น้ำเดินหรือปัสสาวะเล็ดกันแน่ สัญญาณคลอดที่แม่ท้องต้องสังเกต
น้ำเดินเป็นยังไง จะรู้ได้อย่างไรว่าน้ำเดินหรือปัสสาวะเล็ด มาไขข้อข้องใจให้คุณแม่เตรียมพร้อมสำหรับการคลอดที่กำลังจะมาถึงกันค่ะ
ในช่วงใกล้คลอดจะเป็นอีกช่วงหนึ่งที่คุณแม่ท้องจะปวดปัสสาวะบ่อย เนื่องจากศีรษะของลูกน้อยในครรภ์กลับหัวลงมากดบริเวณกระเพาะปัสสาวะ และอาจทำให้ปัสสาวะเล็ดได้
จะรู้ได้อย่างไรว่าน้ำเดิน หรือปัสสาวะเล็ด?
ลักษณะของน้ำที่ไหลออกมาจากช่องคลอด
- หากน้ำเดินเพราะถุงน้ำคร่ำแตก ลักษณะของน้ำจะไหลออกมามากหรือน้อยก็ตาม แต่จะไหลไม่หยุด
- หากปัสสาวะเล็ดจะเล็ดออกมาครั้งเดียวแล้วก็หยุด
กลิ่นของน้ำที่ไหลออกมาจากช่องคลอด
- หากเป็นน้ำคร่ำจะไม่มีสี ไม่มีกลิ่น
- หากเป็นปัสสาวะ คุณแม่จะได้กลิ่นปัสสาวะที่คุ้นเคย
น้ำเดินแล้วจะทำยังไงดี
ให้คุณแม่รีบไปโรงพยาบาลทันทีที่น้ำเดิน เพราะเมื่อน้ำเดิน ปราการที่ป้องกันการอักเสบติดเชื้อจะหายไป ทำให้มีโอกาสติดเชื้อในโพรงมดลูก โดยปกติแล้วคุณแม่ท้องส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บท้องคลอดภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากน้ำเดิน แต่หากยังไม่เจ็บท้องก็ไม่ควรปล่อยเอาไว้ เพราะอาจได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย อันตรายต่อลูกน้อยและตัวคุณแม่เอง
อันตรายจากน้ำเดิน นอกจากน้ำคร่ำจะออกมาแล้ว บางเคสสายสะดือโผล่ออกมาพ้นปากช่องคลอด ทำให้ลูกน้อยขาดเลือดไปเลี้ยง สามารถเสียชีวิตได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที
ถ้าน้ำเดินก่อนกำหนดล่ะ
คุณแม่จะได้รับการดูแลจากคุณหมออย่างใกล้ชิดหากน้ำเดินก่อนกำหนด โดยคุณแม่ต้องนอนนิ่งๆ เพื่อให้น้ำคร่ำออกน้อยลง ทั้งนี้มีคนไข้จำนวนไม่น้อยที่ถุงน้ำที่รั่วนั้นปิดได้เอง ระหว่างนี้คุณหมอจะคอยสังเกตอาการของคุณแม่ว่าเจ็บท้องคลอดหรือยัง มีไข้ ปวดท้อง หรือมีความผิดปกติอื่นหรือไม่
นอกจากนี้คุณหมอจะเจาะเลือดดูเป็นระยะ หากพบว่ามีเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น แสดงว่าเกิดการอักเสบของโพรงมดลูก คุณหมอจะรักษาโดยให้ยาแก้อักเสบและเร่งให้เจ็บท้องคลอดหรือผ่าคลอดแล้วแต่กรณี
หากคุณหมอตรวจดูแล้วพบว่าทั้งคุณแม่และลูกน้อยปกติดี น้ำคร่ำออกไม่มาก และคุณแม่ไม่มีอาการเจ็บท้องคลอด คุณหมอก็จะให้นอนพักอยู่ในโรงพยาบาลจนกระทั่งอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ เพื่อให้ลูกน้อยแข็งแรงพอที่จะคลอดออกมาอย่างปลอดภัย
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บท้องคลอด !
นักวิจัยพบ หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรกินยาพาราเซตามอล