100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 59 วิธีการสื่อสารกับลูกในท้อง
วันนี้ขอนำบทความเกี่ยวกับ วิธีการสื่อสารกับลูกในท้อง มาฝากคุณแม่กัน มาดูกันว่าจะมีวิธีไหนบ้างที่จะช่วยให้คุณแม่สื่อสารและพูดคุยกับลูกในท้อง
คงเป็นเรื่องปกติที่คุณแม่ตั้งครรภ์ทั้งหลายจะอยากจะหาวิธีพูดคุยและสื่อสารกับเจ้าหนูน้อยในท้อง วันนี้ theAsianparent Thailand ขอนำบทความเกี่ยวกับ วิธีการสื่อสารกับลูกในท้อง มาฝากคุณแม่กัน มาดูกันว่าจะมีวิธีไหนบ้างที่จะช่วยให้คุณแม่สื่อสารและพูดคุยกับลูกในท้อง แล้ววิธีดังกล่าวจะเสริมพัฒนาการลูกได้อย่างไรบ้าง
พัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์เสริมสร้างได้ง่าย ๆ นอกจากอาหารการกินและพฤติกรรมของคุณแม่ในช่วงตั้งท้องแล้ว การพูดคุย สัมผัส หรือหากิจกรรมต่าง ๆ เผื่อกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยก็เป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงอารมณ์ของคุณแม่ก็สำคัญเช่นกัน
จากการศึกษาทางการแพทย์พบว่าคุณแม่ที่อารมณ์ดีอยู่เสมอจะทำให้ร่างกายมีการหลั่งสารแห่งความสุขที่เรียกว่า เอนดอร์ฟิน (endorphin) ออกมาผ่านไปทางสายสะดือไปยังลูกทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีทั้งสมอง (IQ) และอารมณ์ (EQ) ในทางตรงกันข้ามคุณแม่ที่มีอารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย ร่างกายจะหลั่งสารแห่งความเครียดที่เรียกว่า อะดรีนาลิน (adrenalin) ออกมาผ่านไปยังลูก ผลดังกล่าวจะทำให้ลูกคลอดออกมาเด็กงอแง เลี้ยงยาก พัฒนาการช้า
วิธีการสื่อสารกับลูกในท้อง
- การเอาไฟฉายส่องท้อง
ลูกน้อยในครรภ์สามารถกระพริบตาเพื่อตอบสนองต่อแสงไฟที่กระตุ้นได้ตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 7 เดือน การส่องไฟที่หน้าท้องจะทำให้เซลล์สมองและเส้นประสาทส่วนรับภาพและการมองเห็นมีพัฒนาดีขึ้นและเตรียมพร้อมสำหรับการมองเห็นภายหลังคลอด การส่องไฟที่หน้าท้องไม่จำเป็นต้องไปเล็งว่าแสงจะเข้าตรงกับนัยน์ตาของลูกหรือไม่ คุณแม่บางคนมาขอให้หมอตรวจอัลตราซาวด์เพื่อหาตำแหน่งของนัยน์ตาลูก ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจจะมากเกินไป เอาแค่ให้ลูกรู้ว่ามีแสงส่องเข้ามาก็น่าจะพอแล้ว
- คุยกับลูกในท้อง
ทราบหรือไม่ว่า ลูกในท้องนั้น สามารถได้ยินเสียงของคุณได้ เพราะฉะนั้นการคุยกับลูกคือวิธีการที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่าง พูดกับลูกว่าคุณกำลังทำอะไร อยากจะโชว์อะไรให้ลูกดู ก็พูดได้เลย คุณอาจทำเสียงประหลาด เดินไปรอบ ๆ แล้วคุยกับตัวเอง เพราะลูกได้ยินเสียงคุณตั้งแต่อยู่ในท้อง และเมื่อลูกเกิดมา ลูกจะจำเสียงคุณได้ และรู้สึกถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นจากการพูดคุยของคุณ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมองได้อีกด้วย
- พูดคุยกับลูกในท้องบ่อย ๆ
ระบบประสาทการรับฟังของลูกน้อยจะเริ่มทำงานประมาณอายุครรภ์ 5 เดือน การใช้ช่วงเวลานี้ส่งเสียงผ่านไปถึงลูกในท้องด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล ใช้ประโยคซ้ำ ๆ จะช่วยให้ระบบประสาทและสมองที่ควบคุมการได้ยินมีพัฒนาการที่ดี เพราะทารกจะรู้จักเสียงต่าง ๆ ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์แล้ว
บางวันคุณแม่อาจจะใช้การเล่านิทาน หรือเล่าว่าวันนี้แม่รู้สึกดี ๆ กับลูกอย่างไร การพูดคุยกับลูกในท้องบ่อย ๆ จะเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการได้ยินหลังคลอด เมื่อทารกเกิดมาจะมีพัฒนาการทางด้านสมองและพร้อมสำหรับพัฒนาการด้านภาษาที่ดีกว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้คุยด้วย
- ลูบหน้าท้อง
การลูบท้องระหว่างตั้งครรภ์เป็นการกระตุ้นระบบประสาท ทุกสัมผัสที่เกิดขึ้นจะพัฒนาเส้นใยประสาทของสมองส่วนรับความรู้สึกของลูกให้มีพัฒนาการดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพ และความไวในการรับรู้ของทารก รวมถึงพัฒนาการทางด้านร่างกายที่ดีอีกด้วย จะสังเกตได้ว่าขณะที่แม่ลูบท้องหรือขยับตัวลูกในท้องก็จะมีปฏิกิริยาโต้ตอบหรือมีการเคลื่อนไหว เช่น ลูกจะขยับตัวไปตามบริเวณที่มือของคุณพ่อหรือคุณแม่ลูบไป ทำให้รู้สึกว่าลูกในท้องก็รับรู้ได้ถึงสัมผัสนี้ที่เป็นการส่งความรู้สึกผ่านหน้าท้องสู่ทารกในครรภ์โดยตรง ขณะเดียวกันการลูบท้องและพูดคุยกับลูกไปด้วย จะเป็นการสร้างความคุ้นเคยและความผูกพันระหว่างแม่ลูก ลูกจะคุ้นน้ำเสียงและได้รับความอบอุ่นจากแม่
- นวดลูก
แม่ใกล้คลอดมักชอบลูบคลำท้องเป็นเรื่องปกติ แต่บางครั้งคุณสามารถนวดให้ลูกด้วยเช่นกัน การนวดเบา ๆ ช่วยให้ผ่อนคลาย และลูกยังรู้สึกสัมผัสของแม่ได้ เมื่อคุณรู้สึกว่าลูกดิ้น คุณจะสังเกตได้ว่าลูกดิ้นตามสัมผัสของคุณ บางครั้งลูกจะดิ้นหากลูกไม่ต้องการให้รบกวน แต่ส่วนใหญ่ลูกจะขยับเข้ามาใกล้สัมผัสการนวดของคุณเสียมากกว่า
- อ่านหนังสือให้ลูกในท้องฟัง
การอ่านหนังสือและพูดคุยกับลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง จะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสและสร้างวงจรในสมองของลูกได้ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสมองกล่าวว่า เด็กจะมีความจำเกี่ยวกับคำและจะคุ้นชินกับคำและประโยคที่พ่อแม่อ่านให้ฟัง ยิ่งพ่อแม่มีการต่อยอดหลังจากลูกคลอดออกมา เด็กจะยิ่งมีพัฒนาการทางด้านภาษาที่ดีขึ้น และเรียนรู้ได้เร็วขึ้น
ทุกเสียงที่พ่อแม่อ่านเป็นคำ ๆ ให้ลูกฟังนั้นจะกระตุ้นสมองของลูก ทารกจะบันทึกและสร้างวงจรของคำศัพท์ต่าง ๆ เอาไว้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์” หนังสือที่จะอ่านเพื่อกระตุ้นสมองลูกให้ฉลาดได้ในช่วงนี้ คุณแม่ควรเลือกหยิบหนังสือนิทานที่สามารถอ่านให้ลูกฟังได้ตั้งแต่ในท้องจนถึงวัยเด็กเลย
การสื่อสารกับลูกจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการการได้ยินของลูก ช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางด้านการพูด ช่วยให้ลูกรู้สึกปลอดภัย และช่วยพัฒนาสมอง และประสาทสัมผัสทั้ง 5 อีกทั้งการที่คุณแม่คุยกับลูกในท้องเป็นประจำ จะช่วยให้ระบบประสาทและสมองที่ควบคุมการได้ยินมีพัฒนาการที่ดี และเตรียมพร้อมสำหรับการได้ยินหลังคลอด เมื่อทารกในครรภ์คลอดออกมาจะจดจำและคุ้นเคยกับเสียงของคุณแม่และคุณพ่อได้
- การฟังเพลง
คุณแม่สามารถเปิดเพลงฟังได้เรื่อย ๆ ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์เพื่อช่วยผ่อนคลายอารมณ์ของคุณแม่ไม่ให้หงุดหงิด เบื่อ หรือเกิดภาวะซึมเศร้าเอาได้ง่าย ๆ และสำหรับลูกน้อยในครรภ์ ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเปิดเพลงให้ลูกฟัง คืออายุครรภ์ตั้งแต่ 5 เดือนเป็นต้นไป เพราะเป็นช่วงที่พัฒนาการระบบประสาทการรับฟังของทารกในครรภ์เริ่มก่อตัวขึ้นมาแล้ว ซึ่งการกระตุ้นโดยการเปิดเพลงให้ลูกได้ฟัง จะเป็นตัวช่วยที่ทำให้คุณแม่สามารถรับรู้ได้ว่าลูกในท้องตื่นตัวหลังจากได้ฟังเพลงหรือไม่ โดยสังเกตจากการดิ้นของลูกได้
theAsianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น theAsianparent Thailand ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งาน เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุดและผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก theAsianparent Thailand เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง เพราะเราเชื่อว่า “พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง”
Source : si.mahidol.ac.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
กิจกรรมเล่นกับลูกให้ฉลาด กระตุ้นพัฒนาการทารก วิธีเสริมพัฒนาการลูกน้อยวัยทารก เล่นกับลูกให้ฉลาด
เลี้ยงลูกกับน้องหมาด้วยกันได้ไหม? สุนัขกับทารก มีผลดีหรือผลเสียอย่างไรบ้าง?