ท้องแล้วฟันผุ มีผลต่อลูกในท้องจริงหรือ?
ไม่น่าเชื่อว่าการตั้งครรภ์ จะส่งผลต่อร่างกายแม่ท้องได้มากมาย หนึ่งในปัญหาสุขภาพของคนท้อง คือเรื่องในช่องปาก วันนี้เราจะมาคลายข้อสงสัยกันในเรื่องของ ท้องแล้วฟันผุ มีผลต่อลูกในท้อง จริงหรือไม่ ดังนี้ครับ
สุขภาพช่องปากคุณแม่ตั้งครรภ์ สำคัญอย่างไร
สุขภาพช่องปากคุณแม่ตั้งครรภ์ นั่นถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหากปล่อยให้ฟันผุ มีหินปูน หรือเหงือกอักเสบ อาจจะส่งผลกระทบถึงลูกน้อยในครรภ์ได้ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ส่งผลให้เหงือกและเนื้อเยื่อรอบ ๆ ฟันอ่อนแอไปด้วยทำให้เหงือกอักเสบ และมีเลือดออกง่าย อาการแพ้ท้อง อาเจียนบ่อย ๆ รวมถึงการดูแลสุขอนามัยในช่องปากที่ไม่สะอาดเพียงพอ ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพช่องปากและสุขภาพทั่วไปของทั้งแม่และลูกที่จะเกิดมา
สุขภาพของช่องปากในระหว่างตั้งครรภ์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณแม่ควรเอาใจใส่ เพราะเกี่ยวข้องกับสุขภาพร่างกายโดยรวม ที่สามารถส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น คุณแม่ควรทราบถึงวิธีการดูแลช่องปาก และการป้องกันปัญหาเหงือกและฟันที่ถูกต้อง เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเองและลูกน้อยในระยะยาวต่อไป
แบคทีเรียในช่องปากคุณแม่ มีผลทำให้ลูกในครรภ์เกิดโรคฟันผุได้หรือไม่
การที่ภายในช่องปากของคุณแม่ มีสุขภาพช่องปากที่ไม่ดี มีปริมาณเชื้อแบคทีเรียในช่องปากมาก มีหินปูนมากจนมีเหงือกอักเสบ มีฟันผุหลายซี่ หรือ อาจจะฟันผุปวดฟันจนรับประทานอาหารได้น้อยลง การที่แม่ที่กำลังตั้งครรภ์ รับประทานอาหารได้น้อยลง ส่งผลให้ลูกรับสารอาหารได้ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะการขาด แคลเซียม และ แร่ธาตุอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการสร้างฟันของลูก ก็มีโอกาสที่ลูกจะออกมามีฟันที่ไม่แข็งแรง มีฟันผุได้ง่าย เนื่องจาก การสร้างฟันน้ำนม ของทารก เริ่มสร้างตั้งแต่ตอนอยู่ในท้องของคุณแม่เลย นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาวิจัยพบว่าภาวะโรคปริทันต์ในหญิงตั้งครรภ์ เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด และเด็กมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย การตรวจฟันเพื่อทราบถึงสภาวะช่องปาก และรับความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองและลูก จึงมีความจำเป็นสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งหากพบปัญหาโรคในช่องปากก็ควรได้รับการรักษาตามความจำเป็นในช่วงที่เหมาะสม เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีของแม่และลูกต่อไป
คุณแม่ตั้งครรภ์ จะหลีกเลี่ยงโรคฟันผุจากแม่สู่ลูกได้อย่างไร
คำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับหญิงที่มีแผนจะตั้งครรภ์ คือ หมั่นตรวจเช็กสุขภาพฟันเป็นประจำ และรับการรักษาปัญหาในช่องปากที่มีให้หายขาดก่อนที่จะตั้งครรภ์ จะช่วยลดการเกิดปัญหาทางทันตกรรมระหว่างการตั้งครรภ์ได้รวมถึงหาก หลังจากตั้งครรภ์แล้ว ควรหมั่นดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี แปรงฟันให้สะอาด ทุกครั้งสม่ำเสมอ ลดการกินจุกกินจิก ลดการกินของเปรี้ยว หรือ หากมีการอาเจียน จากอาการแพ้ท้อง ควรดื่มน้ำตามหรือ บ้วนน้ำหลังอาเจียน มาก ๆ เพื่อปรับสภาวะในช่องปาก ลดความเป็นกรด และลดการสูญเสียน้ำ
ปัญหาสุขภาพช่องปากขณะตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง
ในขณะที่คุณแม่ตั้งท้อง อาจมีโอกาสเกิดโรคเกี่ยวกับสุขภาพของช่องปากได้หลายชนิด โดยภาวะที่มักพบบ่อย ได้แก่
- เหงือกอักเสบ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้เนื้อเยื่ออ่อนแอลงและเหงือกอักเสบได้ง่ายขึ้น
- โรคปริทันต์ สตรีมีครรภ์ผู้ซึ่งมีเหงือกอักเสบและไม่ได้รับการรักษา ไม่ได้การทำความสะอาดที่ดีเพียงพอ อาจเกิดการติดเชื้อที่เหงือกอย่างเรื้อรัง อาจมีอาการรุนแรงขึ้น และหากไม่รับการรักษาอาจส่งผลให้สูญเสียฟันได้ในอนาคต
- ฟันผุ อาจเกิดจากการดูแลสุขอนามัยในช่องปากลดลง หรือการเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร เช่น การกินจุกกินจิก รับประทานได้ครั้งละน้อย ๆ แต่เพิ่มความถี่ในการกินมากขึ้นเพราะหิวบ่อย รวมถึงการรับประทานขนมมากขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น ทำให้มีการสะสมของความเป็นกรดในช่องปากมากขึ้น ฟันผุมากขึ้นตามมาได้
- เนื้อฟันกร่อนเมื่อตั้งครรภ์ อาการแพ้ท้องเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ซึ่งการอาเจียนจากการแพ้ท้องจะส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารขึ้นมาสะสมอยู่ภายในช่องปาก ทำให้สภาวะในช่องปากเป็นกรด เกิดฟันผุได้ง่าย และ กัดกร่อนผิวฟันได้ นอกจากนี้ หากแปรงฟันทันทีก็อาจทำให้เนื้อฟันสึกกร่อนได้ ดังนั้น ต้องไม่แปรงฟันหลังจากอาเจียนทันทีโดยเด็ดขาด แต่ควรแปรงฟันหลังจากอาเจียนอย่างน้อย 30 นาที – 1 ชั่วโมง และหลังอาเจียน ควรดื่มน้ำ หรือ บ้วนปาก ปริมาณมาก ๆ เพื่อทำความสะอาดกรด และ ปรับสภาวะภายในช่องปากให้อยู่ในระดับปกติ
- เนื้องอกเกิน หรือโตขึ้นมาบางตำแหน่งในช่องปาก ผู้หญิงตั้งครรภ์บางราย อาจมีเนื้องอกเกิน หรือโตขึ้นมาผิดปกติเกิดขึ้นในช่องปากบริเวณเหงือก ลิ้น หรือ กระพุ้งแก้ม อาการนี้มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ และเนื้องอกออกมาเหล่านี้สามารถยุบไปได้เองหลังจากคลอดบุตร แต่หากเนื้องอกมีเลือดออกหรือทำให้เคี้ยวอาหารลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
การดูแลสุขภาพช่องปากระหว่างตั้งครรภ์
การเอาใจใส่สุขภาพช่องปากระหว่างตั้งครรภ์ ช่วยลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ที่จะคลอดออกมาได้ โดยคุณแม่สามารถทำตามแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
- ควรหมั่นตรวจสุขภาพฟัน และทำการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ให้เรียบร้อย ตั้งแต่เริ่มวางแผนที่จะตั้งครรภ์ เพราะหากตั้งครรภ์ไปแล้วจะไม่สามารถทำการรักษาบางอย่างที่ซับซ้อนและใช้เวลานานได้
- หากไม่เคยตรวจสุขภาพช่องปากมานาน หลังทราบว่าตั้งครรภ์ใหม่ ๆ ควรรีบไปพบทันตแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อตรวจดูสุขภาพช่องปากเบื้องต้นเพื่อวางแผนการรักษา ว่าสามารถทำอะไรเพื่อป้องกันการลุกลามได้บ้าง แต่ควรแจ้งทันตแพทย์ให้ทราบตั้งแต่ก่อนรับการรักษาว่า ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ และหากมีฟันผุเล็ก ๆ เบื้องต้น ให้รีบอุดก่อนให้เรียบร้อย แต่หลีกเลี่ยงการเอกซเรย์ หรือ ทำฟันเป็นระยะเวลานาน หรือการทำการรักษาที่ซับซ้อนอื่น ๆ
- หากมีบางกรณีที่จำเป็นในการรักษาที่ซับซ้อน ให้ทำได้ในช่วง เดือนที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์ หรือ ขึ้นอยู่กับทันตแพทย์พิจารณา เป็นกรณีไป
- แจ้งทันตแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้ และแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ทุกครั้ง
- เปลี่ยนยาสีฟัน หากยาสีฟันนั้นเป็นสาเหตุกระตุ้นของอาการแพ้ท้อง
- แปรงฟันให้สะอาด ครบทุกซี่ทุกด้าน ดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ลดการรับประทาน ของหวาน ขนม กินจุกินจิก ต่าง ๆ
- ลดความถี่ในการกิน
- เสริมแคลเซียม
- รับประทานวิตามินดีให้มากขึ้น
- หากมีอาการแพ้ท้อง แล้วอาเจียนมาก แนะนำ ดื่มน้ำ หรือ บ้วนน้ำตาม ในปริมาณมาก เพื่อลดความเป็นกรดในช่องปาก
การดูแลฟันในระหว่างตั้งครรภ์
การดูแลฟันเป็นประจำ นั่นเป็นสิ่งสำคัญของการรักษาสุขภาพฟันระหว่างตั้งครรภ์ให้ดีในทุก ๆ วัน ด้วยการให้แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง เช้า -เย็น ให้ครบทุกซี่ทุกด้าน ด้วยแปรงขนอ่อนนุ่มเป็นเวลาอย่างน้อย 2 นาที โดยใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ และสนับสนุนให้มีการทำความสะอาดระหว่างซอกฟันด้วยไหมขัดฟัน อย่างน้อยวันละครั้ง หลังแปรงฟัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง ของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ คือกรดจากการอาเจียนที่ทำให้เคลือบฟันเสื่อมลงและฟันสึกทั้งปากได้มาก หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการแปรงฟันในทันทีหลังจากที่อาเจียน เพราะจะทำให้ฟันถูกกรดที่ย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหาร หากเป็นไปได้ สามารถเลือกที่จะบ้วนปากด้วยสารละลายที่เจือจางมาจากน้ำ 1 ถ้วยและเบกกิ้งโซดา 1 ช้อนชา หรือ บ้วนน้ำเกลือก็ได้ เพื่อช่วยให้กรดภายในปากมีสภาพเป็นกลางให้ได้มากที่สุด และหากคุณแม่ไปพบทันตแพทย์ ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบก่อนเข้ารับการทำฟันตามที่ได้นัดหมายไว้ เนื่องจากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ มีสิ่งที่ต้องระมัดระวังในกระบวนการวินิจฉัยและการทำฟันที่เพิ่มขึ้น เช่น การเอกซเรย์ และ การนอนทำฟันเป็นระยะเวลานาน อาจไม่สามารถทำได้ รวมถึงคุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงของโรคเหงือกอักเสบและฟันผุมากขึ้นอีกด้วย
การแปรงฟันอย่างถูกวิธี สำหรับคุณแม่
1. ฟันด้านนอก
- เข้าทางด้านหน้า
- วางขนแปรงเข้าหาฟันให้ปลายขนแปรง หันเข้าหาขอบเหงือก
โดยเอียงทำมุม 45 องศา โดยให้ขนแปรงแนบกับผิวฟัน - ขยับขนแปรงไปมาในแนวหน้าหลัง เป็นระยะขยับสั้น ๆ ไม่เกินครึ่งซี่ฟัน ขยับประมาณ 10 -20 ครั้ง
- จากนั้นปัดขนแปรงขึ้นในฟันล่างและปัดลงสำหรับฟันบน
- หลังจาก ขยับปัด ตำแหน่งหนึ่ง ค่อยขยับไปอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยแปรงซ้ำซี่ที่วางแปรงแล้วอีกสัก 1 ซี่
2. ฟันด้านใน (ด้านเพดาน และ ด้านลิ้น)
- วางขนแปรงเหมือนวางแปรงฟันด้านนอก และแปรงฟัน
เช่นเดียวกับการแปรงฟันด้านนอก แต่หันขนแปรง เข้าจากด้านในฟัน คือด้านเพดาน และ ด้านลิ้น
3. ฟันด้านบดเคี้ยว
- วางขนแปรงบริเวณด้านบดเคี้ยวของฟัน
โดยวางแปรงให้หน้าตัดขนแปรงอยู่ด้านบนของฟันบดเคี้ยว
ถูไปมาในแนวหน้าหลังขยับสั้น ๆ ทั้งฟันบนและฟันล่าง
4. ฟันหน้าด้านใน
- วางแปรงสีฟันในแนวตั้ง หันขนแปรงเข้าหาตัวฟัน แปรงด้านหลังของฟันหน้าแต่ละซี่
โดยขยับและปัดปลายขนแปรงมาทางปลายขอบฟัน
ทั้งฟันหน้าบนและฟันหน้าล่าง
5. แปรงลิ้น
- อย่าลืมแปรงที่ลิ้นเพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์และป้องกันไม่ให้เกิดกลิ่นปาก
โดยการปัดขนแปรงสีฟัน จากโคนลิ้นมาทางปลายลิ้นประมาณ 10 ครั้ง
ใช้ไหมขัดฟันอย่างไรให้ฟันสะอาดยิ่งขึ้น?
- ดึงไหมขัดฟันออกมา ความยาวประมาณ 12 นิ้ว หรือ 1 ไม้บรรทัด ให้พันที่นิ้วกลาง ทั้ง 2 ข้าง ดึงให้ไหมขัดฟันตึง
- ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้จับไหมขัดฟันแล้วค่อย ๆ เลื่อนเส้นไหมลงระหว่างซอกฟัน
- โอบไหมขัดฟันรอบตัวฟันแต่ละซี่ ขยับถูด้านข้าง และเลื่อนเส้นไหมลงใต้เหงือกแล้วเคลื่อนไหมขึ้นไปทางปลายฟัน ทำซ้ำ 4 – 5 ครั้ง
คุณแม่ตั้งครรภ์น้ำยาบ้วนปาก จำเป็นหรือไม่ ควรเลือกแบบไหน?
เนื่องจากน้ำยาบ้วนปากเป็นตัวช่วยหนึ่ง ที่เป็นทางเลือกสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ อาจจะเลือกน้ำยาบ้วนปากที่มีประสิทธิภาพในการลดเชื้อแบคทีเรีย ลดเหงือกอักเสบ มีฟลูออไรด์ และปราศจากแอลกอฮอล์ โดยสารที่พบในท้องตลาดจะมี 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มน้ำมันสกัดจากสมุนไพรธรรมชาติ (Essential Oils) และกลุ่มซีพีซี (Cetylpyridinium Chloride: CPC) ซึ่งจากงานวิจัยเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของสารทั้ง 2 กลุ่ม จะพบว่าน้ำยาบ้วนปากประเภท EOs ช่วยลดการสะสมของคราบพลัคหรือไบโอฟิล์มได้มากกว่า สารประเภท CPC ถึง 1.6 เท่า รวมถึง สารกลุ่ม ESO ยังมีฤทธิ์ในการบรรเทา อาการเหงือกอักเสบได้อีกด้วย
นอกจากนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์อาจเลือกใช้สูตรที่มีฟลูออไรด์ ช่วยเสริมความแข็งแรงของผิวฟัน ป้องกันฟันผุ จึงเป็นทางเลือกในการดูแลปัญหาสุขภาพช่องปากได้ครบครัน เพื่อการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีของคุณแม่ สำหรับช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของคุณและลูกน้อยครับ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
สาร SLS อันตรายสำหรับ คนท้อง และ ทารก จริงหรือไม่?
ฟันและเหงือกแข็งแรงทั้งแม่และลูก ด้วยอาหารบ้าน ๆ 5 อย่าง
20 สิ่งที่แม่ท้องต้องเจอ ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก-สุดท้าย คนท้องเจออะไรบ้าง?