อาการคนท้อง 3 เดือน เป็นอย่างไร 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 17
เข้าสู่ช่วงตั้งครรภ์เดือนที่ 3 แล้ว ในช่วงนี้ร่างกายของคุณแม่ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น รวมถึงลูกในท้องที่มีพัฒนาการของร่างกาย คุณแม่หลายคนอาจสงสัยว่าตั้งครรภ์ 3 เดือน จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง วันนี้ theAsianparent Thailand จะพามาดู อาการคนท้อง 3 เดือน อาการคนท้องเป็นยังไง มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากแค่ไหน และคุณแม่จะต้องเผชิญกับอาการอะไรบ้าง พร้อมแล้ว ไปดูกันค่ะ
อาการท้อง 3 เดือน เป็นอย่างไร
เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ท้องของคุณแม่จะเริ่มขยายใหญ่จนเห็นชัดมากขึ้น และมีอาการแพ้ท้องหรืออ่อนเพลียน้อยลง เนื่องจาก ระดับฮอร์โมนในร่างกายเริ่มคงที่ แต่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกแฝดอาจยังมีอาการแพ้ท้องให้เห็นอยู่บ้าง ส่วนความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่อาจพบได้ในช่วงการตั้งครรภ์เดือนที่ 3 ได้แก่
-
น้ำหนักขึ้น
ในช่วงนี้น้ำหนักตัวของคุณแม่จะเพิ่มจากเดิมประมาณ 0.6-2.5 กิโลกรัม ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการตั้งครรภ์ ในรายที่น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักด้วยตัวเองเพื่อผลดีต่อการตั้งครรภ์ แต่หากคุณแม่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากเกินไปควรปรึกษาแพทย์เพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อโรคอันตรายระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภาวะความดันโลหิตสูง เป็นต้น
-
หน้าท้องเริ่มขยาย
การขยายตัวของผิวหน้าท้องอาจส่งผลให้เกิดรอยแตกลายในบริเวณดังกล่าวได้ คุณแม่อาจใช้โลชั่นหรือครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของสารเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง เช่น โกโก้บัตเตอร์จากธรรมชาติ โดยควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองความปลอดภัยจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือและปรึกษาแพทย์ก่อนการเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ทุกครั้ง
-
ปวดศีรษะ
อาการปวดศีรษะเกิดขึ้นได้ในระหว่างการตั้งครรภ์เดือนที่ 3 โดยอาจมีสาเหตุมาจากระดับฮอร์โมนที่สูงขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะขาดน้ำ นอนไม่หลับ หรือเกิดความเครียด ดังนั้น คุณแม่ควรรู้จักผ่อนคลายความเครียดและเอาใจใส่สุขภาพให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดศีรษะลงได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรรีบปรึกษาสูติแพทย์เพื่อความปลอดภัย
-
วิงเวียนศีรษะ
อาการคนท้อง 3 เดือนแรก ระดับฮอร์โมนและความดันโลหิตที่เปลี่ยนแปลงอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ซึ่งหากไม่รุนแรงมากนักก็สามารถบรรเทาอาการโดยการนั่งหรือนอนพักสักครู่ แต่หากอาการรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ นอกจากนี้ คุณแม่อาจป้องกันอาการวิงเวียนศีรษะได้ด้วยการรับประทานของว่างและดื่มน้ำให้เพียงพอ
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องเวียนหัว หน้ามืด เกิดจากอะไร มีวิธีแก้อาการวูบบ่อยไหม
-
มีตกขาวมากขึ้น
เป็นเรื่องปกติที่หญิงตั้งครรภ์จะมีตกขาวสีใสออกมาจากช่องคลอด เพื่อช่วยป้องกันช่องคลอดจากการติดเชื้อต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรสังเกตความผิดปกติของตกขาวเสมอ หากพบว่ามีสีปกติ เช่น สีเหลือง สีเขียว สีชมพู หรือสีน้ำตาล ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือการคลอดก่อนกำหนด
-
เลือดออกกะปริบกะปรอย
การมีเลือดออกทางช่องคลอดในช่วงตั้งครรภ์อาจเป็นสัญญาณของภาวะที่ร้ายแรงได้ โดยหากมีเลือดออกกะปริบกะปรอยหรือมีเลือดไหลออกมามากร่วมกับอาการปวดเกร็งหน้าท้อง ควรรีบแจ้งแพทย์เพื่อความปลอดภัย
-
สภาพผิวหนังเปลี่ยนแปลงไป
การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์มักส่งผลต่อผิวพรรณของคุณแม่ด้วย โดยอาจทำให้เกิดฝ้าบนใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณหน้าผากและแก้ม ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่เป็นอันตราย และจะค่อย ๆ หายไปหลังจากการคลอดบุตร
-
เต้านมเกิดการเปลี่ยนแปลง
ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์มักส่งผลให้บริเวณลานหัวนมมีสีเข้มขึ้น และอาจมีอาการคัดเต้านมไปจนถึงช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์
พัฒนาการของทารก 3 เดือนในครรภ์
เป็นช่วงที่ตัวอ่อนเอ็มบริโอพัฒนามาเป็นตัวอ่อนโดยสมบูรณ์ ดวงตาของทารกเคลื่อนห่างออกจากกันมากขึ้น เปลือกตาค่อย ๆ ยุบลงจนกลมกลืนกับดวงตา ใบหูลดต่ำลง เริ่มเกิดหน่อที่จะเจริญไปเป็นฟัน และเกิดเม็ดเลือดแดงขึ้นในตับ โดยในช่วงปลายสัปดาห์อาจเริ่มเห็นพัฒนาการของอวัยวะเพศอย่างองคชาตของเพศชาย ปุ่มกระสันหรือคลิตอริส (Clitoris) และแคมใหญ่ของเพศหญิงสังเกตเห็นอวัยวะต่าง ๆ บนใบหน้าชัดเจนขึ้นมาก เริ่มสังเกตเห็นเล็บมือ และลำไส้เริ่มพัฒนาขึ้นภายในช่องท้องของทารก ความยาวลำตัวประมาณ 9 เซนติเมตร น้ำหนัก 40-48 กรัม
คุณแม่ควรดูแลตัวเองอย่างไร
-
เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
แม้การมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจะเป็นเรื่องปกติของการตั้งครรภ์ แต่คุณแม่ก็ควรเอาใจใส่ในการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อป้องกันการมีน้ำหนักมากขึ้นเกินความจำเป็น ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ปวดหลัง ปวดขา และอาจรู้สึกอ่อนเพลียกว่าเดิม
-
ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรับประทานวิตามินเสริม
ในบางกรณี คุณแม่อาจต้องรับประทานวิตามินเสริมเพื่อช่วยให้ทั้งแม่และทารกได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และช่วยป้องกันภาวะผิดปกติบางอย่างในระหว่างตั้งครรภ์ แต่เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมชนิดใดก็ตาม
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิตามินบำรุงก่อนคลอด วิตามินเสริมคนท้องมีอะไรบ้าง วิตามินเสริมจำเป็นไหม
-
ฝึกกล้ามเนื้อบริเวณช่องคลอด
การหมั่นฝึกขมิบช่องคลอดเป็นประจำตั้งแต่ในช่วงนี้ส่งผลดีต่อกล้ามเนื้อบริเวณช่องคลอด ทำให้คลอดง่ายและช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวหลังคลอดไวขึ้น ซึ่งหากคุณแม่ต้องการเริ่มฝึก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับทราบวิธีที่ถูกต้องและไม่ส่งผลกระทบต่อครรภ์
-
บำรุงผิวอย่างสม่ำเสมอ
ผิวหนังที่บอบบางลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนอาจทำให้เกิดฝ้าที่ใบหน้าได้ง่าย ดังนั้น หากต้องออกไปภายนอกอาคาร คุณแม่ควรทาครีมกันแดดและสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิดเพื่อป้องกันแสงแดด ส่วนรอยแตกของผิวหนังบริเวณหน้าอก หน้าท้อง สะโพก และก้น ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์นั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่ร่องรอยเหล่านี้จะค่อย ๆ จางลงไปเองหลังจากคลอดบุตร คุณแม่จึงไม่จำเป็นต้องกังวลแต่อย่างใด แต่ควรหมั่นบำรุงผิวอยู่เสมอเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่นให้ผิวหนัง
อัลตราซาวนด์มีประโยชน์อย่างไร
-
ทราบตำแหน่งของการตั้งครรภ์
ดูว่าอยู่ในหรือนอกมดลูกและยังสามารถยืนยันว่าการตั้งครรภ์นั้นที่มีตัวน้องอยู่จริง ไม่เป็นภาวะท้องลม (blighted pregnancy) โดยการเห็นตัวอ่อนและหัวใจน้องในถุงการตั้งครรภ์ (Confirmed intrauterine pregnancy and viability)
-
ตรวจและยืนยันอายุครรภ์ที่แน่นอน
ได้จากการวัดความยาวของทารก ซึ่งการวัดในช่วงนี้จะมีความผิดพลาดน้อยมาก เนื่องจากบางครั้งประจำเดือนอาจมาไม่ตรงรอบหรือการตกไข่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแม่นยำ ซึ่งอายุครรภ์สำคัญอย่างมากในการวางแผนต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคัดกรองโครโมโซมผิดปกติ การตรวจประเมินการเติบโตของทารกในครรภ์ กำหนดวันคลอดที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้ก่อนหรือหลังกำหนดและช่วยวางแผนเวลาคลอดที่เหมาะสมในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ (Accurate dating of the pregnancy)
-
ทราบว่าเป็นครรภ์แฝดหรือไม่
จำนวนทารกเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ด้วยวิธีทานยากระตุ้นไข่ตกหรือด้วยวิธีเด็กหลอดแก้ว ทั้งนี้ ชนิดของการตั้งครรภ์แฝดว่ามีจำนวนกี่ถุงการตั้งครรภ์ มีจำนวนรก (chorionicity) เท่าไหร่นั้นจะมีความจำเป็นอย่างมากในการดูแลระหว่างตั้งครรภ์และหากประเมินล่าช้าไปจะทำให้มีความผิดพลาดสูงขึ้น (The detection of multiple pregnancies with reliable diagnosis of chorionicity)
-
ตรวจความผิดปกติของอวัยวะของทารก
ในครรภ์ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์บางชนิดที่สำคัญได้ เช่น ความผิดปกติของกะโหลกศีรษะ กระดูกสันหลังผิดปกติ ผนังหน้าท้องไม่ปิด หัวใจผิดปกติแต่กำเนิดชนิดรุนแรงบางชนิด จำนวนและลักษณะแขนหรือขาที่ผิดปกติ ภาวะบวมน้ำหรือความผิดปกติของโครโมโซมบางชนิด เป็นต้น (Early diagnosis of many major fetal abnormalities)
บทความที่เกี่ยวข้อง : อัลตราซาวด์4มิติ บอกอะไรได้บ้าง ควรทำช่วงไหน ปลอดภัยหรือเปล่า
-
ตรวจความหนาของผิวหนังหลังคอของทารกในครรภ์
โดยจะวัดในทารกที่มีความยาวในช่วง 48 – 84 มิลลิเมตร หรือ ช่วงประมาณ 11-14 สัปดาห์ ซึ่งการตรวจนี้เป็นการตรวจที่สำคัญและมีความแม่นยำสูงมากในการตรวจความผิดปกติของโครโมโซม เช่น โครโมโซมร่างกายเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครโมโซมคู่ที่ 21 เกิน (ดาวน์ซินโดรม) โครโมโซมเพศขาด (45,X0 หรือ Turner syndrome) โรคกลุ่มอาการทางพันธุกรรม โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดชนิดรุนแรงบางชนิด เป็นต้น (Screening for Down’s syndrome and Genetic syndromes)
-
ตรวจความต้านทานของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงมดลูก
เพื่อประเมินหาความเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษและภาวะทารกโตช้าในครรภ์ (Prediction of preeclampsia and fetal growth restriction)
-
ตรวจพบความผิดปกติของอวัยวะ
ในอุ้งเชิงกรานของมารดาที่มีมาก่อนแล้ว เช่น เนื้องอกมดลูก เนื้องอกรังไข่ เป็นต้น เนื่องจากความผิดปกติเหล่านี้จะตรวจพบหรือประเมินได้ยากขึ้นหากอายุครรภ์มากขึ้นและมีผลต่อการตั้งครรภ์ต่อไปอย่างมาก บางภาวะอาจจำเป็นต้องมีการผ่าตัดอีกด้วย (Evaluated uterus and pelvic cavity)
ท้อง 3 เดือน ร่างกายของคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะบริเวณท้องที่จะเริ่มขยายใหญ่ขึ้น และมีอาการแพ้ท้องหรืออ่อนเพลียน้อยลง เพราะระดับฮอร์โมนเริ่มคงที่ ดังนั้นคุณแม่จึงควรดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของตัวเองและลูกน้อยในครรภ์
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อาการคนท้อง ตั้งครรภ์ 2 เดือน 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 16
6 อาการคนท้อง ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก 1-3 เดือน ที่ส่วนใหญ่ต้องเจอ!
อาการคนท้อง ตั้งครรภ์ 4 เดือน มีอาการอะไรบ้าง 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 18
ที่มา : pobpad, Bangkok Hospital