ประสบการณ์จริง ลูกไม่เอาเต้า เรื่องน่าเศร้าของคนเป็นแม่
ประสบการณ์จริง ลูกไม่เอาเต้า จากแม่เอม หนึ่งในสมาชิกเว็บไซต์ Asianparent Thailand และการต่อสู้เพื่อให้ลูกได้ดูดนมจากเต้าจนสำเร็จ
ประสบการณ์จริง ลูกไม่เอาเต้า เรื่องน่าเศร้าของคนเป็นแม่
ประสบการณ์จริง ลูกไม่เอาเต้า : “ไม่คิดเลยว่า ตัวเองจะสามารถให้นมลูกจากเต้ามาได้จนถึงวันนี้” คำบอกเล่าด้วยน้ำเสียงแสนภาคภูมิใจจากแม่เอม ที่เคยผ่านประสบการณ์ ลูกไม่เอาเต้า ประสบการณ์ที่เรียกได้ว่า สร้างความทุกข์ทรมานจิตใจในฐานะของคนเป็นแม่อย่างมาก แต่วันนี้ลูกสาววัย 7 เดือน 17 วันของเธอกลับได้ดื่มนมจากอกทุกครั้งที่หิว ซึ่งคนเป็นแม่เท่านั้นที่จะรู้ว่า… ช่างมีความสุขมากแค่ไหน
ต้นสายปลายเหตุที่ลูกไม่เอาเต้า
“คุณหมอบอกว่าเราผ่าคลอดจะทำให้น้ำนมมาช้ากว่าการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ บวกกับเป็นคนหัวนมสั้น อาจทำให้มีปัญหาในการให้นมลูกได้ จึงให้ใส่ Nipple Shield ระหว่างให้นมทุกครั้ง เพื่อแก้ปัญหาหัวนมสั้นไปก่อน เมื่อกลับมาบ้าน ถึงเวลาที่จะให้นม ลูกจะมีอาการหงุดหงิด ไม่ยอมดูดนม และร้องไห้ทุกครั้งที่เข้าเต้า ซึ่งตอนแรกคิดว่าเป็นเพราะลูกยังปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมภายนอกไม่ได้ จึงไม่ได้เอะใจอะไร
แต่พอหลายวันเข้า ลูกเริ่มมีปฏิกิริยาต่อต้านเต้าที่รุนแรงขึ้น ทั้งผลักอกแม่ ส่ายหัว ร้องไห้เสียงดัง และปฏิเสธการเข้าเต้าอย่างสิ้นเชิง พอเอาเข้าเต้าได้ลูกก็จะกระชากออก เป็นอย่างนี้ทุกครั้งจนหัวนมแตกทั้งสองข้าง ตอนนั้นพยายามคิดหาสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร หรือว่าน้ำนมเรายังน้อยอยู่ ไม่พอให้ลูกกิน เขาจึงร้องไห้มากด้วยความหิว จึงตัดสินใจไปขอน้ำนมจากเพื่อนสนิทมาประทังให้ลูกกินไปพลาง ๆ ก่อน โดยใช้วิธีป้อนจากแก้วทุกครั้งหลังเข้าเต้า แต่ลูกก็กินได้น้อยมาก
และสิ่งที่สังเกตได้อยู่อย่างหนึ่งคือ เมื่อใดที่เอาลูกเข้าเต้า อาการปฏิเสธเต้าของลูกก็เริ่มรุนแรงมากขึ้นทุกที คนเป็นแม่หัวใจแทบสลาย ทั้งกลัวว่าลูกจะหิว ทั้งสงสารลูกที่ร้องไห้เหมือนจะขาดใจ และทั้งเครียดที่น้ำนมตัวเองก็มีน้อยมาก ในที่สุดสิ่งที่ตามมาก็คือ น้ำหนักลูกเริ่มลดลงเรื่อย ๆ จนต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ อาการตัวเหลือง ตาเหลืองเริ่มปรากฏให้เห็น ความรู้สึก ณ ตอนนั้นสับสนไม่รู้จะทำยังไงดี จึงลองเข้าไปหาความรู้จากเว็บไซต์และเพจเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกหลาย ๆ แห่ง และได้รู้ว่าลูกน่าจะมีอาการติดจุกนั่นเอง”
อยากรู้ว่าแม่เอมจะแก้ปัญหาลูกไม่เอาเต้าอย่างไร >>> คลิกหน้าถัดไป
การต่อสู้เพื่อลูก
“หลังจากพอทราบสาเหตุแล้ว จึงตัดสินใจโทรศัพท์ขอคำปรึกษากับคลินิกนมแม่ของโรงพยาบาลศิริราช พยาบาลจึงนัดให้ไปรับการอบรม และฝึกลูกเข้าเต้าใหม่อีกครั้ง เนื่องจากการดูดจากจุกและดูดจากเต้าแม่จะมีวิธีที่แตกต่างกัน
เรายอมเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง ถึงแม้จะต้องไปฝึกสัปดาห์ละ 2-3 วันก็ตาม เพราะช่วงแรก ๆ นั้น ลูกจะยังไม่ยอมรับเต้า และอ้าปากไม่เป็น จึงทำให้น้ำหนักยังไม่ขึ้นมาสู่เกณฑ์ปกติ การติดตามผลเรื่องน้ำหนักของลูกจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่พยาบาลให้เราต้องพยายามทำให้ได้ภายในเวลาหนึ่งเดือน
พยาบาลฝึกลูกเข้าเต้าใหม่ ด้วยการเปลี่ยนท่าให้นมเป็นท่าอุ้มลูกฟุตบอล (Football Hold) เพราะจะช่วยทำให้ปากของลูกงับหัวนมได้ลึก และกว้างถึงลานนม ฝึกท่านี้ตลอดทั้งวันและทุกวัน ระยะแรกลูกยังดูดนมแม่ไม่เป็น จึงทำให้หัวนมแตก และเจ็บมาก แต่ด้วยความตั้งใจมั่นที่อยากให้ลูกกินนมแม่ได้สำเร็จ คนเป็นแม่ก็ยอมทนได้ทุกอย่าง และเมื่อวันที่เห็นลูกไม่ปฏิเสธการเข้าเต้า สามารถดูดนมของเราได้ในที่สุด วันนั้นช่างเป็นวันที่เรารู้สึกดีใจน้ำตาไหลเลยทีเดียวค่ะ”
ความสำเร็จอันแสนสุข
“เรายังจำภาพที่ลูกไม่เอาเต้าได้เสมอ และรู้สึกภูมิใจที่ตัวเองได้พยายามต่อสู้กับความเหน็ดเหนื่อย ความเจ็บปวด และความทุกข์ใจมาได้ มีหลายครั้งอยู่เหมือนกันค่ะที่เกือบจะถอดใจคิดจะไม่ให้ลูกเข้าเต้าแล้ว แต่เมื่อใดที่มองหน้าลูก ก็ทำให้มีกำลังใจต่อสู้เสมอ จนถึงวันนี้ลูกสาวก็ยังคงดูดนมจากเต้าทุกวัน แถมน้ำหนักตัวที่เคยต่ำก็กลับมาเกินเกณฑ์ และสิ่งที่เป็นผลพลอยได้ตามมาก็คือ เขาเป็นเด็กแข็งแรง ร่าเริง ยิ้มง่าย มีพัฒนาการสมวัย
ที่สำคัญทุกวันนี้เรายังมีน้ำนมแบ่งปันให้กับแม่คนอื่นๆ ที่มีปัญหาน้ำนมน้อยอีกด้วย จากวันที่เคยเป็นผู้ขอ ได้กลายเป็นผู้ให้บ้าง ก็รู้สึกปลื้มใจมาก ๆ ค่ะ เป็นสายใยและความสุขที่คนเป็นแม่เท่านั้นจะสัมผัสได้”
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
คันหัวนม เป็นเพราะอะไร อันตรายไหม แก้อย่างไร แบบไหนที่ต้องระวัง
วิธีเพิ่มน้ำนมแม่ สำหรับคุณแม่ที่คิดว่าตัวเองน้ำนมน้อย กลัวลูกไม่พอกิน