โรคซึมเศร้าหลังคลอด คืออะไร อาการซึมเศร้าหลังคลอดที่แม่ต้องรู้!
การได้ให้กำเนิดทารกตัวน้อยๆ ควรจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เพราะการมีลูกเติมเต็มคำว่าครอบครัวให้สมบูรณ์ แต่สำหรับผู้หญิงที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคซึมเศร้าหลังคลอด ความสุขของแม่มือใหม่กลับถูกบดบังด้วยอุปสรรคจากสภาวะทางจิตใจที่ไม่อาจควบคุมได้
โรคซึมเศร้าหลังคลอด คืออะไร
โรคซึมเศร้าหลังคลอด คืออะไร อาการซึมเศร้าหลังคลอด ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
อาการแม่หลังคลอด
โรคซึมเศร้าหลังคลอด เป็นอาการซึมเศร้าในระดับปานกลางถึงรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังคลอด แม่บางคนมีอาการซึมเศร้าเพียงไม่กี่สัปดาห์ ในขณะที่แม่บางคนอาจนานเป็นปีเลยก็มีค่ะ จากข้อมูลขององค์กร Postpartum Progress ระบุว่า แม่หลังคลอดเกือบร้อยละ 20 เผชิญกับโรคซึมเศร้าหลังคลอด มาทำความรู้จักกับอาการซึมเศร้าหลังคลอด เพื่อเตรียมตัวรับมือกันค่ะ
- โรคซึมเศร้าหลังคลอด รวมถึงความวิตกกังวล และความผิดปกติทางอารมณ์อื่นๆ ด้วย
โรคซึมเศร้าหลังคลอด เป็นความผิดปกติทางอารมณ์หลังคลอด แบ่งเป็น 4 ชนิด 1. ซึมเศร้า 2. วิตกกังวลแบบซึมเศร้าและวิตกกังลแบบไม่ซึมเศร้า 3. ตื่นตระหนก และ 4. ย้ำคิดย้ำทำ ขอบเขตของโรคซึมเศร้าหลังคลอดนี้กว้างกว่าที่คิด แม่บางคนมีความวิตกกังวลมากโดยที่ไม่มีอาการซึมเศร้า แต่คุณอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังเผชิญอยู่กับโรคซึมเศร้าหลังคลอดในรูปแบบหนึ่งนั่นเองค่ะ
- โรคซึมเศร้าหลังคลอด ไม่เหมือนกับ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Baby Blues)
Baby Blues เป็นปรากฏการณ์ปกติหลังคลอดบุตร ซึ่งพบได้บ่อยถึง 50-85 เปอร์เซ็นต์ อาการมักเริ่มเกิดในช่วงหลังคลอดไม่กี่วัน โดยมีอาการมากที่สุดประมาณวันที่ 4-5 และมักหายภายในวันที่ 10 ในบางรายอาจมีอาการอยู่นานถึง 2 สัปดาห์ ผู้เชี่ยวชาญถือว่า ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นหลังคลอด บวกกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในการดำเนินชีวิตประจำวันของแม่ รวมไปถึงการอดนอนของแม่มือใหม่ด้วย
คุณแม่อาจพบว่าอยู่ดีๆ ตัวเองก็ร้องไห้โดยไม่ทราบสาเหตุ อารมณ์ขึ้นลง และจะหายไปเอง ในขณะที่โรคซึมเศร้าหลังคลอด และความผิดปกติทางอารมณ์อื่นๆ นั้นเป็นอาการที่ต้องได้รับการรักษา
- ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้หญิงบางคนเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด
แม่ที่มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย หรือแม่เคยมีประวัติความผิดปกติทางอารมณ์มาก่อนมีแนวโน้มที่จะเป็นกับโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้ แต่ตามข้อมูลของสมาคมกุมารแพทย์อเมริกัน ระบุว่า ครึ่งหนึ่งของแม่หลังคลอดที่ได้รับการวินิจฉัยเพิ่งเกิดอาการเช่นนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต
ยังมีปัจจัยอื่นๆ อาทิ แม่ที่เคยสูญเสียลูก หรือ มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ มีปัญหาสุขภาพ ทารกคลอดก่อนกำหนดและต้องอยู่ใน NICU รวมถึง แม่ที่ดื่มแอลกอฮอล์หรือยาเสพติดยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะมีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเป็นอีกปัจจัยสำคัญ เนื่องจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอรโรนและเอสโตรเจนเพิ่มสูงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ และลดต่ำลงอย่างมากในช่วง 2-3 วันหลังคลอด จึงส่งผลต่ออารมณ์ของแม่หลังคลอด
- การอดนอนส่งผลต่อโรคซึมเศร้าหลังคลอด
การนอนของแม่หลังคลอดจะเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากคุณต้องตื่นมาให้นมลูกน้อยทุก 2 ชั่วโมง
ถ้าคุณแม่ได้นอนยาว 5-6 ชั่วโมงและมีช่วงที่งีบหลับได้ คุณจะรู้สึกดีขึ้นใน 1-3 สัปดาห์ นั่นหมายความว่า คุณแม่ควรมีผู้ช่วยที่สามารถป้อนนมจากขวดบ้าง เพื่อที่คุณแม่จะได้พักผ่อนในช่วงกลางคืน และในขณะที่ลูกนอนหลับ คุณแม่ควรฉวยโอกาสนี้นอนไปพร้อมกับลูกด้วยเลย อย่างไรก็ดี แม่บางคนอาจต้องใช้ยา เพื่อช่วยให้สามารถนอนหลับได้ดีขึ้นค่ะ
- อาการของโรคซึมเศร้าหลังคลอดคล้ายกับโรคซึมเศร้า แต่ยังมีอาการอื่นที่ทำให้ต่างออกไป
อาการปกติของโรคซึมเศร้า รวมถึงความโศกเศร้า ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ ไม่มีความสุข และแม้กระทั่งความคิดทำร้ายตัวเอง แต่ซึมเศร้าหลังคลอด จะมีอาการ ความกังวล และความผิดปกติทางอารมณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคลอดบุตร เช่น กังวลกับการที่ต้องอยู่ตามลำพังกับลูกแรกเกิด กังวลว่าจะทำหน้าที่แม่ได้ไม่ดี หงุดหงิด และนอนไม่หลับเมื่อลูกหลับ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นอยากจะทิ้งลูก หรือทำร้ายลูกเลยก็มี
อย่างไรก็ดี แม่ทุกคนไม่จำเป็นต้องมีอาการเช่นนี้ทั้งหมด และแม่แต่ละคนอาจมีอาการที่ต่างกันไป บางคนอาจมีแค่อาการเดียวหลักๆ ประกอบกับอาการอื่นๆ ที่ไม่ชัดเจนก็ได้
- คุณแม่ที่เป็นโรคนี้คิดว่าตัวเองทุกข์ทรมานอยู่คนเดียว
คุณแม่อาจรู้สึกผิด คิดว่าตัวเองเป็นแม่ที่ไม่ดี และเก็บความรู้สึกนั้นไว้คนเดียว จนคนภายนอกดูไม่ออกว่า คุณกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เพราะภายนอกคุณดูปกติดีทุกอย่าง จึงเป็นเรื่องยากที่คุณแม่ที่ตกอยู่ในสภาวะเดียวกันจะได้เห็นว่าจริงๆ แล้วคุณไม่ได้อยู่คนเดียว และยังเป็นอุปสรรคต่อการได้รับความช่วยเหลืออีกด้วย
- โรคจิตหลังคลอด ที่คุณอาจเคยได้ยินจากข่าว มีโอกาสเกิดน้อยมาก
ในกรณีรุนแรงที่สุดของความผิดปกติด้านอารมณ์หลังคลอด ผู้หญิงจำนวนหนึ่งอาจเกิดภาวะโรคจิตหลังคลอด ซึ่งมีโอกาสพบได้น้อย เพียง 1-2 รายใน 1,000 คน แต่อันตรายมาก คุณแม่อาจมีอาการหวาดระแวง นอนไม่หลับ ผุดลุกผุดนั่ง หงุดหงิดขี้รำคาญ อารมณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว มีความคิดความเชื่อแบบผิด ๆ มีอาการหลอนและสับสน หากคุณแม่เกิดอาการเช่นนี้ จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลและรับยา
- การรักษาโรคซึมเศร้าหลังคลอด ทำได้โดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม และความช่วยเหลือจากคนในครอบครัว
คุณแม่ควรเข้ารับการบำบัดโดยนักจิตวิทยาคลินิก เพื่อทำความเข้าใจกับอาการต่างๆ ที่คุณแม่กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของคุณแต่อย่างใด โดยนักจิตวิทยาจะค่อยๆ พื้นฟูสภาพจิตใจของคุณแม่ให้ดีขึ้น หากคุณแม่ชอบออกกำลังกาย คุณหมออาจแนะนำให้เต้นแอโรบิก ซึ่งจะสามารถช่วยปรับอารมณ์คุณแม่ให้สมดุลได้ แต่หากคุณแม่ต้องการรับยาคลายเครียด ในกรณีนี้อาจจำเป็นต้องหยุดให้นมลูกก่อนค่ะ
ท้ายที่สุด การรักษาอย่างได้ผลต้องได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว ที่จะคอยช่วยเหลือคุณแม่ในการดูแลลูกน้อย หรือทำงานบ้าน เพื่อแบ่งเบาภาระ และช่วยให้คุณแม่ได้มีเวลาพักผ่อนร่างกายและจิตใจบ้าง
- วิธีเตรียมรับมือ หากคุณแม่มีอาการซึมเศร้าหลังคลอดลูกคนแรก และมีแผนจะมีลูกคนที่สอง
ในท้องที่สอง คุณแม่ควรเฝ้าระวัง และคอยสังเกตตัวเองอย่างใกล้ชิด แม้จะยังไม่มีอาการใดๆ ก็ตาม หากสังเกตว่าตนเองเริ่มมีอาการ ควรรีบเข้ารับการรักษาทันทีก่อนที่จะอาการต่างๆ จะเริ่มส่งผลต่อชีวิตของคุณ
- การเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดไม่ได้ทำให้คุณเป็นแม่ที่แย่
อาการซึมเศร้าหลังคลอดเป็นเรื่องปกติโดยสิ้นเชิงและก็ไม่ได้เป็นภาพสะท้อนถึงความสามารถในการเป็นแม่ของคุณ ถ้าคุณแสวงหาการรักษาและขอความช่วยเหลือจากคนที่รักคุณ การขอความช่วยเหลือไม่ได้เป็นสัญญาณของความอ่อนแอ แต่มันเป็นสิ่งจะช่วยให้สถานการณ์ของคุณดีขึ้นต่างหากค่ะ
ที่มา www.self.com
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ