หลังคลอดกินยาสตรีได้ไหม อยากให้น้ำคาวปลาไหลดี มดลูกเข้าอู่เร็ว ทำอย่างไร
“ดิฉันใกล้คลอดแล้วค่ะ คุณแม่ของสามีซื้อยาสตรีมาเตรียมให้กินหลังคลอด เพื่อช่วยขับน้ำคาวปลาแทนการที่จะต้องเสียเวลาไปอยู่ไฟ และยังช่วยทำให้ผิวพรรณสดใสขึ้นด้วย” แต่จริง ๆ แล้ว การกินยาสตรีหลังคลอดนั้น จะมีอันตรายหรือเปล่า?
หลังคลอดกินยาสตรีได้ไหม เป็นคำถามที่คุณแม่ถามเข้ามาบ่อย ๆ แม้ว่ายาสตรีที่วางขายกันอยู่ตามท้องตลาดมักจะแจ้งว่า มีสรรพคุณบำรุงโลหิต แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ซึ่งอาจจะทำให้คุณแม่บางท่านเข้าใจว่า หลังคลอด กินยาสตรีขับน้ำคาวปลา แทนการอยู่ไฟได้
ภญ.กษมา กาญจนพันธุ์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า น้ำคาวปลา คือเนื้อเยื่อ และเลือดที่ไหลออกมาจากโพรงมดลูกหลังการคลอด ซึ่งเกิดจากการหลุดลอกตัวของรก โดยน้ำคาวปลาที่ถูกขับออกมาจากโพรงมดลูก 2-3 วันแรก จะมีสีเข้มเหมือนเลือดเก่า และมีกลิ่นคล้ายประจำเดือน ในวันถัดมาสีจะจางลงเป็นสีชมพู หลังจากนั้นจะจางลง เนื่องจากมดลูกจะหดรัดตัวบีบเส้นเลือดในมดลูกให้เลือดไหลน้อยลง จนหยุดเองภายใน 4-6 สัปดาห์หลังคลอด
และด้วยความที่ในระหว่างการคลอด ร่างกายของคุณแม่เสียเลือดไปมากอยู่แล้ว จึงไม่ต้องพยายามขับน้ำคาวปลาให้ออกมาเยอะ ๆ โดยไม่จำเป็น แม้สำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือนไม่ปกติ แพทย์ก็มักจะไม่แนะนำให้ซื้อยาเหล่านี้มาทานเอง เพราะควรแก้ที่ต้นเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติมากกว่า เช่น อาจเกิดจากการอักเสบของมดลูก สีของประจำเดือนไม่ปกติ หรือความผิดปกติของมดลูก เป็นต้น
แม่ให้นมกินยาสตรีได้ไหม
ยาสตรีส่วนใหญ่มักจะมีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ ซึ่งสามารถส่งผ่านออกมาในน้ำนม และส่งผลเสียกับลูกน้อยได้ ซึ่งผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับลูกคือ จะทำให้ลูกมีอาการง่วงซึม ส่งผลให้สมองไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการเท่าที่ควร อาจทำให้ความฉลาดลดลง และแอลกอฮอล์ที่ผ่านมากับน้ำนมยังอาจทำให้ตับของลูกทำงานผิดปกติ สร้างสารแข็งตัวของเลือดได้น้อยลง จนอาจมีเลือดออกตามส่วนต่าง ๆ ของลูกจนอาจทำให้เสียชีวิตได้เลยทีเดียว
อยากให้น้ำคาวปลาไหลดี มดลูกเข้าอู่เร็ว ทำอย่างไร
ถ้าอยากให้น้ำคาวปลาไหลดี มดลูกมีการบีบตัว และเข้าอู่เร็วขึ้น คุณแม่ควรออกกำลังกายอย่างถูกวิธีเป็นประจำ อย่างสม่ำเสมอหลังคลอด อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละประมาณ 30 นาที ซึ่งการออกกำลังกายนอกจากจะทำให้น้ำคาวปลาไหลดี มดลูกมีการบีบตัว และเข้าอู่เร็วขึ้นแล้ว ยังส่งผลดีทางด้านอื่น ๆ อีกด้วย เช่น
- แผลฝีเย็บหายเร็วขึ้น
- กล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อต่าง ๆ มีความแข็งแรง และยืดหยุ่นดีขึ้น
- กล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจทำงานได้ดีขึ้น
- ปอดขยายตัวดีขึ้น และการทำงานของหัวใจดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม คุณแม่ไม่ควรหักโหมเกินไป หลังจากที่คลอดธรรมชาติทางช่องคลอดแล้ว ควรพักผ่อนร่างกายอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง แล้วจึงสามารถออกกำลังกายเบา ๆ ได้
ท่าออกกำลังกายสำหรับคุณแม่
คุณแม่ที่คลอดตามปกติทางช่องคลอด ไม่ว่าจะคลอดตามปกติหรือใช้เครื่องมือช่วยคลอด 2-3 วันหลังคลอดคุณแม่ก็สามารถเริ่มบริหารร่างกายได้แล้ว เพื่อช่วยให้ร่างกายกลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด ในครั้งแรก ๆ อาจจะเริ่มบริหารเพียงไม่กี่ท่าหรือท่าละไม่กี่ครั้ง เพราะร่างกายยังอ่อนเพลียอยู่ แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มขึ้นไปทีละนิดเมื่อร่างกายแข็งแรงแล้ว คุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลว่าจะทำให้แผลฝีเย็บแตกหรือแผลแยก เพราะมันไม่เกี่ยวกันเลยครับ ส่วนคุณแม่ที่คลอดโดยการผ่าตัด ขอให้รอจนครบ 20 วันขึ้นไปก่อน หรือไม่เกิน 1 เดือนก็ควรเริ่มบริหารร่างกายได้เลย ไม่ต้องรอให้นานกว่านี้ หรือรอจนถึง 2-3 เดือน เพราะถ้าเริ่มทำช้าก็จะได้ผลน้อย
ท่าบริหารหลังคลอด
ท่าบริหารร่างกายหลังคลอดต่อไปนี้ เป็นท่าบริหารที่ทำได้ง่ายและปลอดภัย ที่สามารถช่วยให้รูปร่างของคุณแม่กลับคืนสู่สภาพเดิมได้โดยเร็ว และเกือบทุกท่าของการบริหารนี้จะเป็นท่านอน ซึ่งคุณแม่อาจจะนอนบนพื้นหรือนอนบนเตียงที่ไม่นุ่มจนเกินไปก็ได้ขึ้นอยู่กับความสะดวก ซึ่งในการบริหารครั้งแรก ๆ ขอให้คุณแม่อย่าหักโหม ให้ค่อย ๆ ทำไป และค่อย ๆ เพิ่มจำนวนครั้งให้มากขึ้นวันละนิดละหน่อย จนกว่าจะรู้สึกว่าร่างกายแข็งแรงดีแล้ว คุณแม่จึงสามารถบริหารร่างกายได้อย่างเต็มที่ในทุก ๆ ท่า
- ท่าบริหารกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก ไหล่ หลัง ลำคอ และลดหน้าท้อง ให้คุณแม่นอนหงายราบกับพื้น แขนแนบกับลำตัว แล้วยกศีรษะขึ้นจากพื้นอย่างช้า ๆ จนกระทั่งคางจรดหน้าอก แล้วนับ 1 2 3 (ในขณะที่ยกศีรษะขึ้น ลำตัว แขนและขาต้องเหยียดตรง) จากนั้นค่อย ๆ วางศีรษะลงอย่างช้า ๆ แล้วทำต่อไปจนครบ 10 ครั้ง สำหรับคุณแม่ที่หน้าท้องหย่อนมากให้ใช้มือทั้งสองข้างประสานกันที่หน้าท้อง กดกล้ามเนื้อลง เมื่อยกศีรษะขึ้น กล้ามเนื้อหน้าท้องจะตึง พยายามใช้มือกดไว้เพราะจะช่วยให้กล้ามเนื้อหน้าท้องซึ่งแยกจากกันสองข้างกลับเข้ามาติดชิดกันได้ดีมากขึ้น
- ท่าบริหารกล้ามเนื้อขา ต้นขา หน้าท้อง และสะโพก ให้คุณแม่นอนหงายราบกับพื้น แขนแนบกับลำตัว แล้วชันเข่าทั้งสองข้างตั้งขึ้นเป็นมุมฉาก โดยให้เข่าทั้งสองชิดกัน เท้าวางราบและห่างกันพอสมควร ยกสะโพกขึ้นโดยใช้กล้ามเนื้อไหล่ยันพื้นไว้ ในขณะเดียวกันให้พยายามหนีบกล้ามเนื้อสะโพกไว้ด้วย ซึ่งท่านี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อช่องคลอดบริเวณฝีเย็บนั้นหดรัดตัวได้ดีขึ้น โดยให้ทำต่อไปจนครบ 10 ครั้ง
- ท่าบริหารกล้ามเนื้อขา สะโพก และหน้าท้อง ให้คุณแม่นอนหงายราบกับพื้น แขนแนบกับลำตัว แล้วยกขาข้างหนึ่งขึ้นมาให้ตั้งฉากกับลำตัว พร้อมทั้งเหยียดขาให้ตรงสักครู่หนึ่ง แล้วกดขาลงที่เดิมอย่างช้า ๆ ทำสลับข้างกันให้ครบ 10 ครั้ง เมื่อแข็งแรงดีแล้วให้ลองยกขาพร้อมกันทั้งสองข้าง
- ท่าบริหารหน้าท้อง สะโพก และขา ให้คุณแม่นอนราบกับพื้น แขนแนบกับลำตัว งอเข่าทั้งสองข้างขึ้น โดยให้เข่าชิดกับหน้าท้องหรือหน้าอกให้มากที่สุด และให้ส้นเท้าสัมผัสก้นไว้ แล้วเหยียดขาข้างใดข้างหนึ่งให้ตรง ค่อย ๆ วางขาลงในท่าเดิม นับ 1 2 3 โดยไม่งอเข่าเลย ทำสลับกันทีละข้าง ในครั้งแรก ๆ อาจทำน้อยครั้งก่อน เมื่อแข็งแรงขึ้นแล้วจึงค่อยเพิ่มอีกวันละ 1-2 ครั้งทุกวัน จนครบ 10 ครั้ง
- ท่าบริหารหน้าท้อง ให้คุณแม่นอนราบกับพื้น งอเข่าขึ้น วางแขนขวาไว้ข้างลำตัว ส่วนเท้าวางราบกับพื้น และหายใจเข้าลึก ๆ ในขณะที่หายใจออกให้ยกศีรษะ เกร็งกล้ามเนื้อท้องพร้อมกับยกแขนซ้ายมาแตะที่ต้นขาขวา ให้ค้างนิ่งอยู่ในท่านี้สักครู่ แล้วจึงผ่อนคลายกลับมาสู่ท่าเตรียม ให้ทำสลับข้างกันจนครบ 10 ครั้ง
- ท่าบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้อง อก สะโพก และช่วยขับน้ำคาวปลา ให้คุณแม่อยู่ในท่าคุกเข่า วางก้นที่ส้นเท้า ยกก้นขึ้นให้เข่าใกล้กับหน้าอกให้มากที่สุดจนเป็นท่าโก้งโค้ง เข่าทั้งสองข้างให้ห่างกันประมาณ 1 ฟุต หน้าอกจะต้องแนบกับพื้น (พยายามอย่ายกหน้าอก) แล้วพักอยู่ในท่านี้ประมาณ 2 นาที เมื่อเสร็จแล้วให้นอนคว่ำตัวราบกับพื้น ศีรษะไม่หนุนหมอน ให้น้ำหนักตัวตกอยู่ที่หน้าท้อง โดยใช้หมอนรองบริเวณหน้าท้อง 1 ใบเพื่อคลายความเมื่อย และให้นอนพักอยู่ในท่านี้ประมาณ 30 นาที ซึ่งท่านี้จะช่วยให้น้ำคาวปลาไหลออกดี และมดลูกกลับคืนสู่สภาพปกติได้เร็วขึ้น
- ท่าบริหารอุ้งเชิงกราน เป็นท่าที่ช่วยกระชับกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานให้หดตัวเร็วขึ้น โดยให้คุณแม่เริ่มต้นด้วยท่าคลานสี่ขา แยกขาห่างจากกันประมาณ 30 เซนติเมตร ใช้มือทั้งสองข้างยันพื้นไว้ แล้วค่อย ๆ เกร็งกล้ามเนื้อบริเวณทวารหนักเพื่อดึงกล้ามเนื้อเชิงกรานเข้ามา โค้งหลังให้สูงขึ้นเหมือนแมวกำลังทำท่าขู่ นิ่งในท่านี้สักครู่แล้วค่อยคลาย ในขณะที่คลายกล้ามเนื้ออย่าแอ่นหลังลง แล้วเริ่มต้นทำซ้ำอีกหลาย ๆ ครั้ง
- ท่าบริหารกล้ามเนื้อหลัง ให้คุณแม่ยืนหลังตรงแยกขาออกจากกันประมาณ 30 เซนติเมตร ประสานมือทั้งสองไว้ด้านหลัง ผ่อนคลายสบาย ๆ แล้วค่อย ๆ ก้มตัวลงอย่างช้า ๆ จนลำตัวขนานกับพื้น แล้วยกแขนที่ประสานอยู่ด้านหลังให้สูงที่สุด หายใจเข้า หายใจออกลึก ๆ 2-3 ครั้ง จึงเงยหน้าขึ้นอย่างช้า ๆ และทำซ้ำอีกหลายครั้ง
- ท่าบริหารกล้ามเนื้อช่องคลอด ในขณะที่นอนหรือนั่งให้คุณแม่ขมิบช่องคลอดหรือทวารหนักเหมือนกำลังถ่ายปัสสาวะแล้วหดทันที ให้ทำครั้งละ 5-10 นาที หรือขมิบให้ได้วันละ 200 ครั้ง ท่านี้เป็นท่าที่ไม่ต้องหาที่ทางหรือเปลี่ยนอิริยาบถมาทำครับ คุณแม่จึงสามารถทำได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะในขณะทำงาน ให้นมลูก หรือกำลังดูแลลูกน้อยอยู่ก็ทำได้ แถมท่านี้ยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในภายหลังได้อีกด้วยครับ
ส่วนคุณแม่ที่ผ่าคลอด ควรให้ร่างกายพักผ่อน 3-6 วันก่อน และต้องงดการออกกำลังกายแบบหักโหม หรือยกของหนักจนกว่าจะพ้นช่วง 6-8 สัปดาห์ไปแล้ว
ข้อควรระวังอย่างยิ่งคือ ห้ามออกกำลังกายในท่านอนคว่ำเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดภาวะลมอุดตันในเลือดได้
ไขข้อข้องใจเรื่องการกินยาสตรีหลังคลอดกันไปเรียบร้อยแล้ว ก็อย่าลืมดูแลสุขภาพตนเอง หมั่นสังเกตว่ามีความผิดปกติหรือไม่หลังคลอด และหากคุณแม่ยังสงสัยว่า ประจำเดือนหลังคลอดจะมาตอนไหน ก็สามารถติดตามอ่านต่อได้จากบทความด้านล่างนี้ได้เลย
ที่มาอ้างอิง https://medthai.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ปกติไหม ทำไมให้ลูกกินนมแม่แล้วประจำเดือนถึงไม่มา
เช็คเลย อาการผิดปกติหลังคลอด แบบนี้เรียกผิดปกติจริงไหม