ลูกอาเจียน บอกสัญญาณโรคร้ายที่พ่อแม่ควรระวัง

undefined

“อาเจียน” (vomiting) หรือ “อ้วก” ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติในเด็กเล็กๆ มักมีสาเหตุเล็กน้อย ที่พ่อแม่อาจมองข้าม แต่หากลูกอาเจียนเป็นบ่อยๆ โดยเฉพาะกับเด็กเล็กๆ คุณแม่มักเป็นกังวลกันอย่างมาก

ลูกอาเจียน หรือที่แม่ๆ มักจะเรียกว่า ลูกอ้วก ลูกอ๊อก เด็กบางคนอาเจียนขณะมีไข้หรือเริ่มไม่สบาย และมีอาการปวดท้อง ซึ่งหากลูกอาเจียน ไม่อยากให้แม่วางใจว่าเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดาหรือกินอาหารผิดประเภท หากลูกอาเจียน บ่อยๆ นั่นอาจเป็นสัญญาณบอกถึงเด็กกำลังเป็นโรคร้ายแรง

 

ลูกอาเจียน

ลูกอาเจียนบ่อยๆ เกิดจากสาเหตุใดบ้าง

“อาเจียน” (vomiting) หรือ “อ้วก” ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติในเด็กเล็กๆ มักมีสาเหตุเล็กน้อย ที่พ่อแม่อาจมองข้าม แต่หากลูกอาเจียนเป็นบ่อยๆ โดยเฉพาะกับเด็กเล็กๆ คุณแม่มักเป็นกังวลกันอย่างมาก ก่อนอื่นเราไปหาสาเหตุปัจจัยพื้นฐานทีทำให้ลูกอาเจียนบ่อยๆ กันดีกว่า

  1. ลูกอาเจียนเพราะท้องเสีย

หากท้องเสียแล้วมีการอาเจียนร่วมด้วย สามารถพบได้บ่อย สิ่งที่คุณแม่ต้องเฝ้าระวังลูก คือ อาการซึม ปวดหัว มีไข้ร่วมด้วยหรือไม่ หากลูกอ้วกแล้วท้องเสียร่วมกัน ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยไว้จะยิ่งทำให้ร่างกายเด็กสูญเสียน้ำและเกลือแร่

  1. ลูกอาเจียนแล้วมีเลือดปน

เวลาที่ลูกอาเจียนออกมาแล้วมีเลือดปน ถือว่าเสี่ยงอันตรายมาก เพราะอาจเกิดจากกระเพาะอาหารอักเสบ หรือเกิดจากหลอดอาหารอักเสบ ซึ่งในกรณีที่ลูกอ้วกแล้วมีเลือดปนออกมาด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรต้องรีบพาลูกไปเช็ก อาการกับแพทย์ทันที

  1. เมื่ออาเจียนแล้วมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย

คุณแม่ควรสังเกตดูว่าถ้าลูกอาเจียนออกมา แล้วมีไข้ขึ้นสูง ร้องงอแงมาก และถ้าลูกโตพอที่จะสื่อสารรู้เรื่อง แล้วบอกว่ามีอาการปวดหัวหรือปวดศีรษะด้วย ให้ระวังอาจเกิดจากการมีภาวะติดเชื้อในสมอง หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

  1. ลูกอาเจียนมากและบ่อยครั้ง

การอ้วกบ่อยๆ เป็นอาการที่น่าเป็นห่วงสำหรับเด็กทุกช่วงวัย หรือบางครั้งการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับลูกเล็กๆ มักจะส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุล และต่อต้านอาหารที่รับประทานเข้าไป รวมทั้งยาไม่ว่าจะเป็นยาลดไข้ต่างๆ ก็สามารถทำให้ลูกอาเจียนออกทุกครั้ง หากอาเจียนระหว่างวันบ่อยๆพ่อแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะจะทำให้ร่างกายลูกขาดน้ำและสารอาหารอย่างรุนแรง จึงแนะนำว่าควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาลทันที

  1. ลูกอาเจียนเพราะอิ่มมากเกินไป

เด็กทารกที่กินนมแม่ บางครั้งก็ให้นมลูกแต่ละมื้อมากเกินไป (Over Feeding) จนทำให้ลูกอิ่มมาก จนนมล้นกระเพาะส่งผลทำให้ลูกอาเจียนออกมาได้ สำหรับเด็กที่อยู่ในวัยเริ่มรับประทานอาหารเสริมคืออายุ 6 เดือนถึง 1 ขวบ คุณแม่อย่าลืมว่า เด็กวัยนี้ยังต้องดื่มนมแม่เป็นอาหารมื้อหลักอยู่ จึงค่อยตามด้วยการป้อนอาหารเสริมให้อย่างน้อย 1-2 มื้อต่อวัน ส่วนวัยเด็กโตที่สามารถรับประทานอาหาร เช่น ข้าวได้แล้ว หากคุณแม่ให้ลูกรับประทานข้าว หรือดื่มนมมากเกินความต้องการของร่างกาย จนเกินความจุของกระเพาะอาหาร ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้ลูกอ้วก หากเกิดบ่อยๆ จนอาการหนักสุดคือเกิดภาวะของกรดไหลย้อนได้ด้วยเช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการอ้วกในเด็ก ทำอย่างไรเมื่อลูกอ้วก สาเหตุเกิดจากอะไร

 

ลูกอาเจียน

ลูกอาเจียน เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง

พ่อแม่หลายคนอาจพบว่า ลูกอาเจียน คือปกติของเด็กเล็ก บ้างเข้าใจว่า รับประทานอาหารมากเกินไป หรือรีบรับประทานจนกลืนลงคอไม่ทัน ทำให้เข้าใจว่าการที่ลูกอาเจียนนั้น คือเวลาอ้วกแล้วโล่ง ลูกอ้วกแล้วจะสบายตัวขึ้น แต่ความจริงแล้วนี่อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายที่ซ่อนอยู่ บอกให้รู้ว่าร่างกายเกิดความผิดปกติบางอย่าง หรือเสี่ยงต่อโรคต่อไปนี้

โรคไข้สมองอักเสบ

หากลูกอาเจียน พร้อมมีอาการปวดหัว มีไข้ขึ้นสูง อาจเกิดจากภาวะความดันสูงในสมอง ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณอันตรายของ โรคไข้สมองอักเสบ ซึ่งพบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ส่วนใหญ่จะเริ่มเบื่ออาหาร กระสับกระส่าย คอแข็งจนรู้สึกปวดต้นคอ ตาไวต่อแสง และมีอาการหงอยซึม หากพบอาการลักษณะนี้ต้องพาลูกไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียด ทันที เพื่อเช็คอาการให้แน่ใจว่า ลูกมีความเสี่ยงหรือเป็นไข้สมองอักเสบหรือไม่

ทอลซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ

หากลูกอาเจียนแล้วมีไข้สูงแต่ไม่ปวดหัว อาการเหล่านี้มักเกี่ยวข้องกับภาวะติดเชื้อในเด็ก (เชื้อโรคที่สัมผัสไวรัส สิ่งสกปรกทั่วไปที่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรง) หากลูกเสี่ยงที่จะเป็นทอนซิลอักเสบ ควรรีบพาลูกไปปรึกษาแพทย์ทันที เพราะโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่กวนใจไปจนถึงวัยผู้ใหญ่

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

อีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกถึงของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบคือ ไข้ขึ้น ปวดท้องน้อย อาเจียน บางรายอาจมีเลือดปนออกมาขณะขับปัสสาวะ แม้จะรักษาหายได้ แต่ควรรักษาสุขภาพและระวังให้ดี เพราะสามารถเกิดได้บ่อยครั้ง

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

แม้ว่าเด็กไทยทุกคนจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และไม่ค่อยพบผู้ป่วยมากนัก แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้และมีค่อนข้างร้ายแรงเพราะทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังโรคที่อันตรายมากและต้องได้รับการรักษาทันที เช่น ปอดอักเสบ โลหิตเป็นพิษ เส้นเลือดในสมองแตก หรือภาวะเลือดออกในสมองจากอุบัติเหตุอีกได้ด้วย

 

ลูกอาเจียนพร้อมกับปวดท้อง สัญญาณของโรคเกี่ยวกับลำไส้

  • ลูกอาเจียนแล้วมีอาการอุจจาระร่วงร่วมด้วย อาจมีการติดเชื้อในลำไส้เกิดขึ้น
  • ลูกอาเจียนแล้วมีอาการท้องอืด ลูกไม่ถ่ายอุจจาระ อาจเกิดจากภาวะลำไส้อุดตัน
  • ลูกอาเจียนแล้วมีอาการปวดท้องหนัก อาจเกิดจากกระเพาะอาหารอักเสบ หรือท่อน้ำดีอักเสบ

 

หากลูกอ้วกและปวดท้อง โดยไม่มีไข้ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับโรคในระบบทางเดินอาหาร สามารถเป็นได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิดไปจนถึงเด็กโต เช่นภาวะลำไส้กลืนกัน มักพบบ่อยในทารกเพศชายอายุน้อยกว่า 6 เดือน เกิดจากที่กระเพาะอาหารส่วนปลายตีบตั้งแต่กำเนิด พ่อแม่สังเกตอาการในทารกแรกเกิดอายุระหว่าง 2-8 สัปดาห์

 

ปลายกระเพาะอาหารตีบ ทำให้เกิดอาการอุดตัน กั้นบริเวณลำไส้เล็กไปสู่ลำไส้ใหญ่ ทำให้มีอาการปวดเกร็งเป็นระยะๆ ทำให้ลูกอาเจียนพุ่งรุนแรงติดกันหลายครั้ง จะพบว่ามีนมหรือน้ำดีปนออกมาด้วย ส่วนอาการปวดท้องรุนแรงอาจเกี่ยวกับการหมุนตัวผิดปกติของลำไส้ จะพบได้น้อยหรือในเด็กแรกเกิดเท่านั้น

 

หากเด็กโตมีอาการอาเจียนกับปวดท้อง แล้วมีไข้ด้วย ควรตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่า ต้องเกี่ยวข้องกับโรคไส้ติ่งอักเสบ หรือเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ลองใช้มือกดเจ็บบริเวณหน้าท้องดู ไม่นาเชื่อว่า โรคนี้ไม่ได้เกิดจากการรับประทานอาหารเท่านั้น แต่เกิดจากภาวะความเครียดจากครอบครัว โรงเรียน หรือกลุ่มเพื่อน เป็นอาการที่ต้องแก้ไขเบื้องต้นโดยใช้จิตวิทยาในการพูดคุยกับเด็กอย่างจริงจังถึงปัญหาส่วนตัวของเด็ก

ลูกอาเจียน

หากลูกอาเจียนเล็กน้อย ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่ง

พ่อแม่ต้องคอยสังเกตอาเจียนของลูกว่ามีลักษณะใด และควรทำเช่นไร

การที่ลูกอาเจียนนั้น บ่งบอกถึงสัญญาณของโรคและอาการป่วยแตกต่างกัน บางครั้งอาจอาเจียนเพียงเล็กน้อยหรือติดต่อกันเป็นชั่วโมง สิ่งที่ออกมากับอาเจียนเป็นอาหาร สิ่งแปลกปลอม หรือของเหลวในร่างกายปะปนมาด้วย ซึ่งล้วนเป็นตัวบ่งชี้ของโรคภัยไข้เจ็บที่ลูกอาจเป็นได้

สังเกตสีของอาเจียน

อ้วกสีเขียวหรือสีเหลืองปนเขียว นั่นคือ “น้ำดี” ที่ปนออกมาด้วย เป็นสัญญาณของภาวะลำไส้อุดต้นหากลูกอาเจียนสีแดงๆ จางๆ แสดงว่ามีเลือดปนด้วย ตรงนี้อันตรายมาก แสดงว่ามีเลือดออกในทางเดินอาหาร หมายถึงโรคหลอดอาหารอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ ต้องรีบพาส่งโรงพยาบาลทันที

ลูกอาเจียนรุนแรงหรือไม่

อาเจียนบ่อยไหม รุนแรงแค่ไหนนั้น เป็นตัวบ่งชี้ถึงความรุนแรงของโรคได้ หากลูกอ้วกถี่ๆ ติดต่อกันหลายครั้งจนเริ่มเหนื่อย แสดงว่ามีอาการของโรคค่อนข้างหนัก พ่อแม่ต้องรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที ส่วนอาการอ้วกพุ่งแรง ถ้าเกิดกับทารกวัยก่อน 2 เดือนอาจมาจากความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร เกิดจากการที่ลูกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ

ลูกอาเจียนพร้อมมีอาการอื่นๆ

ปกติแล้วหากเด็กๆ ป่วยมักจะติดเชื้อหรือมีอาการถึงโรคใดโรคหนึ่ง ร่วมกับการอาเจียนด้วย เช่น ไข้ น้ำมูก ไอ ท้องเสีย ปวดท้อง ปวดหัว เศร้าซึม หน้าซีด ภาวะขาดน้ำ หรือเหนื่อยหอบ พ่อแม่ต้องสังเกตและจดบันทึกอาการแล้วพาไปพบแพทย์ เบื้องต้นพ่อแม่อาจมีการปฐมพยาบาลก่อนพาลุกไปพบแพทย์ สิ่งสำคัญคือแม้ลูกจะหยุดอาเจียนแล้ว หรือมีอาการดีขึ้นก็ควรพาไปพบแพทย์ตรวจเช็คเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงอีกครั้ง ไม่ควรซื้อยาแก้อาเจียนมาให้ลูกกินเองเด็ดขาด เพราะหากกินเกินขนาดจะเป็นอันตรายต่อชีวิตลูกได้

ลูกอาเจียน

หลังลูกอาเจียน คุณแม่ควรให้ลูกค่อยๆ ดื่มน้ำส้ม

แนวทางการการรักษาเมื่อลูกอาเจียนบ่อยๆ

  • เด็กที่อาเจียนรุนแรง การรักษานั้นขึ้นอยู่กับอาการว่ารุนแรงและบ่อยแค่ไหน โดยเริ่มค้นหาจากสาเหตุ เพื่อไม่ให้ลุกลามจนเกิดอาหารแทรกซ้อนหรือโรคร้ายแรงได้ หากสาเหตุไม่ร้ายแรงส่วนใหญ่มักไม่เป็นปัญหาในการรักษามากนัก อย่างไรก็ตามการที่ลูกอาเจียนมากอาจจะทำให้เกิดผลแทรกซ้อนตามมา เช่น ภาวะขาดน้ำ และเสียสมดุลเกลือแร่ เรียกว่าอิเล็กโทรไลต์ (Electrolytes) ในร่างกาย หากพบว่าเป็นโรคนี้ต้องรีบรักษาโดยทันที
  • เด็กอาเจียนไม่มากนัก สำหรับเด็กที่อาเจียนไม่มากนักโดยทั่วไปแพทย์มักจะแนะนำให้กินอาหารที่ย่อยง่ายในปริมาณที่ลดน้อยลง แต่ถ้าอาเจียนบ่อยหรือรุนแรงมาก แพทย์อาจต้องสั่งงดอาหาร และให้สารอาหารทางหลอดเลือดหรือให้น้ำเกลือแทน แต่ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องกระทำทุกรายไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการว่ามากหรือน้อยแค่ไหน
  • การใช้ยารักษาให้เด็กอาเจียนน้อยลง ยาที่มีส่วนช่วยทำให้อาเจียนน้อยลง หรือที่เรียกว่ายาแก้อาเจียน มีทั้งยาที่ออกฤทธิ์ที่ทางเดินอาหาร และยาที่ออกฤทธิ์ในสมอง ยาที่ใช้บ่อยได้แก่ Metoclopramide, Domperidone, Cisapride (ยาที่ช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวในระบบทางเดินอาหาร) การใช้ยากลุ่มนี้ควรให้เพื่อป้องกัน ไม่ควรให้หลังจากที่มีอาการอาเจียนแล้ว ในผู้ป่วยที่อาเจียนอยู่ แนะนำให้กินหรือฉีดก่อนรับประทานอาหารประมาณ 20-30 นาที
  • อาหารที่เหมาะกับเด็ก ถ้าลูกอาเจียนในช่วงนี้พ่อแม่ควรให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย อย่าให้ปริมาณมาก พร้อมกับให้น้ำเกลือแร่ ORS เพื่อทดแทนเกลือแร่ที่เสียไปกับอาเจียน ควรจิบทีละน้อย และให้ยาแก้อาเจียนตามแพทย์สั่ง ควรให้รับประทาน 30 นาทีก่อนอาหาร เมื่อมีอาเจียนมากรับประทานอาหารหรือน้ำไม่ได้เลย ซึมลง มีอาการขาดน้ำ กระหม่อมบุ๋ม ปากแห้งมาก ตาโหล ผิวหนังเหี่ยว แพทย์จะพิจารณาให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด และรักษาสาเหตุต่อไป

 

ที่สำคัญ ลูกอาเจียน หรืออ้วกบ่อยๆ เป็นอาการแต่ไม่ใช่โรค แต่คือผลกระทบจากร่างกายที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร และเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ากำลังจะเป็นโรคใดโรคหนึ่ง ดังนั้นการรักษามิใช่เพียงให้ยาแก้อาเจียน แต่ต้องวินิจฉัยค้นหาสาเหตุ เพราะสาเหตุบางอย่างจะมีอันตรายถึงชีวิต เช่น อาเจียนจากโรคลำไส้อุดตัน หรืออาเจียนจากภาวะความดันของสมอง สำหรับอาการอาเจียนที่เกิดจากยารักษามะเร็งหรือเคมีบำบัดนั้น ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

 

บทความที่น่าสนใจ

ลูกไอแห้งๆ ไอเสียงวี้ด ไอตอนกลางคืน ลูกไอแบบไหนอันตราย

อาหาร 7 ชนิดที่แม่ต้องระวัง กินมากไปลูกน้อยท้องอืดแน่นอน!

ที่มา: amarinbabyandkids

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!