คลอดเองหรือผ่าคลอด ถ้าเลือกได้จะเลือกอะไร แบบไหนดีกว่ากัน
ระหว่าง คลอดเองหรือผ่าคลอด ข้อดีและข้อเสียของการคลอดแต่ละวิธีนั้นมีอะไรบ้าง
คลอดเองหรือผ่าคลอด มีข้อดีข้อเสียอย่างไร
เมื่อถึงเวลาใกล้คลอด คุณแม่ท้องหลายท่านก็อาจจะลังเลอยู่ว่าจะเลือกคลอดลูกด้วยวิธีไหนดี ระหว่าง คลอดเองหรือผ่าคลอด เรามาดูกันว่าข้อดีและข้อเสียของการคลอดแต่ละวิธีนั้นมีอะไรบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจครับ
การคลอดเอง หรือการคลอดธรรมชาติ
ข้อดีของการคลอดธรรมชาติ
- มีค่าใช้จ่ายในการคลอดถูกกว่า
- ร่างกายฟื้นตัวเร็ว และเจ็บแผลหลังคลอดน้อยกว่าการผ่าคลอด
- เด็กทารกที่คลอดออกมาจะไม่มีน้ำคั่งที่ปอด และปอดไม่ชื้นหลังคลอด เพราะในระหว่างคลอด ตัวช่องคลอดจะบีบส่วนช่องอกของทารก เพื่อรีดเอาน้ำคร่ำที่ค้างอยู่ในปอด เมื่อทารกสูดอากาศหายใจเข้าครั้งแรก น้ำคร่ำส่วนหนึ่งจะถูกดูดซึมเข้าเส้นเลือด ทำให้ปอดไม่ชื้น
- ระหว่างที่ทารกกำลังผ่านช่องคลอดของแม่ออกมา ทารกจะกลืนเอาสารคัดหลั่งในช่องคลอดที่อุดมไปด้วยแบคทีเรียที่ดีประเภท Probiotic เข้าสู่ลำไส้ ซึ่งเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติ ทำให้ทารกไม่เจ็บป่วยบ่อย
ข้อเสียของการคลอดธรรมชาติ
- กำหนดวันและเวลาคลอดที่แน่นอนไม่ได้
- อาจจะมีอาการเจ็บท้องมากในช่วงใกล้คลอด และยาวนานสำหรับคุณแม่ท้องแรก
- เสี่ยงที่จะทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อน
- หากแม่ท้องคลอดเองไม่ได้ เช่นในกรณีที่คุณแม่ไม่มีแรงเบ่ง หรือเบ่งไม่เป็น และต้องใช้คีม หรือเครื่องดูดสุญญากาศช่วยคลอด ก็อาจทำให้ทารกบาดเจ็บได้
การผ่าคลอด
ข้อดีของการผ่าคลอด
- สามารถกำหนดวันและเวลาคลอดได้ สามารถคลอดตามฤกษ์ได้
- ไม่เสี่ยงกับการเกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่างระหว่างรอคลอด เช่นปากมดลูกไม่เปิด หรือสายสะดือโผล่
- เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคุณแม่ที่มีเชิงกรานแคบ และมีความเสี่ยงหากคลอดธรรมชาติ
ข้อเสียของการผ่าคลอด
- ค่าใช้จ่ายสูงกว่าคลอดธรรมชาติ ระยะเวลานอนพักในโรงพยาบาลนานกว่า
- ต้องทนเจ็บหลังคลอดนาน และใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่าแผลผ่าคลอดจะหาย
- ทารกไม่ได้รับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หรือ Probiotic ซึ่งเปรียบเสมือนภูมิต้านทานตั้งต้น จึงอาจทำให้เด็กมีภูมิต้านทานพัฒนาล่าช้า
- การผ่าคลอดมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าการคลอดธรรมชาติ
- มีแผลเป็นที่หน้าท้อง บางรายอาจเป็นแผลเป็นนูนแดงหรือคีลอยด์
- เสียเลือดมากกว่าคลอดเอง
- เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนเช่น รกเกาะต่ำ ตกเลือดหลังคลอด ในครรภ์ต่อไป
สำหรับเรื่องของจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่ทารกพลาดไปนั้น อย่าเพิ่งวิตกกังวลไปว่าลูกน้อยจะเจ็บป่วยเรื้อรังนะครับ แม้เขาจะไม่ได้รับมาในตอนแรกเกิด แต่คุณแม่สามารถเร่งคืนภูมิต้านทานให้กับลูกได้ง่ายๆ โดยให้กินน้ำนมของคุณแม่นั่นเองครับ โดยเฉพาะ “หัวน้ำนม” หรือน้ำนมสีเหลืองๆ ที่ไหลออกมาในช่วงแรกหลังคลอด จะมีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือมีจุลินทรีย์สุขภาพทั้งโพรไบโอติก และพรีไบโอติกซึ่งเป็นใยอาหารของโพรไบโอติก จึงช่วยสร้างสมดุลภายในลำไส้ และส่งผลต่อระบบภูมิต้านทานโดยรวมด้วย ทางที่ดีที่สุดควรให้ลูกได้กินนมแม่อย่างต่อเนื่องไปจนถึงอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงนะครับ คุณแม่สามารถร่วม join กรุ๊ปเพื่อบอกเล่าประสบการณ์ ในคลับแม่ผ่าคลอด (C Section Club) กันได้เลย
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณแม่จะคลอดด้วยวิธีไหน จะคลอดเองหรือผ่าคลอด ก็อย่าลืมดูแลสุขภาพหลังคลอดให้ดีนะครับ พวกเราทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกท่านครับ
ที่มา medthai, si.mahidol.ac.th