ท้องมาตั้งนาน ลูกในท้องโตช้า ทำไงดี แล้วจะรู้ได้ไงว่าลูกในท้องโตช้า
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกในท้องโตช้า สาเหตุที่ลูกในท้องโตช้า เป็นเพราะอะไร จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าลูกในท้องโตช้า คลอดธรรมชาติได้ไหม หรือต้องผ่าคลอด แล้วจะดูแลตัวเองอย่างไร ถ้าลูกในท้องโตช้า
ลูกในท้องโตช้า
ลูกในท้องโตช้า หรือ ภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ คือ การที่ทารกในครรภ์ไม่สามารถเจริญเติบโตหรือมีพัฒนาการอย่างที่ควรจะเป็น ทารกบางคนอาจจะมีน้ำหนักน้อยเมื่อเทียบกับทารกที่เจริญเติบโตตามปกติ อย่างไรก็ตาม การที่ทารกในครรภ์ตัวเล็ก น้ำหนักน้อย ก็ไม่ได้หมายความว่าทารกทุกคนจะเจิญเติบโตช้าในครรภ์ทั้งหมด เพราะบางครั้ง การที่พ่อแม่ตัวเล็ก ก็อาจมีผลทำให้ทารกตัวเล็กตามไปด้วยได้เหมือนกัน
ลูกในท้องโตช้าเพราะอะไร
สาเหตุที่ทำให้ลูกในท้องโตช้า มาจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ดังนี้
1. เกิดจากความผิดปกติของแม่ท้อง
ลูกในท้องโตช้า อาจเป็นผลมาจากการที่มารดาน้ำหนักตัวน้อย ขาดอาหารก่อนหรือในขณะตั้งครรภ์ หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจทำงานผิดปกติ ทำให้การลำเลียงออกซิเจนส่งไปยังลูกไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ ในกรณีที่แม่ท้องดื่มเหล้า ก็อาจทำให้ทารกในครรภ์โตช้า มีความผิดปกติ หรือพิการ และหากสูบบุหรี่ตอนท้อง ก็จะมีผลทำให้รกเสื่อมเร็วได้
2. เกิดจากความผิดปกติของทารก
มีโครโมโซมผิดปกติ เช่นกลุ่มดาวน์ซินโดรม หรือมีความพิการแต่กำเนิดที่ทำให้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่
อีกทั้งยังเกิดจากครรภ์แฝด โดยเฉพาะแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียว ที่มีการเชื่อมต่อผิดปกติของหลอด เลือด ทำให้มีการถ่ายเทเลือดระหว่างเด็กแฝดผิดปกติ ทำให้การเจริญเติบโตของเด็กแฝดผิดปกติได้
3. เกิดจากความผิดปกติของรก มดลูก และสายสะดือ
การที่มดลูกมีรูปร่างผิดปกติ ทำให้ทารกเจริญเติบโตได้ไม่ดี หรืออาจเกิดจากการที่รกเสื่อม รกลอกตัวบางส่วน รกเกาะต่ำ หรือสายสะดือพันกัน ก็อาจทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกไม่เพียงพอ จึงทำให้ทารกเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกในท้องโตช้า
การที่จะทราบได้ว่าลูกในท้องโตช้าหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่สังเกตได้ค่อนข้างยาก นอกเสียจากว่าลูกในท้องเจริญเติบโตน้อยมาก ซึ่งแม่ท้องก็อาจสังเกตได้ว่าขนาดครรภ์ไม่โตขึ้น หรือยอดมดลูกไม่สูงขึ้น หรือน้ำหนักตัวของแม่ท้องไม่เพิ่มขึ้น
เนื่องจากเป็นเรื่องที่สังเกตยาก แม่ท้องจึงอาจจะต้องเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจครรภ์ ซึ่งคุณหมอก็จะทำการวินิจฉัยภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ ด้วยการวินิจฉัยความเสี่ยงว่ามีโอกาสที่ทารกในครรภ์โตช้าหรือไม่ จากการสอบถามประวัติเช่น
- แม่ท้องมีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องหรือไม่
- เป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรกหรือไม่
- คุณแม่ตั้งครรภ์ก่อนอายุ 19 ปีหรือไม่
- คุณแม่ตั้งครรภ์มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปหรือไม่
- คุณแม่ตั้งครรภ์มากกว่า 5 ครั้งขึ้นไปหรือไม่
นอกจากการสอบถามประวัติ เพื่อวินิจฉัยความเสี่ยงถึงภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์แล้ว คุณหมอจะทำการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการอื่น ๆ ด้วย เช่น
- อัลตราซาวนด์ เพื่อวัดขนาดของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ ความกว้างของศีรษะ เส้นรอบวงศีรษะ เส้นรอบท้อง ความยาวกระดูกต้นขา เพื่อวินิจฉัยว่าทารกในครรภ์อยู่ในภาวะโตช้าหรือไม่
- ตรวจร่างกาย ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เพื่อตรวจดูว่าขนาดของครรภ์สัมพันธ์กับอายุครรภ์หรือไม่
- ตรวจเลือด เพื่อตรวจดูการติดเชื้อ และภาวะซีด
- วัดความสูงยอดมดลูก
- ตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ เช่น ตรวจคลื่นหัวใจทารก ตรวจการไหลเวียนของเลือด เป็นต้น
จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าลูกในท้องโตช้า
อันตรายจากการที่ลูกในท้องโตช้ามีหลายระดับ ตั้งแต่ไม่ค่อยรุนแรง ไปจนถึงระดับรุนแรงมากจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ลูกในท้องโตช้า เช่น
- หากเกิดจากรกเสื่อม หรือแม่มีความความดันโลหิตสูง ตั้งครรภ์เกินกำหนด หรือทารกมีภาวะขาดออกซิเจนไม่นาน หากรักษาได้ทันท่วงที และเมื่อคลอดออกมาแล้วได้รับสารอาหารที่เพียงพอ เด็กก็จะสามารถเติบโตได้ดีเป็นปกติเหมือนเด็กทั่วไป
- หากเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม ทารกอาจมีชีวิตหลังคลอดหรือเสียชีวิตหลังคลอด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความผิดปกตินั้น
- หากเกิดจากการติดเชื้อตั้งแต่ในครรภ์ อาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิดได้
- หากเกิดจากทารกได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ น้ำคร่ำน้อย หรือไม่มีน้ำคร่ำ อาจส่งผลให้ทารกพิการ ติดเชื้อ หรือเสียชีวิตได้
ถ้าลูกในท้องโตช้า คลอดธรรมชาติได้ไหม หรือต้องผ่าคลอด
โดยทั่วไปแล้ว หากทารกไม่มีอาการผิดปกติ คุณหมอมักจะพิจารณาให้คลอดธรรมชาติทางช่องคลอด เพราะทารกน้ำหนักตัวน้อย จะคลอดได้ง่าย แต่หากทารกมีภาวะผิดปกติ เช่น ขาดออกซิเจนเรื้อรัง หรือกรณีมีปริมาณน้ำคร่ำน้อย เมื่อเวลามดลูกหดรัดตัวจะทำให้สายสะดือถูกกด ทารกจะขาดออกซิเจนเพิ่มขึ้น คุณหมอก็อาจจะต้องใช้วิธีผ่าคลอด
ดูแลตัวเองอย่างไร ถ้าลูกในท้องโตช้า
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด
- กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม
- งดทำงานหนัก และพักผ่อนให้เพียงพอ
- สังเกตและจดบันทึกการดิ้นของลูก นับลูกดิ้นในเวลา 12 ชั่วโมง ลูกควรจะดิ้น ไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง
- ไปพบคุณหมอเพื่อตรวจครรภ์ตามนัดเสมอ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ท้องแข็งแบบต่างๆ แยกอย่างไร ลูกโก่งตัว แค่กินอิ่ม หรือใกล้คลอดแล้ว
เจ็บท้องหลอก ต่างจากเจ็บท้องจริงอย่างไร เจ็บแบบไหนใกล้คลอด
วิธีนับลูกดิ้น นับอย่างไร ถึงจะรู้ว่าลูกปลอดภัย ไม่เสียชีวิตในครรภ์