100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 7 เอาลูกเข้าเต้า การปั๊มนมครั้งแรก
คุณแม่มือใหม่อาจจะยังไม่ชินกับการ เอาลูกเข้าเต้า และการปั๊มนมครั้งแรก วันนี้เรามีท่า เอาลูกเข้าเต้า เพื่อไม่ให้ผิดท่าและ การปั๊มนม มาฝากคุณแม่กันค่ะ
การเอาลูกเข้าเต้า
- ใช้มือประคองเต้านม โดยให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านบน เหนือขอบนอกของลานหัวนม ส่วนนิ้วที่เหลือประคองเต้านมด้านล่าง (ไม่ควรใช้ท่าแบบนิ้วคีบบุหรี่ เพราะช่องว่างระหว่างนิ้วจะแคบ ทำให้ลูกอมได้ไม่ลึกพอ และนิ้วอาจจะกดบริเวณท่อน้ำนม ทำให้น้ำนมไหลไม่ดี)
- อุ้มลูกโดยใช้มืออีกข้างประคองที่ต้นคอและท้ายทอย (ไม่กดที่ใบหู) ลูกเงยหน้าเล็กน้อย เคลื่อนลูกเข้ามาโดยให้คางของลูกเข้ามาชิดกับเต้านมส่วนล่าง (สังเกตว่าจังหวะนี้จมูกของลูกจะอยู่ตรงกับหัวนมแม่) ลูกก็จะเริ่มอ้าปาก ถ้าลูกไม่อ้าปาก ให้ใช้หัวนมเขี่ยริมฝีปากล่างของลูกเบาๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกอ้าปาก
- รอจนลูกอ้าปากกว้าง (เหมือนหาว) จึงเคลื่อนศีรษะลูกเข้าหาเต้านมอย่างรวดเร็วแต่นุ่มนวลก่อนที่ลูกจะเริ่มหุบปากลง จะไม่ใช้วิธีโน้มตัวแม่เพื่อนำเต้านมเข้าหาลูก
- ให้ลูกอมงับถึงลานนม โดยให้อมลานนมส่วนล่างมากกว่าลานนมส่วนบน ให้คางลูกแนบชิดกับเต้านมส่วนล่าง วิธีนี้จะช่วยให้ลิ้นของลูกยื่นออกมารีดน้ำนมจากเต้าแม่ได้ดีขึ้น และจมูกของลูกจะอยู่ห่างออกจากเต้าแม่เล็กน้อย คุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะหายใจไม่สะดวก
การอุ้มลูกเข้าเต้าอย่างถูกต้อง นอกจากจะช่วยให้แม่ไม่เจ็บหัวนมแล้ว ยังทำให้ลูกดูดนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 10 เจ็บเต้านม บรรเทาอาการอย่างไร
วิธีสังเกตลูกเข้าเต้าหรือยัง ?
- ลูกอมลานนมด้านล่างได้มากกว่าด้านบน ซึ่งจะสังเกตเห็นว่ายังมองเห็นลานนมด้านบน ในขณะที่ลานนมด้านล่างถูกปากลูกอมจนมิดหรือเกือบมิด
- ปากลูกอ้ากว้างแนบสนิทกับเต้านมแม่
- ริมฝีปากล่างบานออกเหมือนปากปลา
- คางลูกต้องแนบชิดเต้านมแม่
6 ท่าอุ้มเข้าเต้าสำหรับมือแม่มือใหม่
- ท่าลูกนอนขวางบนตัก (Cradle hold)
ท่าอุ้มให้นมแม่หรือการอุ้มลูกเข้าเต้าแบบคลาสสิก การที่อุ้มลูกวางไว้บนตักหรืออาจรองด้วยหมอนบนตัก มือและแขนประคองตัวลูกไว้ค่ะ ให้ตัวของลูกนอนตะแคงเข้าหาตัวคุณแม่ และศีรษะลูกควรอยู่สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย ท้ายทอยลูกวางอยู่บริเวณแขนของแม่ มืออีกข้างของคุณแม่ให้ประคองเต้านมไว้ค่ะ เพื่อป้องกันการปิดกั้นจมูกของลูกค่ะ ท่าให้นมลักษณะนีเหมาะสำหรับคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ เนื่องจากคุณแม่ผ่าคลอดอาจไปกดแผลบริเวณหน้าท้องได้ค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : เทคนิคดูดนมจากเต้า ที่ถูกต้องไม่เจ็บหัวนม มีเทคนิคแบบไหนบ้าง
- ท่านอนขวางบนตักประยุกต์ (cross-cradle hold)
ท่าอุ้มให้นมนี้คล้ายกับท่านอนขวางตัก เพียงแต่เปลี่ยนมือค่ะ โดยใช้มือข้างเดียวกับเต้านมที่ลูกดูดประคองเต้านม มืออีกข้างรองรับต้นคอและท้ายทอยของลูกแทนค่ะ ท่านี้เหมาะสำหรับหัดลูกเข้าเต้านม เพราะจะช่วยในการควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะลูกได้ดีกว่า ท่าอุ้มให้ลูกกินนมนี้เหมาะที่สุดสำหรับทารกแรกเกิด เล็กตัวเล็กและทารกที่มีปัญหาในการดูดนม ลูกไม่เข้าเต้าค่ะ
- ท่าอุ้มลูกฟุตบอล (Football hold)
ท่าอุ้มให้นมนี้ ตัวลูกจะอยู่ในท่ากึ่งตะแคงกึ่งนอนหงาย โดยที่ขาชี้ไปทางด้านหลังของแม่ และมือของแม่จับประคองที่ต้นคอและท้ายทอยของลูก กอดลูกให้กระชับกับสีข้างของคุณแม่ และลูกดูดนมจากเต้านมข้างเดียวกับมือที่จับลูกไว้ มืออีกข้างประคองเต้านมไว้ ท่านี้ใช้ได้ดีสำหรับคุณแม่ผ่าคลอดเพื่อหลีกเลี่ยงการกดทับแผลผ่าคลอด ลูกตัวเล็กหรือมีปัญหาในการเข้าเต้านม คุณแม่หน้าอกใหญ่หรือหัวนมแบน คุณแม่ลูกแฝดที่ต้องดูดนมพร้อมกันค่ะ
- ท่าเอนตัว (laid-back hold)
ท่าเอนตัวให้นมเป็นหนึ่งในตำแหน่งการให้นมที่สะดวกสบายที่สุดค่ะ โดยที่คุณแม่นอนเอนตัว วางลูกไว้บนหน้าอกใช้มือของคุณโอบลูกน้อยไว้เพื่อป้องกันการเคลื่อนไหวและล้มลงของลุก ควรให้ศีรษะลูกเอียงเล็กน้อย เพื่อป้องกันการปิดกั้นทางเดินหายใจค่ะ ท่านี้เป็นท่าที่ป้องกันการสำลักนมได้ดี รู้สึกสบายทั้งคุณแม่และลูกน้อย
- ท่านอน (Side lying position)
ท่านอนให้นมเป็นท่าที่แม่และลูกนอนตะแคงเข้าหากันค่ะ แม่นอนศีรษะสูงเล็กน้อย หลังและสะโพกตรง ให้ปากลูกอยู่ตรงกับหัวนมของแม่ มือที่อยู่ด้านล่างประคองตัวลูกให้ชิดลำตัวแม่ อาจใช้ผ้าขนหนูที่ม้วนไว้หรือหมอนหนุนหลังลูกแทนแขนแม่ก็ได้ค่ะ มือที่อยู่ด้านบนประคองเต้านมในช่วงแรกที่เริ่มเอาหัวนมเข้าปากลูก เมื่อลูกดูดได้ดีสามารถขยับออกได้ค่ะ ท่านี้เหมาะสำหรับแม่ที่ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง ต้องการพักผ่อน หรือการนั่งลำบากนั่งไม่สบาย หรือสำหรับให้นมลูกเวลากลางคืนค่ะ
- ท่าตั้งตรง (Upright or standing baby)
ท่าให้นมนั่งตรงคือ การอุ้มลูกน้อยตั้งตรง ขาลูกน้อยคล่อมต้นขาคุณแม่ไว้ ศีรษะและลำตัวของลูกเอนเล็กน้อย ใช้มือประคองศีระษะของลูกและเต้านมไว้ค่ะ ท่าอุ้มให้นมนี้เหมาะสำหรับเด็กที่มีปัญหาปากแหว่ง หรือมีแนวโน้มที่จะหายใจไม่ออก หรือมีกรดไหลย้อนค่ะ จะช่วยให้ลูกน้อยดูดนมได้ง่ายขึ้นค่ะ
ทำไมต้องปั๊มนม ?
- กระตุ้นการผลิตน้ำนม คุณแม่มีปริมาณน้ำนมมากขึ้น
- ช่วยเก็บสำรองนมแม่ ในกรณีแม่ต้องหยุดให้นม เนื่องจากใช้ยาหรือรับการรักษา
- ช่วยเบาเทาความเจ็บปวดจากการคัดเต้านม แต่หากปั๊มนมมากเกินไปในช่วงที่คัดเต้านมอาจทำให้อาการเจ็บยิ่งรุนแรงขึ้นได้
เลือกเครื่องปั๊มนมอย่างไรให้เหมาะสม
เครื่องปั๊มนมเป็นอุปกรณ์ เพื่อให้คุณแม่ปั๊มนมได้สะดวกสบาย เครื่องปั๊มนมขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และความถี่ในการใช้งาน รวมถึงได้ปริมาณน้ำนมตามความต้องการ ซึ่งเครื่องปั๊มนมที่นิมยมมี 2 แบบ ได้แก่
- เครื่องปั๊มนมธรรมดา เป็นที่ปั๊มนมชนิดใช้มือ ราคาถูกและมีขนาดเล็ก เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ต้องการปั๊มนมเป็นครั้งคราว ไม่เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ต้องทำงานประจำ เนื่องจากต้องใช้เวลานาน
- เครื่องปั๊มนมไฟฟ้า มีราคาค่อนข้างแพง แต่ใช้งานง่ายกว่าชนิดธรรมดา ทั้งยังช่วยทุ่นเวลาในการปั๊มนม และได้ปริมาณนมมากกว่า โดยเครื่องปั๊มชนิดนี้มีให้เลือกใช้ทั้งแบบปั๊มทีละข้างหรือปั๊มพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง
บทความที่เกี่ยวข้อง : เครื่องปั๊มนมแบบไฟฟ้า คุณภาพแน่น ๆ ถูกใจแบบไหน โดนใจดีไซน์ไหน เลือกเลย!
วิธีปั๊มนมที่ถูกต้อง
การปั๊มนมด้วยมือ
- ล้างมือและขวดนมให้สะอาด
- นวดหน้าอกหรือใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณเต้านม เพื่อช่วยให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น
- นั่งลงแล้วเอนตัวไปด้านหน้า
- วางนิ้วโป้งเหนือหัวนม นิ้วชี้อยู่ด้านใต้หัวนม โดยให้นิ้วทั้งสองห่างจากลานหัวนมประมาณ 1 นิ้ว และมืออยู่ในลักษณะรูปตัวซี (C)
- กดนิ้วทั้งสองลงไปพร้อมกันช้า ๆ เพื่อบีบน้ำนมออกมา หากยังไม่ออกให้ค่อย ๆ ปรับทิศทางจนน้ำนมไหลออกมาอย่างต่อเนื่อง
- เปลี่ยนบริเวณที่บีบไปรอบ ๆ ลานนม เพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บจากการบีบน้ำนมบริเวณเดิมซ้ำ ๆ
- เก็บน้ำนมไว้ในบรรจุภัณฑ์หรือขวดนมที่สะอาด
การปั๊มนมด้วยเครื่อง
- ล้างมือ อุปกรณ์ปั้มนม และขวดนมให้สะอาด
- วางกรวยเต้าสำหรับปั๊มนมบนหัวนม โดยให้กรวยอยู่ตรงกลางหัวนม
- ประคองเต้านมด้วยมือข้างเดียว โดยให้นิ้วโป้งอยู่ด้านบน ส่วนนิ้วที่เหลือประคองอยู่ด้านใต้เต้านม และระมัดระวังอย่าออกแรงดันหัวนมกับกรวยเต้านมมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดรอยที่ผิวบริเวณเต้านมได้
- ปรับความเร็วและอัตราการปั๊มนมตามคู่มือการใช้เครื่อง โดยควรเริ่มต้นจากอัตราการปั๊มที่ต่ำและเร็ว เมื่อน้ำนมเริ่มไหลอย่างคงที่่ ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ1-3 นาที แล้วจึงค่อยปรับความเร็วให้ช้าลงและเพิ่มอัตราการปั๊มขึ้น
- การปั๊มนมแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที เมื่อเรียบร้อยแล้ว ให้ค่อย ๆ นำกรวยเต้าสำหรับปั๊มนมออกจากเต้านม จากนั้นนำน้ำนมที่ได้ไปเก็บไว้ในที่เย็นทันที เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำนม
- ทำความสะอาดเครื่องปั๊มนมตามคู่มือการใช้ และเก็บให้มิดชิดเพื่อป้องกันเชื้อโรคและสิ่งสกปรก
ที่มา pobpad.com