เจ็บท้องเตือนกี่วันคลอด เจ็บท้องแบบไหน ควรรีบไปโรงพยาบาล?

undefined

ไขทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการเจ็บท้องเตือน และ เจ็บท้องคลอด เจ็บท้องเตือนกี่วันคลอด พร้อมวิธีสังเกตอาการแบบไหนที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที

หนึ่งในความสงสัยยอดฮิตของคุณแม่ใกล้คลอดก็คืออาการ “เจ็บท้อง” ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าใกล้จะได้เห็นหน้าเจ้าตัวน้อยแล้ว เมื่อคุณแม่เริ่มเจ็บท้องเตือน อีกกี่วันถึงจะได้เวลาคว้ากระเป๋าไปโรงพยาบาล? บทความนี้จะช่วยคุณแม่ไขทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการเจ็บท้องเตือน และ เจ็บท้องคลอด เจ็บท้องเตือนกี่วันคลอด พร้อมวิธีสังเกตอาการแบบไหนที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที 

 

เจ็บท้องเตือนกี่วันคลอด

โดยทั่วไปอาการเจ็บท้องสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ เจ็บท้องเตือน (เจ็บท้องหลอก) และเจ็บท้องจริง (เจ็บท้องคลอด)

  • เจ็บท้องเตือน เป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยคุณแม่จะยังไม่คลอดเร็วๆ นี้ ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มมีอาการเจ็บท้องเตือนไปจนถึงวันคลอดนั้นแตกต่างกันไปในคุณแม่แต่ละราย ขึ้นอยู่กับลักษณะของอาการเจ็บท้องและสุขภาพโดยรวมของคุณแม่เอง หากคุณแม่สงสัยว่า เจ็บท้องเตือนกี่วันคลอด จึงไม่สามารถระบุได้ว่า หลังจากมีอาการเจ็บท้องเตือนแล้วจะคลอดภายในกี่วันค่ะ
  • เจ็บท้องจริง เมื่อเจ็บท้องเตือนถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น จนกลายเป็นอาการเจ็บท้องจริง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าใกล้ถึงกำหนดคลอดแล้ว และเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่ควรเตรียมตัวเดินทางไปโรงพยาบาลค่ะ

 

อาการเจ็บท้องเตือนเริ่มเมื่อไหร่

อาการเจ็บท้องเตือน (Braxton Hicks contractions) มักจะเริ่มรู้สึกได้ในช่วงไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ หรือประมาณเดือนที่ 8 เป็นต้นไปค่ะ อย่างไรก็ตาม คุณแม่บางท่านอาจเริ่มรู้สึกได้เร็วกว่านั้น ตั้งแต่ไตรมาสที่สองก็เป็นได้

ในช่วงใกล้คลอด หรือประมาณสัปดาห์ที่ 36 เป็นต้นไป มดลูกจะมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดลูกจริง โดยจะมีการบีบตัว เป็นครั้งคราว และเคลื่อนต่ำลง เพื่อให้ศีรษะของลูกน้อยลงสู่อุ้งเชิงกรานมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เองที่อาจกระตุ้นให้คุณแม่รู้สึกถึงอาการเจ็บท้องเตือนได้บ่อยขึ้นและชัดเจนขึ้น

ดังนั้น การรู้สึกถึงอาการเจ็บท้องเตือนในช่วงเดือนที่ 8 หรือใกล้คลอด จึงเป็นเรื่องปกติที่ร่างกายกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดจริง แต่สิ่งสำคัญคือการสังเกตลักษณะอาการ เพื่อแยกแยะจากอาการเจ็บท้องจริงที่จะนำไปสู่การคลอดต่อไปค่ะ

 

เจ็บท้องเตือนกี่วันคลอด

 

เจ็บท้องเตือนเจ็บแบบไหน

อาการเจ็บท้องเตือนนั้นมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากอาการเจ็บท้องคลอดจริงค่ะ โดยคุณแม่จะรู้สึกได้ ดังนี้

อาการเจ็บท้องเตือน

มดลูกแข็งตัวเป็นก้อน
  • เมื่อคลำบริเวณหน้าท้อง จะรู้สึกว่ามดลูกมีการบีบตัวแข็งขึ้นมาเป็นก้อนอย่างชัดเจน แต่จะไม่รุนแรง
มดลูกจะบีบตัวไม่สม่ำเสมอ
  • ทั้งความถี่และระยะเวลาในการบีบตัวจะไม่คงที่ บางครั้งมาถี่ บางครั้งเว้นนาน
ปวดตึงบริเวณท้องน้อย
  • อาการปวดมักจะรู้สึกตึงๆ หน่วงๆ บริเวณท้องน้อยเป็นหลัก หรืออาจรู้สึกทั่วๆ ท้องก็ได้ แต่ไม่รุนแรง
เจ็บแต่ละครั้งจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ
  • โดยทั่วไปประมาณ 30 วินาทีถึง 2 นาที แล้วก็จะหายไป
เป็นๆ หายๆ
  • อาการเจ็บท้องเตือนจะไม่ต่อเนื่อง จะมาเป็นครั้งคราวแล้วก็หายไปเอง
อาการดีขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่าทาง
  • อาการเจ็บท้องเตือนมักจะดีขึ้นหรือหายไปเมื่อคุณแม่เปลี่ยนท่าทาง เช่น จากนั่งเป็นเดิน หรือจากการนอนพัก ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บท้องเตือนได้
ไม่มีน้ำเดิน
  • ไม่มีอาการน้ำคร่ำรั่วหรือไหลออกมาจากช่องคลอด
ปากมดลูกไม่เปิด
  • หากมีการตรวจภายใน ปากมดลูกจะไม่พบการเปิดขยายตัว
คล้ายปวดประจำเดือน
  • คุณแม่อาจรู้สึกคล้ายอาการปวดประจำเดือน แต่จะไม่มีเลือดหรือมูกปนเลือดออกมาจากช่องคลอด

 

เจ็บท้องจริง เจ็บแบบไหน

 

เจ็บท้องจริงเจ็บแบบไหน

อาการเจ็บท้องจริง หรืออาการเจ็บท้องคลอดนั้น จะแตกต่างจากเจ็บท้องเตือนอย่างชัดเจน และเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายกำลังเข้าสู่กระบวนการคลอดลูกแล้ว โดยมีลักษณะดังนี้

อาการเจ็บท้องจริง

มดลูกแข็งตัวและเจ็บอย่างสม่ำเสมอ
  • คุณแม่จะรู้สึกว่ามดลูกแข็งตัวเป็นจังหวะ และมาพร้อมกับอาการเจ็บท้องที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ มีช่วงเวลาที่ปวดและช่วงเวลาที่คลายตัวเป็นรอบๆ ที่แน่นอน
เจ็บนานขึ้น
  • ระยะเวลาที่มดลูกบีบตัวและรู้สึกเจ็บจะนานขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละครั้ง อาจเริ่มจากไม่กี่วินาทีแล้วค่อยๆ ยาวนานขึ้น
เจ็บถี่ขึ้น
  • ความถี่ของการเจ็บท้องจะถี่ขึ้นเรื่อยๆ ช่วงเวลาพักระหว่างการเจ็บจะสั้นลง
เจ็บแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ความรุนแรงของอาการปวดจะมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ทุเลาลง
ปวดร้าวจากหลังลงมาท้อง
  • อาการปวดมักจะเริ่มจากบริเวณแผ่นหลัง แล้วค่อยๆ ร้าวลงมาที่ส่วนบนของมดลูก และลงมาที่ท้องน้อย
อาการปวดไม่ลดลงเมื่อเคลื่อนไหว
  • ตรงกันข้ามกับเจ็บท้องเตือน การเคลื่อนไหวร่างกายจะไม่ทำให้อาการปวดลดลง และอาจทำให้รู้สึกเจ็บมากขึ้นด้วยซ้ำ
มีมูกเลือดสีแดงสด
  • อาจมีมูกเลือดที่มีสีแดงสดไหลออกมาทางช่องคลอด ซึ่งเป็นสัญญาณว่าปากมดลูกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงและเปิดตัว
มีอาการน้ำเดิน (ถุงน้ำคร่ำแตก)
  • อาจมีของเหลวใสๆ คล้ายปัสสาวะ ไม่มีกลิ่น ไหลออกมาจากช่องคลอด ซึ่งเรียกว่า น้ำเดิน อาจจะค่อยๆ ไหลซึม หรือไหลออกมาเป็นจำนวนมากก็ได้
ปากมดลูกจะเปิดขยาย
  • การตรวจภายในจะพบว่า ปากมดลูกมีการเปิดขยายตัว อย่างต่อเนื่อง

 

เจ็บท้องแบบไหน ควรไปโรงพยาบาล?

ในช่วง เดือนที่ 8 และ 9 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงการหดเกร็งของมดลูกได้บ่อยขึ้น ซึ่งอาการปวดอาจรุนแรงขึ้นจนใกล้ถึงกำหนดคลอด หากมีอาการดังต่อไปนี้ ถือเป็นสัญญาณสำคัญที่ควรรีบเดินทางไปโรงพยาบาลทันที

  • เจ็บท้องถี่และรุนแรงขึ้นปวดท้องเป็นจังหวะ ทุก 5 นาที หรือถี่กว่านั้น และความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
  • มีน้ำเดิน ถุงน้ำคร่ำแตก รู้สึกเหมือนมีน้ำอุ่นๆ ไหลออกจากช่องคลอด ไม่ว่าจะไหลซึมหรือไหลพรวด
  • มีเลือดออกทางช่องคลอด มีเลือดสีแดงสดไหลออกมา ไม่ใช่แค่มูกเลือด เล็กน้อย
  • ลูกดิ้นน้อยลงหรือไม่ดิ้น รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยกว่าปกติอย่างชัดเจน หรือไม่รู้สึกว่าลูกดิ้นเลย
  • อาการผิดปกติรุนแรงอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ตาพร่ามัว จุกเสียดบริเวณลิ้นปี่ หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ที่รู้สึกไม่สบายตัวมาก

เจ็บท้องจริง

เจ็บท้องจริงอีกนานไหมถึงจะคลอด

ในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แรก การเจ็บท้องคลอดจริงจนกระทั่งปากมดลูกเปิดขยายเต็มที่ มักใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 8-12 ชั่วโมง หรืออาจนานกว่านั้นได้ในบางราย สำหรับคุณแม่ที่เคยคลอดบุตรแล้ว ระยะเวลานี้อาจสั้นลง

ระยะเวลาจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะหลักๆ ดังนี้

ระยะเวลาในการคลอดธรรมชาติ

ระยะที่ 1

สัญญาณเตือน

(ระยะปากมดลูกเปิด)

  • ปากมดลูกจะค่อยๆ เปิดขยาย ทีละน้อย เพื่อให้ทารกสามารถเคลื่อนตัวผ่านออกมาได้
  • ท้องแรก อาจใช้เวลาโดยเฉลี่ย 8-12 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้น
  • ท้องหลัง มักใช้เวลาน้อยกว่า อาจอยู่ที่ 4-8 ชั่วโมง หรือเร็วกว่านั้น
  • สัญญาณร่วม อาจมีมูกเลือดออกทางช่องคลอด
ระยะที่ 2

เบ่งคลอดลูก

  • เมื่อปากมดลูกเปิดเต็มที่ คุณแม่จะเริ่มมีแรงเบ่ง และช่วยดันลูกน้อยออกมา
  • ท้องแรก โดยเฉลี่ยประมาณ 1-2 ชั่วโมง
  • ท้องหลัง โดยเฉลี่ยประมาณ 20 นาที – 1 ชั่วโมง
ระยะที่ 3

คลอดรก

  • มดลูกจะบีบตัวอีกครั้งเพื่อขับรก (placenta) ออกมา
  • ระยะเวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 5-30 นาที

เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 8 การตั้งครรภ์ ขอให้คุณแม่สังเกตสัญญาณของร่างกายอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดอย่างปลอดภัย เมื่อสัญญาณเจ็บท้องเตือนเริ่มเปลี่ยนไปเป็นสัญญาณเจ็บท้องจริง หรือรู้สึกถึงอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

ที่มา : โรงพยาบาลบีเอ็นเอช , hellokhunmor

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เจ็บท้องเตือน vs เจ็บท้องคลอด เหมือนหรือต่าง สังเกตและรับมืออย่างไร

คนท้อง เจ็บท้องน้อยข้างซ้าย จี๊ดๆ ปวดท้องร้าวไปถึงหลัง อันตรายไหม ?

โหลดฟรี! Checklist เตรียมของไปคลอด จัดกระเป๋าเตรียมคลอด ต้องมีอะไรบ้าง

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!