ลูกมีไข้สูงไม่ทราบสาเหตุ อาจเกิดจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
คุณแม่พาน้องยู อายุ 2 ปีมาพบหมอด้วยอาการไข้สูง โดยไม่มีอาการอื่นมา 3 วันเต็มๆ ยิ่งช่วงนี้ไข้เลือดออกระบาด คุณแม่กลัวว่าจะเป็นไข้เลือดออก หมอได้ตรวจน้องแล้วจึงขอทำการเจาะเลือด และตรวจปัสสาวะเพื่อหาสาเหตุของไข้ คุณแม่สงสัยว่าเพราะเหตุใดจึงต้องตรวจปัสสาวะ หมอได้อธิบายให้เข้าใจว่า ไข้สูงไม่ทราบสาเหตุในเด็กเล็ก อาจเกิดจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ เมื่อผลตรวจปัสสาวะออกมาก็คาดว่าน้องยูมีไข้สูงในครั้งนี้เนื่องจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะค่ะ
ระบบทางเดินทางเดินปัสสาวะประกอบด้วยอะไรบ้าง?
ทางเดินปัสสาวะประกอบด้วย ส่วนของไต 2 ข้าง ได้แก่ เนื้อไต ท่อไตและกรวยไต ซึ่งเป็นทางเดินปัสสาวะส่วนบน ไล่ลงมาคือกระเพาะปัสสาวะ และ ท่อปัสสาวะ ซึ่งเป็นทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง
ไตทำหน้าที่กรองของเสียออกในรูปปัสสาวะ นำออกท่อไต ไป กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ
การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ในสภาวะปกติปัสสาวะไม่มีเชื้อโรค การติดเชื้อเกิดขึ้นเมื่อมีเชื้อแบคทีเรียจากทางเดินอาหาร หรือจากอุจจาระ เดินทางมายังท่อปัสสาวะ แล้วลุกลามต่อเข้ากระเพาะปัสสาวะ ก็จะเกิด “กระเพาะปัสสาวะอักเสบ” หากเชื้อลามขึ้นไปยังเข้าท่อไต และกรวยไตทำให้เกิด “กรวยไตอักเสบ”
โดยปัจจัยที่ทำเกิดเชื้อแบคทีเรียเดินทางมายังทางเดินปัสสาวะข้างต้น ในเด็ก มักเกิดจาก การทำความสะอาดหลังขับถ่ายไม่ถูกวิธี การกลั้นปัสสาวะ และความผิดปกติแต่กำเนิดของระบบทางเดินทางเดินปัสสาวะ
อาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเป็นอย่างไร?
อาการของอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะแบ่งได้ 2 แบบ ตามตำแหน่งที่มีการติดเชื้อ ดังนี้
1. การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะส่วนบน เรียกว่า “โรคกรวยไตอักเสบ” อาการในเด็กโตจะมีไข้สูง ปวดบั้นเอว ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะแสบขัด คลื่นไส้อาเจียน แต่ในเด็กเล็กมักมีไข้สูง งอแง ทานน้อยลง โดยไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆที่จำเพาะเจาะจงเหมือนเด็กโต จึงมักมาพบคุณหมอด้วยอาการไข้สูงไม่ทราบสาเหตุ นั่นเองค่ะ
2. การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะส่วนบนล่าง เรียกว่า “โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ” เด็กจะมีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด กระปริบกระปรอย กลั้นปัสสาวะไม่ได้ เมื่อดูลักษณะปัสสาวะจะพบว่าสีขุ่น ถ้าเป็นมากๆอาจมีเลือดปนได้
การวินิจฉัยการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะทำได้อย่างไร?
หากลูกมีอาการที่เข้าได้กับการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะดังข้างต้น หรือ มีไข้ไม่ทราบสาเหตุ คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปพบคุณหมอ เพื่อรับการตรวจปัสสาวะและเพาะเชื้อปัสสาวะ หากมีการติดเชื้อจะพบเม็ดเลือดขาว หรือเชื้อแบคทีเรียในปัสสาวะ และเพาะเชื้อพบแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ
นอกจากนี้ในผู้ป่วยเด็กที่มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและมีข้อบ่งชี้บางประการ เช่น มีการติดเชื้อซ้ำ เป็นโรคกรวยไตอักเสบ หรือติดเชื้อในกระแสเลือด คุณหมออาจพิจารณาส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม ได้แก่ การตรวจอัลตร้าซาวนด์ การสแกนไต หรือ การใส่สายสวนเพื่อตรวจหาภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับ เพื่อมองหาความผิดปกติของระบบทางเดินทางเดินปัสสาวะ
คุณหมอจะรักษาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะอย่างไร?
คุณหมอจะรักษาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะโดย การให้ยาปฏิชีวนะ ที่เหมาะสมกับเชื้อแบคทีเรีย
ถ้าผู้ป่วยมีไข้สูงจากโรคกรวยไตอักเสบ ทานยาไม่ได้ หรือมีอาการขาดน้ำ จะได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ด้วยยาปฏิชีวนะผ่านทางหลอดเลือดดำ แต่ถ้าเป็นเพียงกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ไม่มีไข้ อาการไม่รุนแรง จะได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานที่บ้านได้
เราสามารถป้องกันการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะในเด็กได้อย่างไร?
การติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะสามารถป้องกันได้โดย เช็ดทำความสะอาดหลังถ่ายหรือปัสสาวะให้ถูกวิธี เช็ดจากด้านหน้าไปหลัง ไม่ควรเช็ดย้อนขึ้นเพราะจะนำเชื้อจากทางทวารหนักเข้ามาสู่ทางเดินปัสสาวะ, เด็กเล็กที่ใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปควรเปลี่ยนบ่อยๆ, เด็กที่ฝึกเข้าห้องน้ำแล้ว ควรลดการใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปลง, ไม่กลั้นปัสสาวะ, ป้องกันไม่ให้ท้องผูก, ดื่มน้ำมากๆ และปัสสาวะให้เป็นเวลานะคะ
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
ประสบการณ์ตรง: ลูกชายวัย 5 เดือนป่วยเป็นโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ