อาการคัดเต้านมของคนท้อง เกิดจากอะไร 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 12

อาการคัดเต้านมของคนท้อง อาจทำให้กระทบต่อกิจวัตรประจำวันของคุณแม่ เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ คุณแม่ก็จะเริ่มมีอาการเจ็บหน้าอก หรือ คัดเต้า อาการคัดเต้านมของคนท้อง เกิดจากอะไร อาการคัดเต้าคนท้องเป็นอย่างไร อันตรายไหม เรามาดูกันค่ะ

 

อาการเต้านมคัด คัดเต้าตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะมีอาการคัดเต้านม คัดเต้าตั้งครรภ์ ในช่วงไตรมาสแรก บางคนอาจมีไข้ระยะสั้น ๆ เวลาเต้านมแข็ง บางครั้งเต้านมจะร้อน อาการคัดเต้านมอาการนี้อาจจะลดลง เมื่อร่างกายปรับสภาพกับระดับฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ได้

 

 

หากอาการคัดเต้าหายไปผิดปกติหรือไม่

ถือว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับอาการเจ็บคัดเต้านมและอยู่ดี ๆ อาการนี้ก็หายไป หรือบางท่านไม่เคยมีอาการอะไรเลย คุณแม่แต่ละท่านอาจจะมีอาการ มาก-น้อย มีอาการระยะยาว หรือสั้นแตกต่างกัน หากคุณแม่ฝากครรภ์แล้วหลังตรวจครรภ์คุณหมอไม่ได้แจ้งข้อมูลใด ๆ คุณแม่ก็สบายใจได้ หากมีภาวะที่ผิดปกติคุณหมอจะเป็นผู้แจ้งให้คุณแม่ทราบอีกครั้งหลังตรวจครรภ์

เช็กอาการคัดเต้านมว่าอาการแบบนี้ปกติดีไม่มีเรื่องต้องกังวล หรือมีความผิดปกติต้องรีบไปหาหมอทันที ผ่านการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญผ่านช่องทางออนไลน์ ได้ที่ ALive Powered by AIA แอปพลิเคชันสำหรับครอบครัว ดาวน์โหลดเลย

 

อาการคัดเต้าคนท้องเป็นอย่างไร เต้านมเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

  • หน้าอกขยายใหญ่ขึ้น

ในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 6-8 ของการตั้งครรภ์ เต้านมของคุณแม่จะขยายใหญ่ขึ้น และจะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีเนื้อเยื่อไขมันและเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงเต้านมเพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของต่อมและท่อน้ำนม โดยเต้านมอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นจากเดิมได้ถึง 1-2 ไซซ์ โดยเฉพาะในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก ซึ่งผิวหนังที่ยืดขยายอาจทำให้คุณแม่รู้สึกคันและมีรอยแตกลายบริเวณเต้านมด้วย

 

  • หัวนมใหญ่ขึ้น

ไม่เพียงแต่เต้านมที่ขยายใหญ่ขึ้น แต่หัวนมของคุณแม่ตั้งครรภ์อาจมีขนาดใหญ่ขึ้น และหัวนมก็อาจยื่นออกมามากกว่าเดิมในระหว่างที่ตั้งครรภ์ด้วย

 

  • หลอดเลือดดำบริเวณเต้านมนูนขึ้นมา

คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อาจสังเกตเห็นเส้นเลือดดำใต้ผิวหนังบริเวณเต้านมได้อย่างเด่นชัด เนื่องจากหลอดเลือดดำจะขยายตัวเพื่อให้มีเลือดมาเลี้ยงเต้านมมากขึ้น นอกจากนี้ ปานนมของคุณแม่อาจมีขนาดใหญ่และมีสีที่เข้มขึ้นด้วย

 

  • น้ำนมไหล

ในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือ 3 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจสังเกตพบว่าตนเองมีน้ำนมสีเหลืองไหลออกมาจากหัวนม โดยน้ำนมที่ไหลออกมานั้นเรียกว่าโคลอสทรัม (Colostrum) ซึ่งเป็นน้ำนมที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ลูกน้อยหลังคลอด อย่างไรก็ตาม คุณแม่บางรายอาจไม่มีอาการนี้ในระหว่างที่ตั้งครรภ์

 

  • มีก้อนที่เต้านม

คุณแม่ตั้งครรภ์บางรายอาจคลำพบก้อนบริเวณเต้านม โดยก้อนดังกล่าวอาจเป็นถุงบรรจุนม (Galactoceles) หรือก้อนเนื้อไฟโบรอะดีโนมา (Fibroadenoma) ซึ่งมักไม่เป็นอันตรายใด ๆ แต่หากพบว่ามีก้อนผิดปกติเกิดขึ้นที่เต้านมในระหว่างตั้งครรภ์ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติม

 

  • มีตุ่มรอบปานนม

ขณะตั้งครรภ์ คุณแม่อาจมีตุ่มนูนเล็ก ๆ เกิดขึ้นบริเวณรอบปานนมประมาณ 2-28 ตุ่ม หรือมากกว่านี้ ซึ่งตุ่มเหล่านี้เป็นต่อมผลิตไขมันที่เรียกว่า Montgomery’s Tubercles โดยต่อมดังกล่าวจะขยายใหญ่ขึ้นและผลิตน้ำมัน เพื่อป้องกันหัวนมและปานนมแห้งหรือแตกในระหว่างที่ตั้งครรภ์ โดยคุณแม่แต่ละรายอาจมีขนาดและจำนวนของตุ่มรอบปานนมที่แตกต่างกันไป

 

  • มีรอยแตกลายที่เต้านม

การขยายขนาดของเต้านม อาจทำให้ผิวหนังบริเวณเต้านมยืดและเกิดรอยแตกลายได้ นอกจากนี้ ผิวหนังที่ยืดออกอาจทำให้คุณแม่รู้สึกคันร่วมด้วย โดยอาการนี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการทามอยส์เจอไรเซอร์บริเวณเต้านมหลังอาบน้ำและก่อนนอน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว

 

  • รู้สึกเจ็บเต้านม

เลือด เนื้อเยื่อที่บวม และของเหลวที่ถูกเก็บไว้ในเต้านม อาจทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บและคัดเต้านมได้ โดยอาการดังกล่าวมักเป็น 1 ในสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์ ในบางครั้ง อาการเจ็บเต้านมสามารถเกิดขึ้นกับเต้านมทั้งสองข้าง หรือแค่ข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ หรือในบางครั้งอาจรู้สึกเจ็บเต้านมข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้างหนึ่งก็ได้เช่นกันค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง : คัดเต้านม 100 สิ่งแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 44 สามารถบรรเทาอาการเต้านมแข็งได้อย่างไร ?

 

อาการคัดเต้านมของคนท้อง

 

วิธีบรรเทาอาการคัดเต้านม

  • ประคบร้อนหรือประคบเย็น

ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาในระหว่างตั้งครรภ์นั้น ส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณเต้านมขยายใหญ่ขึ้นและมีเลือดไหลเวียนมากขึ้น จึงทำให้เต้านมมีอาการบวมและไวต่อสัมผัส ซึ่งการประคบเย็นอาจช่วยให้หลอดเลือดนั้นหดตัวลง และชะลอการไหลเวียนของเลือดที่มากเกินไปจนทำให้รู้สึกปวด คุณแม่อาจใช้ผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาด ๆ ผ้าเช็ดตัวผืนเล็กห่อถุงน้ำแข็ง เจลเก็บความเย็นหรือไอซ์แพ็กมาประคบบริเวณหน้าอกไว้จนอาการดีขึ้นและทำซ้ำอีกเมื่อมีอาการ โดยแต่ละครั้งไม่ควรประคบนานเกิน 20 นาที และควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำแข็งประคบผิวหนังโดยตรง เพราะความเย็นจากน้ำแข็งอาจทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง

สำหรับคุณแม่ที่ลองประคบเย็นแล้วไม่ได้ผล อาจลองเปลี่ยนมาเป็นวิธีประคบร้อนแทน โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบที่หน้าอกหรืออาบน้ำอุ่นเพื่อให้เลือด และของเหลวภายในเต้านมอย่างเลือดและน้ำนมไหลเวียนได้สะดวกขึ้น อย่างไรก็ตาม การประคบร้อนไม่ควรทำเกิน 20 นาที ส่วนการอาบน้ำหรือแช่น้ำอุ่นไม่ควรนานเกิน 10 นาที และไม่ควรใช้น้ำที่มีอุณหภูมิสูงเกินไป

 

  • เปลี่ยนเสื้อชั้นในและเสื้อผ้า

ขนาดหน้าอกที่บวมขึ้นมักมาพร้อมความรู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสโดน การสวมเสื้อชั้นในที่หลวม คับ หรือไม่กระชับอาจทำให้รู้สึกเจ็บและตึงบริเวณเต้านมขณะเคลื่อนไหว ซึ่งอาจเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันได้ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการเหล่านี้ คุณแม่ควรเลือกสวมเสื้อชั้นในให้เหมาะสมกับลักษณะของหน้าอกในช่วงนั้น โดยให้เลือกเสื้อชั้นในที่โอบอุ้มเต้านม มีความกระชับเมื่อสวมใส่ ไม่หลวมหรือคับจนเกินไป สายเสื้อชั้นในสามารถปรับได้ เพราะหน้าอกอาจขยายหรือลดขนาดลงเมื่อเวลาผ่านไป

การเลือกซื้อเสื้อชั้นในให้เหมาะสมอาจเป็นประโยชน์กับคุณแม่ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงช่วงให้นมลูกน้อย เพราะอาการคัดเต้านมอาจยาวนานไปจนถึงช่วงหลังคลอด สำหรับคุณแม่ที่ประสบปัญหาเจ็บเต้านมขณะนอนอาจลองสวมสปอร์ตบรา (Sport Bra) ในระหว่างนอนแทน เพราะอาจช่วยบรรเทาอาการคัดเต้านม และช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้น ส่วนข้อห้ามในการเลือกซื้อเสื้อชั้นใน คือ ควรหลีกเลี่ยงเสื้อชั้นในแบบมีโครงลวดด้านล่าง เพราะอาจทำให้เกิดการรั้งและทำให้เจ็บได้

นอกจากการเปลี่ยนเสื้อชั้นในแล้ว การเพิ่มขนาดหรือไซซ์เสื้อผ้านั้นก็อาจช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน เพราะร่างกาย หน้าท้อง และหน้าอกในช่วงตั้งครรภ์นั้นมีการขยายตัว จึงอาจทำให้เสื้อผ้าที่เคยสวมใส่นั้นเริ่มคับ หากเสื้อผ้าที่สวมใส่คับมากเกินไปก็อาจบีบรัดหน้าอกของคุณแม่จนทำให้รู้สึกเจ็บและอึดอัดอยู่ตลอดเวลา จึงควรเปลี่ยนมาสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายและระบายอากาศได้ดี เพื่อลดอาการเจ็บเต้านมและยังอาจช่วยให้คุณแม่รู้สึกสบายตัวมากขึ้นด้วย

 

  • ใช้ยาแก้ปวดที่แพทย์เป็นผู้สั่งจ่าย

หากวิธีด้านบนไม่สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีบรรเทาอาการคัดเต้านมอื่น ๆ กรณีที่ต้องการใช้ยาแก้ปวดหรือยาชนิดอื่น ควรใช้ยาที่แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น เพราะยาบางชนิดอาจส่งผ่านไปยังทารกในครรภ์ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณแม่มีโรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพบางอย่าง นอกจากนี้ การเลือกซื้อยาจากเภสัชกรตามร้านขายยาก็อาจมีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน หลังจากได้รับยา คุณแม่ควรใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงสุดของยา

โดยปกติแล้วอาการคัดเต้านมและอาการอื่น ๆ อาจบรรเทาลงภายใน 2-5 วัน หลังจากคลอดทารก แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น รุนแรงขึ้น หรือมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วยทั้งในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการอย่างละเอียด

บทความที่เกี่ยวข้อง : น้ำนมไหลขณะตั้งครรภ์ เป็นสีขุ่น ๆ ไหลซึมตอนตั้งท้อง แบบนี้ผิดปกติไหม?

 

อาการคัดเต้านมของคนท้อง

 

อาการคัดเต้าในคนท้อง จะหายไปตอนไหน

โดยปกติแล้วอาการปวดเต้านม มักจะเกิดขึ้นตลอดช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ อาการปวดจะสามารถลดลงได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ แต่ในคนท้องบางรายอาจมีอาการเจ็บเต้านมนี้ยาวไปจนถึงตอนคลอดได้ค่ะ

และถึงแม้ว่าอาการปวดเต้านมมักจะค่อย ๆ ทุเลาลงในช่วงไตรมาสที่ 2 แต่หลังคลอด หรือช่วงที่ให้นมลูกน้อย แม่ ๆ อาจมีอาการปวดเต้านมและเจ็บหัวนมเริ่มกลับมาอีกครั้งค่ะ

 

สังเกตสัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม

  1. คลำพบก้อนเนื้อบริเวณเต้านม หรือใต้รักแร้ สามารถทำได้ด้วยตัวเองที่บ้านเป็นประจำ โดยก้อนเนื้อที่พบอาจจะกดเจ็บ หรือไม่เจ็บก็ได้ ผู้หญิงทุกคนควรตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน หลังรอบเดือนหมด ประมาณ 1 สัปดาห์
  2. ขนาดหรือรูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป แม้ปกติเต้านมทั้ง 2 ข้างอาจมีขนาดและรูปร่างที่ต่างกันบ้าง แต่การหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของเต้านมข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างมีลักษณะผิดปกติไปจากเดิม จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้เท่าทันหากเกิดโรคร้ายตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
  3. ผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม หรือบวมหนาเหมือนเปลือกส้มรวมถึงสี หรือผิวหนังบริเวณลานหัวนมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้ละเอียด เนื่องจากอาจเป็นอาการของเซลล์มะเร็งที่ลุกลามมาถึงชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง
  4. มีน้ำเหลืองหรือของเหลวไหลออกมาจากหัวนม โดยเฉพาะหากพบว่าน้ำเหลืองหรือของเหลวไหลนั้นมีสีคล้ายเลือด และออกจากหัวนมเพียงรูเดียว ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเต้านมโดยละเอียด
  5. อาการเจ็บผิดปกติที่เต้านมหรือผิวหนังของเต้านมอักเสบ หากมีอาการเจ็บเต้านมโดยที่ไม่ใช่ช่วงมีประจำเดือน หรือพบว่าผิวหนังรอบ ๆ เต้านมบวมแดงอักเสบ โดยเฉพาะเมื่อคลำพบก้อนเนื้อร่วมด้วย อย่าละเลยว่าเป็นเรื่องธรรมดาเด็ดขาด
  6. ผื่นคันบริเวณเต้านมรักษาแล้วไม่หายขาด ผื่นคันอาจเกิดขึ้นที่หัวนมหรือบริเวณเต้าส่วนใหญ่ เริ่มต้นเป็นเพียงผื่นแดง แสบ ๆ คัน ๆ แม้จะรักษาโดยแพทย์ผิวหนังแล้วยังไม่หายขาดจนกลายเป็นแผลตกสะเก็ดแข็ง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมอีกครั้ง เนื่องจากอาจเกิดจากเซลล์มะเร็งลามขึ้นมาที่ผิวหนังด้านบนบริเวณหัวนมหรือเต้านมแล้ว

 

เมื่อตรวจพบมะเร็งเต้านม ต้องยุติการตั้งครรภ์หรือไม่

ถ้าตรวจพบระยะแรก ๆ ในบางรายอาจจบการรักษาแค่ผ่าตัด ซึ่งไม่มีผลต่อการตั้งครรภ์ แต่ถ้าเมื่อไหร่ต้องให้ยาเคมีบำบัดหรือต้องฉายแสง อาจต้องเลื่อนการรักษา เพื่อรอให้อวัยวะของทารกในครรภ์สร้างเสร็จก่อน หรือผ่านไตรมาสที่สามไปแล้ว เพราะค่อนข้างปลอดภัยกว่า แต่โดยส่วนมาก เมื่อผ่าตัดแล้วมักจะรอให้คลอดก่อนค่อยทำการรักษาต่อด้วยเคมีบำบัด แต่ในประเทศไทยยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่า เมื่อเป็นมะเร็งเต้านมแล้วต้องทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์

 

อาการคัดเต้านมของคนท้อง

 

สัญญาณคุณแม่ตั้งครรภ์

ในกระบวนการการสืบพันธุ์ของมนุษย์ เมื่อไข่ที่สุกแล้วของเพศหญิงได้รับการปฏิสนธิจากตัวอสุจิ ร่างกายจะเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ซึ่งการหลั่งของสารเคมีจากปฏิสนธิอาจส่งผลให้เกิดอาการต่อไปนี้ได้ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์

  • คัดเต้านม
  • ปวดท้อง ปวดหลัง
  • ท้องอืด
  • รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • อารมณ์อ่อนไหว เปลี่ยนแปลงง่าย
  • อยากอาหาร หรือรับประทานมากกว่าปกติ
  • คลื่นไส้อาเจียน หรือแพ้ท้อง
  • หัวนมมีสีที่เปลี่ยนไป ผิวหนังดูคล้ำขึ้น
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • อุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ
  • ปวดศีรษะ

 

อาการคัดเต้านมถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถใช้วิธีประคบร้อนหรือประคบเย็นเพื่อช่วยบรรเทาอาการได้ และอาจปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีบรรเทาอาการเต้านมคัดอื่น ๆ นอกจากนี้ คุณแม่ควรหมั่นสังเกตความปกติของเต้านมบ่อย ๆ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งเต้านมค่ะ

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ผื่นที่เต้านม ผื่นแบบไหนเป็นสัญญาณมะเร็งเต้านมกันนะ ?

เช็คด่วนก่อนจะสาย! 5 สัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม ที่หญิงไทยต้องรู้

เจ็บเต้านม เจ็บหน้าอกหลังคลอด สาเหตุและวิธีบรรเทาอาการที่ถูกต้อง

 

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!