ฮีโร่ในเครื่องแบบ! ตำรวจ สน.ห้วยขวาง ช่วยชีวิตเด็ก อาการชักเกร็งจากไข้สูง

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 เพจเฟสบุ๊ก “กองบัญชาการตำรวจนครบาล - บช.น. Metropolitan Police Bureau” ได้โพสภาพและคลิปเหตุการณ์ การช่วยเหลือหนูน้อยที่คุณแม่ได้อุ้มน้องมาขอความช่วยเหลือถึงโรงพักห้วยขวาง โดยเบื้องต้นเด็กน้อยชักจากไข้สูง ปัจจุบันเด็กคนดังกล่าวปลอดภัยและถึงมือแพทย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ชาวโชเชียลต่างชื่อชม 2 ฮีโร่ในเครื่องแบบ! ช่วยชีวิตเด็ก อาการชักเกร็งจากไข้สูง

 

 

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 29 เมษายน 2567 ขณะที่ ด.ต.วัณนพฯ และ ร.ต.อ.วิชฯ กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายในโรงพัก ได้มีประชาชนเป็นหญิงวิ่งอุ้มเด็กน้อยมาขอความช่วยเหลือ โดยแจ้งว่าเด็กมีอาการไข้สูงและชักเกร็งอย่างรุนแรง

ด้วยความไม่รอช้า ด.ต.วัณนพฯ และ ร.ต.อ.วิชฯ จึงรีบเข้าช่วยเหลือเด็กน้อยทันที โดยทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการประคบเย็นเพื่อลดไข้ และประสานงานกับเจ้าหน้าที่กู้ชีพกู้ภัยเพื่อนำตัวเด็กส่งโรงพยาบาลพระราม 9 เป็นการด่วน จากการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและทันท่วงทีทำให้เด็กน้อยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และอาการปลอดภัยเป็นที่เรียบร้อย

 


ขอบคุณคลิปจาก: PPTV HD 36

 

เหตุการณ์ประทับใจเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ เมื่อมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นตำรวจสองนายช่วยชีวิตเด็กน้อยที่ชักเกร็งจากไข้สูง อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ยังเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรมีความรู้เกี่ยวกับวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในกรณีฉุกเฉิน โดยเฉพาะอาการชักเกร็งจากไข้สูงในเด็ก ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ไข้สูง โรคทางระบบประสาท หรือการกระทบกระเทือนศีรษะ

 

อาการชักเกร็งจากไข้สูง คืออะไร

อาการที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังเป็นพิเศษเมื่อลูกน้อยของคุณมีไข้สูง นั่นคือ อาการชักเกร็งจากไข้สูง (Febrile Seizures) เป็นอาการชักที่อาจเกิดขึ้นได้ในเด็กเล็กที่มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส และมักเกิดในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี พบได้บ่อยที่สุดในเด็กวัย 12-18 เดือน โดยอาการชักเกร็งจากไข้สูงมักจะเกิดขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่นาทีและหายไปเอง แต่เด็กยังมีไข้อยู่ ทั้งนี้อาการชักเกร็งจากไข้สูงในเด็กส่วนใหญ่มักหายไปเองโดยไม่ต้องรักษาและไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ 

 

สาเหตุของการชักเกร็งจากไข้สูง เกิดจากอะไร

ปัจจุบัน ยังไม่มีทฤษฎีที่แน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุของอาการชักเกร็งจากไข้สูง แต่จากหลักฐานที่มีอยู่ ชี้ว่าอาจมีความเกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

  • ไวรัส: หลักฐานชี้ว่า ไวรัสบางชนิด เช่น เฮอร์เปสไวรัส 6 (HHV-6) อาจกระตุ้นให้เกิดไข้ชักในเด็กที่มีความเสี่ยง 
  • การตอบสนองของสมอง: สมองของเด็กที่กำลังพัฒนาอาจมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกายมากกว่าผู้ใหญ่ เมื่อเด็กมีไข้สูง สมองอาจส่งสัญญาณผิดพลาด ทำให้เกิดอาการชัก

 

ใครบ้างที่อาจเกิด อาการชักเกร็งจากไข้สูง

  • เด็กที่มีประวัติครอบครัวมีอาการชักเกร็ง ประมาณ 1 ใน 3 
  • คนที่เคยเป็นไข้ชักครั้งหนึ่งจะมีอาการอีกครั้ง โดยปกติภายใน 1-2 ปีหลังจากครั้งแรก 
  • คนที่เป็นไข้ชักครั้งแรกเมื่ออายุยังไม่ถึง 15 เดือน 

ทั้งนี้เด็กส่วนใหญ่จะหายจากอาการชักเกร็งจากไข้สูงเมื่ออายุ 5 ขวบ และไม่ถือเป็นโรคลมชัก แต่อาจส่งผลทำให้เด็กมีโอกาสเป็นโรคลมชักเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

 

อาการชักเกร็งจากไข้สูง

 

การดูแลเด็กเมื่อมีอาการชักเกร็งจากไข้สูง

หากบุตรหลานของคุณเกิดไข้ชัก ให้นิ่งใจและปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้

  1. วางเด็กอย่างนุ่มนวลบนพื้นหรือพื้นราบ และเคลื่อนย้ายสิ่งของอันตรายออกจากบริเวณใกล้เคียง 
  2. จัดท่าเด็กให้นอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก 
  3. ปลดเสื้อผ้าที่รัดบริเวณศีรษะและลำคอ 
  4. สังเกตอาการหายใจผิดปกติ เช่น ใบหน้าเขียวคล้ำ จับเวลาความยาวนานของอาการชัก หากอาการชักนานเกิน 5 นาที หรือเด็กมีอาการเขียวคล้ำ ควรรีบโทรเรียกหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน (1669) ทันที 

สิ่งไม่ควรเมื่อลูกน้อยของคุณมีอาการชักเกร็ง

  • ห้ามพยายามจับหรือยับยั้งเด็ก 
  • ห้ามใส่สิ่งใด ๆ ในปากเด็ก 
  • ห้ามให้ยาลดไข้แก่เด็ก 
  • ห้ามนำเด็กแช่น้ำเย็นหรือน้ำอุ่นเพื่อลดอุณหภูมิ 

ทั้งนี้หลังจากอาการชักสิ้นสุด ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของไข้ แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับอาการชัก หากเด็กมีไข้ชักมากกว่าหนึ่งหรือสองครั้ง และอาการชักนานเกิน 5 นาที ควรรีบพาเข้าพบแพทย์ในทันที

 

คำถามที่พบบ่อย 

 

เด็กชักกี่นาทีอันตราย

อาการชักเกร็งจากไข้สูง ที่นานเกิน 3-5 นาที หรือ มีรอยเขียวคล้ำรอบปาก จัดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และเป็นอันตราย ควรรีบนำลูกน้อยของคุณส่งโรงพยาบาลในทันที

 

เด็กชักมีผลต่อสมองไหม

หากเกิดอาการชักขึ้นบ่อยครั้งย่อมมีผลกระทบต่อสมองได้ ผลกระทบเหล่านี้อาจจะส่งผลต่อทั้งด้านพัฒนาการ การเรียนรู้ อารมณ์ และจิตใจ มีพัฒนาการที่ช้าลง ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ เช่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ คิดเลข ลำบาก ปัญหาการสื่อสาร เช่น พูดไม่ชัด พูดภาษาช้า ปัญหาพฤติกรรม เช่น หงุดหงิด โมโหง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เป็นต้น 

 

คนที่ชักรู้สึกยังไง

คนที่ชักจะรู้สึกแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเภทของอาการชัก และส่วนของสมองที่ได้รับผลกระทบ โดยทั่วไปแล้ว อาการชักจะทำให้สูญเสียสติ หมดความรู้สึกตัว และการควบคุมร่างกาย ผู้ป่วยอาจมีอาการชักกระตุก กล้ามเนื้อเกร็ง ตัวแข็ง ทุรนทุราย หายใจติดขัด บางรายอาจมีอาการทางประสาทสัมผัส เช่น เห็นแสงสว่าง เสียงดัง รู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างสัมผัสตัว หรืออาจมีอาการทางอารมณ์ เช่น รู้สึกกลัว วิตกกังวล หลังจากการชัก ผู้ป่วยอาจรู้สึกสับสน มึนงง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ บางรายอาจจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้

 

ที่มา: PPTV Online, kidshealth.org

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:

อาการชัก กับโรคลมชัก ต่างกันอย่างไร ข้อควรรู้เกี่ยวกับอาการชักและโรคลมชัก 

ลูกชักจากไข้สูง อาการชักจากไข้สูงในเด็กอันตรายแค่ไหน? พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร

อาบน้ำเด็กไข้ขึ้นสูง วิธีลดไข้สูง ทำให้ลูกไข้ลด ต้องใช้น้ำอุ่นหรือน้ำเย็น อาบน้ำลูก

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!