แม่ท้องไม่กินแคลเซียมเสี่ยงกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนจัดเป็นภัยเงียบของทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เพราะกระบวนการของกระดูกพรุนจะค่อยเป็นค่อยไป เมื่อวันหนึ่งเกิดกระดูกหักจากสาเหตุเพียงเล็กน้อย และไปพบคุณหมอถึงรู้ว่าเป็นโรคกระดูกพรุนเสียแล้ว โดยเฉพาะแม่ท้องโอกาสเสี่ยงกระดูกพรุนมีโอกาสสูงหากทานแคลเซียมไม่เพียงพอ มาดูกันว่าแคลเซียมมีบทบาทสำคัญอย่างไรกับกระดูกของคนเรา ติดตามอ่าน
แคลเซียม ถ้าแม่ท้องไม่กิน เสี่ยงเป็นโรค กระดูกพรุน จริงหรือ
ทำความรู้จัก “โรค กระดูกพรุน ”
นพ.อุดม วิศิษฏ์สุนทร ประธานมูลนิธิทศวรรษโรคกระดูกและข้อ (ประเทศไทย) กล่าวถึงโรคกระดูกพรุนไว้ว่า โรคกระดูกพรุน หมายถึง ภาวะที่มวลกระดูกมีความหนาแน่นน้อยกว่าปรกติ ซึ่งโรคกระดูกพรุนนั้นนับได้ว่าเป็นภัยเงียบ เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักว่าโรคกระดูกพรุนมีความรุนแรง เนื่องจากโรคกระดูกพรุนมักจะไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า และผู้ป่วยมักจะไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคกระดูกพรุน จนกระทั่งมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงคือ กระดูกหัก ซึ่งก็มักจะสายเกินไปสำหรับการรักษาแล้ว ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมากกว่า 1 ล้านคน คนไทยประมาณร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ไม่ทราบว่า โรค กระดูกพรุน นั้น รุนแรงถึงขั้นทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้
อาการของโรคกระดูกพรุน
อาการแสดงออกที่สำคัญ คือ
1. ปวดกระดูก บริเวณที่มีความผิดปกติ มักเกิดกับกระดูกที่ต้องรับน้ำหนัก เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก เป็นต้น
2. โรคกระดุกพรุนและมีการทรุดตัวของกระดูกหรือการหักของกระดูกส่วนต่าง ๆ จะก่อให้เกิดผลต่าง ๆ เช่น หลังค่อมโค้งงอ เตี้ยลง
3. ผลทางอ้อมให้ทรวงอกคับแคบ หายใจไม่สะดวก ถ้าเป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด อาจลามไปเป็นโรคปอดอักเสบได้ง่ายขึ้น
4. หลังค่อม ยังทำให้ช่องท้องคับแคบ รับประทานอาหารได้น้อย อิ่มเร็ว ท้องอืดง่าย
แคลเซียมมีผลต่อการเสริมสร้างกระดูกอย่างไร
รศ.พญ.วิไล คุปต์นิรัติศัยกุล ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึง แคลเซียมเป็นสารอาหารที่ร่างกายนำไปสร้างเนื้อกระดูก และวิตามินดีมีความสำคัญในการช่วยการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้ ดังนั้น การรับประทานอาหารที่มีธาตุแคลเซียมและวิตามินดีสูง จะช่วยเพิ่มการสร้างเนื้อกระดูกได้ และเป็นวิธีที่ง่ายในการป้องกันภาวะกระดูกพรุนได้
ปริมาณ แคลเซียม ที่ร่างกายต้องการ
ร่างกายต้องการธาตุแคลเซียมเพื่อช่วยในการสร้างเนื้อกระดูกในปริมาณ 800 -1,200 มิลลิกรัมต่อวันขึ้นกับอายุ ได้แก่
1. เด็ก (อายุต่ำกว่า19 ปี) ต้องการปริมาณแคลเซียมสูงประมาณ 1,200 มิลลิกรัม เพื่อช่วยสร้างเนื้อกระดูก
2. วัยผู้ใหญ่ (อายุ 20-59 ปี) ปริมาณแคลเซียมที่ ต้องการ คือ 800 มิลลิกรัม ช่วงวัยก่อนอายุ 30 ปี จะเป็นช่วงที่มีการสร้างเนื้อกระดูกสูงที่สุดหลังวัยนี้แล้วจะเป็นช่วงที่มีการทำลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก
3. วัยสูงอายุโดยเฉลี่ยต้องการประมาณ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน
4. กลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการแคลเซียมสูงมาก คือ แม่ท้อง และในแม่ที่ให้นมบุตร จะมีความต้องการแคลเซียมสูงถึง 1,200 มิลลิกรัม เนื่องจากทารกในครรภ์ต้องการแคลเซียมจากแม่ เพื่อสร้างกระดูกแขนขาและส่วนต่างๆ ของร่างกาย
แม่ท้องไม่กินแคลเซียมเสี่ยง กระดูกพรุน
แม่ท้องยิ่งต้องการแคลเซียม
แม่ท้องนอกจากต้องบำรุงกระดูกของตนเองแล้ว ยังต้องบำรุง เสริมสร้างกระดูก และส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทารกในครรภ์อีกด้วย การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอและไม่เครียด การดูแลตัวเองของคุณแม่ในเรื่องของการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงนั้นมีความสำคัญมาก และควรได้รับให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
ร่างกายคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการแคลเซียม
จากข้อมูล แม่ท้องและในแม่ที่ให้นมบุตร จะมีความต้องการแคลเซียม สูงถึง 1,200 มิลลิกรัม เพราะแคลเซียมจะเข้ามาช่วยส่งเสริมพัฒนาโครงสร้างกระดูกของทารกในครรภ์ และที่สำคัญช่วยรักษาความหนาแน่นของกระดูกโดยการสร้างและป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกของคุณแม่
ถ้าคุณแม่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอในช่วงตั้งครรภ์นี้จะเกิดอะไรขึ้น
คำตอบคือ กระดูกของแม่จะยังคงแข็งแรงอยู่ เพียงแต่ความหนาแน่นของกระดูกจะลดน้อยลง เพราะลูกในท้องอยู่ในช่วงสร้างกระดูกและฟัน ลูกจะดึงแคลเซียมจากกระดูกของคุณแม่ไปใช้ ซึ่งถ้าคุณแม่ไม่ได้รับการเสริมแคลเซียมที่พอดีกับร่างกาย ส่งผลทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะโรคกระดูกพรุนได้
เสริมแคลเซียมให้แม่ท้องได้อย่างไรบ้าง
1. รับประทานอาหาร โดยแหล่งแคลเซียมที่ดีที่สุด คือ แคลเซียมในอาหาร เช่น นม ปลาทอดกรอบที่กินได้ทั้งตัว กระดูกอ่อน กุ้งแห้ง ถั่วต่างๆ เต้าหู้ ผักใบเขียว เช่น ผักโขมจีน ตำลึง บัวบก ขี้เหล็ก สะเดา ถั่วพู ผักตระกูลคะน้า (Brassica) เช่น คะน้า บร็อคโคลี ผักกวางตุ้ง กะหล่ำปลี และผักกาดเขียว มีแคลเซียมสูง ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ง่ายพอ ๆ กับนม
2. การได้รับแคลเซียมอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะแคลเซียมต้องทำงานร่วมกับแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น โปรตีน ฟอสฟอรัส สังกะสี ฟลูออไรด์ โดยเฉพาะแมกนีเซียมซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญอีกชนิดหนึ่งของกระดูก โดยแมกนีเซียม60-65% จะอยู่ในกระดูกส่วนการดูดซึมแคลเซียมของร่างกายต้องอาศัยวิตามินดี ดังนั้น ถ้าร่างกายขาดวิตามินดีก็จะดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง
3.การออกกำลังกาย การออกกำลังกายที่เสริมสร้างกล้ามเนื้อข้อต่อ การทรงตัวและคงปริมาณมวลกระดูก เช่น การเดิน วิ่ง เต้นแอโรบิก ปั่นจักรยาน เป็นต้น เพื่อสะสมแคลเซียมไว้ใช้อย่างเพียงพอ
เรื่องน่ารู้
แคลเซียมเป็นธาตุที่มีความสำคัญในการสร้างเนื้อกระดูก พบในอาหารหลากหลายประเภท ทั้งผลิตภัณฑ์นมและผักใบเขียว หากได้รับจากอาหารไม่เพียงพอ อาจเสริมด้วยยาเม็ดแคลเซียมในปริมาณโดยรวมต่อวันคือ 1,200 มิลลิกรัม นอกจากนี้ วิตามินดีก็เป็นสารอาหารอีกประเภทหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุแคลเซียม ซึ่งจะทำให้มวลกระดูกเพิ่มขึ้น
จะเห็นว่าโรคกระดูกพรุนในแม่ท้องสามารถเกิดขึ้นได้หากไม่ได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอ มาป้องกันโรคกระดูกพรุนในช่วงตั้งครรภ์ด้วยการทานอาหารที่ช่วยเสริมแคลเซียม เพราะดีต่อแม่ท้องและทารกในครรภ์ค่ะ
ที่มา : prema.or.th, topf.or.th, dgsmartmom.com
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง