6 วิธีเก็บเงินให้ลูก ต่อยอดเงินเก็บให้งอกเงย โตไปมีเงินก้อนไว้ใช้

เงินเก็บของลูก จะนำไปต่อยอดอย่างไรให้งอกเงย บทความนี้มี 6 วิธีเก็บเงินให้ลูก อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับคุณพ่อคุณแม่
เงินเก็บเล็กๆ น้อยๆ ที่ลูกสะสมเองจากค่าขนมที่ได้รับ หรือแม้แต่เงินขวัญถุงจากญาติผู้ใหญ่ รวมถึงเงินที่พ่อแม่ตั้งใจเก็บออมให้ลูก จะนำไปต่อยอดอย่างไรให้งอกเงย ในบทความนี้มี 6 วิธีเก็บเงินให้ลูก อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เงินทุกบาททุกสตางค์เป็นบันไดสู่ความมั่งคั่งของลูกในวันข้างหน้า
6 วิธีเก็บเงินให้ลูก ต่อยอดเงินเก็บให้งอกเงย โตไปมีเงินก้อนไว้ใช้
การวางแผนการเงินให้ลูกตั้งแต่เนิ่นๆ ต่อยอดเงินเก็บของลูกสามารถทำได้หลากหลายแนวทาง พ่อแม่ควรพิจารณาเลือก วิธีเก็บเงินให้ลูก ที่เหมาะสมกับวัยและเป้าหมายในการเก็บเงินให้ลูกของแต่ละครอบครัว ดังนี้
1. ฝากธนาคาร
การฝากเงินแบบออมทรัพย์ เหมาะสำหรับเป็นจุดเริ่มต้นของการเก็บเงินของลูก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อาจต้องการถอนเงินเพื่อใช้จ่ายบ้างเล็กน้อย หรือเป็นเงินสำรองฉุกเฉินระยะสั้น เมื่อเก็บเงินได้ก่อนใหญ่ขึ้น อาจนำเงินเก็บของลูกมาฝากประจำเพื่อเพิ่มผลตอบแทน ทั้งยังสอนเรื่องการวางแผนทางการเงินได้อีกด้วย
โดยเงินฝากประจำเหมาะสำหรับเงินเก็บของลูกที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในระยะเวลาหนึ่ง เช่น เงินเก็บสำหรับซื้อของชิ้นใหญ่ในอนาคต หรือเป็นเงินออมระยะสั้น
คุณพ่อคุณแม่อาจพิจารณาเลือกระยะเวลาฝากที่เหมาะสมกับเป้าหมาย และสอนลูกถึงข้อดีของการได้รับดอกเบี้ยที่สูงกว่าการฝากแบบออมทรัพย์ แต่ต้องแลกมาด้วยการไม่สามารถถอนเงินได้ตามต้องการ
บทความที่เกี่ยวข้อง ออมเงินให้ลูกธนาคารไหนดี 2568 ดอกเบี้ยเท่าไหร่ ใช้หลักฐานอะไรบ้าง
2. ฝากสหกรณ์ออมทรัพย์
หากคุณพ่อคุณแม่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ การฝากเงินในสหกรณ์มักจะให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยและเงินปันผลที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการเพิ่มพูนเงินออมของลูกได้ค่ะ
3. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
การซื้อประกันสะสมทรัพย์ให้ลูกเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ ในแง่ของการวางแผนการเงินระยะยาว เช่น เงินเพื่อการศึกษาในอนาคต หรือเป็นเงินเก็บสำรองเมื่อลูกเติบโตขึ้น มีเงินก้อนหลังเรียนจบ รวมถึงได้ประโยชน์ในแง่ของการคุ้มครองชีวิตอีกด้วย
สำหรับแนวทางนี้ ผลตอบแทนที่ได้อาจไม่สูงเท่าการลงทุนโดยตรง แต่ก็มีความมั่นคงในระดับหนึ่ง และยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ (ตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร) ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกระยะเวลาของกรมธรรม์ให้เหมาะสมกับเป้าหมายทางการเงินของครอบครัวได้
4. ซื้อกองทุนรวม
กองทุนรวมที่พ่อแม่นิยมลงทุนให้ลูกมักจะเป็นกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ โดยมีเป้าหมายเพื่อการเติบโตของเงินทุนในระยะยาว กองทุนที่ได้รับความนิยม ได้แก่
- กองทุนรวมผสม (Mixed Fund)
เป็นการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทผสมกัน เช่น หุ้น ตราสารหนี้ และ/หรือสินทรัพย์อื่นๆ โดยมีสัดส่วนตามนโยบายของกองทุน
ข้อดี: ช่วยกระจายความเสี่ยง เนื่องจากมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนจะแตกต่างกันไปตามสัดส่วนของสินทรัพย์ในกองทุน ทำให้เป็นตัวเลือกที่สมดุลระหว่างโอกาสในการเติบโตและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
- กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว (Long-Term Fixed Income Fund)
เน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรออมทรัพย์ หุ้นกู้เอกชน
ข้อดี: ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก แต่มีความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้น เหมาะสำหรับเป้าหมายระยะยาวที่ต้องการความมั่นคง เช่น ทุนการศึกษาที่วางแผนไว้อีก 10-15 ปีข้างหน้า และคุณพ่อคุณแม่ต้องการความมั่นคงของเงินต้นในระดับหนึ่ง การลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาวก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
- กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-Term Equity Fund)
เน้นลงทุนในบริษัทที่มีพื้นฐานดี มีศักยภาพในการเติบโตในระยะยาว มีผลประกอบการที่ดี มีกระแสเงินสดมั่นคง และมีแนวโน้มที่จะสร้างผลกำไรอย่างต่อเนื่อง
ข้อดี: การลงทุนในหุ้นในระยะยาวมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สามารถเอาชนะอัตราเงินเฟ้อได้ ทำให้มูลค่าที่แท้จริงของเงินเก็บของลูกเพิ่มขึ้น
เหมาะสำหรับพ่อแม่ที่รับความเสี่ยงได้มากขึ้นและมีเป้าหมายระยะยาวมากอาจพิจารณากองทุนประเภทนี้ โดยอาจใช้กลยุทธ์ DCA คือ การทยอยลงทุนด้วยจำนวนเงินเท่ากันอย่างสม่ำเสมอ (เช่น ทุกเดือน) โดยไม่สนใจว่าราคาหน่วยลงทุน ณ ขณะนั้นจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดได้
คุณพ่อคุณแม่อาจกำหนดจำนวนเงินที่ต้องการลงทุนในกองทุนหุ้นระยะยาวให้ลูกเป็นประจำทุกเดือน เช่น เดือนละ 1,000 บาท โดยไม่ว่าราคาหน่วยลงทุนจะขึ้นหรือลง ก็ลงทุนด้วยจำนวนเงินเท่าเดิมอย่างสม่ำเสมอ
5. ซื้อสลากออมสิน / สลาก ธ.ก.ส. / สลาก ธอส.
คุณพ่อคุณแม่อาจแบ่งเงินเก็บส่วนหนึ่งที่ไม่ต้องการผลตอบแทนสูงนัก มาซื้อสลากเก็บไว้ ถือเป็นการออมระยะกลางถึงยาว และสามารถสอนลูกเรื่องการออมและการรอคอยผลลัพธ์ ซึ่งจะได้ทั้งเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนด และโอกาสถูกรางวัลอีกด้วย
วิธีเก็บเงินให้ลูก แนวทางนี้เหมาะสำหรับเป็นส่วนหนึ่งของการออมที่เน้นความปลอดภัยสูง และมีโอกาสลุ้นรางวัลเล็กๆ น้อยๆ เป็นแรงจูงใจเพิ่มเติมค่ะ
6. ซื้อทองคำ
มูลค่าทองคำที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทำให้การซื้อทองคำเป็นการลงทุนที่น่าสนใจ อาจพิจารณาซื้อทองคำแท่งขนาดเล็ก หรือทองรูปพรรณเก็บไว้ในระยะยาว โดยอาจซื้อเป็นของขวัญในโอกาสพิเศษต่างๆ ให้ลูก และสอนเรื่องมูลค่าของทองคำที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่ควรระมัดระวังเรื่องค่ากำเหน็จ (สำหรับทองรูปพรรณ) และบล็อกด้วย
อย่างไรก็ตาม ราคาซื้อขายทองคำมีความผันผวน และไม่มีผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยหรือเงินปันผล การลงทุนในทองคำจึงควรมองเป็นการรักษามูลค่าของเงินในระยะยาวมากกว่าการสร้างผลตอบแทนที่งอกเงยมากนัก
ตัวอย่างการแบ่งสัดส่วนการเก็บออม และการลงทุน
ในการต่อยอดเงินเก็บของลูกในงอกเงย ไม่ควรนำเงินเก็บทั้งหมดของลูกไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียว ควรกระจายเงินไปในหลายๆ รูปแบบ (เช่น เงินฝาก สลาก กองทุน) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงโดยรวม
ตัวอย่างการแบ่งสัดส่วนเงินเก็บของลูกน้อยนี้ มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ตามช่วงวัยและความเหมาะสมของแต่ละช่วงเวลาโดยจะเน้นความปลอดภัยในช่วงวัยเด็กเล็ก และค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนของสินทรัพย์ที่เน้นการเติบโตมากขึ้นเมื่อลูกเติบโตขึ้นและมีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานขึ้น รวมถึงการให้ความสำคัญกับการลงทุนในศักยภาพของตนเองเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น
-
เน้นความปลอดภัย (สำหรับเด็กเล็ก)
ในวัยนี้ เป้าหมายหลักคือการปลูกฝังนิสัยการออม และให้เงินเก็บมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากเด็กเล็กอาจยังไม่มีเป้าหมายทางการเงินระยะยาวที่ชัดเจน และอาจมีความจำเป็นต้องใช้เงินในระยะสั้น
-
- ออมทรัพย์ 70%: เน้นการเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์เพื่อให้เข้าถึงง่าย สภาพคล่องสูง เหมาะสำหรับการเรียนรู้เรื่องการฝากถอน และอาจใช้สำหรับค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ ที่จำเป็นสำหรับลูก
- สลากออมสิน / สลาก ธ.ก.ส. / สลาก ธอส. 30%: เพิ่มโอกาสในการลุ้นรางวัลเล็กน้อย เป็นแรงจูงใจในการออม และยังคงมีความเสี่ยงต่ำ เงินต้นไม่สูญหายเมื่อถือจนครบกำหนด
-
เน้นสมดุล (สำหรับวัยเรียน)
เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น มีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจนขึ้น เช่น ต้องการซื้อของชิ้นใหญ่ หรือเก็บเงินเพื่อทัศนศึกษา การจัดสรรเงินจึงเน้นความสมดุลระหว่างความปลอดภัยและการเติบโตเล็กน้อย
-
- ออมทรัพย์ 40%: ยังคงมีสัดส่วนหลักเพื่อให้มีสภาพคล่องสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ
- ประกันสะสมทรัพย์ 30%: เริ่มมองถึงการวางแผนระยะยาวขึ้น และได้รับความคุ้มครองชีวิตควบคู่ไปกับการสะสมทรัพย์ อาจมีเงินคืนระหว่างทางหรือเมื่อครบกำหนดสัญญา
- กองทุนรวมตราสารหนี้ 30%: เริ่มทำความคุ้นเคยกับการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากเล็กน้อย กองทุนตราสารหนี้เน้นผลตอบแทนที่สูงขึ้นมาเล็กน้อย
-
เน้นการเติบโต (สำหรับวัยรุ่น)
ในวัยนี้ ลูกเริ่มมีความเข้าใจเรื่องการเงินมากขึ้น และมีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนาน หากมีเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายในมหาวิทยาลัย สามารถเพิ่มสัดส่วนของสินทรัพย์ที่เน้นการเติบโตได้
-
- ออมทรัพย์ 20%: ลดสัดส่วนลง เน้นเก็บไว้สำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและฉุกเฉิน
- ประกันสะสมทรัพย์ 20%: ยังคงมีไว้สำหรับการวางแผนระยะยาวและความคุ้มครอง
- กองทุนรวมผสม/หุ้น (สัดส่วนน้อย) 40%: เพิ่มสัดส่วนของการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตสูงขึ้น แต่ยังคงมีสัดส่วนที่ไม่มากนัก เพื่อควบคุมความเสี่ยง อาจเริ่มจากกองทุนรวมผสมที่มีสัดส่วนของหุ้นไม่สูงนัก และค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนเมื่อลูกมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น อาจใช้กลยุทธ์ DCA เพื่อลดความผันผวน
- ลงทุนในความรู้/พัฒนาตนเอง 20%: มองว่าเป็นการลงทุนที่สำคัญที่สุดในระยะยาว เช่น คอร์สเรียนภาษา, ทักษะเฉพาะทาง, หนังสือ หรือกิจกรรมที่ส่งเสริมความสามารถของลูก ซึ่งจะส่งผลดีต่อโอกาสในอนาคตมากกว่าผลตอบแทนทางการเงินเพียงอย่างเดียว
สัดส่วนเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่าง คุณพ่อคุณแม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ทางการเงินของครอบครัว เป้าหมายของลูก และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของแต่ละครอบครัวค่ะ
บทความอื่นๆ ท่ีน่าสนใจ
10 วิธีสอนลูกเรื่องเงิน ปลูกฝังนิสัยรักการออม ใช้เงินเป็นตั้งแต่เด็ก
10 แนวทาง เลี้ยงลูกให้ใช้เงินเป็น ในยุคของแพง ค่าใช้จ่ายสูง
มีลูก 1 คน ใช้เงินเท่าไหร่ ? สรุปค่าใช้จ่ายตั้งแต่เริ่มฝากครรภ์ ถึง 18 ปี