มาประคบบริเวณหน้าผากหรือคอ ประมาณ 10 นาที แล้วจึงเอาออกประมาณ 10 นาที แล้วค่อยประคบใหม่เป็นเวลา10 นาที ทำเช่นนี้สลับกันไปเรื่อย ๆ
- ถ้าเลือดออกไม่หยุดหรือออกมากผิดปกติ ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ทันที
2. ไข้หวัดแดด
นพ.ศักดา อาจองค์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ไข้หวัดแดดเกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ถูกกระตุ้นจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น เมื่ออยู่ในบ้านอากาศเย็นแล้วออกนอกบ้านเจอกับอากาศร้อนในทันที หรืออยู่นอกบ้านอากาศร้อนแล้วเข้าห้างเจอแอร์เย็นๆ ทันที นอกจากนี้การดื่มน้ำเย็นจัดในขณะที่อากาศร้อนจัด ก็มีผลให้อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อร่างกายปรับตัวไม่ทันก็ทำให้มีอาการเหมือนเป็นไข้ขึ้นมาได้
ไข้หวัดแดดมีอาการอย่างไร
อาการของไข้หวัดแดดไม่ต่างจากหวัดในฤดูกาลอื่น คือจะมีไข้ ปวดเมื่อยตัว ปวดหัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหารมีอาการไอ จาม เสมหะ น้ำมูก และอาจตามมาด้วยอาการเจ็บคอ ฯลฯ ส่วนความรุนแรงจะต่างกันไปอยู่ที่การรับเชื้อและสุขภาพร่างกายของเด็กแต่ละคน
วิธีการดูแลเมื่อลูกเป็นไข้หวัดแดด
หากลูกเป็นไข้ให้ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ ทานอาหารร้อน ๆ เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น ทานยาลดไข้ และนอนพักผ่อน หากไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์
วิธีป้องกันไข้หวัดแดด
- หลีกเลี่ยงแดดร้อนจัด
- หลีกเลี่ยงสถานที่มีผู้คนแออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ตลาด เพื่อป้องกันการรับเชื้อไวรัส
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หมั่นล้างมือให้สะอาด และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
3. ลมแดด
เภสัชกรอุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล อธิบายเกี่ยวกับโรคลมแดดไว้ว่า โรคลมแดดเกิดจากอุณหภูมิรอบๆ ตัวสูงจัด ทำให้อุณภูมิในร่างกายสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังระบบการเต้นของหัวใจ และระบบหลอดเลือด ทำให้มีอาการตั้งแต่เป็นผื่นแดงๆ ตามร่างกาย ไปจนถึงเป็น ลมหมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่เกิดได้ง่ายในเด็ก เพราะร่างกายของเด็กมีการเผาผลาญพลังงานที่สูงกว่าวัยอื่นๆ แต่ระบบระบายความร้อนในร่างกายเด็กยังมีขนาดเล็ก
สังเกตอาการเมื่อลูกเป็นลมแดด
ลูกจะมีอาการตัวจะเริ่มร้อน ชีพจรเต้นเร็วแรง หิวน้ำบ่อยๆ และหายใจกระชั้นถี่ เหมือนคนพึ่งออกกำลังกายเสร็จ
บทความแนะนำ แม่เกือบแย่…เมื่อลูกรักเป็นฮีทสโตรก!!
วิธีดูแลเมื่อลูกเป็นลมแดด
ควรรีบพาลูกเข้าไปในที่ร่มที่อากาศถ่ายเทสะดวก ถอดเสื้อออกเพื่อให้ความร้อนระบาย ให้ลูกนอนหงาย ขายกสูงเพื่อให้ระบบการไหลเวียนของเลือดคล่องตัวมากขึ้น หาผ้าขนหนูก็ชุบน้ำมาเช็ดตัวจะช่วยให้อุณหภูมิเย็นลงเร็วขึ้น
วิธีป้องกันโรคลมแดด
ในวันที่อากาศร้อนจัด พยายามให้ลูกดื่มน้ำเยอะๆ ประมาณ 8-10 แก้ว ใส่เสื้อผ้าบางๆ หากออกนอกบ้านควรใส่หมวก ไม่ควรให้ลูกเล่นกลางแดดจัดๆ หรือจำกัดเวลาการเล่นกลางแจ้ง
4. ท้องเสีย ท้องร่วง
อากาศร้อนอุณหภูมิสูงทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตเร็วอาหารต่างๆ มีโอกาสบูดเสียได้ง่ายกว่าปกติ รวมถึงการทานอาหาร น้ำ และน้ำแข็งที่ไม่สะอาดมีเชื้อโรคปนเปื้อน อาหารไม่ปรุงสุกใหม่ๆ หรืออาหารค้างคืน ก็เป็นสาเหตุทำให้ลูกท้องเสียได้
วิธีป้องกันลูกท้องเสีย
ควรดูแลสุขอนามัยในการรับประทานอาหาร เลือกเฉพาะอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ และควรดูแลเรื่องความสะอาดของของใช้ของลูก อุปกรณ์ที่ใช้ชงนม ความสะอาดของเต้านม และมือของคุณแม่ด้วย
วิธีการดูแลเมื่อลูกท้องเสีย
เมื่อลูกน้อยเริ่มมีอาการถ่ายเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป ใน 1 วัน ในเบื้องต้นให้ดูแลรักษาด้วยการดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อชดเชยน้ำที่เสียไป โดยป้อนในปริมาณ 2-3 ออนซ์ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากลูกยังไม่หยุดถ่าย ควรรีบไปพบแพทย์
5. ไวรัสตับอักเสบเอ
ไวรัสตับอักเสบเอ เป็นอีกโรคหนึ่งที่มักระบาดในหน้าร้อน นพ.สุขประเสริฐ จุฑากอเกียรติ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า เกิดจากการทานอาหารที่ปนเปื้อนไวรัสตับอักเสบเอ เช่นอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะหอยดิบ หอยลวก เมื่อเชื้อโรคชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวราว 2-4 สัปดาห์
สังเกตอาการไวรัสตับอักเสบเอ
อาการป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มจากมีไข้ ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ต่อมาพอไข้ลด จะเริ่มปรากฏอาการตัวเหลือง และตาเหลือง
นพ.สุขประเสริฐ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ใหญ่มักจะมีอาการแสดงที่รุนแรงกว่าเด็ก เนื่องจากภูมิคุ้มกันของเด็กยังไม่แข็งแรง ร่างกายจึงมีปฏิกิริยาไม่รุนแรงในการต่อสู้กับเชื้อโรค ต่างจากผู้ใหญ่ที่ภูมิคุ้มกันแข็งแรงกว่า ปฏิกิริยาจึงรุนแรงกว่า
วิธีป้องกับไวรัสตับอับเสบเอ
หากเคยป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบเอแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันโรคไว้จึงไม่ป่วยซ้ำอีก อย่างไรก็ดีโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไว้ก่อน โดยวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ มีด้วยกัน 2 เข็ม ต้องฉีดห่างกัน 6 เดือน ส่วนวิธีป้องกันโดยทั่วไป ก็คือการ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ นั่นเองค่ะ
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.si.mahidol.ac.th, www.dailynews.co.th, www.oknation.net
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ