ยาเด็ก เก็บอย่างไร ใช้ได้นานแค่ไหน ถึงปลอดภัยกับลูกรัก
การเก็บรักษายาสำคัญกว่าที่คิด ถ้ายาเด็กที่ใช้กับลูกหมดอายุไปแล้ว และไม่สังเกตให้ดี ระวังลูกจะเป็นอันตรายถึงชีวิต
พ่อแม่บางคนไม่ค่อยได้ใส่ใจ หรือคิดไม่ถึงว่า ยาที่เคยเปิดทิ้งไว้นั้น หมดอายุไปหรือยัง แล้วนำมาใช้กับลูก โดยไม่ทันได้สังเกต ซึ่งเสี่ยงต่อสุขภาพลูกน้อย ทั้งยังอันตรายถึงชีวิต แม้ว่ายาจะถูกใช้เพื่อการรักษาโรค แต่หากตัวยาเสื่อมคุณภาพแล้ว เมื่อพ่อแม่นำมาป้อนให้ลูก นอกจากอาการเจ็บป่วยที่มีอยู่จะไม่หายไป ยังส่งผลทำให้อาการที่เป็นอยู่นั้นรุนแรงกว่าเดิมได้อีก เรามาดูกันดีกว่าว่า ยาเด็ก เก็บอย่างไร และสามารถใช้ได้นานแค่ไหน
การเก็บรักษายาเด็กแต่ละประเภท
การเก็บรักษายาเด็ก และการคำนวณระยะเวลาคร่าวๆ ของยาแต่ละประเภทว่าหมดอายุเมื่อไหร่นั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ห้ามมองข้าม ซึ่งสามารถแบ่งประเภทยาเด็กได้ดังนี้
– ยาเด็ก ประเภทยาใช้ภายนอก เช่น ครีมหรือขี้ผึ้ง หลังเปิดใช้ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 6 เดือน
– ยาเด็ก ประเภทยาหยอด เช่น ยาหยอดหูหรือยาหยอดตา หลังเปิดใช้จะมีอายุการใช้งานแค่ 30 วันเท่านั้น
– ยาเด็ก ประเภทยาน้ำทั่วไป หลังเปิดใช้ก็จะมีอายุการใช้งานแค่ 30 วัน เช่นกัน
– ยาเด็ก ประเภทยาเม็ดสำหรับเด็กเล็ก ยาประเภทนี้ที่ภาชนะบรรจุจะระบุวันหมดอายุไว้อย่างชัดเจน แต่หลังจากเปิดใช้งานแล้ว แนะนำให้ใช้ต่อได้ภายใน 1 ปี หากเกินกว่านั้นแนะนำให้ทิ้งจะดีที่สุด
– ยาน้ำสำหรับเด็ก ที่เป็นยาปฏิชีวนะ มักจะเป็นผงและต้องใช้น้ำสะอาดต้มสุก แล้วทิ้งไว้ให้เย็นก่อนผสมยา จะมีอายุการใช้งานสั้น แถมยาแต่ละตัวยังมีอายุที่แตกต่างกัน โดยเฉลี่ยจะมีอายุการใช้งานอยู่ที่ 10-14 วัน
นอกจากนี้ พ่อแม่ยังต้องศึกษาและอ่านฉลากยาแต่ละชนิด เพื่อการเก็บรักษาตัวยาเด็กอย่างถูกวิธี เช่น ยาที่ต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น หรือยาที่ต้องเก็บให้พ้นแสง
วิธีการเก็บรักษายาเด็ก
การเก็บรักษายาเด็กให้ถูกวิธีเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง เพราะหากเก็บยาไม่ถูกวิธี ก็มีโอกาสที่ยาจะเสื่อมคุณภาพก่อนวันหมดอายุ ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาโรค เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับลูกรัก ซึ่งปัจจัยต่างๆ จากสภาพแวดล้อมล้วนแล้วแต่กระตุ้นให้ตัวยาสำคัญมีการเสื่อมสลาย ปริมาณยาที่ออกฤทธิ์ในการรักษาลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กๆ ที่ร่างกายอ่อนแอ พ่อแม่จึงจำเป็นต้องเก็บรักษายาเด็กให้ถูกต้อง
1.เก็บยาเด็กให้พ้นแสงแดด
ยาเด็กหลายชนิด หากสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง จะส่งผลให้ตัวยาเสื่อมสภาพ ทางที่ดีไม่ควรเก็บยาไว้ในที่ที่แสงแดดส่องถึง ที่สำคัญ ต้องไม่แกะเม็ดยาออกจากซอง หรือภาชนะบรรจุเดิมของยา เพราะจะยิ่งเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น
2.อุณหภูมิก็สำคัญในการเก็บยาเด็ก
ไม่ว่าอุณหภูมินั้นจะสูง หรืออุณหภูมิต่ำ ต่างก็มีผลต่อการเสื่อมสภาพของตัวยา จึงจำเป็นที่ต้องเก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง ซึ่งอยู่ราวๆ 18 -25 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม ยาบางชนิดต้องเก็บไว้ในตู้เย็น ซึ่งจะถูกระบุเอาไว้ในฉลากยา การเก็บยาเด็กไว้ในตู้เย็นนั้น ต้องเก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา แต่ไม่ใช่ที่ฝาตู้เย็น เพราะเมื่อเปิดปิดตู้เย็นจะทำให้อุณหภูมิแกว่งขึ้นลงได้ และที่ห้ามเด็ดขาดคือ ห้ามเก็บยาไว้ที่ช่องแช่แข็ง
3.ความชื้นก็ต้องระวังในการเก็บรักษายาเด็ก
ยาหลายๆ ตัว เมื่อเจอความชื้นจะทำให้เกิดการสลายตัว ซึ่งยาเม็ดเมื่อโดนความชื้นจะมีผลต่อชั้นเคลือบเม็ดยา ซึ่งสิ่งที่ยาเม็ดส่วนใหญ่เป็นเมื่อเจอความชื้นคือ ตัวยาบวม หรือไม่ก็เกาะเป็นก้อน จึงควรหลีกเลี่ยงความชื้น ปิดฝาขวดยาให้สนิท และเก็บไว้ในที่แห้ง
4.อากาศก็สัมพันธ์กับการเก็บยา
ไม่น่าเชื่อว่าในอากาศ ก็มีก๊าซที่เร่งให้ตัวยาเสื่อมสภาพได้ จึงควรเก็บยาในภาชนะที่ปิดสนิทมิดชิดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเสื่อมเร็วกว่ากำหนดวันหมดอายุ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายังไม่ถึงกำหนดวันหมดอายุของตัวยา แต่กลับปรากฎว่า ตัวยามีการเปลี่ยนแปลง เช่น สีของยาเปลี่ยนไป กลิ่นของยาแปลกๆ หรือรูปทรงของยาเปลี่ยน ก็ต้องตัดใจทิ้งยาเด็กนั้นไป และห้ามใช้กับลูก
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ :
ป้อนยาเด็ก 3 ช่วงวัย อย่างไรให้ถูกวิธี
ลูกกลัวเข็ม เห็นกี่ทีก็ร้องไห้งอแง แก้ปัญหาเรื่องนี้ยังไงดี?
ระวังเสียชีวิต แม้ลูกเป็นไข้หวัดธรรมดา หากซื้อยามากินเอง
ที่มา : My Pharmacist Thailand และ med.mahidol.ac.th