ภาวะน้ำคร่ำแห้ง คืออะไร ป้องกันได้หรือไม่?
น้ำคร่ำแห้ง คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร อันตรายแค่ไหน และจะสามารถป้องกันได้หรือไม่ ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ ภาวะน้ำคร่ำแห้ง ในคุณแม่ตั้งครรภ์โดยคุณหมอ
ภาวะน้ำคร่ำแห้ง คืออะไร ป้องกันได้หรือไม่?
ทำความรู้จัก ภาวะน้ำคร่ำแห้ง :การตั้งครรภ์ทั่วไป จำเป็นต้องมีน้ำคร่ำเป็นองค์ประกอบสำคัญ น้ำคร่ำมีหน้าที่หลายประการ เช่น สร้างพื้นที่ให้ทารกได้เคลื่อนไหว รองรับการเติบโตของทารก เป็นแหล่งรวมของเสียที่ขับถ่ายจากทารก เป็นฉนวนป้องกันภัยให้กับทารก และยังสามารถใช้น้ำคร่ำในการตรวจวินิจฉัยโรคของทารกในครรภ์ เช่น ตรวจหาพันธุกรรม ตรวจหาโรคติดเชื้อ ตรวจดูความสมบูรณ์ของปอดทารก เป็นต้น
ปริมาณน้ำคร่ำในครรภ์คงอยู่ได้ขึ้นอยู่กับอัตราการสร้างน้ำคร่ำและการขจัดน้ำคร่ำ ความสมดุลของ 2 ขบวนการนี้ ช่วยให้มีน้ำคร่ำในปริมาณที่เหมาะสมระหว่างตั้งครรภ์หากมีการสร้างน้ำคร่ำน้อย และขับน้ำคร่ำออกมาก ก็จะทำให้ปริมาตรน้ำคร่ำน้อยลง เมื่อเป็นรุนแรงขึ้นจนไม่มีน้ำคร่ำเหลือกลายเป็นภาวะน้ำคร่ำแห้งได้ ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงไม่พบแอ่งน้ำคร่ำเลย
แหล่งผลิตน้ำคร่ำที่สำคัญได้จากน้ำปัสสาวะของทารกในครรภ์ ซึ่งจะมีอัตราการสร้างสูงถึง 1000- 1200 มิลลิลิตรต่อวันในเด็กทารกครบกำหนด อีกแหล่งหนึ่งคือน้ำจากปอด ซึ่งสร้างได้วันละประมาณ 400 มิลลิลิตร น้ำจากปอดนี้ส่วนหนึ่งจะคงอยู่ตามหลอดลมและอีกส่วนหนึ่งจะขับออกมาทางปากรวมเป็นน้ำคร่ำต่อไป
ส่วนการขจัดน้ำคร่ำนั้นมาจาก 2 ทาง คือการกลืนน้ำคร่ำของทารกในครรภ์ สามารถขจัดได้วันละ 500-1000 มิลลิลิตร และการซึมผ่านของน้ำคร่ำสู่กระแสโลหิตของทารกในครรภ์ผ่านรก ซึ่งเชื่อว่าเป็นกลไกหลักในขบวนการขจัดน้ำคร่ำและช่วยรักษาสมดุลให้มีปริมาณน้ำคร่ำที่เหมาะสมต่อไป
ภาวะน้ำคร่ำแห้งพบได้น้อย น้อยกว่า ร้อยละ 1 ของการตั้งครรภ์ มักไม่มีอาการใดๆ ยกเว้นกรณีมีภาวะถุงน้ำคร่ำแตกรั่ว มารดาสามารถสังเกตเห็นว่ามีน้ำใส ไหลออกมาทางช่องคลอด ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น คล้ายน้ำเปล่า ในปริมาณมากพอสมควร และไหลออกมาซ้ำหลายครั้งเป็นระยะๆ
บทความแนะนำ น้ำคร่ำน้อย ถุงน้ำคร่ำรั่ว เรื่องจริงที่แม่ท้องควรรู้
ในรายที่ไม่มีอาการ แพทย์สามารถตรวจพบความผิดปกติบางประการอันเป็นเหตุให้สงสัยว่าจะมีภาวะน้ำคร่ำน้อยหรือน้ำคร่ำแห้งได้ เช่น วัดขนาดยอดมดลูกได้เล็กกว่าอายุครรภ์ คลำตัวเด็กผ่านผนังหน้าท้องได้ชัดเจนขึ้น เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อวัดปริมาณน้ำคร่ำต่อไปหากวัดแล้วพบปริมาณน้ำคร่ำน้อยลง เรียกว่า ภาวะน้ำคร่ำน้อย หากวัดแล้วไม่พบน้ำคร่ำเลย เรียกว่าภาวะน้ำคร่ำแห้ง ซึ่งมีความรุนแรงกว่า มีพยากรณ์โรคที่แย่กว่า มีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้มากกว่านั่นเอง
ภาวะน้ำคร่ำแห้ง เกิดจากอะไร
ภาวะน้ำคร่ำแห้งสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือแบบมีสาเหตุ และแบบไม่มีสาเหตุ
- แบบมีสาเหตุ สามารถแบ่งเป็นสองกลุ่มย่อยได้แก่ เหตุจากทารกเอง เช่น ไตผิดปกติหรือท่อไตอุดตัน เป็นต้น และสาเหตุจากมารดา เช่น ภาวะขาดน้ำรุนแรง หรือมีความดันโลหิตสูงต้องรับประทานยาลดความดันบางชนิด ในมารดาที่รับประทานยา Herceptin ซึ่งเป็นยารักษามะเร็งเต้านมจะทำน้ำคร่ำลดลงได้มาก หรือ การเสื่อมสภาพของรกทำให้สร้างน้ำคร่ำน้อยลงได้ และที่สำคัญ พบบ่อยมากขึ้น คือ ภาวะน้ำคร่ำเดินก่อนกำหนด ส่งผลให้น้ำคร่ำแห้งได้ในระยะเวลาอันสั้น และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของทารกในครรภ์ด้วย
- แบบไม่มีสาเหตุ พบได้น้อย มักเป็นในมารดาที่ใกล้คลอด การตรวจภายในพบว่าปกติดี เมื่อตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงจะพบว่าไม่มีน้ำคร่ำเหลือเลยโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่มีประวัติน้ำเดินมาก่อน โดยทั่วไปแนะนำให้ชักนำการคลอด เพื่อป้องกันอันตรายกับทารกในครรภ์ต่อไป
ภาวะน้ำคร่ำแห้งอันตรายแค่ไหน
ภาวะน้ำคร่ำแห้งจะอันตรายมากน้อยขึ้นกับสาเหตุเป็นหลัก หากทารกมีความพิการแต่กำเนิดของระบบทางเดินปัสสาวะ มักจะเป็นเหตุที่ไม่สามารถแก้ไขได้และต้องยุติการตั้งครรภ์ต่อไป หากน้ำคร่ำแห้งจากน้ำเดินก่อนกำหนด มักให้เร่งคลอดเมื่อปอดทารกพัฒนาสมบูรณ์ดีแล้ว หากเป็นกลุ่มไม่มีสาเหตุพบว่าการพยากรณ์โรคมักค่อนข้างดี เมื่อทารกคลอดแล้วความเสี่ยงต่างๆ เหล่านั้นก็หมดไป
ภาวะน้ำคร่ำแห้งป้องกันได้หรือไม่
ภาวะน้ำคร่ำแห้งเป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถวินิจฉัยให้รวดเร็วได้และยังไม่มีวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานที่ได้ผลดี เพียงแต่รักษาแบบประคับประคองตามอาการเท่านั้น แพทย์บางท่านอาจใช้วิธีเติมน้ำคร่ำ หรือให้รับประทานยาบางชนิดที่อาจช่วยเร่งสร้างน้ำคร่ำได้เป็นต้น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
คำนวณอายุครรภ์ ตารางเทียบอายุครรภ์ การนับอายุครรภ์ วิธีคำนวณอายุครรภ์ คนท้องนับอย่างไร
อาการครรภ์เป็นพิษ ครรภ์เป็นพิษ อันตรายไหม วิธีป้องกันครรภ์เป็นพิษ เพื่อแม่ท้องและทารกในครรภ์
ท้องนอกมดลูก อาการเป็นอย่างไร มีสาเหตุมาจากอะไร ป้องกันและรักษาอย่างไร