ฤกษ์คลอด นับเวลาไหน วินาทีจรดมีดหรือเมื่อทารกออกจากท้อง

undefined

ฤกษ์คลอด นับเวลาไหน วินาทีจรดมีดหรือตอนทารกออกจากท้อง เรื่องเล่าจากในห้องคลอดจากปากหมอสูติ

ฤกษ์คลอด นับเวลาไหน วินาทีจรดมีดหรือเมื่อทารกออกจากท้อง

ฤกษ์คลอด นับเวลาไหน  โดยหลักโหราศาสตร์ เวลาเกิดมีความสำคัญนับตั้งแต่โบราณกาลมา ในประเทศไทยเองก็มีความรู้ ความเชื่อ แนวทางปฏิบัติกันอยู่ซึ่งเปลี่ยนไปตามยุคสมัย การคลอดด้วยวิธีธรรมชาติโดยผ่านทางช่องคลอดจะไม่สามารถกำหนดเวลาเกิดที่แน่นอนได้ เนื่องจากการคลอดนั้นต้องเป็นไปตามระยะและกลไกการคลอดของทารกเอง

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการใช้ยาช่วยเร่งคลอดได้โดยผู้ป่วยไม่ได้เจ็บครรภ์เอง จึงพอกำหนดวันที่คลอดได้คร่าว ๆ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ให้คลอดหรือไม่ เช่น ภาวะน้ำคร่ำน้อย ภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ หากมีข้อบ่งชี้ให้ผ่าตัดคลอดบุตร เช่น ทารกอยู่ผิดท่ามีก้นเป็นส่วนนำ ก็สามารถกำหนดวันผ่าตัดคลอดได้

ในต่างประเทศเองจะเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยเลือกได้ว่าอยากคลอดเองทางช่องคลอด หรือผ่าตัดคลอดบุตรผ่านทางหน้าท้อง ซึ่งสูติแพทย์จะให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วย ข้อดี ข้อเสียของแต่ละวิธีว่ามีอะไรบ้าง แล้วให้ผู้ป่วยตัดสินใจเลือก ทั้งนี้ เนื่องจากมีปัญหาการฟ้องร้องที่มากขึ้นนั่นเอง เวลาคลอดบุตรเองทางช่องคลอด แล้วมีภาวะแทรกซ้อนต่อทารก ผู้ป่วยมักจะตั้งข้อสังเกตุว่าทำไมแพทย์จึงไม่ผ่าตัดคลอดบุตรให้นั่นเอง

ฤกษ์คลอด ควรเลือกวิธีการผ่าตัดคลอดบุตร

ในบริบทของประเทศไทยเองก็อาจจะให้ผู้ป่วยเลือกช่องทางคลอดได้ ว่าจะผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องหรือเบ่งคลอดเองทางช่องคลอดได้ในโรงพยาบาลเอกชนที่มีความพร้อมทั้งบุคคลากรและเครื่องมือทางการแพทย์ ทั้งนี้บางแห่งอาจจะคิดค่าบริการเพิ่มเติมในกรณีที่เลือกฤกษ์ที่อยู่นอกเวลาทำการของโรงพยาบาล วันที่มักได้รับความนิยม เช่น วันพ่อ วันแม่ วันปีใหม่ วันวาเลนไทน์ เป็นต้น

การกำหนดเวลาและวันที่ผ่าตัด ควรต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ด้วยว่ามีความปลอดภัยทั้งผู้ป่วยและทารกเอง ยกตัวอย่างเช่น อยากให้ลูกคลอดก่อน วันที่ 16 พฤษภาคม เนื่องจากไม่อยากให้ลูกเรียนช้าไปอีก 1 ปี แต่ต้องคำนึงด้วยว่าครรภ์ครบกำหนดหรือไม่ ทารกมีความสมบูรณ์พร้อมที่จะคลอดแล้วหรือไม่ด้วย มิเช่นนั้นหากตามใจผู้ป่วยอาจผ่าตัดได้ทารกคลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักตัวน้อย ส่งผลให้มีภาวะแทรกซ้อนของทารกตามมาได้

ในทางปฏิบัติหากได้ฤกษ์คลอดมาควรเลือกวิธีการผ่าตัดคลอดบุตรเป็นหลัก เนื่องจากสามารถกำหนดเวลาที่แน่นอนได้นั่นเอง ยกเว้นกรณีดูเพียงว่าเป็นช่วงเวลาหรือเป็นวันที่นั้น ๆ ก็สามารถใช้วิธีเร่งให้เจ็บครรภ์คลอดแทน ทั้งนี้โดยต้องคำนึ่งถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ

อ่าน ฤกษ์คลอด นับเวลาไหน วินาทีจรดมีดหรือเมื่อทารกออกจากท้อง ต่อหน้าถัดไป

เวลาเกิดกำหนดกันอย่างไร

ปกติการกำหนดเวลามีการแบ่งโซนตามหลักสากล หากขณะนี้กรุงเทพฯ เป็นเวลา 8.00 น. แต่ที่เกาหลีซึ่งมีเวลาเร็วกว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง จะเป็นเวลา 10.00 น. ซึ่งความเจริงเป็นเวลาเดียวกันแต่คนละโซนเวลาเท่านั้น นั่นหมายถึงโซนของเวลามีผลต่อฤกษ์เกิดด้วยนั่นเอง

เมื่อทารกคลอดผ่านผนังหน้าท้องออกมาแยกจากมารดาโดยสมบูรณ์แล้ว จึงขานเวลาเกิดเป็นระบบสากล โดยขานเวลาเป็นชั่วโมงและนาทีเท่านั้น ทั้งที่ยังไม่ได้ตัดสายสะดือ

ดังนั้นฤกษ์ดังกล่าวไม่ใช่ฤกษ์การลงมีดผ่าตัด แต่เป็นฤกษ์คลอดบุตรซึ่งสูติแพทย์ต้องใช้ความชำนาญในการกำหนดเวลาให้เหมาะสม

  • เริ่มตั้งแต่วิสัญญีแพทย์ผู้ทำการบล็อคหลัง หรือให้การดมยาสลบซึ่งใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที
  • และเผื่อเวลาการลงมีดผ่าตัดจนสามารถเข้าถึงโพรงมดลูกและล้วงเด็กทารกออกมาได้อีกประมาณ 5-10 นาทีแล้วแต่ความยากง่ายของการผ่าตัด เป็นต้น
  • ดังนั้นจำเป็นต้องเผื่อเวลาเข้าห้องผ่าตัดก่อนที่จะถึงฤกษ์คลอดอย่างน้อย 30-40 นาทีนั่นเอง
  • อย่างไรก็ตามเคยพบเห็นบางกรณีมีการคลาดเคลื่อนของเวลาได้ แต่จะยึดถือนาฬิกาที่แขวนอยู่ในห้องผ่าตัดนั้นเป็นหลัก

การกำหนดฤกษ์คลอดมีทั้งข้อดี คือ ได้ฤกษ์ที่ตนต้องการ มีความสะดวกในเรื่องกำหนดเวลาที่แน่นอน สามารถวางแผนการมาโรงพยาบาลได้ แต่มีข้อเสียที่สำคัญคือ ทำให้ต้องผ่าตัดคลอดบุตรซึ่งโดยรวมถือว่ามีความเสี่ยง มีภาวะแทรกซ้อนมากกว่าการคลอดเองทางช่องคลอด และเป็นฤกษ์คลอดที่ถูกกำหนดขึ้นมาตามตำรา ไม่ใช่ฤกษ์คลอดที่แท้จริงตามธรรมชาตินั่นเอง

สรุป ท่านจะกำหนดฤกษ์คลอดของลูกหรือไม่ขึ้นกับดุลยพินิจของท่านเอง แต่ให้อยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยเป็นสำคัญ

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

10 ภาพเบื้องหลังการผ่าคลอดที่สวยงามมากกว่าน่ากลัว

เตรียมตัวอย่างไรเมื่อต้องไปผ่าคลอด

 

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!