แอมโมเนียโรงน้ำแข็งรั่ว กระทบทั้งคนงานและชาวบ้านกว่า 100 ราย

แอมโมเนีย หลายคนคงจะเคยได้ยินชื่อหรือเคยได้สัมผัสประสบการณ์ได้กลิ่นของแอมโมเนีย เพื่อช่วยอาการเป็นลม หน้ามืด วิงเวียนศรีษะ แต่การสูดดมแอมโมเนียเข้าไปในปริมาณมาก ๆ กลับไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก ดังเช่นเหตุการณ์ แอมโมเนียโรงน้ำแข็งรั่ว กระทบทั้งคนงานและชาวบ้านกว่า 100 ราย

 

แอมโมเนียโรงน้ำแข็งรั่ว กระทบทั้งคนงานและชาวบ้านกว่า 100 ราย

เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา มีการแจ้งข่าวเกิดเหตุ สารแอมโมเนียในโรงงานผลิตน้ำแข็งแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี รั่วไหล โดยทำให้มีคนบาดเจ็บราว ๆ 50 คน โดยหลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบพบว่า มีกลุ่มควันสีขาวลอยพวยพุ่งอยู่ในชั้นอากาศ สูงจากพื้นดินประมาณ 3-4 เมตร อีกทั้งยังฟุ้งกระจายไปในรัศมี 1 กิโลเมตร ซึ่งมีกลิ่นคล้ายสารแอมโมเนียที่ใช้ในการผลิตน้ำแข็ง เมื่อสูดเข้าไปจะมีอาการแสบคอ หายใจไม่ออก และแสบตาอย่างมาก นอกจากนี้ยังพบว่ามีคนงานและชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่ได้สูดดมสารแอมโมเนียเข้าไป จนเกิดอาการหายใจไม่ออก อาเจียนเป็นเลือด น้ำลายฟูมปาก บางรายต้องนำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียง โดยมีผู้ได้รับผลกระทบจากสารแอมโมเนียรั่วไหลในครั้งนี้เป็นจำนวนกว่า 100 ราย  โดยทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการเข้าไปปิดวาล์วถังแอมโมเนีย ซึ่งมี 2 จุด ภายในโรงงาน พร้อมกับระดมฉีดพรมน้ำ เพื่อทำให้สารแอมโมเนียที่ฟุ้งอยู่ในอากาศเกิดการเจือจางหายไป ใช้เวลาร่วม 1 ชั่วโมง จึงสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้

แอมโมเนียรั่ว ขอขอบคุณภาพจาก ZOOM Rayong ซูมระยอง

ขอขอบคุณที่มา : ZOOM Rayong ซูมระยอง, thairath.co.th, thaipbs.or.th, sanook.com

 

แอมโมเนียคืออะไร

แอมโมเนียเป็นก๊าซไม่มีสี มีกลิ่นฉุน ประกอบด้วยไนโตรเจนและไฮโดรเจน แอมโมเนียเป็นสารเคมีทางอุตสาหกรรมทั่วไป ซึ่งใช้ในการใช้งานที่หลากหลาย เช่น ในการผลิตปุ๋ย โรงงานอาหาร เพื่อใช้เป็นสารทำความเย็น และในการผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด รวมถึงสิ่งทอ และยา

ประโยชน์ของแอมโมเนีย

แอมโมเนียอาจเป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์ถ้าอยู่ในระดับความเข้มข้นสูง และอาจทำให้เกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจและระคายเคืองตาได้ แต่ในทางกลับกัน หากใช้แอมโมเนียที่มีความเข้มข้นเล็กน้อย แอมโมเนียก็จะเป็นสารอาหารที่สำคัญสำหรับพืชและมักใช้เป็นปุ๋ย และแอมโมเนียยังใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือน เช่น น้ำยาเช็ดกระจก และเป็นสารทำความเย็นในระบบปรับอากาศ รวมไปถึงใช้ในวงการแพทย์สำหรับสูดดม ช่วยอาการเป็นลม หน้ามืด วิงเวียนศรีษะอีกด้วย

 

อันตรายจากแอมโมเนีย

การสูดดมแอมโมเนียที่มีความเข้มข้นสูง จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ มีอาการไอ หายใจไม่สะดวก หายใจถี่ และแน่นหน้าอก หากสูดดมแอมโมเนียที่มีความเข้มข้นสูงเป็นเวลานานอาจทำให้ปอดถูกทำลายและการหายใจล้มเหลวได้ นอกจากนี้ก๊าซแอมโมเนียยังสามารถระคายเคืองและทำลายดวงตา ทำให้น้ำตาไหล ตาแดง และกระจกตาไหม้ได้ การสัมผัสแอมโมเนียโดยตรงสามารถทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง การเผาไหม้ของสารเคมี และผิวหนังอักเสบได้

 

หากแอมโมเนียรั่วไหล ต้องทำอย่างไร

หากเกิดการรั่วไหลของแอมโมเนีย ต้องรีบอพยพออกจากพื้นที่และแจ้งบริการฉุกเฉิน โดยสิ่งสำคัญคือก๊าซแอมโมเนียจะหนักกว่าอากาศ และมีแนวโน้มที่จะตกลงในพื้นที่ราบ ดังนั้นควรอพยพผู้คนในพื้นที่ดังกล่าวก่อน ส่วนแนวทางปฏิบัติในการอพยพลี้ภัยนั้นคือ ให้เคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุไปยังที่ที่อากาศบริสุทธิ์ ให้คนไข้นอนราบกับพื้น หายใจช้าๆ เปิดตาเท่าที่จำเป็น ใช้ผ้าบางชุบน้ำเปียกปิดปากและจมูกระหว่างขนย้ายออกจากพื้นที่ ให้ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนแอมโมเนียออกทันที แต่ในกรณีเสื้อผ้าที่เย็นแข็งติดผิวหนัง ต้องทำให้อ่อนตัวก่อนถอด ล้างร่างกายด้วยน้ำอุ่นสะอาดอย่างน้อย 15 นาที

แอมโมเนียโรงน้ำแข็งรั่ว กระทบทั้งคนงานและชาวบ้านกว่า 100 ราย

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อสูดดมหรือสัมผัสแอมโมเนีย

กรณีสูดดมแอมโมเนีย

  1. รีบนำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีแอมโมเนีย ไปยังที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก
  2. ให้ผู้ป่วยนั่งพัก พยายามให้หายใจช้า ๆ ลึก ๆ
  3. หากผู้ป่วยหายใจลำบาก ให้ทำการ CPR
  4. คลายเสื้อผ้า ที่รัดคอหรืออกของผู้ป่วย
  5. รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล แม้จะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตาม

กรณีสัมผัสแอมโมเนีย

  1. ล้างผิวหนังที่สัมผัสแอมโมเนีย ด้วยน้ำสะอาดและสบู่อย่างน้อย 15 นาที
  2. หากแอมโมเนียเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดไหล ๆ อย่างน้อย 15 นาที
  3. หากแอมโมเนียเปื้อนเสื้อผ้า ให้ถอดเสื้อผ้าออกและซักด้วยน้ำและสบู่
  4. รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล แม้จะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตาม

โดยหลังเกิดเหตุ ให้สังเกตตัวเองเป็นเวลา 1 เดือน ว่ามีอาการไอ แสบคอ มีเสมหะหรือไม่ หากมีควรรีบไปพบแพทย์

ข้อควรระวัง

  • ห้าม ล้วงคอหรือทำให้อาเจียนผู้ป่วยที่กลืนแอมโมเนีย
  • ห้าม ใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูกผู้ป่วยที่สูดดมแอมโมเนีย
  • ห้าม สัมผัสแผลไฟไหม้จากแอมโมเนียด้วยมือเปล่า

ที่มา : thaipbs.or.ththairath.co.th,  safetywiki.com

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : 

ระวัง! 8 สารพิษที่ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก ป้องกันอันตรายใกล้ตัวลูก

สารเคมีอันตรายกับคนท้อง สารเคมีแบบไหนที่คุณแม่ต้องเลี่ยง

สารสไตรีน จากโรงงานกิ่งแก้ว มีผลกระทบต่อเด็กอย่างไร อันตรายแค่ไหน

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!