ทารก 3 เดือนถึง 2 ปี วัยเสี่ยงโรคลำไส้กลืนกัน ลูกตายได้ ถ้าแม่ไม่สังเกตอาการ จะรักษาไม่ทัน
อาการแบบนี้ ลูกเสี่ยงลำไส้กลืนกัน พ่อแม่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด หากลูกมีอาการผิดปกติ ต้องรีบปรึกษาหมอ วิธีสังเกตอาการ โรคลําไส้กลืนกัน ในทารก การรักษาโรคลําไส้กลืนกัน
ลูกเป็นโรคลําไส้กลืนกัน
เรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ลูกเป็นโรคลําไส้กลืนกัน ภัยเงียบที่พ่อแม่ต้องรู้ หัดสังเกตอาการลูกน้อย ก่อนจะสายเกินไป เพราะเด็กในวัยทารก ตั้งแต่ลูกอายุ 3 เดือน ถึง 2 ปี ถือเป็นวัยที่เสี่ยงที่สุด
โรคลําไส้กลืนกัน ในทารก
พญ.ลั่นทม ตันวิเชียร กุมารศัลยศาสตร์ ศูนย์กุมารเวชกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า โรคลําไส้กลืนกัน ในทารก หรือ Intussusception เป็นภาวะที่ลำไส้ส่วนต้นมุดเข้าสู่โพรงของลำไส้ส่วนที่อยู่ถัดไปทางด้านปลาย โรคอันตรายเป็นภาวะฉุกเฉินต้องรักษาอย่างรวดเร็ว ให้ทันท่วงที ด้วยวิธีรักษาที่ถูกต้อง
หากลำไส้กลืนกันนาน ๆ จะเกิดอะไรขึ้น
เมื่อลำไส้กลืนกันเป็นเวลานาน จะเกิดภาวะลำไส้ขาดเลือดจนเกิดการเน่า ลำไส้แตกทะลุ และเยื่อบุช่องท้องอักเสบ รวมทั้งติดเชื้อในกระแสเลือดและอาจจะเสียชีวิตได้ สำหรับกลุ่มเสี่ยงคือ ทารกวัย 3 เดือน จนถึงเด็กเล็กวัย 2 ปี จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด ซึ่งจะเป็นชนิดกลืนกันแบบมีการมุดตัวของลำไส้เล็กส่วนปลายเข้าสู่โพรงลำไส้ใหญ่ส่วนต้น Ileocolic Type
วิธีสังเกตโรคลําไส้กลืนกัน
เพราะทารกไม่สามารถบอกเล่าอาการ หรือความเจ็บป่วยได้ ดังนั้น พ่อแม่ต้องเป็นผู้สังเกตอาการของลูกน้อย หากมีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ พ่อแม่ต้องรีบพาลูกมาตรวจอย่างละเอียดกับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ
- ทารกมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเกร็ง พบอาการปวดท้อง
- ลูกร้องไห้เป็นพัก ๆ ประมาณ 15-30 นาทีก็เริ่มร้องอีก เวลาที่ร้องไห้ลูกจะงอเข่าขึ้นทั้งสองข้าง Colicky pain
- ทารกท้องอืดและอาเจียน ช่วงแรก ๆ มักจะแหวะเป็นนม หรืออาเจียนอาหารที่ลูกกินเข้าไป แต่ระยะหลังจะมีสีเหลืองหรือเขียวของน้ำดีปนออกมา
- สังเกตสีอุจจาระทารก หากลูกอึเป็นสีคล้ำ อุจจาระมีเลือดคล้ำ ๆ ปนเมือก ให้ระวังไว้เลย
เด็กบางคนอาจจะมีอาการซึมหรือชักร่วมด้วย
ลําไส้กลืนกัน การพยาบาล หรือการรักษา
- วิธีแรก คือ การดันลำไส้ส่วนที่ถูกกลืนให้ออกมาจากลำไส้ส่วนที่กลืนกันอยู่ โดยการใช้แรงดันผ่านทางทวารหนัก ซึ่งอาจจะใช้การสวนลำไส้ใหญ่ด้วยสารของเหลวที่เป็นสารทึบรังสี barium หรือใช้ก๊าซเป็นตัวดัน ถ้ากระบวนการสวนลำไส้ใหญ่สามารถดันลำไส้ที่กลืนกันออกได้สำเร็จ ก็ไม่จำเป็นจะต้องผ่าตัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถรับประทานอาหารได้ภายใน 1-2 วัน
- วิธีที่สอง คือ การผ่าตัดเปิดช่องท้อง ในการผ่าตัดนั้นศัลยแพทย์จะใช้มือบีบดันให้ลำไส้ส่วนที่กลืนกันคลายตัวออกจากกัน มีเพียงผู้ป่วยส่วนน้อยที่มีการเน่าหรือมีการแตกทะลุของลำไส้แล้ว ซึ่งในกรณีเช่นนี้จำเป็นจะต้องตัดลำไส้ส่วนที่เน่าตายออกและทำการต่อลำไส้ส่วนที่ดีเข้าหากัน กลุ่มนี้จะรุนแรงและให้การดูแลรักษาแบบกลุ่มลำไส้อุดตัน นอนในโรงพยาบาลนาน และมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่า
ที่มา : https://www.bangkokhospital.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สุดสงสาร ทารกเกิดมาพร้อมโรคประหลาด แม่กลุ้มใจไม่มีเงินรักษา
ลูกแรกเกิดเป็นสิว ทารกเป็นตุ่มหนอง แม่ใช้อะไรทาได้ไหม หรือปล่อยให้หายเอง
วิธีไล่ลมในท้องทารก แก้อาการท้องอืดแบบง่าย ๆ
พัฒนาการลูก เห็น ได้ยิน พูด ลูกมองเห็นตอนกี่เดือน ทารกได้ยินตอนกี่เดือน ทารกพูดได้ตอนกี่เดือน