วัคซีนป้องกันบาดทะยัก สำคัญอย่างไรเมื่อตั้งครรภ์

คุณแม่ท้องจำเป็นต้องฉีด วัคซีนป้องกันบาดทะยัก ขณะตั้งครรภ์เพื่อลดความเสี่ยงของโรคบาดทะยักในเด็กแรกเกิด ที่อาจทำให้ทารกพิการทางสมอง หรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ทำไมต้องฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักระหว่างตั้งครรภ์

โรคบาดทะยักในทารกแรกเกิด มักเกิดจากการตัดสายสะดือด้วยอุปกรณ์ที่ไม่สะอาด ซึ่งพบบ่อยในชนบท เช่น การใช้ไม้ไผ่ หรือมีดทำครัวตัดสายสะดือ รวมถึงการพอกสะดือด้วยยาพื้นบ้าน หรือใช้ยาผงโรย ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนเชื้อบาดทะยัก ทำให้เชื้อเข้าสู่แผลรอยตัดสายสะดือ และเข้าสู่กระแสเลือดของทารกแรกเกิดได้

แม้ในปัจจุบัน คุณแม่ส่วนใหญ่จะทำคลอดในโรงพยายาลซึ่งใช้เครื่องมือปลอดเชื้อร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เพื่อป้องกันกรณีคุณแม่คลอดฉุกเฉิน ที่บ้าน หรือระหว่างทางไปโรงพยาบาล หากอุปกรณ์ที่ใช้ตัดสายสะดือไม่สะอาด ลูกอาจติดเชื้อบาดทะยักได้

หรือแม้แต่คุณแม่คลอดในโรงพยาบาลด้วยเครื่องมือที่สะอาดปลอดภัยแล้ว แต่กลับบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ นำมายาพื้นบ้านหรือยาใดๆ มาโรยสะดือลูกก็อาจติดเชื้อบาดทะยักได้เช่นกัน

เพื่อเป็นการป้องกันสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อบาดทะยักให้กับลูกน้อย จึงคุณแม่ท้องจึงควรฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักระหว่างตั้งครรภ์ค่ะ

อาการของโรคบาดทะยักในทารกแรกเกิด

โรคบาดทะยักในทารกแรกเกิดอาการมักจะเริ่มเมื่อทารกอายุประมาณ 3-10 วัน อาการแรกที่จะสังเกตได้คือ ลูกดูดนมลำบาก หรือไม่ค่อยดูดนม ทั้งนี้เพราะมีขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ ต่อมาลูกจะดูดไม่ได้เลย หน้ายิ้มแสยะ อาจร้องครางต่อมาจะมีมือ แขน และขาเกร็ง หลังแข็งและแอ่น ถ้าเป็นมากจะมีอาการชักกระตุกและหน้าเขียว อาการเกร็งหลังแข็งและหลังแอ่นนี้จะเป็นมากขึ้น ถ้ามีเสียงดังหรือเมื่อจับต้องตัวลูก อาการเกร็งชักกระตุกถ้าเป็นถี่ๆ มากขึ้น จะทำให้หน้าเขียวมากขึ้น ทำให้เป็นอันตรายถึงตายได้เพราะขาดออกซิเจน แต่หากไม่เสียชีวิตก็อาจพิการทางสมอง หรือปัญญาทึบในภายหลังได้

ทำอย่างไรหากลูกมีอาการดังกล่าว

การปฏิบัติก่อนที่จะนำไปพบแพทย์ ถ้าสังเกตว่าลูกไม่ดูดนมและไม่อ้าปากแสดงว่ามีขากรรไกรแข็ง อย่าพยายามฝืนหรือกรอกนม เพราะอาจจะทำให้สำลักนมเข้าทางเดินหายใจ ทำให้ขัดขวางทางเดินหายใจอาจถึงตายได้ทันที หรืออาจทำให้เกิดปอดอักเสบได้ ควรหลีกเลี่ยงการจับต้องตัวโดยไม่จำเป็น และอย่าให้มีเสียงดังรบกวนเพราะจะทำให้ชักเกร็งมากขึ้นได้

บทความแนะนำ สำลักนมในเด็กเล็กอันตรายที่คาดไม่ถึง

การป้องกันบาดทะยักในทารกแรกเกิด

  1. การคลอดและตัดสายสะดือโดยถูกต้อง สะอาด ด้วยกรรไกร หรือมีดที่สะอาดผ่านการฆ่าเชื้อมาอย่างดี โดยการต้มในน้ำเดือดปุด ๆ 20 นาที
  2. รักษาความสะอาดของสะดือโดยการเช็ดด้วย alcohol 70 % เช็ดวันละ 1-2 ครั้ง ห้ามใช้แป้งหรือผงยาต่างๆ โรยสะดือ ไม่ควรห่อหุ้มพันท้อง หรือปิดสะดือ
  3. การฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักขณะตั้งครรภ์ จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน

เข็มที่ 1 ฉีดในระยะตั้งครรภ์เดือนไหนก็ได้

เข็มที่ 2 ฉีดก่อนคลอดอย่างน้อย 1 เดือน

เมื่อฉีดวัคซีนให้แม่นั้น ร่างกายของแม่ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันโรคขึ้นในกระแสเลือดและส่งให้ลูกทางสายสะดือ ลูกก็จะได้รับภูมิคุ้มกันนี้มาอยู่ในตัวนานถึง 3 ปี  แต่เพื่อให้แน่ใจว่าระดับภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูงและอยู่นาน ในปัจจุบันจึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักเข็มที่ 3 ด้วย

เข็มที่ 3 ฉีดหลังจากเข็มที่สอง 6-12 เดือน

การได้รับวัคซีนสามครั้ง จะทำให้ระยะภูมิคุ้มกันอยู่ได้นาน 5-10 ปี

ในกรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง คุณหมอจะดูประวัติการรับวัคซีนของคุณแม่ก่อน หากคุณแม่ได้รับวัคซีนบาดทะยักครบสองเข็มในท้องแรกแล้ว คุณแม่อาจได้รับวัคซีนกระตุ้นภูมิเพียงเข็มเดียวในท้องที่สอง แต่หากท้องสองห่างจากท้องแรกนานมากๆ คุณหมออาจให้คุณแม่ฉีดวัคซีนทั้งสองเข็มอีกรอบหนึ่งค่ะ

ที่มา www.boe.moph.go.th, www.doctor.or.th

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

วัคซีนที่จำเป็นสำหรับแม่ตั้งครรภ์

ฉีดวัคซีนหัดเยอรมันก่อนตั้งครรภ์กันไว้ดีกว่าแก้

TAP mobile app

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!